Digiqole ad

จาก “ศึกจิต” สู่ “จิตสึก” สังคมไทยต้องการที่พึ่งทางใจตลอดกาล

 จาก “ศึกจิต” สู่ “จิตสึก”  สังคมไทยต้องการที่พึ่งทางใจตลอดกาล
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๘ ระหว่างวันที่ ๒๘ มิถุนายน – ๔ กรกฎคม ๒๕๖๗

หน้า ๒ – ๓

จาก “ศึกจิต” สู่ “จิตสึก”

สังคมไทยต้องการที่พึ่งทางใจตลอดกาล

            ในขณะที่ประเด็นทางสังคมอื่น ๆ เกิดขึ้นและสิ้นสุดกันไปแล้ว ส่วนจบแบบสวยหรือแบบศพคงต่างกรรมต่างวาระกันออกไป แต่สำหรับเรื่อง “ลัทธิเชื่อมจิต” หรือ “ลัทธิบูชาเด็ก” ที่กลายมาเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องถึงนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.),สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ   รวมถึงองค์กรเอกชน และส่วนบุคคลต่าง ๆ อาทิ กองทัพธรรม ต้องลงมาดูกันเป็นพิเศษ ซึ่งเหมือนว่าจะจบแต่ก็ไม่จบสักที แต่ละฝ่ายฟ้องกันไปมาให้วุ่น  ล่าสุดกับประเด็น “กองทัพธรรมลุยต่อแจ้งความเอาผิดลัทธิเชื่อมจิตทั้งขบวนการ”  ก็กลายเป็นมหากาพย์ยาวออกไปอีก (เรื่องเกิดขึ้นประมาณวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ดำเนินเรื่อยมากระทั่งถึงปัจจุบัน)

             อัปเดตความคืบหน้าศีก(เชื่อม)จิต

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ประธานคณะทำงานตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร และการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.), นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้ากรณีลัทธิเชื่อมจิต

นายบุญเชิด กล่าวว่า ตนทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการเก็บรายละเอียดอย่างรอบคอบ รวมทั้งดิจิทัลฟุตพริ้นท์ทั้งหมด จนกลายเป็นมติมหาเถรสมาคม มติที่ 424/2567 กรณีลัทธิเชื่อมจิต ซึ่งละเอียดมาก กระทั่งตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ระบุว่า ไม่ต้องหาข้อมูลพยานหลักฐานอื่น ซึ่งตนเองได้ให้ถ้อยคำและแจ้งข้อกล่าวหาตามที่สำนักพุทธฯ ได้มอบอำนาจ ยืนยันว่าไม่ได้ทำงานล่าช้า เรื่องนี้ทำให้พระพุทธศาสนาบอบซ้ำพอสมควรแล้ว มติฉบับนี้จะเป็นการป้องปราบ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีก

ขณะที่นายอนันต์ชัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ลัทธิเชื่อมจิต เป็นนิมิตหมายที่ดีในการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ในสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ นอกจากจะดูแลพระสงฆ์แล้ว ต้องดูแลพระธรรมคำสอน และพระไตรปิฎก ปัจจุบันมีลัทธิต่าง ๆ จำนวนมาก อาจทำให้สำนักพุทธฯ ดูแลไม่ทั่วถึง มูลนิธิทนายกองทัพธรรม อยู่ระหว่างร่างโครงการเพื่อให้มีหน่วยงานตรวจสอบการสอนธรรมะ ที่ผิดจากพระธรรมวินัย หรือพระไตรปิฎก ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานในกองบัญชาการสอบสวนกลาง เพื่อดำเนินคดีในกรณีได้รับการตักเตือนจากสำนักพุทธฯ แล้วไม่ปฏิบัติตาม กรณีลัทธิเชื่อมจิต ผมได้รับคลิปจากเด็กชายที่เป็นข่าว ว่า การไหว้เด็กคนนี้ก็เหมือนกับไหว้พระพุทธเจ้า เป็นการเหยียบย้ำหัวใจมาก

