Digiqole ad

ฉีก “MOU” ด่วน! “สามเหลี่ยมแห่งหายนะ” (สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 393 วันที่ 18-24 ส.ค.66)

 ฉีก “MOU” ด่วน! “สามเหลี่ยมแห่งหายนะ” (สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 393 วันที่ 18-24 ส.ค.66)
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 393 วันที่ 18-24 สิงหาคม 2566

หน้า 2-3

     ฉีก ‘MOU’ ด่วน!

“สามเหลี่ยมแห่งหายนะ”

            ขณะที่แวดวงการพรรคเมืองกำลังมีกระแสดราม่าของการ “ฉีก MOU” ซึ่งเป็นข้อตกลงที่พันธมิตรหรือกัลยาณมิตรได้ให้ข้อตกลงหรือเงื่อนไขระหว่างกันเป็นข้อ ๆ ไว้ แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทำตาข้อตกลงที่ว่านั้นได้ จึงเกิดมีการ  “ฉีก MOU” ดังกล่าว “บางกอกทูเดย์”  จึงขอนำมาต่อยอดทำสกู๊ปในสไตล์ของเรา โดยนำคำว่า MOU” มาแตกเป็นคำที่ย่อมาจาก

            M-Magnate = ผู้มีอิทธิพล (มืด)

            O-Orbit = วงโคจร (อุบาทว์)

           U-Unclean = ความสกปรก และความชั่วร้าย

ซึ่งจะขอเรียกว่า “สามเหลี่ยมแห่งหายนะ” ที่สร้างความล่มสลายให้กับสังคมและประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ที่ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นหรือก่อเชื้อไฟมาจาก “การเมือง” แม้ว่าจะไม่เห็นอย่างชัดเจนในขณะนี้ แต่ก็มีข่าวออกมาอยู่เรื่อย ๆ ทั้งวงในและวงนอก เสมือนมะเร็งร้ายที่ค่อย ๆ ทำลายอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคนเราไปเรื่อย ๆ โดยหลายคนได้จบชีวิตลงด้วยเพราะฤทธิ์ “สามเหลี่ยมแห่งหายนะ”

            M-Magnate = ผู้มีอิทธิพล (มืด)

            ในสถานการณ์ใด ในการสื่อข่าวใด ก็ตามเมื่อเกิดคำว่า “ผู้มีอิทธิพล” ขึ้นมาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นย่อมต้องเกิดเรื่องที่ไม่ค่อยดีแน่นอน เรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของความสูญเสีย เรื่องของการฉ้อฉล เรื่องผิดศีลธรรม ผิดทำนองคลองธรรม และอีกสารพัดที่ได้ยินได้ฟังแล้วไม่สบายใจ ไม่สร้างสรรค์ โดยไม่ได้การยอมรับ ไม่ได้ต้องการ และความเชื่อถือจากผู้คนหรือประชาชน

ต่างจากคำว่า “ผู้ทรงอิทธิพล” ฟังแล้วอย่างไรก็ออกไปในแนวพลังบวกและสร้างสรรค์ ผู้คนหรือประชาชนให้การยอมรับนับถือ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ ผู้คนปฏิบัติตามเหมือน “อินฟลูเอนเซอร์” (Influencer)

ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร และ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต 2 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ได้ให้ความหมายของผู้มีอิทธิพลว่า

           ผู้มีอิทธิพล หมายถึง ผู้มีอำนาจในด้านที่ไม่เป็นทางการและเป็นผู้ที่มีความสามารถให้ผู้อื่นปฏิบัติตามโดยการโน้มน้าวชักจูง เช่น อำนาจบารมีที่ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน ด้วยพฤติกรรมความเชื่อ หรือบุคลิกภาพทางสังคมที่สอดรับกับวัฒนธรรมของแต่ละสังคม เช่น ความเป็นนักเลง ใจถึงพึ่งได้ พูดจริงทำใจริง กล้าใช้ความรุนแรง มีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับแนวหน้าของชุมชน และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลไกภายนอกชุมชน เช่น ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ ผู้มีอิทธิพลจะสามารถเป็นที่พึ่งของชุมชนได้ทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ จิตวิญญาณ และมีบทบาททางการเมืองสูงในระดับชุมชน

