Digiqole ad

ผลการศึกษาพบ ‘ไทย’ เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภูมิภาค

 ผลการศึกษาพบ ‘ไทย’ เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภูมิภาค
Social sharing
Digiqole ad

ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญหน้ากับการเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19ทันทีที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า‘วัคซีน’ คือทางออกเดียวจากวิกฤตโควิด-19 โดยจะช่วยยุติปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งในเชิงสาธารณสุขและเชิงเศรษฐกิจ และหมายความว่า ทางออกเดียวของเรื่องนี้ คือการปูพรมฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยฉีดให้ได้มากและเร็วที่สุด

กระนั้นเอง ในความเป็นจริงก็คือ ประเทศที่ได้เปรียบ มักเป็นประเทศร่ำรวย เป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีน ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลาง หรือประเทศกำลังพัฒนานั้น ต้องรอจนกว่าประเทศร่ำรวย จะยอมปล่อยวัคซีนให้สามารถส่งออกนอกประเทศได้ รวมถึงมั่นใจว่าประเทศตัวเองจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้มากพอ จนไม่มีการระบาดซ้ำ

สำหรับไทย ได้ตั้งเป้าให้เป็นประเทศที่สามารถคิดค้น ทดลอง วิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนในประเทศได้เอง ตาม ‘ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 2560 – 2569’ โดยตั้งมั่นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มั่นคงและปลอดภัยในการป้องกันเชื้อไวรัส ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19

This image has an empty alt attribute; its file name is unnamed-1024x682.jpg

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นตัวเร่งสำคัญให้การวิจัยและพัฒนาวัคซีนให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ในปี 2563 ปีเดียวกับที่ไทยต้องเผชิญหน้ากับการระบาดรอบแรก ก็เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนอย่างรวดเร็ว เป็นต้นว่า การวิจัยวัคซีนต้านโควิด-19 ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ภายใต้ชื่อ ChulaCov19 และคาดว่าจะเป็น ‘บูสเตอร์โดส’ หรือวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนทั่วไปได้ ภายในเดือน เมษายน 2565 หรือวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ ของบริษัท ใบยาโฟโตฟาร์ม ก็คาดหมายว่าจะออกจำหน่ายให้กับประชาชนได้ในช่วงกลางปี 2565 สะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่เตรียมความพร้อม และสามารถปรับตัวได้เร็ว

ขณะที่ด้านการจัดหาและระดมฉีดวัคซีนนั้น รัฐบาลไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ครอบคลุมคนไทย 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากร ภายในสิ้นปี 2564 หากเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ควบคู่ไปกับการจัดการมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสม ผลการศึกษา ‘ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ’ พบว่า ภายในสิ้นปี ไทยจะเหลือผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงวันละ 2,500 คนต่อวัน และเกิดผู้เสียชีวิตรายใหม่ประมาณ 40 คนต่อวัน ขณะเดียวกัน การที่ไทยเป็น ‘ศูนย์กลาง’ การผลิตวัคซีนนั้น จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนและทำให้คนไทยเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วมากขึ้น กล่าวคือหากฉีดวัคซีนได้เกิน 50 ล้านคน หรือมากกว่า 70% ของจำนวนประชากร ก็จะสามารถป้องกันการเสียชีวิตของคนไทยได้มากกว่า 4.8 แสนคน ทั้งยังช่วยลดการป่วยหนัก และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งหมายความถึงการลดภาระระบบสาธารณสุขได้อีกมหาศาล

สำหรับวัคซีนที่ไทยเลือกใช้นั้น ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 รัฐบาลได้สรุปแผนการจัดการวัคซีนทั้งหมดว่า จะใช้วัคซีนหลัก 3 ชนิด ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และ ไฟเซอร์ รวม 127.1 ล้านโดส เกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ100 ล้านโดส และหากรวมกับวัคซีนทางเลือก คือ ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา จะอยู่ที่ 179.1 ล้านโดส

วิกฤตที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่า ไทยไม่ควรพึ่งพาการ ‘นำเข้า’ วัคซีนจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัคซีนเมื่อประเทศผู้ผลิตจำกัดการส่งออกซึ่งในห้วงเวลาวิกฤตนั้นไทยจึงได้สนับสนุนให้มีการผลิตวัคซีนภายในประเทศ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่1. ผลิตโดยหน่วยงานร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน 2. ผลิตโดยเจ้าขององค์ความรู้ โดยปัจจุบันบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้สร้างโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนเนื้อที่ 1,200 ตาราเมตร มีกำลังการผลิต 1-5 ล้านโดสต่อปี และ 3.การจ้างโรงงานผลิตโดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตแก่โรงงานผู้รับจ้างผลิต ซึ่งเป็นรูปแบบการผลิตหลักที่ใช้ในปัจจุบันในประเทศไทย ทั้งนี้ คาดหมายว่าหากมีการผลิตวัคซีน ‘ChulaCov-19’ในอนาคต จะทำการผลิตผ่านบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิต 50-60 ล้านโดสต่อปี

