Digiqole ad

ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 มหันตภาพรับหน้าร้อน

 ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5  มหันตภาพรับหน้าร้อน
Social sharing
Digiqole ad

เรื่องของ “ฝุ่น PM 2.5” ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใหม่ แต่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน กระทั่งกลายเป็นวาระปัญหาแห่งชาติไปแล้ว ล่าสุดเมื่อเมองจะเข้าช่วงฤดูร้อนดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสาเหตุมาจากการเผาป่า ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพร่างกายของคนเรา

เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลก

องค์การอนามัยโลก(WHO) เผยแพร่เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลก (Air Quality Guidelines – AQGs) ฉบับใหม่ ที่ได้กำหนดค่าแนะนำของคุณภาพอากาศใหม่ที่ปรับลดระดับมลพิษทางอากาศตัวสำคัญเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยเป็นการปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศครั้งแรกใน รอบ 15 ปี ขององค์การอนามัยโลก

ในแต่ละปี การรับสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลกถึง 7 ล้านคน หากรัฐบาลทุกประเทศใช้เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศฉบับปี 2021 นี้เพื่อกำหนดกฎระเบียบด้านคุณภาพอากาศทั้งภายนอกและภายในอาคารให้ได้ตามเกณฑ์ดังกล่าว องค์การอนามัยกล่าวว่า จะช่วยลดตัวเลขผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 ต่อปีลงได้เกือบ 80% หรือน้อยลงถึง 3.3 ล้านคน

มลพิษทางอากาศคุกคามสุขภาพควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการดำเนินการเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศต้องเป็นไปพร้อมกับความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่นี้ได้สะท้อนถึงข้อสรุปของ รายงานทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ชิ้นสำคัญของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งเรียกร้องให้มีการลดการปล่อยมลพิษต่าง ๆ ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กและไนโตรเจนไดออกไซด์ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีส่วนทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นและยังทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลงไปด้วย

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 396 วันที่ 3-9 มีนาคม 2566 https://book.bangkok-today.com/books/gern/#p=1

เมืองไทยเข้าขั้นวิกฤต

 แพทย์หญิงชนัญญา ศรีหะวรรณ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคติดต่อ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช เปิดเผยว่า  องค์กรอนามัยโลก (WHO)  ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่  50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ประกาศลงในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

  1. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่ว โมง ปรับลดจาก 50 เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566
  2. ค่าเฉลี่ยรายปี ปรับลดจาก 25 เป็น 15 มคก./ลบ.ม. มีผลตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แต่ไม่ว่าจะถือมาตรฐานใด ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติด้วยปริมาณเกือบ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะบริเวณริมถนนหรือบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นและรอบสถานที่ก่อสร้าง

PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน (Particulate Matter 2.5 – PM2.5) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้ขาดความตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพอย่างใหญ่หลวง ฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5   ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ของทั้งรถยนต์ใหม่และเก่า มักมีปริมาณสูงสุดช่วงรถติดมาก ๆ ในช่วงเช้าและเย็นของวันทำงาน  โดยมากจะเกิดในช่วงฤดูหนาวที่อากาศนิ่งและแห้ง ส่งผลให้ฝุ่นไม่ลอยขึ้นที่สูง  อีกทั้งปัจจุบันกรุงเทพฯ  กำลังประสบปัญหาลมพัดผ่านได้ยาก อากาศหยุดนิ่ง เนื่องจากมีตึกสูงปิดกั้นทางลม รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้างที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ มาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลง

นอกจากนี้ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ที่สำคัญเกิดจากไนโตรเจนไดออกไซด์  (NO2)  ถูกปล่อยสู่อากาศมากมายจนเกิดการทำปฏิกิริยาทางเคมีกับโอโซนและแสงแดด กลายเป็นฝุ่นผงขนาดเล็กที่เป็นปัญหา   ทั้งนี้ไนโตรเจนไดออกไซด์ เกิดจากการสันดาปภายในของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งในหลายๆ ประเทศที่ห่วงใยปัญหาสุขภาพของประชาชนเป็นหลักได้พยายามลดการใช้รถยนต์ดีเซลลง

ผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้น

หลายคนอาจกังวลกับสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา และยังคงดำเนินอยู่ หรืออาจกลัวโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่อีกปัญหาสุขภาพที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม คือ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่กลับมามีปริมาณเกินค่ามาตรฐานพร้อมกับลมหนาว ซึ่งล่าสุด จากการรายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ในระดับคุณภาพปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือ (ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพสะสมในระยะยาว หากได้รับอย่างต่อเนื่อง

แพทย์หญิงพัชนี แสงถวัลย์ อายุรแพทย์สาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ อธิบายถึงผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น เมื่อได้รับปริมาณฝุ่น PM 2.5 ว่า “ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 คืออนุภาคฝุ่น  มีขนาดน้อยกว่า 2.5 ไมครอน มีการกำหนดค่ามาตรฐานในบรรยากาศ คือ ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร”

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมฝุ่นจิ๋วนี้ถึงไม่หายจากประเทศไทย ต้องแยกก่อนว่า สาเหตุของฝุ่นมีแหล่งกำเนิดมาจาก 2 แหล่ง คือ

           1.แหล่งกำเนิดปฐมภูมิ เช่น การคมนาคมขนส่ง, การเผาในที่โล่งแจ้ง, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

          2.แหล่งกำเนิดทุติยภูมิ เช่น การปฏิกิริยาเคมีในอากาศโดยมีสารเคมีกลุ่มซัลเฟอร์ หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น รวมทั้งสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตราย เช่น ปรอท, แคดเมียม, อาร์เซนิก, โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก

ปัจจัยที่ทำให้ PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ ยังคงมีแหล่งสร้างมลพิษทางอากาศซึ่งเรายังไม่สามารถควบคุมให้ปริมาณมลพิษทางอากาศจากแหล่งที่มาเหล่านี้ลดลงได้ รวมถึงสภาพความกดอากาศต่ำ ทำให้การเคลื่อนย้ายของฝุ่นมลภาวะทางอากาศไม่ถ่ายเทออกไปโดยง่าย”

สัญญาณบ่งบอกร่างกายได้รับผลกระทบ

ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั่วไประยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะถ้ามีการสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น ต่ออระบบผิวหนัง ทำให้มีปัญหาผื่นคัน ผื่นแพ้, ลมพิษ, ผิวหน้าเหี่ยวแพ้ง่าย และเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากยิ่งขึ้นด้วย ต่อระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นภูมิแพ้, โรคหืด, โรคถุงลมโป่งพอง, ทำให้เกิดปัญหาโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, มะเร็งปอด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง มีผลต่อการพัฒนาการสติปัญญาของเด็ก กระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกายในเด็ก และสามารถส่งผลถึงทารกในครรภ์มารดาทำให้เจริญเติบโตช้าหรือคลอดก่อนกำหนดได้

แพทย์หญิงพัชนี  กล่าวด้วยว่า “ทุกคนทุกวัยมีความเสี่ยงต่อฝุ่น PM 2.5 ดังนั้น ควรป้องกันการรับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายกันทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรง อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด, โรคหัวใจ ฯลฯ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี”

วิธีป้องกัน และดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 แนะนำ 3 วิธีหลักๆ คือ

  1. ใช้หน้ากากที่มีคุณภาพ เช่น N95 หากไม่มีอาจใช้หน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น แต่การสวมใส่หน้ากาก ควรสวมใส่อย่างถูกต้อง คือ ควรสวมใส่ปิดให้แนบสนิทกับใบหน้าทุกส่วน
  2. ควรอยู่ในอาคาร บ้าน หรือพื้นที่ปิดมิดชิดมากกว่าการอยู่นอกบ้านหรือในพื้นที่โล่ง เพราะจะมีโอกาสสัมผัสฝุ่นน้อยลง
  3. ควรเปิดเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองที่มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่น PM 2.5 ในกรณีที่ไม่มีการเปิดแอร์ ก็ควรเปิดพัดลมร่วมกับเปิดเครื่องฟอกอากาศ โดยปิดห้องให้มิดชิดไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาภายในห้อง