อำนาจที่ไม่เป็นทางการของผู้มีอิทธิพลจะมีพื้นที่ขอบเขตอำนาจในปริมณฑลหนึ่ง ๆ เท่านั้น พฤติกรรมการใช้อำนาจของผู้มีอิทธิพล มักจะกระทำการใด ๆ ที่ผิดกฎหมายหรืออยู่เหนือกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยอาศัยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมให้การกระทำการแทนหรือใช้จ้างงาน สนับสนุน

ในบางกรณีพฤติกรรมการใช้อำนาจในด้านไม่เป็นทางการของผู้มีอิทธิพล ยังมีอำนาจเหนืออำนาจที่เป็นทางการได้ด้วย เช่น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในระดับจังหวัดซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอำนาจที่เป็นทาง ก่อนที่จะเข้าบริหารราชในจังหวัดการจะต้องเข้าไปพบปะแนะนำตัวต่อผู้มีอิทธิพล หรือในฤดูกาลเลือกตั้งบรรดาพรรคการเมืองที่จะส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งจะขอความช่วยเหลือผู้มีอิทธิพลให้เป็นหัวคะแนน หรือเชิญชวนให้ผู้มีอิทธิพลลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมือง หรือขอให้ผู้มีอิทธิพลสนับสนุนบุคคลในเครือข่าย เช่น ภรรยา ลูกหลาน ญาติ คนใกล้ชิด ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมือง เนื่องจากโอกาสและหลักประกันที่จะได้รับการเลือกตั้งมีสูงถ้าได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอิทธิพล

พฤติกรรมการใช้อำนาจที่ไม่เป็นทางการดังกล่าวมักถูกมองว่าเป็นอุปสรรคและบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากอำนาจทางการเมืองที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้มีอิทธิพลไม่ได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

“มหาดไทย” ระบุประเภทผู้ทรงอิทธิพล

สำหรับความหมายของ “ผู้ทรงอิทธิพล” นั้น หนังสือกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความหมาย “ผู้ทรงอิทธิพล” ไว้ว่า คือผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง เป็นผู้ใช้ จ้างวาน สนับสนุน โดยกระทำงานอยู่เหนือกฎหมาย หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย กดขี่ ข่มเหง รังแกประชาชน บ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และการกระทำดังกล่าวเป็นปกติธุระ และได้กำหนดพฤติการณ์ของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในข่ายเป็นผู้ทรงอิทธิพลไว้ว่า

1.ตั้งบ่อนการพนัน เป็นปกติธุระโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ

2.ตั้งซ่องโสเภณี สถานบริการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยการทำด้วยตนเอง หรือใช้ผู้อื่น บังคับ ขู่เข็ญ หรือหลอกลวงหญิง หรือเด็กเพื่อมาค้าประเวณี

3.ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่นการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การขุดแร่เถื่อน

4.สมคบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือใช้อิทธิพลของทางราชการ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

5.เรียกค่าคุ้มครองบุคคล ทรัพย์สิน หรือกิจการต่างๆ เช่น รถเมล์ รถประจำทาง รถโดยสาร หรือเรือโดยสาร

6.ประพฤติตนเป็นนักเลงอันธพาล หรือเป็นธุระจัดหามือปืนรับจ้าง หรือหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน รังแก ข่มเหง หรือกระทำด้วยประการใดๆ โดยมิชอบให้ผู้อื่นเกรงกลัว

7.สะสมอาวุธ เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ไม่ว่าชนิดใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้เพื่อการค้า หรือการตระเตรียมการกระทำความผิดอย่างอื่น

8.เป็นผู้ค้า หรืออยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติดรายใหญ่

9.เป็นผู้ค้าของเถื่อน ของหนีภาษี

10.เป็นนายทุนที่แสวงหาผลประโยชน์จากทางราชการโดยมิชอบ เช่น กักตุนสินค้า หรือผูกขาดการค้า โดยเอารัดเอาเปรียบประชาชน เพื่อค้ากำไร หรือขึ้นราคาโดยมิชอบ

