Digiqole ad

นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร คุณหมอนักบริหาร เจ้าของรางวัล The Best of CEO People Leader

 นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร คุณหมอนักบริหาร เจ้าของรางวัล The Best of CEO People Leader
Social sharing

Digiqole ad

  ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลที่อะไรๆ ก็ดูยากที่จะคาดเดา แต่สิ่งหนึ่งที่จะนำพาองค์กรให้สามารถลงสนามช่วงชิงชัยชนะมาได้ นั่นก็คือ “พนักงาน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของ  “ซีอีโอ” ที่จะต้องรักษาคนเก่ง พัฒนาศักยภาพ ทำงานเป็นทีมเวิร์ก เพราะการจัดการปัญหาภายในองค์กรยากที่สุดคือเรื่อง “คน”

            แต่สำหรับคุณหมอนักบริหาร นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และ รพ.บีเอ็นเอช เจ้าของรางวัล People Management Award 2022 ประเภท The Best of CEO People Leader จากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ พีแมท (PMAT) ผู้ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตด้วย “ความสุข” ของพนักงานเป็นที่ตั้ง บริหารคนแบบที่ในตำราไม่มีสอน

“คน เท่ากับ ฟันเฟือง … แต่ละฟันเฟืองมีวิธีดูแลต่างกัน”

เมื่อ คน หรือ พนักงาน คือ ฟันเฟืองที่คอยขับเคลื่อนองค์กรพุ่งทะยานสู่ความสำเร็จ ในขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลก็มีธุรกิจส่วนอื่นทำงานสอดประสานเกิดเป็นโรงพยาบาลให้บริการรักษา ดูแลคนไข้ ดังนั้นฟันเฟืองต้องทำงานประสานกันไปในทิศทางเดียวกัน

  “การบริหารคนของผมเป็นการบริหารนอกตำรา เกิดจากการทำงานได้เรียนรู้ สังเกตพฤติกรรมของคน แต่ละคนมีอุปนิสัย ความคิด วัฒนธรรมต่างกัน เช่นเดียวกับการบริหารงานในแต่ละอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว การแพทย์ สื่อสารมวลชน ก็มีวิธีบริหารไม่เหมือนกัน เราจะใช้วิธีเดิมๆ บริหารเหมือนกันหมดได้อย่างไร ดังนั้นเราต้องเข้าใจความหลากหลายของคน ความหลากหลายของหน้าที่การงาน และความหลากหลายของสถานการณ์ เอามาเสียบปลั๊กให้ตรงกัน คนไหนเก่งเรื่องไหนให้ไปทำเรื่องนั้น แล้วนำมารวมกันต้องบรรลุเป้าหมาย”

Passion อาวุธชั้นเลิศ ให้พุ่งชนเป้าหมาย

การรับสมัครพนักงาน เป็นด่านแรกที่จะทำให้องค์กรได้เจอกับคนที่มี Passion ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร เมื่อพนักงานมีแรงจูงใจให้อยากทำงาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังนั้น ผู้บริหารต้องรู้ว่าเป้าหมายของพนักงานแต่ละคนคืออะไร องค์กรสามารถตอบโจทย์ได้อย่างไร

 “หาพนักงานที่มี Passion มาทำงาน เกิดจากการเปิดรับสมัครตั้งแต่แรก เราต้องสัมภาษณ์เพื่อดูนิสัย ทัศนคติ ดูเป้าหมายชีวิต ดูว่าเป็นคนต้องการสร้างคุณค่าให้องค์กร เพราะความมุ่งมั่นสำคัญที่สุด ร้อยปัญญาไม่เท่าหนึ่งความอยาก เพราะหนึ่งความอยากจะทำให้คนหาวิธีหลายร้อยวิธีที่จะไปให้ถึงความอยากนั้น และที่สำคัญต้องรู้ด้วยว่าเป้าหมายองค์กรคืออะไร เป้าหมายของรพ.สมิติเวช คือ ทำให้ชีวิตผู้รับบริการ พนักงาน แพทย์ คู่ค้า ชุมชนให้ดีกว่าเก่า สร้างคุณค่า สร้าง Eco System ดูแลผู้คน ทำอย่างไรให้คนไม่ป่วย เรามุ่งสร้างคุณค่า ดังนั้นเราต้องหาคนที่อยากสร้างคุณค่าไปพร้อมกับเรา นำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน”

เพิ่ม Passion ด้วยการบริหารกิเลส และกฏดูแลอย่างสาสม

  คุณหมอนักบริหาร นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร กล่าวถึงการบริหารคนว่า เวลาอยากให้ใครทำอะไร ต้องบอกว่าทำแล้วคุณจะได้อะไร สิ่งนี้คือกิเลส แต่ถ้าไม่ทำจะมีผลอย่างไร อันนี้คือ ความกลัว มนุษย์เราตราบใดที่ยังไม่บรรลุความเป็นอรหันต์ ย่อมมีกิเลส โลภ โกรธ หลง เป็นธรรมดา ต่างกันที่ใครจะมีมากใครจะมีน้อย การบริหารคนจึงเป็นเรื่องของการบริหารกิเลสคนให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร  เพราะจริงๆแล้ว การบริหารคนเป็นนามธรรม ซึ่งมักชนะรูปธรรม ดังนั้น บริหารกิเลส ก็คือการบริหารความอยากของคน เพราะทุกคนรักตัวเอง เมื่อรักตัวเองก็จะรักองค์กร “ความกลัว ความอยาก คือกิเลสที่ทำให้คนขับเคลื่อนได้ ดังนั้นเราต้องรู้ความฝันของเขา กล่องดวงใจของเขาคือใคร และต่อมกังวลของเขาคืออะไร”

