Digiqole ad

ประชุม กสทช. ล่มนับครั้งไม่ถ้วน! วิกฤตหนัก ขัดแย้งกันไม่เลิก เหตุ ปธ. นัดประชุมกระทันหัน บอร์ดคนอื่นโอดไร้หลักการ ทำตามอำเภอใจ

 ประชุม กสทช. ล่มนับครั้งไม่ถ้วน! วิกฤตหนัก ขัดแย้งกันไม่เลิก เหตุ ปธ. นัดประชุมกระทันหัน บอร์ดคนอื่นโอดไร้หลักการ ทำตามอำเภอใจ
Social sharing

Digiqole ad

แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด กสทช. ได้มีบันทึกตอบกรรมการ กสทช. ที่แจ้งว่าติดภารกิจ ไม่สามารถเข้าประชุมบอร์ดได้ในวันศุกร์ที่ 3 พ.ย. 2566 หลังประธาน กสทช. แจ้งเปลี่ยนแปลงวันนัดประชุมกะทันหัน ว่าตนมีความจำเป็นต้องกำหนดการประชุมในวันดังกล่าว เพราะมีวาระค้างพิจารณาและเลยกำหนดหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลย้อนหลังพบว่าความล่าช้าเกิดจากขั้นตอนการบรรจุวาระการประชุมของประธาน ที่หลายเรื่องใช้เวลานับเดือน

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 ต.ค. 2566) ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ ประธานบอร์ด กสทช. ได้มีบันทึกแจ้งนัดหมายการประชุมบอร์ดในวันศุกร์ที่ 3 พ.ย. 2566 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากที่นัดหมายไว้เดิมคือวันพุธที่ 8 พ.ย. 2566 ที่ตรงกับวันพุธ และเป็นวันประชุมประจำของบอร์ด กสทช. โดยไม่ได้มีการปรึกษาหรือสอบถามถึงความสะดวกของบอร์ดคนอื่นก่อน ทำให้ชนกับภารกิจที่ได้มีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า

ทั้งนี้ กรรมการ กสทช. 4 คน ได้แก่ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ได้ส่งบันทึกชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมในวันที่ 3 พ.ย.ได้ โดยทุกคนติดภารกิจสำคัญอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถเลื่อนหรือยกเลิกได้ และต่างก็แจ้งว่ายินดีที่จะเข้าประชุมบอร์ด กสทช. ในวันพุธที่ 8 พ.ย. ตามการนัดหมายปกติ

“ประธาน กสทช. ระบุเหตุผลนัดประชุม ครั้งที่ 22/2566 ในวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน ว่ามีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากมีวาระเรื่องที่ค้างพิจารณาและเรื่องเสนอพิจารณาเป็นจำนวนมาก โดยมีวาระที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและวาระที่มีกำหนดระยะเวลาต้องพิจารณาภายในระยะเวลาที่กำหนดถึง 12 เรื่อง แต่ข้อเท็จจริงพบว่า มีวาระ 3 เรื่องเป็นเรื่องที่ค้างพิจารณาตั้งแต่ในการประชุม กสทช. ครั้งที่แล้วซึ่งโดยปกติวาระที่เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือมีกำหนดระยะเวลาที่ต้องพิจารณาที่ชัดเจน ก็จะมีการระบุดอกจันให้กรรมการรู้ แต่ทั้งสามเรื่องก็ไม่ได้มีการกำหนดดอกจันเอาไว้ และประธาน กสทช. ก็ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการหยิบยกวาระ 3 เรื่องนี้มาเสนอที่ประชุมพิจารณาในครั้งที่แล้วแต่อย่างใด” แหล่งข่าว กล่าว