11.ลักลอบฆ่าสัตว์ และค้าสัตว์ผิดกฎหมาย

12.ใช้อำนาจ หรือ อิทธิพลในตำแหน่งหน้าที่ แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ส่วนเว็บไซต์รัฐบาล www.thaigov.go.th ได้เผยแพร่กราฟิก ที่มีข้อความระบุว่า REWARD WANTED” พฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นผู้ที่มีอิทธิพล 16 ข้อ ประกอบด้วย 1.นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ 2.ฮั้วประมูลงานราชการ 3.หักหัวคิดรถรับจ้าง 4.ขูดรีดผู้ประกอบการ 5.ลับลอบขนสินค้าหนีภาษี 6.เปิดบ่อนการพนัน 7.ลักลอบการค้าประเวณี 8.ลักลอบนำคนเข้า-ออกประเทศโดยผิดกฎหมาย 9.ล่อลวงแรงงานไปยังต่างประเทศ 10.แก๊งต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว 11.มือปืนรับจ้าง 12.รับจ้างทวงหนี้ด้วยการข่มขู่ใช้กำลัง 13.ลักลอบค้าอาวุธสงคราม/ปืนเถื่อน 14.บุกรุกที่ดินสาธารณะ/ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 15.เรียกรับผลประโยชน์บนเส้นทางหลวงสาธารณะ 16.ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ผู้มีอิทธิพลระดับตัวพ่อ

จากการวิจัยของศูนย์ข้อมูลอาชญากรรม และการฟอกเงิน ได้แยกประเภทกลุ่มของผู้ทรงอิทธิพลออกเป็น 4 กลุ่มคือ

 1.กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลระดับท้องถิ่น ซึ่งมักจะมาจากข้าราชการส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ประกอบธุรกิจอาชญากรรมระดับพื้นฐาน เช่นคุมหวยเถื่อน บ่อนการพนัน ซ่องโสเภณี หรือเป็นแขนเป็นขาให้กับนักการเมืองระดับชาติ บางครั้งก็พัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่นักการเมืองระดับชาติ

2.กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลประเภทเป็นข้าราชการ หรือบุคคลผู้มีสี กลุ่มนี้มักจะรับส่วยจากผู้ประกอบอาชญากรรมประเภทต่างๆ รับจ้างทวงหนี้ รับจ้างคุมสถานบันเทิง รับทำงานเป็นมือปืนรับจ้าง เรียกค่าคุ้มครอง ข่มขู่ รีดไถ กลุ่มนี้กฎหมายบ้านเมืองมักจะเข้าไปไม่ถึงเพราะมีภูมิคุ้มกันสูง

           3.กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่มาจากผู้ประกอบธุรกิจการค้า ซึ่งมักจะประกอบธุรกิจการค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย และ ผิดกฎหมาย โดยมีกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือนักการเมืองส่วนท้องถิ่นหนุนหลัง บางครั้งกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลกลุ่มนี้มักจะสนับสนุนนักการเมืองระดับชาติอยู่ด้วย

           4.กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลซึ่งพัฒนาตนเองมาจากนักเลงหัวไม้ คุมบ่อนการพนัน คุมซ่องโสเภณี เป็นเจ้ามือหวยเถื่อน ในที่สุดด้วยบารมีทางการเงินได้นำไปสู่ความเป็นผู้มีอิทธิพล บางครั้งก็มีโอกาสไต่เต้าไปเป็นนักการเมืองระดับชาติด้วยก็มี

แนวทางแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพล

กระทรวงกลาโหม ระบุว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแก่ประชาชน จากกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นที่ดำรงตนอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมข้อมูล พฤติกรรมของผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งพิสูจน์ทราบในพื้นที่แล้ว
โดยนับจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในแต่ละจังหวัด ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมให้เบาะแส จะทำงานร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพลอย่างเข้มข้น ทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีหมายจับและหลบหนีการดำเนินคดี รวมทั้งบุคคลอื่น ๆ ที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่า แต่สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงคือ ในการดำเนินการปราบปราม ต้องว่ากันไปตามฐานความผิด และภายใต้กรอบกฎหมาย ใครมีคดี มีความผิดต้องจับกุมดำเนินคดีกันไป อย่าเกินเลยไปในลักษณะ การใช้ความรุนแรงตัดตอน เหมือนอย่างในอดีต ที่มีการส่งสัญญาณจากผู้นำในการปราบปรามยาเสพติด จนนำไปสู่การฆ่าตัดตอนมากถึง 2,500 ศพมาแล้ว ที่สำคัญคือ ในการปราบปรามต้องดำเนินการอย่างจริงจังไม่ไว้หน้า หรือจงใจละเว้นใครที่เป็นพรรคพวก คนรู้จัก อะไรทั้งสิ้น ทำให้ทุกอย่างเดินไปในแนวทางที่ต้องการปราบปรามผู้มีอิทธิพลอย่างแท้จริง เพื่อให้สังคมดีขึ้นจริงๆ ไม่ใช้นโยบายนี้มีจัดการกับกลุ่มตรงข้ามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

O-Orbit = วงโคจร (อุบาทว์) ในมุมมองสื่อ-นักวิชาการ

สำหรับ “วงจรอุบาทว์” นับเป็นปัญหาเรื้อรังและซ้ำซากของสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย โดยจุดใหญ่ของ “วงจรอุบาทว์” มาจาก “การเมือง” จาก บทบรรณาธิการแนวหน้าออนไลน์ กล่าวโดยสรุปว่า

เรา (คนไทย) จะต้องประสบกับวงจรอุบาทว์ทางการเมืองอีกหรือไม่ คำตอบเรื่องนี้จะชัดเจนได้ก็ต่อเมื่อบ้านเมืองของเราไม่ต้องถูกฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะการทำรัฐประหารอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน ประเทศนี้ก็ยังมีนักการเมืองจำนวนมิใช่น้อยที่ยังคงใช้อำนาจการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบตลอดเวลา ดังที่เราได้พบเป็นประจำว่า นักการเมืองจำพวกหนึ่งชอบอ้างว่าตนเองมาจากการเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่เขาโกงการเลือกตั้ง แต่ทว่า ไม่มีใครสามารถเอาผิดกับการโกงได้ เมื่อจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ก็จึงต้องปล่อยให้คนโกงเข้าไปมีอำนาจรัฐ แล้วสุดท้ายคนโกงก็ใช้อำนาจรัฐฉ้อฉลปล้นประเทศ สร้างความเดือดร้อนเสียหายอย่างหนักจนประชาชนทนไม่ได้ เมื่อกงล้อการเมืองหมุนมาถึงจุดที่ประชาชนทนไม่ได้ ก็จึงเกิดการลุกฮือประท้วง แล้วอาจจบลงด้วยการก่อจลาจล จนบ้านเมืองไม่สงบสุข

            “ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนจำนวนมากที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้ แล้วก็มีคำถามว่าบ้านเมืองของเราในยุคนี้จะกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีกหรือไม่ ซึ่งหลายคนตอบแบบไม่เต็มเสียงว่า น่าจะยังไม่พ้นจากวงจรอุบาทว์ เพราะเมื่อดูการโกหกโดยนักการเมืองแล้ว ก็ทำให้หวั่นหวาดใจว่า อีกไม่นานคงจะเกิดรัฐประหารขึ้นเป็นแน่แท้ ตราบที่นักการเมืองไทยจำนวนไม่น้อยยังมีพฤติกรรมฉ้อฉล รวมถึงพวกนักการเมืองที่ทำผิดแล้วหนีคดีอาญาแผ่นดินโดยไม่ยอมกลับเข้ามารับโทษทัณฑ์ที่ตนก่อไว้ แต่กลับยังส่งทายาทอสูรเข้ามาเป็นตัวตายตัวแทนทางการเมือง เพื่อหวังล้างผิดฟอกขาวให้ตนเอง เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ก็ทำให้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในไม่ช้าอาจจะเกิดรัฐประหารครั้งใหม่ขึ้นอีก”