รูปแบบการจ้างโรงงานผลิตที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบัน คือ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า พีแอลซี จ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดไวรัลเวกเตอร์มีกำลังการผลิตวัคซีนอยู่ที่ปีละ185 – 200 ล้านโดสโดยส่งมอบให้ประเทศไทย ในฐานะ ‘ฐานการผลิต’ ราว 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตได้ทั้งหมดและ 2 ใน 3 จะส่งมอบให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศใกล้เคียงเพื่อช่วยป้องกันภูมิภาคนี้จากมหาวิกฤตโควิด-19

หากจำกันได้ ย้อนกลับไป เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ในช่วงเวลาที่กำลังมีการเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนอย่างเข้มข้น แอสตร้าเซนเนก้า ถือเป็นวัคซีนตัวแรกที่ไทยมีข้อตกลงจัดหา และเป็นวัคซีนที่มีจำนวนจัดหามากที่สุด โดยได้มีการลงนามระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข บริษัทเอสซีจี บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในหนังสือแสดงเจตจำนง(Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุด

This image has an empty alt attribute; its file name is COVID-19-Vaccine-Coronavirus-Vaccination-1024x682.jpg

รัฐบาลได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการเลือกวัคซีนนี้ว่า ผู้ผลิตคือ แอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ได้มีการทดลองในคนหลายพันคน และการฉีดวัคซีนเข็มแรกก็ให้การตอบสนองได้ดีมาก โดยกว่า 90% มีภูมิคุ้มกัน[1]ในส่วนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้น ได้รับเลือกจากแอสตร้าเซนเนก้าในฐานะ ‘พันธมิตรด้านการผลิต’ แห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และดำเนินการผลิตโดยยึดนโยบาย ไม่กำไร ไม่ขาดทุน (no profit/no loss) พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสายการผลิต ภายใต้เงื่อนไขว่าสยามไบโอไซเอนซ์ต้องซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีมูลค่า 600 ล้านบาท คืนให้รัฐบาล โดยรัฐบาลไทย สั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้วมากกว่า 121 ล้านโดส แบ่งเป็น 61 ล้านโดส ในปี 2564 และ 60 ล้านโดส ในปี 2565

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า มีส่วนสำคัญทั้งในการ ‘กู้วิกฤต’ โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดหนักอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเป็นวัคซีนหลักฉีดให้กับประชาชน จนสามารถลดการระบาด ทั้งยังช่วยลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19และช่วยบรรเทาวิฤตในระบบสาธารณสุข เตียงเต็ม โรงพยาบาลล้น จนสามารถผ่อนคลาย ‘ล็อกดาวน์’ ได้ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การคืนความ ‘ปกติ’ หลังการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง ยังส่งผลดีต่อด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มกว่า 3 แสนคน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 รวมถึงในภาคอุตสาหกรรม ก็พบอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.36 และดัชนีการลงทุนของภาคเอกชน ก็เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6.95 เช่นเดียวกับตัวเลขผู้ว่างงานในระบบประกันสังคม ก็ลดลงถึงร้อยละ 32.23 หรือลดลงเกือบ 4.5 แสนคน ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564

ทั้งหมดนี้ พิสูจน์ได้ว่า การผลิตวัคซีนในประเทศ และการระดมฉีดวัคซีนในประเทศ มีส่วนสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง หลังหยุดชะงักไปนานเกือบ 2 ปี

โอกาสในเชิงเศรษฐศาสตร์ ไทยจะพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีน ให้เติบโตได้อีกขั้น

คำถามสำคัญในขณะนี้คือ แล้วการเป็น ‘ฐานการผลิต’ในประเทศด้วยตัวเองนั้น มีความ ‘คุ้มค่า’มากขนาดไหน? และหากเปรียบเทียบความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์ และความคุ้มค่าเชิงสังคม ระหว่างรอรับวัคซีนจากต่างประเทศ และสามารถผลิตวัคซีนด้วยตัวเองนั้น เป็นอย่างไร?

