Digiqole ad

“พร สตอรี่” สู่ข้อคิดชีวิตคู่ยุคดิจิทัล

 “พร สตอรี่” สู่ข้อคิดชีวิตคู่ยุคดิจิทัล
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 419 วันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2567

หน้า 2-3 สกู๊ปปก

“พร สตอรี่” สู่ข้อคิดชีวิตคู่ยุคดิจิทัล

            กลายเป็นข่าวฉาวคาวโลกีย์อย่างคึกโครมตั้งแต่ต้นปี 2567 กรณีของ “พร วรรณพร” กับโลก 7 ใบ (ว่ากันว่าน่าจะมากกว่านั้นอาจเป็นจักรวาล) กระทั่งนำไปสู่การฆาตกรรมสามีชื่อ “ใหม่” หนุ่มโรงงาน กลายเป็นกระแสสังคม ที่มีฟีคแบกกลับมาทั้งเรื่องซีเรียสและเรื่องขำ ผ่านโซเชี่ยลมีเดียบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ แต่เรื่องนี้นับเป็นการปัดฝุ่นสำหรับอุทาหรณ์และบทเรียนของการใช้ชีวิตคู่ของสามีภรรยาและครอบครัวในยุคสังคมดิจิทัล ซึ่งเป็นการสื่อสารไร้พรมแดน เข้าถึงง่ายและรวดเร็วทันใจ “บางกอกทูเดย์” ขอน้อมนำหลักธรรมของ “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” มาเป็นเข็มทิศนำทางให้กับผู้ที่กำลังจะใช้ชีวิต ตลอดจนผู้ที่ได้ใช้ชีวิตคู่ไปแล้ว

            ปัญหาชีวิตคู่กับการนอกใจ

อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง : การนอกใจอาจถือเป็นสัญญาณเตือนอย่างมีนัยสำคัญในความความสัมพันธ์ของคนสองคน การนอกใจอาจเป็นสัญญาณที่บอกทั้งคู่ว่าควรตระหนักถึงความสัมพันธ์ของกันและกันและควรให้เวลากับการแก้ไขปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างจริงจังหากคิดที่จะเก็บความสัมพันธ์ที่มีค่านี้ไว้ต่อไป โดยปกติปัญหาการนอกใจส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมากจากความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ที่มีความอ่อนแอ ความคิดเห็นที่มีแต่ความขัดแย้ง การถูกละเลยในความสัมพันธ์ ไม่มีความโรแมนติกให้กัน ขาดการดูแลเอาใจใส่ด้านจิตใจซึ่งกันดังนั้นจึงนำสู่ปัญหาการนอกใจ

สาเหตุโดยทั่วไปของการนอกใจในสัมพันธภาพที่มีปัญหา

. ไม่มีความสุขหรือรู้สึกไม่พอใจในชีวิตคู่ : โดยมากเกิดจากปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์และปัญหาด้านเซ็กส์ ผู้หญิงมักเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับการทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้านรวมทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลลูก หากหน้าที่และความเสียสละนี้ไม่ได้รับการตอบสนองหรือเห็นคุณค่าจากสามีก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการนอกใจได้ ในทำนองเดียวกันหากภรรยายุ่งกับเรื่องภาระหน้าที่จนลืมให้ความสำคัญกับสามีก็อาจเป็นเหตุให้นำสู่การไปหาคนที่เห็นความสำคัญเพื่อมาเติมเต็มให้ชีวิตได้ . กลัวการผูกมัด : การที่คนรักกันไม่ให้คำมั่นสัญญา ไม่คิดที่จะมีสัมพันธภาพในระยะยาวกับคู่รักของตนก็ยากที่จะไม่เกิดการนอกใจ . เบื่อหน่ายจำเจ : ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต้องการความตื่นเต้นแปลกใหม่ในชีวิตและต้องการแสวงหาสิ่งที่ขาดมาเติมแต่งให้ชีวิต . เพื่อการยืนยันภาพลักษณ์ตัวเอง : ส่วนใหญ่วัยกลางคนมันรู้สึกว่าการนอกใจกับคนที่เด็กกว่ามากอย่างคนรุ่นลูกทำให้ตัวเองรู้สึกว่าเขายังมีดี . ต้องการแก้แค้น : ต้องการนอกใจเพื่อเอาคืนอีกฝ่ายที่นอกใจตนก่อน . สาเหตุอื่น ๆ : เช่น โอกาสและสถานการณ์พาไป อย่างเดินทางไปทำงานในต่างที่กับคนอื่น การใช้อินเทอร์เน็ตดูภาพเปลือย หรือมีโอกาสได้เจอใครบางคนในโลกออนไลน์ มีคนเข้ามาเอาอกเอาใจและไม่รู้จักปฎิเสธอย่างไรและก็ยอมรับปล่อยเลยตามเลย

