Digiqole ad

น้ำพระทัยจากเจ้าฟ้า…สู่ปวงประชาของแผ่นดิน

 น้ำพระทัยจากเจ้าฟ้า…สู่ปวงประชาของแผ่นดิน
Social sharing

Digiqole ad

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ผู้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการเพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ และการสาธารณสุข ตลอดจนการสนับสนุนงานทางวิชาการ ที่มุ่งนำความก้าวหน้าวิทยาการสมัยใหม่ระดับสากล เพื่อผลิต และพัฒนาบุคลากรระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ อันนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาประเทศ คือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของปวงชนชาวไทย

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการวางรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงนำไปสู่การก่อตั้ง “มูลนิธิจุฬาภรณ์” ขึ้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 เพื่อดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือประชาชน ผู้เจ็บป่วยที่ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศ ทั้งในด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การสร้างโอกาสทางการศึกษา รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือวิกฤตโรคระบาดอย่างทั่วถึง  ต่อมา มีพระดำริให้ก่อตั้ง “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” ขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2530 โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ไทยและต่างประเทศในการดำเนินงานวิจัยทั้งพื้นฐานและประยุกต์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างยิ่งในอนาคต

นับเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงประสบความสำเร็จในเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ ด้วยทรงมีผลงานโดดเด่นด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่มุ่งแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ควบคู่ไปกับการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำของโลกมาอย่างยาวนาน เพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ทันสมัยจากนานาประเทศมาพัฒนา และประยุกต์ใช้ในงานวิจัยและวิชาการให้สัมฤทธิ์ผล และทัดเทียมสากล วงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกต่างให้การยอมรับในพระอัจฉริยภาพ จึงทรงได้รับการทูลเกล้าฯ

ถวายรางวัลจากสถาบันและมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง นับตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา จวบจนกระทั่งในปี 2563 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลประกาศเกียรติคุณบุคคลผู้อุทิศตนเพื่อต่อต้านมะเร็ง (Grand Prix de la Charte de Paris) ภายใต้กฎบัตรกรุงปารีสว่าด้วยการต่อต้านมะเร็ง ของสถาบันมะเร็งนานาชาติแห่งกรุงปารีส ในฐานะผู้ทรงอุทิศพระองค์ในการวางรากฐานเพื่อการต่อต้านโรคมะเร็งในประเทศไทย ตั้งแต่การศึกษาวิจัย การบำบัดรักษา การป้องกันโรค การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ การแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนมีพระนโยบายในการเผยแพร่ให้ความรู้ด้านโรคมะเร็ง แก่ประชาชนชาวไทยให้ห่างไกลจากภัยมะเร็ง

ปัจจุบัน “โรคมะเร็ง” ยังคงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดของประชาชนชาวไทย จึงมีพระวิริยอุตสาหะและทรงอุทิศพระองค์เพื่อการต่อต้านโรคมะเร็งอย่างครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาค้นคว้าวิจัยสาเหตุและกลไกของการเกิดโรค การบำบัดรักษา การป้องกันโรค และการให้บริการรักษาพยาบาล ตลอดจนการพระราชทานองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง ในฐานะ ทูลกระหม่อมอาจารย์ แก่เหล่านิสิตและนักศึกษา รวมถึงบุคลากรในสาขาการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งในระดับโมเลกุล ที่จะนำไปสู่การพัฒนายา และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยทรงมุ่งหวังให้ผู้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ เป็นบุคลากรสำคัญทางด้านการแพทย์ของประเทศ สามารถสร้างคุณประโยชน์และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

ตลอดจนทรงสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการศึกษาวิจัยมะเร็งตับและท่อน้ำดีในประเทศไทยในพระดำริ ภายใต้ชื่อโครงการ Thailand’s Initiative in Genomics and Expression Research for Liver Cancer  (TIGER-LC) อย่างสม่ำเสมอ ด้วยทรงห่วงใยประชาชนที่ป่วยจากโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี ซึ่งเป็นโรคมะเร็งชนิดที่พบมากที่สุดของประเทศไทย และมีอัตราการเสียชีวิตไม่น้อยกว่าปีละ 15,000 ราย ในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของโรคสูง โดยทรงเห็นถึงความเร่งด่วนที่จำเป็น ต้องดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางป้องกัน วินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขต่อไป ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute-NCI,USA)

นอกจากนี้ ทรงตระหนักถึงความสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความมั่นคงทางยาทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตที่มีประสิทธิภาพสำหรับการรักษาโรค โดยเฉพาะยารักษา “โรคมะเร็ง”  จึงทรงแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำของโลกเพื่อการพัฒนายาชีววัตถุ  พร้อมทรงริเริ่มและทรงวางรากฐานการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ ในประเทศ ภายใต้ โครงการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ” (Center for Biologics Research and DevelopmentCBRD) โดยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การวิจัยเพื่อคิดค้นและพัฒนายาชีววัตถุที่ได้มาตรฐานทัดเทียมในระดับสากล ถือเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึง Trastuzumab ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมด้านยาชีววัตถุชิ้นแรกของประเทศโดยนักวิจัยไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยไม่ต้องอาศัยการซื้อหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

อีกทั้งทรงตระหนักถึงความสำคัญกับการรับมือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งด้านเคมี และด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ จึงทรงริเริ่มดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนายาที่มีศักยภาพในการรักษาโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน จนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการสังเคราะห์ตัวยา “โมลนูพิราเวียร์” (Molnupiravir) สำหรับรักษาโรคโควิด-19 ด้วยวิธีการสังเคราะห์ 2 วิธี คือ การใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว (Chemical Route) และ การใช้เอ็นไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (Enzymatic Route) ซึ่งได้นำไปสู่การแต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อการพัฒนายาระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความร่วมมือในการนำผลงานวิจัยไปพัฒนาต่อในระดับการผลิตให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ที่สามารถขับเคลื่อนการผลิตตัวยาให้ประชาชนใช้ในประเทศตามพระปณิธานฯ ในการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนนำไปสู่การป้องกัน และรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขของประเทศ

นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ อย่างต่อเนื่องเสมอมา ด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้น และทรงมีพระปณิธานมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนของปวงชนชาวไทยสืบไป

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 66 พรรษา ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน สถิตเป็นมิ่งขวัญร่มเกล้าแก่ปวงชนชาวไทยตราบนานเท่านาน

Facebook Comments


Social sharing

Related post