จาก “ว่ายทวนน้ำ” คอลัมนิสต์เดลินิวส์ออนไลน์ กล่าวว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีอุดมการณ์ ไม่รู้จักคำว่า “การยึดมั่นอย่างมั่นคงในความถูกต้อง (integrity)” เมื่อเป็นเช่นนี้ชาติบ้านเมืองจึงไม่ได้รับการพัฒนาในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่มีการแก้ปัญหาอย่างถูกจุดและถูกวิธี เป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างซ้ำซากไม่รู้จักจบสิ้น แก้ปัญหาหนึ่งก็ไปก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่ง เนื่องจากไม่ได้แก้ปัญหาในระดับโครงสร้างและไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงบูรณาการ”

คุณอนุชิต อนุชิตานุกูล อดีตกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ กล่าวว่า เราจะหลุดออกไปจากวงจนอุบาทว์นี้ได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่สองวงจร 1.วงจรด้านการเมือง 2. วงจรด้านระบบราชการ ในเรื่องแรก คือวงจรอุบาทว์ด้านการเมืองนี้ เริ่มต้นเพราะความอ่อนแอของคนในสังคมไทย ที่ต้องอาศัยพึ่งพิงผู้มีอำนาจในท้องถิ่น เป็นระบบอุปถัมภ์ จนทำให้เกิดระบบหัวคะแนนที่สามารถใช้ควบคุมฐานเสียง และใช้การแจกเงินให้ผลประโยชน์ในการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ทำให้เกิดธุรกิจการเมือง ที่มีการ “ลงทุน” และ “ถอนทุน” ผ่านพิธีกรรมการเลือกตั้งในคราบคำว่าประชาธิปไตยเท่านั้น เมื่อมีอำนาจแล้วจึงไม่ได้มีความตั้งใจที่จะแก้ไข “ระบบ” เพื่อกำจัดความอ่อนแอของสังคม เพราะเป็นหนทางของการเข้าสู่อำนาจนั้น

ในส่วนที่สอง คือ การแก้วงจรในระบบราชการ ผู้เขียนขอมอบตัวก่อนว่าแนวคิดที่นำเสนออาจเรียกได้ว่าแหกคอกหรือมีความไม่ถูกต้องทางการเมือง (politically correct) อยู่ไม่น้อย แต่ก็คิดว่าสมควรนำมาพูดคุยถกเถียงได้ เพราะแม้ในที่สุดแนวคิดนี้ไม่นำไปสู่การปฏิบัติ แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการทำให้เกิดความคิดเกี่ยวกับปัญหาเชิงระบบของสังคมที่เรากำลังเป็นอยู่อย่างหลากหลายมากขึ้น คือแนวความคิดในการแก้ปัญหาวงจรการเมืองด้วยรัฐธรรมนูญ/กฎหมายการเลือกตั้งแนวคิดใหม่ ที่เรียกว่า “สละสิทธิเลือกตั้งจนกว่าจะพร้อมที่ละเลือก” พร้อมกับเสนอแนวความคิดเพิ่มเติม อีกสองเรื่อง คือ “โรงเรียนรัฐมนตรี” และ “การจัดสรรงบประมาณจากภาษี แนวใหม่แบบประชาธิปไตย (จริงๆ)” ซึ่งเป็นแนวความคิดเสริม ในกรณีที่ไม่สามารถไปแก้ต้นเหตุตั้งแต่การเลือกตั้งคนเข้าสู่อำนาจ

           U-Unclean = ความสกปรก-ความชั่วร้าย

พูดถึง “ความสกปรกและความชั่วร้าย” ของสังคมและประเทศไทย  สาเหตุมาจาก “การเมือง” เป็นหลักที่สร้างผลกระทบและแผ่อิทธิพลความเดือดร้อนเข้าสู่สังคม

ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน นักวิชาการด้านการเมืองการปกครอง ได้ตีพิมพ์บทความลงในมติชน ระบุโดยสรุปว่า  อสูรกายสามตัวที่เป็นพลังมืดขับเคลื่อนวงจรแห่งความชั่วร้ายในวงการการเมืองไทยคือ ทุนนิยมสามานย์ อำนาจ และการทุจริตคอรัปชั่น