           “ตำรวจ บก.ปอท. สอบไปแล้วร้อยละ 90 โดยสำนักพุทธฯ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว เหลืออีก 1 หน่วยงาน คือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมร้องทุกข์ฯ เช่นเดียวกัน สำหรับข้อกล่าวหาทั้งหมด เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร และเตรียมแจ้งความเพิ่มในประมวลรัษฎากร โดยในส่วนของสำนักพุทธฯ แจ้งในเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งหมดในสำนวนมีประมาณ 30-40 กรรม (ที่มา : ThaiPBS)

            ครอบครัวเชื่อมจิตยื่นหนังสือ

นายธรรมราช สาระปัญญา ทนายความส่วนตัวของครอบครัวเชื่อมจิต ได้มอบหมายให้ นายสิทธิชัย ทองศรี หรือ ทนายเสือ มายื่นหนังสือ เพื่อสอบถามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หลังต้องการสอบถาม 2 ประเด็น คือ คำว่า ลัทธิ แปลว่าอะไร และคำว่า ลัทธิเชื่อมจิต ท่านหมายถึงบุคคล หรือ กลุ่มบุคคลใดหรือไม่ ส่วนรายละเอียดมากกว่านั้น ว่าเหตุใดถึงมายื่นสอบถามใน 2 คำถามนี้ ตนไม่ทราบ ขอให้ไปถามทาง ทนายธรรมราช และแม่ของเด็ก 8 ขวบ จะดีกว่า ส่วนคำตอบจากทางสำนักพุทธฯ จะชี้แจงคำตอบมาเมื่อไหร่ ก็ไม่สามารถทราบได้

และเมื่อถามถึง กรณีวันที่ 15 มิถุนายน 2567 แม่ของเด็ก 8 ขวบ ให้มาดูคอร์สเชื่อมจิต จะยังมีอยู่หรือไม่นั้น ทนายเสือ กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียด

ขณะเดียวกัน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ออกมาชี้แจ้งถึงกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่า พม. เข้าข้างครอบครัวของเด็ก 8 ขวบ ภายหลังจากมายื่นข้อร้องเรียนถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ พม. จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเข้าพบ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าเราไม่ใช่นักจิตวิทยา ไม่ใช่นักสหวิชาชีพ ดังนั้น การจะไปตัดสินเด็กคนหนึ่งว่าปกติหรือไม่ปกติ จึงไม่สามารถทำได้ และจากที่อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่า ดูจากสายตาแล้ว ภายนอกเด็กยังดูปกติดี ไม่พบความผิดปกติใดในทางปฏิบัติ หรือ ทางพฤติกรรม ส่วนเด็กจะได้รับการสั่งสอน หรือ ถูกปลูกฝังพฤติกรรมอย่างไร

            “เป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยา และนักสหวิชาชีพที่จะมาวินิจฉัย และในทางกลับกันหากอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน บอกไปว่า เด็กมีความผิดปกติ ก็จะเกิดประเด็นล่อแหลม ผู้ปกครองก็อาจดำเนินการทางกฎหมาย ฟ้องร้องหมิ่นประมาทกับข้าราชการได้ จึงขอให้เห็นใจทั้งสองฝ่าย” (ที่มา : CH7)

            ทนายดังเผยการตู่พระพุทธพจน์

ล่าสุดทนายชื่อดัง “อนันต์ชัย ไชยเดชา”  ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ว่า

ลัทธิ หมายถึง ? และ ลัทธิเชื่อมจิต หมายถึงใคร ? มูลนิธิทนายกองทัพธรรม ขอตอบแทน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ? มีประกาศจาก #เจ้าลัทธิเชื่อมจิต ผมอ่านแล้วขออนุญาตตอบคำถามแทนประชาชนและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แบบนี้ครับ

      เราเป็นพุทธศาสนิกชนซึ่งเอาพระพุทธเจ้าไว้เหนือหัว กล้าประกาศว่า เป็นพุทธศาสนิกชนแต่พฤติการณ์กลับตรงข้าม การกล่าวอ้างถึงพระพุทธเจ้าในสิ่งที่พระองค์ไม่ได้ตรัสไว้ ชาวพุทธเราเรียกว่า ตู่พระพุทธพจน์ หมายถึง กล่าวอ้างหรือทึกทักเอาของผู้อื่นว่าเป็นของตัว, พระพุทธพจน์ (พุทฺธวจน) หมายถึง คำที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนทั้งที่เป็นร้อยกรองซึ่งเรียกว่า คาถา และที่เป็นร้อยแก้ว

