Digiqole ad

ตามรอย “คณิกา” แห่งสยามประเทศ ชีวิตอิสตรีที่เลือกเกิดและเป็นไม่ได้

 ตามรอย “คณิกา” แห่งสยามประเทศ ชีวิตอิสตรีที่เลือกเกิดและเป็นไม่ได้
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๓ ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗

หน้า 2-3

ตามรอย “คณิกา” แห่งสยามประเทศ

ชีวิตอิสตรีที่เลือกเกิดและเป็นไม่ได้

ซีรีส์ที่กำลังมาแรงเป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้คือเรื่อง “บางกอกคณิกา” (Bangkok Blossom)  ซีรีส์จากโปรเจกต์ oneD ORIGINAL ของซ่อง one ที่ออกอากาศมาตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2567ซึ่งมีเนื้อหามาแปลกแหวกแนว โดยเป็นแนวพีเรียดอิงประวัติศาสตร์โรแมนติกดราม่า เป็นการตีแผ่เรื่องราวของ “โสเภณี” ที่ขอลุกขึ้นสู้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นคน นำแสดงโดย อิงฟ้า วราหะ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ ปี 2020 , ก้อย อรัชพร, ชาร์เลท วาศิตา กำกับโดย สันต์ ศรีแก้วหล่อ ผู้กำกับมือทอง และนักเขียนบทมือรางวัล พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ อีบุ๊กบางกอกทูเดย์จึงขอนำมาต่อยอดด้วยการตีแผ่เรื่องโสเภณีในสยามประเทศ

            จากหญิงคนชั่วถึงหญิงโคมเขียว

จากข้อมูลในหนังสือ “กรุงเทพฯ ในอดีต” และ “หญิงโคมเขียว” ของ เทพชู ทับทอง ระบุว่า ว่ากันว่า “โสเภณี” เป็นของคู่กับโลก คือมีมาตั้งแต่สมัยสร้างโลก สำหรับประเทศไทยปัจจุบันได้มีการยกเลิกการจดทะเบียนหญิงนครโสเภณีแล้วโสเภณีจึงเป็นหญิงผิดกฎหมาย แต่ถึงกระนั้นโสเภณีก็ยังมีอยู่ทั้งในแบบขนานแท้และดั้งเดิมคือชนิดอยู่ซ่องก็มีหรือชนิดนางบังเงาก็มี กับแบบใหม่ซึ่งมาในรูปของบริการ เช่น นางในร้านอาหาร หรือบริการนวด อาบ อบและนางโทรศัพท์ เป็นต้น

ส่วนในอดีต เมืองไทยได้มีหญิงโสเภณีมาตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่จะเห็นในปลายสมัยกรุงสุโขทัย เพราะในหนังสือกฎหมายโบราณ “ลักษณะผัวเมีย” ซึ่งบัญญัติขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ต้นกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1904 ได้มีการกล่าวถึงหญิงนครโสเภณีในบทที่ 6 ว่า

             “มาตราหนึ่ง ชายใดสู่ขอเอาหญิงขับคนรำเที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิต แลหญิงนครโสเภณีมาเลี้ยงเป็นเมีย ทำชั่วเหนือผัวก็ดี….ผัวรู้ด้วยประการใดๆ พิจารณาเป็นสัจไซ้ ท่านให้ผจานหญิงชายนั้นด้วยไถนา ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกฉะบาทั้งสองหูร้อยดอกฉะบาแดงเป็นมาไลยใส่ศีศะใส่คอแล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ผจานด้วยไถนาสามวัน ถ้าแลชายผัวมันยังรักเมียมันอยู่มิให้ผจานไซ้ ท่านให้เอาชายผู้ผัวนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง หญิงอยู่ข้างหนึ่ง อย่าปรับไหมชายชู้นั้นเลย”

 