การจะหลุดพ้นจากวงจรแห่งความชั่วร้ายดังกล่าวได้ จำเป็นที่จะต้องทำให้คนในสังคมมองเห็น และรู้เท่าทันมหาภัยของพลังดำทั้งสามนั้น แล้วใช้สติและปัญญาในการสร้างสรรค์ระบบการเมืองใหม่ที่อ่อนตัว ยืดหยุ่น เอื้อต่อการพัฒนาแบบยั่งยืน บนฐานของสังคมและวัฒนธรรมไทย ไม่ต้องรีบร้อน และคาดหวังผลอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การแก้ไขกฎหมาย ทำได้รวดเร็ว แต่การปรับเปลี่ยนและพัฒนาคน ต้องใช้เวลามากกว่ามาก ปัญหาโครงสร้าง ปัญหากฎหมายคิดแบบแก้ไขได้ แต่ปัญหาคน ไม่ควรคิดแบบแก้ไข แต่ควรคิดแบบสร้างและพัฒนา ซึ่งใช้เวลามากกว่า แต่มีโอกาสให้ผลที่ยั่งยืนกว่า

            การปฏิรูปการเมืองไทย ถ้าคิดว่าการเข้ามาเล่นการเมืองของนักการเมือง เข้ามาเพื่อแสวงหาอำนาจตามที่กล่าวไว้ในตอนต้น เราก็ต้องปฏิรูประบบอำนาจ ตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ และการรับผิดชอบต่อผลและผลกระทบของการใช้อำนาจ และถ้าเชื่อว่าอำนาจเปิดโอกาสให้มีการทุจริตคอรัปชั่น ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งมีโอกาสมาก ก็ควรหาวิธีลดอำนาจเฉพาะตำแหน่งลง หรืองดอำนาจการตัดสินใจเพียงคนเดียวไปเลย แล้วใช้การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมแทน

            “เมื่อการเมืองปัจจุบัน ติดกับอยู่ในวงจรแห่งความชั่วร้าย เพราะขับเคลื่อนด้วยสามพลังอำมหิต การนำสามพลังสร้างสรรค์ (พลังความรู้/ปัญญา พลังเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และพลังทางกฎหมาย/นโยบาย) มาต่อสู้อย่างมีสติและอย่างรู้เท่าทัน น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมอีกแนวทางหนึ่ง ลองช่วยกันพิจารณาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน”

           คุณสามารถ มังสัง คอลัมน์นิสต์ผู้จัดการออนไลน์  กล่าวว่า ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าการที่คนจะปิดกั้นด้วยการข่มคนชั่วมิให้กระทำความชั่ว และการที่จะยกย่องคนดีเพื่อส่งเสริมให้คนทำดีเพิ่มขึ้น จึงเป็นหน้าที่ที่คนดีพึงกระทำ วันนี้และเวลานี้ ผู้คนในสังคมไทยถึงแม้จะมีคนดีอยู่มากมาย ถ้าเปรียบเทียบกับคนชั่ว แต่คนดีส่วนใหญ่เพิกเฉยไม่ทำหน้าที่ของคนดี จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้คนชั่วทำความชั่ว ทำความเลว สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนในสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนคนชั่วที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดูประหนึ่งว่าสังคมไทยไม่มีคนดีเหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมการเมือง ซึ่งเป็นสังคมที่มีอำนาจในการนำพาประเทศ และชี้นำประชาชนในทุกด้าน และที่สำคัญที่สุดคือ ด้านนิติบัญญัติ และด้านบริหาร อันเป็นหน้าที่โดยตรงของนักการเมืองในฐานะตัวแทนของปวงชนในระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

           “ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขให้คนดีลุกขึ้นมาทำหน้าที่ ก็จะต้องเริ่มด้วยการปลุกคนดี โดยเฉพาะคนเมืองที่ส่วนใหญ่จะเพิกเฉยในลักษณะการดำเนินตามสุภาษิตที่ว่า ชั่วช่างชี ดีช่างเถรคือไม่อยากยุ่งเรื่องของคนอื่น และถือว่าเป็นเรื่องไกลตัว ถ้าสามารถปลุกคนดีให้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ได้ก็จะทำให้โอกาสคนชั่วทำชั่วได้น้อยลง และหมดไปในที่สุด

