Digiqole ad

“จาตุรนต์ ฉายแสง” สะท้อนมุมมอง 9 ปี รัฐประหาร: การสืบทอดอำนาจสะดุดเร็วกว่าที่วางแผนไว้ แต่พันธนาการยังอยู่

 “จาตุรนต์ ฉายแสง” สะท้อนมุมมอง 9 ปี รัฐประหาร: การสืบทอดอำนาจสะดุดเร็วกว่าที่วางแผนไว้ แต่พันธนาการยังอยู่
Social sharing
Digiqole ad

การรัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อนเกิดขึ้นเพราะเห็นว่าการรัฐประหารครั้งก่อนนั้นเป็นเรื่อง “เสียของ”

คณะรัฐประหารได้สร้างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง คือเป็นระบบกติกาที่ทำให้ผู้ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองตามใจชอบและอย่างยาวนาน ซ้ำร้ายยังได้สร้างภูมิคุ้มกันตนเองไว้ในรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดกำหนดเงื่อนไขไว้แบบจงใจไม่ให้แก้ไขเรื่องสำคัญได้เลย

การเอาความคิดที่อนุรักษ์ล้าหลังมาครอบงำการบริหารประเทศในรูปของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปียังคงอยู่คู่กับกฎกติกาอีกมากมายที่ทำให้ประชาชนยังคงไม่มีอำนาจหรือแม้แต่สิทธิเสรีภาพที่แท้จริง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 9 ปี แผนการสืบทอดอำนาจเผด็จการตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลก็เกิดสะดุดเร็วกว่าที่วางแผนไว้คือหัวหน้าคณะรัฐประหารและพวกไม่สามารถใช้ระบบที่วางไว้เป็นตัวช่วยให้อยู่ในอำนาจได้อีกต่อไปเสียแล้ว

ที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะระบบเผด็จการเองไม่สามารถทำให้เกิดผู้นำและการบริหารที่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้หรือจริงๆแล้วคือได้ทำความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรงด้วย ขณะที่ประชาชนก็ได้ตื่นตัวเรียนรู้ความเลวร้ายของระบอบเผด็จการและเห็นคุณค่าของประชาธิปไตยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

พรรคการเมืองของผู้นำการรัฐประหารทั้งสองพรรคพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็ชนะอย่างเด็ดขาดรวมเสียงกันได้เกินกว่าครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรไปมาก

ถ้าเป็นตามกติกาประชาธิปไตยสากล การตั้งรัฐบาลย่อมจะทำได้ง่ายๆแล้ว แต่ที่ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็เพราะกติกาที่วิปริตทำให้สว.ที่ถูกปิดสวิตช์ยังสามารถขัดขวางการตั้งรัฐบาลได้ด้วยการพร้อมใจกันงดออกเสียง

สถานการณ์การเมืองในวันครบรอบ 9 ปีของการรัฐประหารเป็นพัฒนาการอีกขั้นตอนหนึ่งของการต้านการรัฐประหารในความหมายของการขัดขวางแผนการสืบทอดอำนาจเผด็จการที่มีความหมายอย่างมาก

โจทย์ใหญ่ในวันนี้คือทำอย่างไรจึงจะทำให้ระบอบเผด็จการเสื่อมถอยลงไปอีกจนกระทั่งพังทลายไปและเกิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา

การตั้งรัฐบาลให้ได้เป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่ที่สำคัญกว่าคือทำอย่างไรให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยยังรวมกันติด พลังประชาธิปไตยเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศในวันที่สว.ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯอีกแล้วและทำอย่างไรจะทำให้สังคมไทยเห็นความจำเป็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย อันจะทำให้ระบบที่คณะรัฐประหารเมื่อ 9 ปี ก่อนวางไว้ถูกกวาดล้างให้หมดไป

จาตุรนต์ ฉายแสง
22 พฤษภาคม 2566
ที่มา  : พรรคเพื่อไทย

Facebook Comments

Related post