จากข้อความข้างต้นทำให้รู้เพิ่มว่า หนุ่มๆ สมัยโน้นต้องเสี่ยงภัยมากในการเที่ยวหญิงโสเภณี เพราะดีไม่ดีอาจจะต้องถูกเอาตัวเข้าเทียมแอกไถนาแทนควาย กฎหมายลักษณะผัวเมียนี้ปรากฏว่าใช้มาจนกระทั่งถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2478 จึงได้เลิกใช้เมื่อเปลี่ยนใช้ประมวลแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 แทน

เห็นได้ว่านครหญิงโสเภณีในเมืองไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมีตลอดมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 หญิงโสเภณีในสมัยนั้นชาวบ้านทั่วๆ ไปเรียกว่า “หญิงคนชั่ว” เป็นส่วนมาก แต่บางทีก็เรียกว่า “หญิงโคมเขียว” ส่วนซ่องเรียกว่า “โรงหญิงคนชั่ว” หรือ “โรงหญิงโคมเขียว” ทั้งนี้สาเหตุที่เรียก “หญิงโคมเขียว” เพราะในสมัยนั้นซ่องส่วนมากมักจะแขวนโคมสีเขียวไว้เป็นสัญลักษณ์หน้าซ่อง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อตามลักษณะของโคมที่แขวน

ค่าบริการก็มีหลายอัตรา ราคาต่ำสุดเพียง 2 สลึงเท่านั้น ราคาสูงสุดเพียง 1 บาท อย่างไรก็ตามราคาดังกล่าวเป็นเพียงอัตราการใช้บริการของคนไทยและจีน ถ้าเป็นการใช้บริการของฝรั่งหรือญี่ปุ่นราคาบริการก็สูงขึ้นไปอีกคือ ชั่วคราว 2 บาท เหมาตลอดคืน 4 บาท (ที่มา : silpa-mag)

โคมเขียวแห่งสำเพ็งสู่วัดคณิกาผล

สำหรับผู้ริเริ่มตั้งโรงโสเภณีขึ้นคือ “ยายแฟง” เศรษฐินีในย่านสำเพ็ง โดยวิธีที่จะหาผู้หญิงเข้ามาทำงานคือ รับซื้อหญิงที่มีฐานะยากจนหรือมีคนนำมาขาย เข้ามาไว้เป็นทาส บ้างก็รับเอาหญิงที่เคยมีประวัติชู้สาวเข้ามา หรือแม้กระทั่งรับเอาคนที่สมัครใจเข้ามาทำเองก็มี โดยจะมีการติดโคมกระจกสีเขียวหน้าโรงโสเภณี เพื่อบ่งบอกเป็นเครื่องหมาย จนมีการเรียกโสเภณีอีกชื่อหนึ่งว่า “หญิงโคมเขียว”

แม้โรงโสเภณีจะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากมีคนใช้บริการมาก แต่โรคติดต่อทางเพศที่เกิดจากการร่วมประเวณี ก็ได้ทำให้นางโลมเหล่านี้ต้องเสียชีวิตไปไม่น้อย ยายแฟงจึงได้สร้างวัดแห่งหนึ่ง เพื่อนำกำไรที่ได้มาอุทิศส่วนกุศล วัดแห่งนี้ชาวบ้านจึงเรียกกันอย่างติดปากว่า วัดใหม่ยายแฟง หรือนามอย่างเป็นทางการว่า “วัดคณิกาผล” อันแปลว่า ผลที่สร้างขึ้นด้วยทรัพย์ของหญิงโสเภณี โดยปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามสถานีตำรวจพลับพลาไชย

จดทะเบียนการค้าประเวณีเพื่อเสียภาษี

ต่อมาเมื่อเริ่มมีการค้าโสเภณี เพื่อควบคุมการค้าและสร้างรายได้ให้แผ่นดิน ทางการได้กำหนดให้มีการจดทะเบียนการค้าประเวณีเพื่อเสียภาษี ดังจดหมายเหตุของลาบูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงความชอบธรรมของขุนนางและนายเงิน ในการที่จะเกณฑ์ให้หญิงและเด็กหญิงที่ตนได้ซื้อมานั้น สามารถนำมาค้าประเวณีได้ เพียงแต่การค้าประเวณีดังกล่าวจะต้องเสียเงินถวายพระมหากษัตริย์ โดยตำแหน่งขุนนางที่ค้าประเวณีนั้น มีปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุความตอนหนึ่งว่า