การตู่พระพุทธพจน์ จึงหมายถึง กล่าวอ้างคำที่มิใช่พระพุทธพจน์ว่า เป็นพระพุทธพจน์ ดังนั้น ที่กล่าวอ้างว่า เป็นลูกพระพุทธเจ้าก็ดี กล่างอ้างพระศักยะมุนีก็ดี กล่าวว่าเป็น เป็นพระอนาคามีลงมาเกิดก็ดี การเชื่อมจิตก็ดี การรู้เองก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฎในพระสัตตันตปิฎก 25 เล่ม พระวินัยปิฎก 8 เล่ม และพระอภิธรรมปิฏก 12 เล่ม รวม 45 เล่ม บทไหน หน้าไหน บรรทัดไหน ที่ยืนยันว่าพระองค์มีพระโอรสอีกคนนอกจากพระราหุลเถระ ที่นิพพานไปแล้วด้วยอนุปปาทิเสสนิพพาน หรือกรณีพระอนาคามีลงมาเกิด อยู่ตรงไหนในพระสูตรบอกมาหน่อยสิอ้างอิงพระไตรปิฎกฉบับอักษรบาลีสยามรัฐ และอรรถกถา หรือฎีกา อนุฎีกา ฉบับใด หรืออ้างพระไตรปิฎกฉบับลังกา หรือพม่าฝ่ายเถรวาทก็ว่ามา ระบุมาให้ชัดนะ อย่าพูดไปเรื่อยเปื่อย ถ้าอ้างว่าเป็นพุทธแต่ทำเยี่ยงนี้ เขาเรียกพฤติการณ์แบบนี้ว่า แฝงตัวมาเพื่อกร่อนและบ่อนทำลายโดยการกลืนและบิดเบือนพุทธพจน์ เป็นภัยต่อพุทธศาสนาเถรวาท

             “กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 67 วรรค 2 ช่วยไปดูด้วยนะฝ่ายกฎหมายลัทธิ ถ้าเอาพระพุทธเจ้าไว้เหนือหัวจริง จะกล้าบิดเบือนคำสอนเยี่ยงนี้หรือ ชาวพุทธทั่วโลกเขาสงสัยและถามมา ก่อนออกประกาศใดๆ ให้ไปถามตัวเองก่อน ปรึกษาแนวทางกันก่อน อย่าเบลอๆ งงๆ แล้วออกมา ประกาศที่ขัดหรือแย้งต่อพฤติการณ์ ชาวพุทธเขาไม่เอาด้วยครับ”

“ลัทธิ” ขบวนการบิดเบือนคำสอน

             ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม  ยังได้เปิดเผยถึงความหมายและยกตัวอย่างลัทธิด้วยว่า ลัทธิ หมายถึงอะไร เอาอย่างนี้นะครับถ้าไม่รู้จริง ๆ ผมจะบอกให้ว่า การอ้างว่าเป็นพุทธศาสนิกชน ซึ่งเอาพระพุทธเจ้าไว้เหนือหัว แล้วมีพฤติการณ์ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ไม่สามารถนำมาเป็นเกราะและอ้างได้ว่าเป็นชาวพุทธได้หรอกครับ มันก็คือ ลัทธิ หมายถึง คติความเชื่อถือ หรือความคิดเห็นที่มีผู้นับถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมานั้นแหล่ะครับ ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในการต่อสู้กับการบิดเบือนพุทธธรรมคำสอน ผมจะเล่าให้ฟัง