            เหตุผลการนอกใจ

เหตุผลของการนอกใจในขณะที่ชีวิตคู่มีความสัมพันธ์ที่ดี แบ่งได้เป็น ๔ สาเหตุดังนี้

           ๑. อยากค้นหาตัวเอง : การนอกใจสามารถทำให้เขาได้เป็นตัวของตัวเองและได้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้มาเป็นเวลานานและมักไม่รู้สึกว่าการกระทำนี้เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาแต่อย่างใดเพราะเขาจะมองแค่ตัวเอง และไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวตนเพียงแต่ต้องการแสวงหาบางสิ่งที่มาตอบสนองสิ่งที่ตนรู้สึกขาด . ต้องการความตื่นเต้น : การมีสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ของตนนั้นเป็นเรื่องต้องห้าม และนั่นเป็นการเพิ่มความอยากในการมีเซ็กส์ให้ตื่นเต้นเหมือนตอนวัยรุ่นและรู้สึกว่าเรื่องที่ต้องห้ามยิ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าลอง . อยากปลดปล่อยตัวเองจากการถูกจองจำ :  การนอกใจเป็นการทำเพื่ออยากรู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรเมื่อไม่ได้อยู่กับคู่ชีวิตของตน ไม่มีกรอบหรือพื้นที่จำกัดที่ปิดกั้นอิสรภาพ การเลือกที่จะมีสัมพันธ์กับคนอื่นจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกับการอยู่กับคู่ชีวิตของตนหรือไม่ . บรรเทาความเจ็บปวด : ความเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ปมประเด็นในวัยเด็ก การเลี้ยงดู การถูกละเลย ทอดทิ้งด้านจิตใจ หรือไม่ได้รับอนุญาตด้านการแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเปิดเผย การต้องเก็บอารมณ์รู้สึกเจ็บปวดไว้ตลอดเวลาย่อมต้องการทางออก และการมีสัมพันธ์กับคนอื่นเป็นการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดด้านอารมณ์และจิตใจ การนอกใจเป็นการได้เปิดเผยความอารมณ์ความรู้สึกข้างในออกมา

ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม การนอกใจสร้างความเจ็บปวดและทิ้งบาดแผลทางใจให้กับชีวิตคู่ที่ร่วมสร้างกันมา การนอกใจอาจเป็นผลกระทบมากจากหลายๆเหตุผลที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจมาเนิ่นนานและยังไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการเยียวยาให้หายดีจึงเกิดการนำทางชีวิตไปในทางที่ผิดวิธีและลงเอยด้วยการนอกใจ ถึงแม้ในชีวิตคู่ที่มีความสุขแต่ปัญหาการนอกใจยังเกิดขึ้นอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม การแก้ไขพฤติกรรมนอกใจนั้นสามารถแก้ไขได้หากคนที่นอกใจต้องการแก้ไขและปรับปรุงอย่างจริงจัง การรักษาบาดแผลทางใจในอดีตเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยป้องกันการนอกใจในระยะยาว

           ใช้ชีวิตคู่อย่างไรหลังเหตุการณ์นอกใจ :ปัญหาการนอกใจสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ การซ่อมแซมความสัมพันธ์ชีวิตคู่นั้นมีความเป็นไปได้หากทั้งคู่ต้องการเก็บความสัมพันธ์นี้ไว้  เมื่อประเมินสถานการณ์แล้วว่ายังสามารถแก้ไขและไปต่อกันได้  การแก้ไขจัดการสัมพันธภาพปัญหาความนอกใจอาจต้องใช้เวลาและความเข้าใจในการแก้ไขปรับปรุงสัมพันธภาพอย่างจริงจังของทั้งคู่