             “บรรดาผู้ที่มีบรรดาศักดิ์นั้น หาใช่เจ้าใหญ่เจ้านายโตเสมอไปไม่ เช่น เจ้ามนุษย์อัปรีย์ที่ซื้อผู้หญิงและเด็กสาว มาฝึกให้เป็นหญิงนครโสเภณีคนนั้น ก็ได้รับบรรดาศักดิ์ให้เป็น ออกญา เรียกกันว่า ออกญามีน (Qc-ya Meen) เป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกดูแคลนมากที่สุด มีแต่พวกหนุ่มลามกเท่านั้นที่ไปติดต่อด้วย…”

ล่วงเข้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากการมีชาวจีนอพยพเข้ามาในเมืองจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ไม่มีหรือไม่ได้นำครอบครัวมาด้วย และต้องทำงานหนักจากการเป็นแรงงาน หรือกรรมกรแบกหามขนส่งสินค้าภายในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความต้องการโสเภณีขึ้น การค้าโสเภณีจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนมีการตั้งหอนางโลมหรือโรงโสเภณีขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่สำเพ็ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนนั่นเอง อันทำให้สำเพ็งกลายเป็นแหล่งโสเภณีที่มีชื่อเสียง ถึงกับปรากฎคำสแลงว่า นางสำเพ็ง ซึ่งหมายถึงหญิงที่ค้าประเวณีหรือประพฤติตนในทางสำส่อน และชายที่ชอบเที่ยวหญิงโสเภณีว่า “เจ้าชู้สำเพ็ง” (ที่มา : gqthailand)

พรบ.ป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127

โดยเหตุที่การค้าประเวณีนำมาซึ่งความเสื่อมเสียทางศีลธรรมและปัญหาสังคมต่าง ๆ นานาดังกล่าว รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยได้พยายามแก้ปัญหานี้อยู่เสมอ แต่สภาพการณ์ก็ยังทรง ๆ ทรุด ๆ เรื่อยมา ซึ่งนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีของไทยเพิ่งจะเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงตราพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง ชื่อ “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127” เหตุผลในการประกาศใช้มีว่า

“…ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า ทุกวันนี้หญิงบางจำพวกประพฤติตนอย่างที่เรียกว่าหญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล แต่ก่อนมาการตั้งโรงหญิงนครโสเภณี นายโรงช่วยไถ่หญิงมาเป็นทาสรับตั๋วจากเจ้าภาษีแล้วตั้งเป็นโรงขึ้น ครั้นต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกทาสเสียแล้ว หญิงบางจำพวกที่สมัครเข้าเป็นหญิงนครโสเภณีก็รับตั๋วจากเจ้าภาษีแล้วมีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งขึ้นในท้องที่โรงอันควรบ้างมิควรบ้าง กระทำให้มีเหตุเกิดการวิวาทขึ้นเนือง ๆ อีกประการหนึ่ง หญิงบางคนป่วยเป็นโรคซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษาโรคร้ายนั้น อาจจะติดเนื่องกันไปจนถึงเป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เป็นอันมาก และยังหาได้มีกฎหมายและข้อบังคับอย่างใดสำหรับจะป้องกันทุกข์โทษภัยแห่งประชาราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตืขึ้นไว้สืบไปดังนี้…”