ล้อมกรอบ

จักรวาลแห่ง ‘MOU’

            “MOU” คืออะไร : “MOU” ย่อมาจาก “Memorandum of Understanding” คือหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งจะระบุหลักเกณฑ์ แนวทางปฎิบัติ เพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกันระหว่างหน่วยงานหรือองค์กร โดยไม่มีผลทางกฎหมายและไม่ถือเป็นสัญญาผูกมัด ยกตัวอย่างเช่น DIGITORY ทำ MOU ร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล และบุคลากรร่วมกัน โดยแต่ละฝ่ายสามารถระบุสิ่งที่ตนเองต้องการและทำการหาข้อตกลงร่วม เพื่อเป็นการทำข้อตกลงถึงการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกันนั่นเอง

รายละเอียดของการทำ MOU มีอะไรบ้าง :  การทำ MOU ประกอบไปด้วยเป้าหมายหรือข้อตกลงร่วม ชื่อและลายเซ็นของผู้ทำข้อตกลง โดยอาจกำหนดวันที่ลงนามหรือวันที่มีผลบังคับใช้ รวมถึงบทบาทและหน้าที่ที่แต่ละฝ่ายที่ต้องดูแล ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงหรือขอบเขตที่มีร่วมกันว่าต้องการความเฉพาะเจาะจงมากน้อยแค่ไหน เช่น บางองค์กรอาจใส่ข้อตกลงแบบกว้าง ๆ เพื่ออิสระในการทำงาน หรือบางองค์กรก็ลงรายละเอียดเชิงลึกเพื่อลดความคลุมเครือในการทำงาน

           ประโยชน์ในการทำ ‘MOU’ :

      1. แสดงถึงเป้าหมายที่มีร่วมกัน เพื่อให้ผู้ทำข้อตกลงมองเห็นถึงเป้าหมายในการดำเนินการเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในอนาคต

  1. ลดความไม่แน่นอน ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถทราบวัตถุประสงค์ร่วมหรือข้อกำหนดอื่น ๆ ในการทำ MOU ได้ ซึ่งจะลดความสับสนและความไม่แน่นอนระหว่างการทำงานร่วมกัน
  2. ง่ายต่อการยกเลิกข้อตกลง : อย่างที่กล่าวไปว่า MOU โดยไม่มีผลทางกฎหมายและไม่ถือเป็นสัญญาผูกมัด เปรียบเป็นสัญญาใจที่ทำร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นถ้าวันหนึ่งหากเราไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่ตกลงกันก็สามารถยกเลิกได้ โดยการทำ MOU มักนิยมทำระหว่างธุรกิจ องค์กร รวมถึงภาครัฐเพื่อกำหนดความเข้าใจในการทำงานร่วมกับของแต่ละฝ่าย นอกจากนี้ MOU ยังช่วยเพิ่มความชัดเจนในการทำงานให้ทุกฝ่ายใช้เป็นแนวทางร่วมกันในการปฎิบัติตามข้อตกลงนั่นเอง ถึงแม้ว่าการทำ MOU จะไม่เป็นผลทางกฎหมายแต่ก็สามารถเพิ่มความเชื่อมั่นระหว่างองค์กรได้เป็นอย่างด (ที่มา : https://digitorystyle.com)

 

 

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 393 วันที่ 18-24 สิงหาคม 2566
ฉีก ‘MOU’ ด่วน! “สามเหลี่ยมแห่งหายนะ” (สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 393 วันที่ 18-24 ส.ค.66)
web : https://bangkok-today.com/BFYUfb1

page : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=276142918506220&id=100083315412214&mibextid=Nif5oz

e-book : บางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 393 วันที่ 18-24 ส.ค.66

https://book.bangkok-today.com/books/ufim/
สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ
#ทีมเวิร์กบางกอกทูเดย์

Facebook Comments


Social sharing

Related post