ในการซ่อมแซมจิตใจและบ่อยครั้งนำมาซึ่งความหนักใจ และอารมณ์โกรธ  แต่การแก้ไขปรับปรุงต้องอาศัยระยะเวลา ความอดทน และความร่วมมือของทั้งคู่  อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ชีวิตคู่หลังพฤติกรรมการนอกใจไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการแยกทางกันเสมอไป  หากทั้งคู่ต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ และต้องการแก้พฤติกรรมนี้ด้วยการลงมือปฎิบัติอย่างจริงจังเพื่อปรับปรุงสัมพันธภาพชีวิตคู่ให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม

วิธีรักษาสัมพันธภาพหลังเกิดการนอกใจ

วิธีรักษาสัมพันธภาพหลังเกิดการนอกใจ

            เช็คความรู้สึกตัวเอง : หากเรารู้สึกเสียใจกับพฤติกรรมการนอกใจ ทำให้อีกฝ่ายเสียใจ  ถึงเวลาที่ต้องลงมือแก้ไขพฤติกรรมนี้อย่างจริงจัง และสร้างสัมพันธภาพชีวิตคู่ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม หากคิดจะทำพฤติกรรมนอกใจต่อควรบอกความจริงเพื่อหาทางออก

หยุดพฤติกรรมนอกใจ : ควรให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่นอกใจอีกและควรหยุดพฤติกรรมการนอกใจอย่างจริงจัง ซึ่งในกระบวนการอาจมีความยากลำบากในการตัดความสัมพันธ์กับบุคคลที่สาม  ทั้งนี้การหยุดพฤติกรรมนอกใจเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการรักษาความสัมพันธ์ชีวิตคู่ที่มั่นคง  หากการนอกใจเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานซึ่งต้องเจอกันทุกวัน  ควรพูดตรงๆ หรือแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสัมพันธภาพแบบที่เป็นอยู่นี้ควรต้องสิ้นสุดลง

           ๓.  รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง : ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามไม่ควรโทษความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ และควรขอโทษคู่ชีวิตในพฤติกรรมนอกใจของตนเองและรับผิดชอบในการสร้างสัมพันธภาพครั้งใหม่ และพัฒนาความไว้ใจให้เกิดขึ้นใหม่

           ๔. ร่วมกันตัดสินใจ : หากทั้งคู่ต้องการรักษาสัมพันธภาพนี้ไว้ ควรมองที่เป้าหมายอนาคตข้างหน้าร่วมกันเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีครั้งใหม่ให้เกิดขึ้น อาจต้องใช้เวลาในการก้าวไปข้างหน้ากับการสร้างความสัมพันธ์  ควรมีเป้าหมายร่วมกันและไม่ควรจมกับอดีต  หากอีกฝ่ายต้องการจบความสัมพันธ์และไม่ขอไปต่อก็ควรเคารพการตัดสินใจขออีกฝ่าย หรือหากอีกฝ่ายต้องการเวลาในการตัดสินใจก็ควรให้พื้นที่และเวลาเช่นกัน

           ๕.  ซื่อสัตย์และพูดความจริง : ซื่อสัตย์และโปร่งใสในทุกเรื่อง  แม้กระทั่งเรื่องที่เคยโกหก เพื่อสร้างสัมพันธภาพครั้งใหม่  ความเชื่อใจครั้งใหม่ให้เกิดขึ้น ความซื่อสัตย์และการพูดความจริงจะช่วยลดความขัดแย้งลงได้  ที่สำคัญคือทั้งคู่ต้องพูดความจริงในเรื่องความคาดหวังในความสัมพันธ์ร่วมกันในอนาคตเพื่อมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

           ๖.  รักษาคำพูด : เมื่อรับปากแล้วควรทำให้ได้ตามที่พูดและรักษาคำพูดอย่างมั่นคง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นใหม่ และต้องไม่ผิดสัญญาเด็ดขาด

            ๗.  เปิดเผยและอดทน : ควรให้อีกฝ่ายได้รับรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน กับใคร และทำอะไรอยู่ ห้ามปิดปังหรือซ่อนเร้นใดๆ อีก ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับความไว้ใจกลับมาง่ายๆ แต่ควรอดทนและเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นใหม่โดยไม่ต้องคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะให้ความไว้ใจในเวลาอันรวดเร็ว