ในอดีตเคยมีมาแล้วกรณีมีขบวนการบิดเบือนคำสอนและพระไตรปิฎกในสมัยโบราณโดยพุทธศาสนิกชนที่คุณอ้างว่าเป็นนี้ล่ะ เขาเรียกลัทธินี้ว่า ลัทธิอนาคตวงศ์  พระอนาคตวงศ์หรือที่เรียกในคัมภีร์ว่า “ทสโพธิสัตตุนิทเส” หรือ “ทศโพธิสัตตุปัตติกถา” สันนิษฐานว่า รจนาขึ้นในอาณาจักรล้านนา เป็นลัทธิต้นตอการตัดหัวเผาตัวถวายเป็นพุทธบูชาสมัยกรุงศรีอยุธยายันต้นรัตนโกสินทร์ ย้อนกลับไปในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อกว่า 200 ปีก่อน ก็เคยมีหลายคนกระทำเรื่องในทำนองดังกล่าว เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเรื่องพระอนาคตวงศ์ ได้ส่งผลให้ผู้คนในยุคนั้นยึดถือเอาการสละชีวิตเพื่อบูชาพระรัตนตรัย แลกเอาพระนิพพาน คงถือเป็นบุญกิริยาอันใหญ่หลวง และเป็นเรื่องน่าเลื่อมใสศรัทธา นอกจากกรณีของนายบุญเรืองและนายนกยอมเผาตัวตายเป็นพุทธบูชา ปรากฏว่ายังมีเหตุการณ์ทำนองนี้อีก เช่น มีสตรีบางคงไปสักการะพระพุทธบาทที่สระบุรี นำน้ำมันเทลงในอุ้งมือ ปั้นดินเป็นขาหยั่งร้อยด้ายตั้งกลางใจมือ จุดไฟแทนตะเกียงบูชาพระพุทธบาท ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกันกับการกระทำของนายบุญเรืองที่ว่า “เอาสำลีชุบน้ำมันเป็นเชื้อพาดแขนทั้งสองค่างจุดเพลิงบูชาต่างประทีบทุกวัน ๆ ลัทธิความเชื่อนี้ฝังรากมาถึงรัชกาลที่ 4

จนกระทั่งพระองค์ทรงตำหนิและประกาศเตือนถึงผู้คนที่ยังยึดคติความเชื่อนี้ว่าไม่ควรกระทำเป็นอันขาด ดังความว่า ได้ฟังคำเล่าลือ แลได้ฟังพระสงฆ์บางรูปที่ไม่ได้เล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกธรรม ให้รู้จริงมาเทศนาเลอะ ๆ ลาม ๆ ใกล้จะเสียจริต พรรณาสรรเสริญว่าเป็นบุญเป็นกุศลมาก แล้วหลงใหลเห็นตามไป เหมือนอย่างเผาตัวบูชาพระรัตนตรัยแลเชือดคอเอาศีรษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองเลือดใส่ตะเกียงตามบูชา ตั้งแต่นี้สืบไปอย่าให้ใครเผาตัวบูชาพระ ตัดศีรษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองโลหิตตามตะเกียงบูชาพระเลยเป็นอันขาด เพราะว่าเป็นการขัดต่อราชการแผ่นดิน ผู้ซึ่งได้รู้เห็นแลจะนิ่งดูดายเสียไม่ห้ามปราม หรือจะพลอยเห็นว่าได้บุญได้กุศลนั้นไม่ได้ ถ้าผู้ใดได้รู้เห็นแล้วดูดายเสีย ไม่ว่ากล่าวห้ามปรามแย่งชิงเครื่องศัสตราวุธ จะให้ผู้นั้นเสียเบี้ยปรับตามรังวัด…” ดังนี้ เพราะมีศรัทธานำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นกลายเป็นความจงรักภักดีผิดๆ จนกลายเป็นลัทธิไปและความศรัทธาในพระอนาคตพุทธเจ้านี้เรียกได้ว่าเป็นลัทธิอนาคตวงศ์

ดังนั้นผมขอถามว่า นี้เป็นการกระทำของคนที่อ้างว่าเป็นพุทธศาสนิกชนหรือไม่ครับ ทำไมโบราณจึงเรียกว่า ลัทธิก็เพราะบิดเบือนพระไตรปิฎกไงล่ะ

เพราะฉะนั้นการอ้างว่า เป็นลูกพระพุทธเจ้า การเชื่อมจิต การอ้างรู้ด้วยตนเองเยี่ยงพระสัพพัญญูพุทธเจ้า บิดเบือนและตู่พุทธพจน์ทั้งสิ้น จะไม่เรียกว่า #ลัทธิเชื่อมจิต ได้อย่างไร ชาวพุทธอย่ายอมให้ลัทธินี้ดำรงอยู่ในสังคมพุทธเถรวาทเราเด็ดขาด โปรดเข้าใจตามนี้นะครับ