มะเร็งปอดตายเฉียดแสน

ในประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละนับแสนราย และเสียชีวิตเฉียดหลักแสนรายเช่นกัน สำหรับมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในคนไทย 5 อันดับ ประกอบด้วย มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, มะเร็งเต้านม    และมะเร็งปากมดลูก คนไทยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเป็นอันดับสอง โดยกรมการแพทย์แนะนำให้สังเกตสัญญาณเตือน หากไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ควรพบแพทย์

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เผยว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ จากมลภาวะอย่างฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 สารเบนซิน ฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นต้น ผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนมากไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ หรือแอสเบสตอส มาก่อน ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นโรคในระยะที่ลุกลามแล้ว ทำให้การตรวจพบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราเสียชีวิตสูง วิธีป้องกันที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ใน 19 จังหวัดเกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยหากได้รับในปริมาณมากระยะยาวจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรง ทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้ เมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย นอกจากฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายแล้ว ยังเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ในเซลล์ของปอด ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ในระยะยาว อีกทั้ง PM2.5 ยังมีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ไม่สมบูรณ์ พบในเขม่าควันไฟ รวมถึงควันที่เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งปอด (4)

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า อาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอด ได้แก่ ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอด แต่อาจพบในโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคปอด หากมีอาการสงสัยต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

วิกฤตที่ถูกมองข้าม

วิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 ได้รับการยกระดับการแก้ปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูหนาวก่อนเข้าฤดูร้อน (ต้นกุมภาพันธ์) และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก และยอดผู้ป่วยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศมีสูงกว่า 30,000 คน

ตลอดหลายปีมานี้ เราได้เห็นนักคิด นักวิชาการ รวมถึงแพทย์จำนวนมากออกมาให้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง PM2.5 ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ ชำแหละสาเหตุ และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา จนติดตามอ่านและฟังกันไม่หวาดไม่ไหว แต่ก็ดูเหมือนว่า ปัญหาดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ศ.ไทเลอร์ โคเวน นักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เจ้าของบล็อกด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Marginal Revolution ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Bloomberg ชื่อว่า “Air Pollution Kills Far More People Than Covid Ever Will” โดยหยิบงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม  มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน มานำเสนอและได้ตั้งคำถามดัง ๆ ฝากไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องมลพิษอากาศ

โฟกัสของงานวิจัยคือ PM2.5 ที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน ก๊าซ และเบนซิน ซึ่งทำให้ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตกว่า 10.2 ล้านคน ในปี 2555 โดยร้อยละ 62 ของผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในประเทศจีน (3.9 ล้านคน) และอินเดีย (2.5 ล้านคน) ขณะที่ไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 กว่า 71,184 คน (สูงเป็นอันดับสามของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม) โดยผู้วิจัยมีความเห็นว่า PM2.5 ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนี้ควบคุมได้ง่ายกว่า PM2.5 ที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ฝุ่นและควันจากไฟป่า

แม้ว่าผลกระทบจากโรคที่เกิดจาก PM2.5 จะรุนแรง ทว่าการระบาดของโควิด-19 ได้แย่งพื้นที่ข่าวและความสนใจไปจนหมด ผลกระทบจากฝุ่นพิษเลยดูเหมือนจะเป็นเรื่องรอง ๆ ที่เรามักจะหันมาสนใจเป็นครั้งคราว พออากาศดีขึ้นก็เลิกให้ความสนใจ ประหนึ่งว่า ปีหน้าฝุ่นมันจะไม่กลับมาอีก ซึ่งโคเวนให้ความเห็นว่า หากคุณเชื่อว่าการสูบบุหรี่ไม่ดี เพราะอันตรายเสียจนคร่าชีวิตคนได้ คุณภาพอากาศแย่ ๆ ก็อันตรายพอ ๆ กัน