จุดสำคัญคือ คนกับองค์กรต้องไปด้วยกัน ดังนั้นต้องมีการรีเช็กความสุขของพนักงานอยู่เสมอ อย่างน้อยทุกๆ 6 เดือน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเสมอ ด้วยหลัก healthy wealth happy และ WWW คือ woy want wow ผลักดันให้คนมีพลัง เมื่อรีเช็กความสุขพนักงานแล้ว ต้องมีการประเมินผลแบบ บวก ลบ คูณ หาร ซึ่งแต่ละระดับมีการบริหารจัดการต่างกัน การประเมินคูณและบวก (เกรด A-B) จะได้รับการตอบแทนอย่างสาสม ลบและหาร (เกรด D-E) จะได้รับการตอบแทนอย่างสาหัส องค์กรจะมีแต่คนทำงานจริงๆ ทำให้ Engagement score ของพนักงานสมิติเวชสูงถึง 88% ซึ่งค่าเฉลี่ยของประเทศไทยในปี 2022 อยู่ที่ 71% และ Thailand Best Employer ประมาณ 85%

ในแข่งมีประสาน ในประสานมีแข่ง สู่ Team work

 ขนมปัง 1 ชิ้นก็สามารถควบคุมปลาทุกสายพันธ์ที่มีอุปนิสัยต่างกันให้เดินทางไปยังทิศที่ต้องการได้ อยู่ที่ว่าจะโยนไปในทิศทางใดเท่านั้น การบริหารทีมเวิร์กมี 2 วิธี คือ “ในแข่งมีประสาน ในประสานมีแข่ง” เป็นการนำจุดแข็งของแต่ละคนมาแลกกัน และแต่ละคนก็จะมีเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง ซึ่งก่อนจะประสาน เราต้องเข้าใจก่อนว่า คนในแต่ละ Gen มีความคิด มุมมอง สกิลไม่เหมือนกัน การบริหารคนในองค์กรที่มีทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า เหมือนหยินกับหยาง คือในดำมีขาว ในขาวมีดำ ซึ่งสัดส่วนของสีขาวและดำในหยินและหยางจะต่างไปตามสถานการณ์ที่ต่างกัน ผู้บริหารต้องผสานทั้งสองเจนเนอเรชั่นไว้ด้วยกัน เปรียบเทียบง่ายๆ คือ แต่ละคนจะมีเชือกผูกรั้งไว้ หากเชือกที่ผูกกันไว้สั้นเกินไปก็ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาเจอกันได้ ดังนั้น Gen เก่า ต้องยอมที่จะตัดเชือกและเดินไปหา Gen ใหม่ก่อน เพราะ Genใหม่ เปรียบกับโจทย์ที่ดี เมื่อมีโจทย์ที่ดีนั้นหมายถึง เราจะมีการคิดวางแผนใหม่ๆ  เมื่อทั้งสองฝ่ายประสานกันได้ องค์กรก็เดินไปข้างหน้าได้ เพราะคนเป็นต้นน้ำของความสำเร็จ หากคนในองค์กรเก่งและดี เรื่อง Quality, Service, Innovation และอื่นๆ ซึ่งเป็นกลางน้ำ ก็จะดี และด้าน Finance ซึ่งถือเป็นปลายน้ำก็จะดีเองโดยอัตโนมัติ

  “เลี้ยงแกะ อยากให้แกะอ้วน ก็ต้องมีปัจจัยลบหรือตัวเร่ง คือ หมามาไล่แกะ เมื่อแกะเห็นหมา แกะจะรีบกินแล้ววิ่งหนี หมาคือตัวกระตุ้น แต่อย่ามีเยอะเกินไป เพราะจะทำให้แกะกินบนความกังวลจะวิ่งหนีอย่างเดียว แกะก็จะกินน้อยลง เปรียบเหมือนการบริหารคนรุ่นใหม่ หมายถึงเรามีกรอบ มีเป้าหมายให้ไปถึง แต่ระหว่างทางที่จะไปถึงนั้น ต้องเปิดประตูให้เขาออกไปวิ่งได้ด้วย”

นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และ รพ.บีเอ็นเอช กล่าวทิ้งท้ายว่า “ความสำเร็จต้องมีความสุขเสมอเพราะความสำเร็จที่ปราศจากความสุข ไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง นิยามความสุขของผมคือ การทำให้ชีวิตของทุกผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) ดีกว่าเก่า เราอยู่ตรงนี้เราได้เปรียบเพราะสามารถทำให้ชีวิตของเจ้าหน้าที่ หมอ ลูกค้า ชุมชน ผู้ถือหุ้น ยิ้มได้ มีชีวิตที่ดีกว่าเก่า และสามารถสร้างคุณค่าให้เขาได้ด้วย”

Facebook Comments


Social sharing

Related post