Digiqole ad

ดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้าน  ‘ผ่าทางตัน’หรือ‘ดันทุรังแจก’

 ดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้าน  ‘ผ่าทางตัน’หรือ‘ดันทุรังแจก’
Social sharing

Digiqole ad

          เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมาตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคเพื่อไทย พยายามผลักดันมาตลอด 7 เดือนที่ขึ้นดำรงตำแหน่งในการทำคลอดนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แก่ประชาชน 50 ล้านคน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ  เสียงเตือนจากนักกฎหมาย และเสียงจากประชาชนที่แสดงความห่วงใยต่ออนาคตของชาติบ้านเมือง  ต่อการที่พรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งแต่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะนำเอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาทำการแจกจ่ายเพื่อสร้างคะแนนนิยมต่อตนเองและพรรค  แต่สุ่มเสี่ยงต่อสถานะการคลังและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติที่จะตามมา

          ดังนั้นจึงต้องติดตามและบันทึกรายละเอียดการแถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ 10 เมษายน 2567 ที่นายเศรษฐา นำทีมแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ตว่าลงตัวแล้วตามตัวบทกฎหมาย  อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยจะพร้อมเปิดให้ลงทะเบียนช่วงไตรมาส 3 และแจกเงินในไตรมาส 4 ปีนี้

          “นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ที่จะเกิดการลงทุนขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงานสร้างอาชีพและเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะได้รับผลการตอบแทนคืนมาในรูปแบบภาษี เป็นการเตรียมความพร้อมประเทศให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจ  เป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 1.2-1.6%” นายเศรษฐากล่าว

          สำหรับที่มาของเงินจำนวน 5 แสนล้านบาทซึ่งตอนแรกรัฐบาลบอกว่าจะกู้แล้วถูกท้วงว่าอาจจะผิดวินัยการเงินการคลังนั้น  ได้มีการแจ้งว่าไม่ต้องกู้แล้วเพราะกระทรวงการคลังสามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท  งบประมาณปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท  และเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (...)จำนวน 172,300 ล้านบาท เพื่อดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคน

          แนวทางและรายละเอียดในการแจกเงินดิจิทัลสรุปกันอีกครั้งคือ 1.คนไทยอายุ16 ปีขึ้นไป  มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี  มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท  2. กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กรวมถึงร้านสะดวกซื้อ 3. ห้ามซื้อสุรา เบียร์ บุหรี่ น้ำมัน บริการ และสินค้าออนไลน์  4. จะมีการจัดทำระบบซูเปอร์ แอพพลิเคชั่น ของรัฐบาล ให้ประชาชนและร้านค้าเข้าลงทะเบียนภายในไตรมาสที่ 3  และเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 

          ตัวตึงที่ติดตามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาลมาโดยตลอดและเคยทำนายไว้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำแล้วว่ารัฐบาลจะหาทางออกเช่นนี้คือน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  ได้ตั้งข้อสังเกตว่ายังไม่เห็นรายละเอียดของแผนงาน  แต่ผลกระทบที่จะตามมาคือ หนี้สาธารณะ เอาเฉพาะการขยายวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 หนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่ที่ 67% แล้ว ยังมีภาระดอกเบี้ยแต่ละปี เพิ่มเป็น 11% ของรายได้ เท่ากับเก็บภาษีมาเท่าใดก็เอาไปจ่ายดอกเบี้ยหมด 

          ศิริกัญญาบอกด้วยว่าเป็นคอขวดที่สำคัญที่รัฐบาลต้องก้มหน้ารับไป และยิ่งใช้เร็วก็น่าจะยิ่งดี ยิ่งไปกินเงินงบประมาณในส่วนอื่นๆไปอีกระยะหนึ่ง รัฐบาลชุดต่อไปที่จะต้องมาแบกรับภาระหนี้ต่ออยู่แบบคอหอยแล้ว อีกนิดเดียวจะชนเพดานที่70 % แล้ว นี่ขนาดเป็นกู้สาธารณะเพียงแค่งบ 2567 และงบ 2568 ยังไม่นับรวมกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งไม่ได้อยู่ในหนี้สาธารณะก็จริง แต่สุดท้ายก็ยังต้องใช้เงินงบประมาณในการใช้คืนหนี้อยู่ดี ฉะนั้นนอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังมีเรื่องภาระที่แฝงมาด้วย หลังจากที่ทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต

          หากย้อนไปก่อนหน้านี้นอกจากน..ศิริกัญญาแล้วยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ตั้งข้อสังเกตุถึงความพยายามผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลเศรษฐาว่า  เหมือนไม่ทำการบ้านมาก่อน  เหมือนไม่พยายามเรียนรู้บทเรียนที่เคยมีในอดีตทั้งของไทยและต่างประเทศ  

          เพราะนี่ไม่ใช่การแจกเงินครั้งแรกในไทย แต่ได้แจกมาแล้วหลายครั้งหลายยุคสมัยในรูปแบบและชื่อเรียกต่างๆ  เช่น โครงการเงินผันสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช   โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร  โครงการเช็คช่วยชาติ แจกคนละ 2,000 บาท สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ออกมาเพื่อเป็นการรับกับสภาวะเศรษฐกิจไทยที่หดตัว เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2551  รวมไปถึงโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”ซึ่งเป็นมาตรการเยียวยาช่วงเกิดโควิด-19 สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา 

          เมื่อศึกษาผลที่ได้รับจากการแจกเงินในอดีตพบว่าผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น จากการอัดฉีดเงินไม่ได้สูงอย่างที่รัฐบาลแต่ละชุดได้โม้เอาไว้  กล่าวคือตัวคูนในการแจกเงินนั้นอยู่แค่ 0.4 – 0.5% ซึ่งไม่ได้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจแบบที่รัฐบาลบอกกล่าวกับประชาชนแต่อย่างใด  

          หากมองในแง่ดีการที่รัฐบาลตัดสินใจเลิกกู้  หันกลับมาใช้เงินงบประมาณประจำปีแม้จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  แม้จะเป็นการใช้งบประมาณข้ามปี แม้จะดึงเงินจากธ...มาใช้  แต่ถือว่ายังมีที่มาชัดเจน มีกลไกที่สามารถติดตามตรวจสอบได้ทั้งในด้านป้องกันการทุจริตและตรวจวัดประสิทธิผล      

          แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงเห็นว่าเหตุผลเดิมของรัฐบาลที่อ้างวิกฤติเศรษฐกิจ  แท้จริงเป็นสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ทำรัฐประหารปี 2557 พอมาเจอโควิด-19  เจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน  เจอสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ อาการสะดุดหยุดชะงักนั้นเป็นไปทั่วโลก  ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ  สถานะทางการเงินของประเทศยังแข็งแกร่งต่างกับวิกฤติค่าเงินบาทปี 2540  แม้GDPปี 2566 จะลดลงจากปี 2565 ขยายตัวแต่ 1.8% แต่กระทรวงการคลังก็คาดว่า GDP ปี 2567 จะกลับมาขยายตัวที่ 2.8% และจะมากกว่านั้นหากมีการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท

          ถึงยังไงก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลและความจำเป็นในการแจกเงิน 5 แสนล้านบาท  เพียงหวังกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น  แต่เบียดบังงบประมาณที่ควรจะทำในระยะยาวในอนาคต  เหมือนรูดบัตรเครดิตเต็มวงเงินแล้วต้องผ่อนจ่ายใช้หนี้  หากเกิดวิกฤติในยามคับขันย่อมแทบไม่เหลือวงเงินให้รูด

          การที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ร่วมนั่งแถลงข่าวกับนายกฯเศรษฐาและข้าราชการกระทรวงการคลังย่อมสะท้อนจุดยืนของธนาคารกลางไทยว่า  ไม่สนับสนุนนักการเมืองที่คิดง่ายๆกับการแจกเงินประชาชนเพื่อสร้างโลกสวยว่าช่วยคนจน เศรษฐกิจจะฟื้น  คนทั้งประเทศจะลืมตาอ้าปาก เพราะปลายทางสุดท้ายของเงิน 5 แสนล้านบาทก็ไหลไปอยู่ที่นายทุนขาใหญ่นั่นแหละ

Facebook Comments


Social sharing

Related post