๘. สื่อสารให้เป็น เหตุผลที่สำคัญในการรักษาชีวิตคู่คือต้องสื่อสารให้เป็นและรับฟังความต้องการของอีกฝ่าย  หากการนอกใจเกิดจากการที่ชีวิตคู่นั้นไม่เติมเต็มบางอย่างในชีวิตของตน  ควรสื่อสารสิ่งที่ตัวเองต้องการ และรับฟังความต้องการของอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

            ๙. เปิดพื้นที่ให้อีกฝ่าย : หากเกิดอารมณ์โกรธขึ้นเมื่อพูดคุยบางเรื่อง  ควรไประงับสติอารมณ์ก่อน เมื่อใจเย็นลงแล้วค่อยกลับมาคุยในเรื่องที่เป็นปัญหาด้วยกันอีกครั้ง

           ๑๐.   ใช้เวลาร่วมกัน : เมื่อได้ให้เวลาและพื้นที่ส่วนตัวแล้ว ควรมีเวลาสำหรับที่ใช้ร่วมกันด้วย เช่น ไปเดทกัน หรือออกไปไหนด้วยกันสองคน

๑๑.   ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ : ในการก้าวข้ามอดีตเรื่องการนอกใจ ปัญหาและประเด็นต่างๆ อาจต้องอาศัยการเปิดใจในการเข้าถึงและพูดคุยกันแบบตรงไปตรงมา และบ่อยครั้งอาจต้องพึ่งความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการมองเห็นปัญหาชีวิตคู่ ซึ่งจากสถิติจะพบว่า การได้รับแนวทางจากผู้เชี่ยวชาญสามารถนำชีวิคคู่กลับมาพัฒนาความสัมพันธ์ได้ดีกว่าการไม่รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

๑๒.   พร้อมให้อภัย การให้อภัยอีกฝ่ายจะเกิดขึ้นได้ : ต่อเมื่อเราได้ให้อภัยตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าแบกรับความรู้สึกผิด แต่ควรรับผิดชอบต่อพฤติกรรมนอกใจของตนเอง การสร้างความไว้ใจและสัมพันธภาพครั้งใหม่นั้นเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การให้อภัยก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายเช่นกันต้องใช้เวลาและอาศัยความอดทน การเยียวยาวบาดแผลทางใจหลังจากเหตุการณ์นอกใจไม่ใช่เรื่องง่าย  การมองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเป็นการทำงานกับการกระบวนการเยี่ยวยาบาดแผลทางใจในระยะยาว

อย่างไรก็ตามอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ถูกกระทำในการให้โอกาสที่สองกับคู่ของตนในการแก้ไขปรับปรุงสัมพันธภาพชีวิตคู่หลังพฤติกรรมนอกใจ ซึ่งจะแตกต่างจากพฤติกรรมที่เป็นการนอกใจแบบต่อเนื่องไม่จบสิ้น หากเป็นเช่นนั้นควรพิจารณาการจบสัมพันธภาพอย่างดีร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญ โดยการเลิกพฤติกรรมนอกใจควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อให้ทั้งคู่สามารถเข้าใจถึงปัญหาอย่างท่องแท้และได้รับการแก้ไขไปในเชิงบวกเพื่อพัฒนาด้านความสัมพันธ์ชีวิตคู่ที่ยั่งยืนและมั่นคงมากขึ้น (ที่มา : bettermindthailand)

         ฆราวาสธรรม ๔ ธรรมครองเรือน
จากหนังสือ “คู่สร้าง คู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ” สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงธรรมะหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เหมาะกับโอกาสพิธีนี้ คือ “ฆราวาสธรรม ๔ ประการ” ฆราวาสธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับการครองเรือน มีอยู่ ๔ ข้อด้วยกัน คือ