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 มีว่า 1. หญิงนครโสเภณีให้เป็นได้แต่โดยใจสมัคร ใครจะบังคับผู้อื่นหรือล่อลวงมาให้เป็นหญิงนครโสเภณีมิได้เลย มีโทษตามพระราชกำหนดลักษณะข่มขืนล่วงประเวณี รัตนโกสินทรศก 118 ซึ่งโทษนี้ปัจจุบันมีบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา[ลิงก์เสีย]แทนแล้ว 2. หญิงนครโสเภณีทุกคนต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อนจึงจะเป็นได้ และต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตราคาสิบสองบาท มีอายุสามเดือนต่อใบ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนับว่าสูงมากในสมัยนั้น แสดงเจตนารมณ์ในการป้องปรามการเป็นโสเภณีอยู่ในตัว 3. ผู้ตั้งโรงหญิงนครโสเภณีต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน และนายโรงก็เป็นได้แต่ผู้หญิง เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการดูแลกันเอง 4. หญิงนครโสเภณีต้องไม่สร้างความรำคาญวุ่นวายแก่บุคคลภายนอก เช่น ฉุดลาก ยื้อแย้ง ล้อเลียน เป็นต้น 5. เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไปในโรงหญิงนครโสเภณีทุกเมื่อ เพื่อนำตัวสมาชิกคนใดของโรงมาตรวจ ถ้าพบโรคก็ให้ส่งไปรักษาจนกว่าจะหาย แลอาจเพิกถอนหรือสักพักใช้ใบอนุญาตในคราวนั้นด้วยก็ได้ (ที่มา : wikipedia)

อาชีพผิดกฎหมายจากอดีตสู่ปัจจุบัน

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) กล่าวว่า ภาพรวมคุณภาพชีวิตของคนที่ประกอบอาชีพนี้ในอดีตกับปัจจุบันไม่ต่างกันมากนัก ไม่สามารถหานิยามได้ว่าแบบใดจึงเรียกได้ว่าเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องที่เป็นพนักงานบริการในบ้านเรา เพราะตราบใดที่อาชีพนี้ยังคงผิดกฎหมาย สถานะพวกเขาก็คืออาชีพที่ผิดกฎหมายไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการอะไรได้ ตราบใดที่อาชีพนี้ยังคงมีทัศนะที่ถูกสังคมรังเกียจและกีดกันก็ไม่สามารถทำให้พวกเขามีพื้นที่ที่จะเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้เหมือนกับคนอื่นในสังคม

ดังนั้นสถานภาพจึงเหมือนเดิมกับในอดีต อาจจะมีความต่างในเรื่องที่ในปัจจุบันนี้มีรูปแบบการขายบริการที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของสถานบริการหรือผู้มีอิทธิพลแต่ว่าไปอยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งก็อาจจะมีโอกาสและมีคุณภาพชีวิตดีกว่าคนที่ยังทำงานอยู่ในพื้นที่ที่ยังถูกควบคุมอยู่หรือต้องอยู่บนพื้นที่สาธารณะ ต้องดิ้นรน หลบหนีการจับกุม เพราะมีกฎหมายที่เอาผิดอยู่ สิ่งที่เป็นกุญแจล็อกสำคัญที่ทำให้ยังเป็นปัญหาอยู่ก็คือ การที่มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 การมีกฎหมายนี้ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาด้วยการเอาผิดทั้งจำคุกทั้งปรับกับพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การค้าประเวณี สิ่งนี้คือช่องทางที่ทำให้ผู้รักษากฎหมายใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมมากดทับ เอาเปรียบ และทำร้ายพวกเขา ถ้าหากยกเลิกกฎหมายนี้แล้วทำให้สิ่งที่เขาทำอยู่มันคือการทำงาน ยอมรับว่ามันคือการทำงาน และเมื่อกลายเป็นการทำงานเขาต้องได้รับการคุ้มครองในฐานะคนทำงานโดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงานเหมือนอาชีพอื่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเขา

 

ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ยังกล่าวด้วยว่า สังคมกลับมองว่าเป็นการส่งเสริมให้คนหันมาซื้อบริการซึ่งผิดศีลธรรมแต่ในความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อยากให้มองความจริงว่าเขาว่าทำงานบริการนวด ให้บริการเสริมลูกค้า สิ่งนี้คืองานบริการของเขา อย่ามองไปที่เรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเดียวเพราะเป็นแค่องค์ประกอบเล็กน้อย อยากให้มองไปที่งานบริการมากกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกมองว่าเป็นการทำงานเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ถึงปัจจุบัน ซึ่งผ่านมากว่า 60 ปี