ตอนหนึ่งจากการศึกษาเรื่อง ‘ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ’ โดย ผศ.ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า มูลค่าตลาดวัคซีนทั่วโลกนั้น อยู่ที่ 0.9 ล้าน – 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่ามหาศาล และมีโอกาสเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทย การผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนในภูมิภาคนั้น ถือเป็นการสร้าง ‘อุตสาหกรรมใหม่’ ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สามารถพัฒนาคน และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ให้ก้าวไปอีกขั้นเท่านั้นยังไม่พอ ยังเป็นหลักประกันความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชน ว่าจะมีวัคซีนใช้เพียงพอ สำหรับรองรับหากเกิดการระบาดครั้งใหม่ของโรคโควิด-19

สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์นั้น คิดเป็นมูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่อยู่ในไทย เกิดการจ้างงาน และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย รวมทั้งสิ้น 1.5 – 1.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า หากประเทศต้อง ‘ล็อกดาวน์’ อีกครั้ง จากระบบสาธารณสุขที่รองรับไม่ไหว จีดีพี อาจติดลบ จนเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดการสูญเสียมากกว่า 1.6 แสนล้านบาท ต่อระบบเศรษฐกิจ และรายได้ต่อหัวประชากรจะตกลงกว่า 2,283 บาท จากการ ‘คลายล็อก’ ช้ากว่ากำหนด ดังนั้น การมีวัคซีนในมือจะสามารถการันตีความมั่นคงได้ เพื่อไม่ให้ประเทศต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องล็อกดาวน์ ปิดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นเพื่อควบคุมโรคระบาดอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ยังมีการประมาณการว่า การที่ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนด้วยตัวเองนั้น จะสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนได้ จากเดิมที่รัฐบาลไทย ต้องใช้เงินมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายด้านวัคซีน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นวงกว้าง จากการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการผลิตการจ้างงานของแรงงานทักษะสูงและเกิดการยกระดับทักษะการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ หากลองนึกภาพ วัคซีนหนึ่งขวด ยังสามารถสร้างมูลค่าต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า ‘บรรจุภัณฑ์’ หรือ ‘โลจิสติกส์’ ก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน และสามารถต่อยอดไปได้อีกไกล โดยหากประเทศไทยสามารถเป็นได้ทั้งผู้คิดค้น ผู้พัฒนา ผู้ผลิต หรือบริษัทชั้นนำมาจ้างผลิต จะส่งผลกับเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาลและแน่นอนว่าการผลิตวัคซีนในปริมาณมากๆนั้น ต้องการกำลังคนจะเกิดการจ้างงานจำนวนมาก ทั้งในอุตสาหกรรมวัคซีน อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ขณะเดียวกัน ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคต

การเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค จะทำให้รองรับ ‘โรคอุบัติใหม่’ ได้ดีมากขึ้น

ในการศึกษาชิ้นเดียวกัน ยังได้มองผลกระทบ ‘เชิงบวก’ ทางสังคม จากการเป็นฐานการผลิตวัคซีนในหลายด้าน นอกจากเรื่องความมั่นคงด้านวัคซีน ให้พร้อมรับมือกับทุกภัยคุกคามทางสุขภาพใหม่ๆ ในอนาคต การมีวัคซีนในมือ ยังสามารถผลักดันให้ไทย เป็นศูนย์กลางในการวิจัย การพัฒนาระบบสาธารณสุข ซึ่งก็สอดคล้องกับการให้ไทย เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)ในอนาคต

นอกจากนี้ แม้โลกจะพยายามแก้ปัญหาการเข้าถึงวัคซีนและความไม่เท่าเทียม ผ่านโครงการ COVAX นั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือบางประเทศยังได้รับวัคซีนไม่เพียงพอ และมีประเทศที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ซึ่งหากพบการระบาดของไวรัสรอบใหม่ โลกจะเผชิญกับการกักตุนวัคซีนอีกรอบ และประเทศกำลังพัฒนานั้นจะยิ่งเข้าถึงวัคซีนได้ยาก

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ การผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เอง จึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการรับมือกับการระบาดระยะยาว โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 หากไทยสามารถผลิตวัคซีนได้ตามแผน จะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทุกรูปแบบรวมกันมากถึง 260-295ล้านโดส ซึ่งแสดงถึงความพร้อมในการรองรับกรณีที่ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ทั้งยังพร้อมสำหรับการผลิตบูสเตอร์โดส และสามารถต่อยอดในการผลิตวัคซีนสำหรับโรคอุบัติใหม่อื่น และที่สำคัญยังเป็นหลักประกันว่า หากเกิดการระบาดรอบใหม่ ผลกระทบจะไม่รุนแรงนัก จากการมีวัคซีนในมืออย่างเพียงพอ

Facebook Comments

Related post