๑.สัจจะ ความจริง : อาจแบ่งแยกได้ ๓ ด้าน ความจริงขั้นที่หนึ่ง คือ ความจริงใจ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด คนที่จะมาเกี่ยวข้องกันต้องมีรากฐานจากความจริงใจเป็นสำคัญที่สุด และเป็นรากฐานที่มั่นคงของความสัมพันธ์ที่ดีงาม ความจริงใจแสดงออกเป็นความซื่อสัตย์ต่อกัน จากนั้นก็ จริงวาจา คือพูดจริง ขั้นที่ ๓ จริงการกระทำ คือการทำจริงตามที่ใจคิดไว้ ตามที่วาจาพูดไว้ ตลอดจนกระทั่งว่าการดำเนินชีวิต ประกอบกิจกรรมต่างๆ ก็ตั้งใจทำจริงดังที่ตั้งความมุ่งมาดปรารถนาไว้ แต่ทั้งหมดนี้ก็มีความจริงใจนั่นเองเป็นรากฐาน ความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ความสัมพันธ์มั่นคงยั่งยืน

            ๒.ทมะ ความฝึกฝนปรับปรุงตน : ทมะนี้เป็นข้อสำคัญในการที่จะให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ประการแรกที่สุดที่จะเห็นได้ง่ายในความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันก็คือ บุคคลที่มาอยู่ร่วมสัมพันธ์กันนั้น ย่อมมีพื้นเพต่างๆ กัน มีอุปนิสัยใจคอและสั่งสมประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันแล้วก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเข้าหากัน ในเมื่อมีพื้นเพต่างกันสั่งสมมาคนละอย่าง ก็อาจมีการแสดงออกที่ขัดแย้งกัน หรือไม่สอดคล้องกันได้บ้าง การที่จะทำให้เกิดความราบรื่นเป็นไปด้วยดี ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเข้าหากัน รู้จักที่จะข่มใจไว้ แล้วรู้จักที่จะสังเกต ใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งที่ผิดแปลกไปจากความคิดนึกตามความหวังความปรารถนาของตน เมื่อไม่วู่วาม ข่มใจไว้ก่อนและใช้สติปัญญาพิจารณา หาทางที่จะปรับตัวเข้าหากันด้วยดีด้วยวิธีที่เป็นความสงบ และเป็นทางที่จะรักษาน้ำใจกันไว้ได้ มีความปรองดองสามัคคี อันนี้ก็เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง

นอกจากนั้นในการอยู่ร่วมกับบุคคลภายนอกหรือในกิจการงานและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย เราต้องรู้จักปรับตัวเข้ากับบุคคล การงานและสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น รู้จักปรับปรุงฝึกฝนตัวให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการขวนขวายหาความรู้ให้เท่าทันสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ เป็นต้น ชีวิตจึงจะเจริญก้าวหน้าได้ ทมะนี้ต้องมีปัญญาเป็นแกนนำสำคัญ เพราะต้องรู้จักคิดพิจารณา มีความรู้ความเข้าใจ จึงจะปรับตัวและฝึกฝนปรับปรุงตนได้

          ๓.ขันติ ความอดทน : ความอดทนเป็นเรื่องของพลัง ความเข้มแข็ง ความทนทาน คนเมื่ออยู่ร่วมกัน ท่านว่าเหมือนลิ้นกับฟัน ย่อมจะมีโอกาสที่กระทบกระทั่งกัน จึงต้องมีความหนักแน่น ความเข้มแข็งในใจที่จะอดทนไว้ก่อน เรียกว่า อดทนต่อสิ่งกระทบใจ นอกจากนั้น ก็อดทนต่อความเจ็บปวดเมื่อยล้าทางกาย และอดทนต่อความลำบากตรากตรำ ในการทำการงาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคลุล่วงไปได้

ถ้าหากว่าบุคคลสองคนหรือหลายคนมาอยู่ร่วมกันแล้ว เอาความเข้มแข็งที่มีอยู่ของแต่ละคนมารวมกันเข้า ก็จะเพิ่มกำลังความเข้มแข็งให้มากขึ้น จะสามารถร่วมฝ่าฟันอุปสรรคและเพียรสร้างสรรค์รุดหน้าไปสู่ความสำเร็จ อันนี้เป็นเรื่องของขันติ ความอดทน ที่จะช่วยเสริมให้มีความก้าวหน้า เจริญมั่นคง และพรั่งพร้อมด้วยความสำเร็จ