ถ้าหากอาชีพค้าบริการถูกกฎหมายคุณภาพชีวิตก็จะสามารถดีขึ้นได้ด้วยการคุ้มครองของกฎหมายแรงงานไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบ อย่างเช่น เมื่อพวกเขาเจ็บป่วยก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ เมื่อยามแก่ชราไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ก็มีเงินมาดูแลยามแก่ชรา หรืออย่างเช่นไม่สามารถทำงานได้ในช่วงโควิดก็สามารถรับเงินชดเชยได้เหมือนกับอาชีพอื่น(ที่มา : bangkokbiznews)

            จากโสเภณีสู่อาชีพ Sex Worker

            จากภาพยนตร์เรื่อง “คังคุไบ” ที่ตีแผ่ชีวิตของโสเภณีอินเดีย ทำให้เกิดกระแสคำว่าSex Worker” หรือ ผู้ให้บริการทางเพศ เกิดขึ้นมาอีกครั้ง

            ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงผู้ให้บริการทางเพศหรือ Sex Worker เชื่อว่าความหมายแรกในหัวของหลายคน คงจะหนีไม่พ้นอาชีพที่ต้องมีการบริการและการร่วมเพศเกิดขึ้น จริง ๆ แล้ว Sex Worker ไม่ได้จำเป็นจะต้องมีการร่วมเพศและสอดใส่เสมอไป เพราะในปัจจุบันอาชีพนี้คืองานบริการที่ใช้เรื่องเพศเป็นตัวดึงดูด หรือเริ่มต้นในการบริการโดยใช้เนื้อตัวร่างกาย มีทั้งแบบการเจอกันต่อหน้า อย่างเช่น เด็กเอ็น เด็กนวด หรือผ่านทางออนไลน์ อย่างอาชีพ Content Creator ที่ผลิตเนื้อหา 18+ เหล่านี้ก็ถือว่าเป็น Sex Worker ด้วยเช่นกัน

ผลการสำรวจของเว็บไซต์ Havescope ชี้ว่าอุตสาหกรรมทางเพศในไทยสร้างรายได้ประมาณ 6.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่เพราะการค้าบริการทางเพศในไทยเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย จึงไม่ถูกนำมาคิดรวมใน GDP ของประเทศ ทั้งที่อาชีพดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้มากขนาดนี้ แต่รัฐไทยก็ยังคงไม่ยอมรับการมีอยู่ของอาชีพ Sex Worker และด้วยการที่เรามี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ทำให้มีบ่อยครั้งที่เราได้เห็นข่าวการลงพื้นที่ตรวจสอบหรือจับกุมการค้าประเวณีในย่านท่องเที่ยวดัง ๆ หลายแห่ง แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่รัฐกลับให้ข้อมูลว่าไม่พบการค้าประเวณี ทั้งที่ทุก ๆ คนก็รู้อยู่แก่ใจดีว่าความเป็นจริงนั้นคืออะไร

ขัดต่อศีลธรรมอันดี

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ กล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึง “ขัดต่อศีลธรรมอันดี” คนส่วนหนึ่งย่อมมองว่านี่คือการพยายามละเมิดหรือบ่อนทำลายกฎระเบียบหรือคุณค่าบางอย่างที่สังคมยึดถือร่วมกัน แต่ในขณะเดียยวกัน ประโยคสวยหรูเช่นนี้ คือสิ่งที่คนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้อ้างเป็นเหตุผลในการปิดกั้นการกระทำบางอย่างของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การสั่งปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ กฎหมายการผลิตและจำหน่ายเบียร์ กฎหมายทำแท้ง หรือแม้กระทั่งสิทธิในการใช้เรือนร่างของตนเองในการหาเลี้ยงชีพ ทุกอย่างล้วนเป็นการสร้างกรอบของการกระทำบางอย่าง ซึ่งส่งผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีคำว่าศีลธรรมมาเป็นตัวกำหนด