เขายังอธิบายด้วยว่า ส่วนมากแล้วผลกระทบที่เรามักจะเห็นกัน เป็นผลกระทบที่เกิดกับประเทศอื่น ๆ เช่น เกิดกับจีนและอินเดีย เราจึงคิดว่า ไม่ใช่เรื่องของเราโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไทยมีผู้ที่เสียชีวิตจาก PM2.5 ประมาณ 70,000 คน (ต่อปี) มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตรวมจากโควิด-19 หลายเท่าตัว ไม่แน่ว่า…หลังจากที่ ‘ใครสักคน’ เห็นผลจากการวิจัยชิ้นนี้แล้วจะตระหนกและตระหนักกับ PM2.5 มากขึ้น

กรณีศึกษาผู้ป่วยมะเร็งปอดจาก PM2.5

แม้ว่ามลพิษอากาศจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่เรามักจะไม่เห็นผลกระทบโดยตรง เพราะไม่เห็นข่าวว่าคุณลุง คุณป้า ออกไปยืนหน้าบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่แล้วเสียชีวิตโดยทันที แต่ผลของ PM2.5 ได้ซ่อนอยู่ในมะเร็งปอดและโรคหัวใจและหลอดเลือด

รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด เธอเสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ 18 มีนาคม 2565 โดยตัวเธอเพิ่งทราบว่า ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 3 เมื่อปลายปี 2564 ท่ามกลางความแปลกใจของผู้ใกล้ชิด เพราะอายุยังน้อย ไม่สูบบุหรี่หรือใกล้ชิดกับกิจกรรมเสี่ยงอื่น ยกเว้นอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ปัญหาจากฝุ่นควัน PM2.5 มาอย่างยาวนาน เมื่อทราบว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยจากโรคร้าย อาจารย์ภาณุวรรณ ปวารณาตัวเป็นกรณีตัวอย่างผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก และติดตามการผลักดันการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันมาโดยตลอด

ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยบนเวทีเสวนา “เชียงใหม่ เพื่อลมหายใจที่ดีกว่า” ตอนหนึ่งว่า เป็นเรื่องน่าใจหายถึงผลการตรวจสุขภาพของรุ่นพี่ที่รักและนับถือกัน คือ รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทรวรรณกูร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มช. ที่เพิ่งรับทราบว่า ตัวเองเป็นมะเร็งปอด ระยะที่ 3 อาจารย์ภาณุวรรณเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องผึ้งระดับโลก ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ หรือใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ เพียงแค่อยู่อาศัยในพื้นที่มีฝุ่นควัน PM2.5 ในเชียงใหม่มานานกว่า 10 ปี และอาจารย์ต้องการให้นำอาการป่วยของตัวเองมาเป็นบทเรียนและจะได้เข้าใจถึงผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ จากหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า แนวโน้มการเสียชีวิตในช่วงที่มีค่ามลภาวะทางอากาศสูงจากปี 2559-2562 เพิ่มขึ้นกว่า 200% นอกจากนี้จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกในส่วนของประเทศไทยพบว่า มีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 สูงเป็น 4 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก ทั้งนี้ข้อมูลจากหลายหน่วยงานหลายสถาบันตอกย้ำว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุที่มีความเชื่อมโยงกับการป่วยมะเร็งปอดและโรคอื่น ๆ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ดังนั้น ตัวเลขความสูญเสียจากฝุ่นพิษในแต่ละปีน่าจะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ถึงต้นตอของปัญหาได้เป็นอย่างดี และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องลงมือแก้ปัญหามลพิษอากาศอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้

 

 

Facebook Comments

Related post