สำหรับทางด้าน ลัทธิอนุตตรธรรม ทนายอนันต์ชัย กล่าวว่า ลัทธิขโมยธรรมจากพระพุทธเจ้าและศาสดาทั้งปวง ลัทธินี้ในประเทศไทยเรียกว่า วิถีอนุตตรธรรม เป็นศาสนาที่หวัง เจฺว๋อี ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ. 1877 คำสอนเป็นการผสานความเชื่อระหว่างลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และศาสนาพุทธแบบจีน ทั้งยังยอมรับขนบที่มาจากต่างประเทศ ลัทธินี้เคยถูกรัฐบาลกวาดล้างอย่างหนัก จึงย้ายไปเผยแผ่ที่ประเทศไต้หวัน ในประเทศจีนลัทธินี้ยังไม่ได้รับการยอมรับ แม้ผู้นับถือ ลัทธิอนุตตรธรรมจะเชื่อว่า ธรรมะของตนสืบมาจากศาสนาพุทธนิกายเซน หมายถึง บิดเบือนคำสอนจากพุทธนิกายนี้นั่นเอง ก็กลายเป็นลัทธิใหม่

         “ดังนั้นการอ้างว่า เป็นพุทธนิกายใด แต่บิดเบือน และสร้างเรื่องราวใหม่ที่อ้างอิงหลักการในพระไตรปิฎกไม่ได้เขาก็เรียก ลัทธิหรือ ความเชื่อของพวกคุณทั้งนั้นแล่ะครับ แต่เป็นความเชื่อที่มีสารตั้งต้นจากการหยิบพระพุทธพจน์ไปบิดและเบือนให้เข้ากับความเชื่อของพวกคุณเอง อย่าถามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลยว่าทำไมเขาเรียกแบบนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งประเทศเขาก็เรียก #ลัทธิเชื่อมจิต ทั้งนั้น แม้แต่ #มติของมหาเถรสมาคม ที่เป็นองค์ปกครองสงฆ์สูงสุดยังปรากฎคำว่า #ลัทธิเชื่อมจิต ในมติมหาเถรสมาคมล่าสุด ที่เล่ามาเป็นเพียงตัวอย่างย่อๆ ยังมีตัวอย่างลิทธิอีกเยอะ วันหลังเล่าให้ฟังอีกถ้าไม่เข้าใจ”

รวมพลังต้านลัทธิเทวดา

             “ทนายอนันต์ชัย ไชยเดชา”  ยังกล่าวด้วยว่า ลัทธิเชื่อมจิต หมายถึงใคร ถามแบบโง่โง่ พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปเขารู้กันหมดว่าหมายถึงใคร ?  คงไม่ต้องไปถามสำนักพุทธแห่งชาติ หรอกครับว่าหมายถึงใคร แทนที่จะเปิดศึกกับพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ สื่อมวลชน องค์กรปกครองคณะสงฆ์ และหน่วยงานราชการโดยเฉพาะสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ผมว่าหาเวลาไปปรึกษาหารือกันและหาทางลงดีกว่า ท่านตอบคำถามสังคมไม่ได้สักข้อและก้าวล่วงกฎหมายบ้านเมืองแบบถลำลึกและดำดิ่งลงไปเรื่อย ๆ ใช้สติและปัญญาหาทางออกอย่าทำลายตนเอง,พุทธศาสนาและสังคมไทย หน่วยงานรัฐไม่ต้องไปกลัวกับคำถามอันไร้สารัตถะนี้ พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศเขาไม่ได้กลัวเกรงพวกนี้และรวมพลังต้านลัทธิเทวดาตายจนถึงที่สุด เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาเถรวาทเราเต็มกำลัง

              “ผมขอเตือนว่า…สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง นาญโญ อัญญัง วิโสธเย, บริสุทธิ์ หรือ ไม่บริสุทธิ์ใจ​ ย่อมรู้แก่ตัวเองอย่าหลอกตัวเองแล้วเอาความเชื่อของพวกตนโดยใช้เด็กมาเซาะกร่อนบ่อนทำลาพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งเป็นสถานบันหลักของชาติเราอย่างเด็ดขาด.! มูลนิธิทนายกองทัพธรรม ตอบแทนสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ท่านไม่จำเป็นต้องตอบเพราะมันไร้สาระ ครับ”