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตรากฎหมายของรัฐไทยนั้น ล้วนมีเจตนารมณ์มาจากคำว่าศีลธรรมและความเชื่อทางศาสนา ไม่ได้ถูกตรามาจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่ควร อีกทั้งสังคมไทยที่เป็นอยู่ก็ยังคงมีกรอบศีลธรรมอันดีครอบงำอยู่ เห็นได้จากการออก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่ได้กล่าวไปข้างต้น กับการมองคนที่ประกอบอาชีพค้าประเวณีว่าเป็นเหยื่อ ด้อยสติปัญญาและการศึกษา แต่ไม่ได้มองเห็นถึงเบื้องหลังชีวิตของคนที่ตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพนี้ จนกลายเป็นว่ารัฐไทยได้แต่ปฏิเสธปัญหาและให้ความสำคัญเฉพาะแค่เรื่องศีลธรรม ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นการผลักคนกลุ่มหนึ่งในสังคมให้กลายเป็นคนชายขอบ ถูกมองว่าละเมิดศีลธรรมอันดี และต้องเผชิญกับปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาจากการปะกอบอาชีพโดยไม่มีมาตรการดูแลใด ๆ”

นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ทำให้ Sex Worker ‘ไม่ผิดกกฎหมาย’  อยากจะให้รัฐยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อที่ผู้ประกอบอาชีพขายบริการจะได้ไม่ต้องถูกเอาเปรียบจากนายจ้างหรือผู้มีอิทธิพล ทั้งการกดขี่ การบังคับจ่ายส่วยเพื่อที่จะได้ไม่ต้องโดนจับ “เราอยากทำงานเหมือนคนปกติ อย่างแม่ค้าส้มตำยืนขายก็ไม่เห็นจะต้องมีกฎหมายมารองรับเขาเลย ถูกไหม ส่วนคนที่กังวลว่าหากยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีแล้วจะทำให้มีอาชีพนี้ไม่มีการควบคุมนั้น คุณต้นกล่าวว่าในความเป็นจริง ผู้ประกอบอาชีพขายบริการไม่ได้มีอิสระเสรีในการทำอาชีพนี้ขนาดนั้น เพราะในไทยยังมี พ.ร.บ. ตัวอื่นที่สามารถนำมาใช้ควบคุมดูแลได้ อย่างเช่น พ.ร.บ. ปราบปรามการค้ามนุษย์, พ.ร.บ. สถานบริการ, พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก, พ.ร.บ. แรงงาน, พ.ร.บ. แอลกอฮอล์, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นต้น และสุดท้ายเมื่อยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีออกไป พนักงานบริการเหล่านี้ก็จะสามารถเข้าระบบตามกฎหมายแรงงานของไทยโดยอัตโนมัติ มีการคุ้มครอง ไม่โดนเอาเปรียบ และมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องได้ (ที่มา : นักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่)

“บางกอกคณิกา” สู่การปลดแอก!

            ขอย้อนกลับมาที่ “บางกอกคณิกา” อีกครั้งก่อนจบสกู๊ปเรื่องนี้ สำหรับเรื่องย่อ “บางกอกคณิกา” เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2435 ยุคสมัยที่การค้าประเวณีรุ่งเรืองที่สุด เรื่องราวของ สามดอกไม้งาม แห่งหอบุปผชาติ กุหลาบ (อิงฟ้า) ,โบตั๋น (ก้อย) และ เทียนหยด (ชาร์เลท) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของ แม่ราตรี (อ้อม) แม่เล้าผู้ทรงอิทธิพล โดยมีแขกประจำคนสำคัญ นั่นก็คือ พระยาจรัล (นก ฉัตรชัย) ผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมือง แต่ชีวิตในหอบุปผชาติ หาได้ใช่ความปรารถนาของสามสาวไม่ พวกเธออยากจะโบยบินเป็นอิสระ เพื่อทำตามความฝันของตัวเอง ทั้งสามคน จึงต้องพยายามหาเงิน เพื่อมาไถ่ถอนตัวเอง ออกจากการเป็น “นางคณิกา” อาชีพที่โดนเหยียดศักดิ์ศรีความเป็นคน ความพยายามต่อสู้ เพื่อปลดแอก และกอบกู้ศักดิ์ศรีของพวกเธอ จึงเริ่มต้นขึ้น  เมื่อ “นางคณิกา” อย่าง “พวกเธอ” ถูกด้อยค่าในสังคม การกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นคนในครั้งนี้ จะต้องแลกด้วยอะไร และความปรารถนา สู่การเป็น “อิสระ” เพื่อ “ทำตามฝัน” จะเป็นจริงได้หรือไม่ มาร่วมเอาใจช่วย “พวกเธอ” ไปพร้อมกัน