           ๔.จาคะ ความเสียสละ : เริ่มแต่ความมีน้ำใจ คือความพร้อมที่จะเสียสละความสุขส่วนตัวให้แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมกันก็จะต้องมีความเสียสละต่อกัน เช่น เวลาฝ่ายหนึ่งไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเสียสละความสุขของตนเองเพื่อช่วยรักษาพยาบาล อย่างน้อยก็มีน้ำใจที่จะระลึกถึง เมื่อจะทำอะไรก็ตามก็คำนึงถึงความสุขของอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อฝ่ายหนึ่งคำนึงถึงความสุขความเจริญงอกงามของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างนี้ก็เรียกว่ามีจาคะ จาคะนี้พึงเผื่อแผ่ไปยังญาติมิตร บิดามารดา หรือผู้อยู่ใกล้ชิด ตลอดจนกระทั่งถึงเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป ถ้าหากว่ามีกำลังพอ ก็ใช้ก็สละทรัพย์สินสิ่งที่ตนมีอยู่นี้ในการอนุเคราะห์สงเคราะห์ผู้อื่น จาคะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกัน และของคนทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่ไว้ได้

สังคหวัตถุ ๔’ กับความรักที่ยั่งยืน

“สังคหวัตถุ” คือ ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์กัน, ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน หมายถึง หลักการครองใจคน, หลักยึดเหนี่ยวใจกันไว้, วิธีทำให้คนรัก, หลักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นเครื่องประสานใจ และเหนี่ยวรั้งใจคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ และทำให้อยู่กันด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกัน เหมือนลิ่มสลักรถที่ตรึงตัวรถไว้มิให้ชิ้นส่วนกระจายไป ทำให้รถแล่นไปได้ตามที่ต้องการ

จะประยุกต์ “สังคหวัตถุ ๔” กับความรัก ให้ยั่งยืนได้อย่างไร?

การเป็นสามีภรรยากัน เป็นเรื่องที่ว่าง่ายก็ไม่ได้ เพราะเพียงแค่เราตั้งคำถามว่า ‘ทำอย่างไรสามีภรรยาจึงจะมีความรักยั่งยืน เป็นคู่สร้างคู่สมตลอดไป?’ ย่อมได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าไม่สามารถทำได้หรอก บ้างก็ว่าเกี่ยวกับดวงชะตาของแต่ละคู่ บ้างก็ต้องพากันไปเสริมดวง วางฤกษ์ให้เหมาะสม เป็นต้น

จากหนังสือมงคลชีวิต ฉบับธรรมทายาท ที่พระอาจารย์สมชาย ฐานวุฑฺโฒ เป็นผู้เรียบเรียงได้กล่าวถึงธรรมะในหัวข้อเรื่อง “วิธีการครองรักให้ยั่งยืน” ไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องมงคลสมรสไว้เพียงสั้น ๆ ว่า “สังคหะ” แปลว่า การสงเคราะห์กัน และให้ปฏิบัติตามหลัก “สังคหวัตถุ ๔” เพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ดังนี้

๑. ทาน-การให้ปันแก่กัน : คนเราถ้ารักกันอยู่ด้วยกัน ต้องปันกันกินปันกันใช้ หามาได้แล้วควรรวมกันไว้เป็นกองกลางแล้วจึงแบ่งกันใช้ หากไม่เอามารวมกัน อาจเกิดการระแวงกันได้ ที่ใดปราศจากการให้ ที่นั่นย่อมแห้งแล้งเหมือนทะเลทราย การปันกันกินนี้ รวมทั้งการปันทุกข์กันในครอบครัวด้วย เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความทุกข์ มีปัญหา ก็ควรนำมาปรึกษากันได้

๒. ปิยวาจา-พูดกันด้วยวาจาไพเราะ : แม้การตักเตือนกันก็ต้องระมัดระวังคำพูด ถ้าถือกันเป็นกันเองเกินไป อาจเกิดทิฏฐิมานะ ทำให้ครอบครัวไม่สงบสุข โดยถือหลักว่า ก่อนแต่งงานเคยพูดไพเราะอย่างไร หลังแต่งงานก็พูดไพเราะอย่างนั้น