“ส่วนอีก 8 วาระ พบว่าเป็นการอนุมัติบรรจุวาระการประชุมที่ล่าช้าของประธาน กสทช. ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เดือน ส่วนอีกหนึ่งวาระที่เป็นการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของสำนักงาน กสทช. นั้น แม้สำนักงาน กสทช. จะเสนอบรรจุเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 และประธาน กสทช. อนุมัติบรรจุวาระในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 แต่ก็พบว่าเรื่องนี้ กสทช. ได้เคยมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้ตั้งแต่การประชุม กสทช. ครั้งที่ 19/2566 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ซึ่งล่วงเลยเวลามานานกว่า 40 วัน ความล่าช้าจึงเกิดจากกระบวนการการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช.เอง ดังนั้นการที่ประธาน กสทช. อ้างเรื่องความเร่งด่วนที่ต้องประชุมในวันที่ 3 พฤศจิกายน จึงขาดความสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง” แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า ในบันทึกดังกล่าว ประธาน กสทช. ได้อ้างถึงระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม ที่กำหนดว่าให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่หากประธานเห็นสมควร จะนัดเร็วกว่านั้นก็ได้ และขอให้กรรมการ กสทช. แจ้งวันเวลาที่ว่างในแต่ละสัปดาห์ โดยขอให้แจ้งทุกวันศุกร์ว่าสัปดาห์ถัดไปมีภารกิจสำคัญที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ในวันใดบ้าง เพื่อที่ประธาน กสทช.จะได้กำหนดวันประชุมให้ตรงตามวันที่ กสทช. ทุกคนมีเวลาว่างตรงกันครบองค์ประชุมเป็นครั้งๆ ไป

“การขอให้กรรมการ กสทช. แจ้งวันที่ว่างเพื่อที่ประธานฯ จะได้กำหนดวันประชุมเป็นรายสัปดาห์ไปนั้น เป็นแนวทางที่ขาดความชัดเจน ในขณะที่ กสทช. เป็นหน่วยงานระดับชาติ ต้องการความแน่นอนและการกำหนดเวลาที่ชัดเจน เนื่องจากส่งผลกระทบกว้างขวางกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และหลายๆ เรื่องก็เป็นภารกิจที่ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า นอกจากนี้ กรรมการ กสทช. 4 คน ยังได้เคยมีบันทึกเสนอต่อประธาน กสทช. ไปให้มีการกำหนดตารางเวลาในวันพุธของทุกสัปดาห์ไว้สำหรับการประชุม กสทช. เพื่อจัดการกับวาระที่คงค้าง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากประธาน” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ กรรมการ กสทช. ทั้ง 4 คนยังได้เคยทวงถามให้ประธาน กสทช. จัดตารางนัดหมายการประชุมบอร์ดล่วงหน้า 3 เดือน ตามที่เคยปฏิบัติมาในช่วงเข้าปฏิบัติหน้าที่ใหม่ๆ เมื่อปี 2565 ในอดีตที่ผ่านมาบอร์ด กสทช. มักจะประชุมกันในวันพุธ หากมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนก็จะมีการปรึกษาหารือกันก่อน เพื่อกำหนดวันใหม่ให้สะดวกกับทุกคน ที่ผ่านมา กรรมการทุกคนก็พยายามรองรับการเดินทางไปต่างประเทศของประธาน และก็คาดว่าประธานจะเคารพภารกิจของคนอื่นบ้าง แหล่งข่าว กล่าว

มีรายงานว่า พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง มีแผนการเดินทางไปประชุมแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย.2566 ซึ่งจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 200 คน และเลขาธิการ กสทช. ได้อนุมัติแผนการเดินทางตลอดจนค่าใช้จ่ายที่ใช่ในการดำเนินการไว้เรียบร้อยแล้ว มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมจำนวนกว่า 600,000 บาท หากต้องเลื่อนไป จะส่งผลให้เสียหายทั้งเรื่องงบประมาณและการกิจของการออกใบอนุญาตของสำนักงาน กสทช.

ทางด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ติดภารกิจรับเชิญเป็นองค์ป่าฐกในงาน Digital Skills for Media Industry ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และรับฟังการรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์อุตสาหกรรมสื่อดิจิทัลและทิศทางของอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งเป็นการศึกษาที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงินกองทุน กทปส.

ส่วนรองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม มีภารกิจที่ได้นัดหมายกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประชุมหารือเกี่ยวกับ Digital Economy Framework Agreement ซึ่งเป็นนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาและเป็นนโยบายเร่งด่วนด้านการวางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่หันสมัยและวางรากฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 5G ตามภาคผนวกคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา

Facebook Comments


Social sharing

Related post