ซีรี่ส์มาแรงแฟนแห่อวยยศ

หลังจากที่ซีรี่ส์ออกอากาศตั้งแต่วันแรกกระทั่งถึงวันนี้ บรรดาแฟนซีรีส์แห่อวยยศ ทำถึง! ทำดี! ทำโดน! มากแม๊!!! โดยเฉพาะ อีพี1 ด้วยความร้อนแรง สุดเข้มข้น ตีแผ่ชีวิตโสเภณี และการต่อสู้ เพื่อไถ่ถอนชีวิต ให้เป็นอิสระ ของ สามคณิกาสาว อิงฟ้า วราหะ (กุหลาบ) ,ก้อย อรัชพร (โบตั๋น) และ ชาร์เล็ท วาศิตา (เทียนหยด) แห่ง ซีรีส์ “บางกอกคณิกา” ช่องวัน31 เรียกว่า เปิดฉากมาตอนแรก ความปั๊วะ ความปัง ก็ดันความร้อนแรงบนเทรนด์ X ขึ้นอันดับ 1 ของเทรนด์โลก และเทรนด์ไทย ภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่งให้กลายเป็นละครที่เปิดตัวเรตติ้งสูงสุดของช่องวัน ด้วยเรตติ้ง ทั่วประเทศ : 2.852 , กรุงเทพฯ : 3.882 และขึ้นแท่นอันดับ 1 ยอดคนดูสดสูงสุด ผ่านแอป oneD รวมถึง ชาวโซเชี่ยลแห่อวยยศ ชื่นชม ถึงฝีมือของเหล่านักแสดงในเรื่อง  ที่คัดมาแบบตรงปก ตรงคาแร็คเตอร์ ที่สำคัญ องค์ประกอบด้านโปรดักชั่น ภาพ แสง สี เสียง คอสตูม สวย อลัง นัมเบอร์วัน สมการรอคอย

ซีนนางโชว์ของ 3 สาว ในเพลง “แสงสุดท้าย” ทำถึง ทำดี ทำโดน จนถูกยกให้เป็น การเต้นฉบับ มูแรง รูจ ของเมืองไทย ที่เต็มได้ด้วยลีลาสุดเร่าร้อน แต่แฝงไปด้วยเสน่ห์สุดแพรวพราว โดยเฉพาะ ท่าเกี่ยว ของสาวอิงฟ้า ที่กลายเป็นไวรัลบนโลกโซเชี่ยล ด้วยอินเนอร์ และความทุ่มเทที่ต้องทำให้ถึง ด้านก้อย และชาร์เล็ท ก็ปล่อยของกันสุดฤทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น งานสายตา และลีลาสุดกรีดกรายของก้อย ไปจนถึง งานเอวสไตล์ภาระตะของชาร์เล็ท ที่ดูทรงพลัง เจอช็อตนี้เข้าไป เรียกว่า กวาดสายตาทุกคู่จงมองมา นี่คือ ดอกไม้งาม ที่เต็มไปด้วยความสามารถรอบด้านตัวจริง

ภาพ : ช่องone31,ศิลปวัฒนธรรม,เพจวัดคณิกาผล คุณย่าแฟง

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๓ ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗

หน้า 2-3

ตามรอย “คณิกา” แห่งสยามประเทศ

ชีวิตอิสตรีที่เลือกเกิดและเป็นไม่ได้

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๓ ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/xpyk/#p=1
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

website : www.bangkok-today.com
#ebookbangkoktoday
#อีบุ๊กบางกอกทูเดย์
#bangkoktoday
#บางกอกทูเดย์

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post