๓. อัตถจริยา-ประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อกัน : เมื่อรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง พยายามศึกษาหาความรู้ทางธรรม เอาใจมาเกาะกับธรรมให้มาก สามีภรรยานั้นเมื่อทะเลาะกันมักโยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้ว ย่อมมีความผิดด้วยกันทั้งคู่ อย่างน้อยก็ผิดที่ไม่หาวิธีเหมาะสมตักเตือนกัน ปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งทำความผิด

๔. สมานัตตตา-การวางตนให้เหมาะสมกับที่ตนเป็น : เป็นพ่อบ้านก็ทำตนให้เหมาะกับเป็นพ่อบ้าน เป็นแม่บ้านก็ทำตนให้สมกับเป็นแม่บ้าน ต่างก็วางตนให้เหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ซึ่งข้อนี้จะประพฤติปฏิบัติให้ดี ต้องฝึกสมาธิให้ใจผ่องใสเป็นปกติ เพราะคนที่ใจผ่องใสจะรู้ว่าในภาวะเช่นนั้น ควรจะวางตนอย่างไร ไม่ระเริงโลกจนวางตนไม่เหมาะสม

หน้าที่สามีภรรยาที่พึงปฏิบัติร่วมกัน

หน้าที่ของสามีที่พึงปฏิบัติต่อภรรยา ได้แก่ ๑. ยกย่องให้เกียรติ : ยกย่องว่าเป็นภรรยา ไม่ปิด ๆ บัง ๆ หากภรรยาทำดีก็ชมเชยด้วยใจจริง หากทำผิดก็ตักเตือน ๒. อย่าดูหมิ่น : ไม่เหยียดหยามว่าต่ำกว่าตน ไม่ดูถูกเรื่องตระกูล ทรัพย์ความรู้ การแสดงความคิดเห็น ๓. ไม่นอกใจ : ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ภรรยาทุกคนจะปลื้มใจที่สุด ถ้าสามีรักและซื่อตรงต่อตนเพียงคนเดียว ๔. มอบความเป็นใหญ่ให้ : มอบให้เป็นผู้จัดการภาระทางบ้าน ไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องการครัว การปกครองภายใน นอกจากเรื่องใหญ่ ๆ ซึ่งภรรยาไม่อาจแก้ไขได้ ๕. เครื่องแต่งตัว : ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงล้วนชอบแต่งตัวสนใจเรื่องสวย ๆ งาม ๆ ถ้าได้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวสวย ๆ งาม ๆ แล้วชื่นใจ สามีต้องตามใจบ้าง

หน้าที่ของภรรยาที่พึงปฏิบัติต่อสามี ได้แก่  ๑. จัดการงานดี : จัดบ้านให้สบายน่าอยู่ จัดอาหารให้ถูกปาก และทันความต้องการ จัดเสื้อผ้าเครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ ๒. สงเคราะห์ญาติข้างสามี : การช่วยเหลือด้วยความเอื้อเฟื้อ กล่าววาจาไพเราะ ให้ความช่วยเหลือตามฐานะที่ทำได้ ๓. ไม่นอกใจ : จงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสามีเพียงผู้เดียว ๔. รักษาทรัพย์ให้ดี : ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ตระหนี่ รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็น ๕. ขยันทำงาน : ขยันขันแข็งทำงานบ้าน ไม่เอาแต่กิน นอน เที่ยว หรือเล่นการพนัน

สุดท้ายนี้ในการสงเคราะห์ที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติต่อกัน จะเป็นเงื่อนใจ 2 วง วงหนึ่งคล้องไว้ในใจสามี อีกวงหนึ่งคล้องไว้ในใจภรรยา ถ้าทำได้ตามหลักธรรมนี้แล้ว ต่อให้มนุษย์คนใด ก็มาพรากไปจากกันไม่ได้ แม้แต่ความตายก็พรากได้เพียงร่างกายส่วนดวงใจนั้นยังคล้องกันอยู่นิจนิรันดร์ (ที่มา : วิกีพีเดีย/กัลยาณมิตร, gedgoodlife)

 

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 419 วันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2567

หน้า 2-3 สกู๊ปปก

“พร สตอรี่” สู่ข้อคิดชีวิตคู่ยุคดิจิทัล

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับที่ ๔๑๙ วันที่ ๑๖-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

https://book.bangkok-today.com/books/fhrd/#p=1

(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post