หลักความเชื่อพุทธศาสนารักษา “จิตสึก”

ท่านเตชปญฺโญ ภิกขุ ได้กล่าวถึงหลักแห่งความเชื่อของพระพุทธศาสนาเอาไว้ว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้นับถือพุทธศาสนา ไม่สามารถเข้าใจคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้ก็คือเรื่องความเชื่อ คือชาวพุทธส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อในคำสอนของพระองค์โดยไม่ต้องลังเลสงสัย รวมทั้งเราก็มักเชื่อกันว่าคำสอนที่บันทึกอยู่ในตำราพระไตรปิฎกทั้งหมดนั้นเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจกันว่าความเชื่อเช่นไรจึงจะถูกต้องกันต่อไป

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ 2 ระดับ คือ

             1. ระดับธรรมดา (หรือระดับศีลธรรม) ที่เป็นคำสอนในเรื่องการครองเรือน หรือการดำเนินชีวิตของเราตามปรกติ ที่มีผลเป็นความปกติสุข ไม่เดือดร้อน ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่งคำสอนระดับศีลธรรมนี้จะเป็นคำสอนสำเร็จรูปที่แม้ไม่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาก็สามารถนำคำสอนนี้ไปปฏิบัติได้ทันที โดยหลักคำสอนของศีลธรรมนั้นก็สรุปอยู่ที่การไม่เบียดเบียนผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่น การให้ทาน การรักษาศีล การเสียสละ การให้อภัย การทำหน้าที่การงานให้ถูกต้องด้วยความอดทน ขยัน ซื่อสัตย์ การละเว้นอบายมุข ละเว้นสิ่งเสพติด สิ่งฟุ่มเฟือย และสอนให้ประหยัดอดออม เป็นต้น นั่นเอง

คำสอนระดับศีลธรรมนี้จะเอาไว้สอนแก่คนธรรมดาที่มีปัญญาค่อนข้างน้อย อย่างเช่นชาวบ้านทั่วๆไป หรือเด็กๆ โดยระดับศีลธรรมนี้จะไม่เน้นเรื่องความเชื่อ คือใครจะเชื่ออย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่ทำความชั่ว แล้วทำแต่ความดีเท่านั้นก็พอ อย่างที่ชาวพุทธส่วนใหญ่กระทำกันอยู่ อย่างเช่นที่เชื่อกันว่าเมื่อทำความดีไว้ในชาตินี้ เมื่อตายไปแล้วจะได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์(ที่เชื่อกันว่าอยู่บนฟ้า) หรือเมื่อทำความชั่วไว้ในชาตินี้ เมื่อตายไปแล้วก็จะตกนรก(ที่เชื่อกันว่าอยู่ใต้ดิน) หรือถ้าหมดกิเลส เมื่อตายแล้วก็จะนิพพาน(นิพพานนี้บางคนก็เชื่อว่าเป็นการดับสูญไปเลย แต่บางคนก็เชื่อว่าเป็นเมืองหรือสภาวะที่มีแต่ความสุขอยู่ชั่วนิรันดร) เป็นต้น

2.ระดับสูง (หรือระดับลึกซึ้งสูงสุด) ที่เป็นคำสอนในเรื่องการดับทุกข์ของชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งก็ได้แก่คำสอนในเรื่องอริยสัจ 4 ซึ่งคำสอนเรื่องการดับทุกข์นี้จัดเป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสอนระดับสูงนี้จะเน้นเรื่องความเชื่อมาก โดยจะสอนให้ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ และจะเอาไว้สอนเฉพาะผู้ที่มีปัญญาเท่านั้น ถ้าสอนคนมีปัญญาน้อยเขาก็จะรับไม่ได้เพราะยังมีสติปัญญาไม่เพียงพอ เหมือนสอนเรื่องยากๆให้กับเด็ก อย่างเช่นถ้าสอนเด็กว่าร่างกายของเราจริงๆแล้วมันไม่มี มันมีแต่ดิน น้ำ ความร้อน และก๊าซที่มารวมตัวกันสร้างขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งเด็กจะไม่เข้าใจ เพราะเด็กก็เห็นอยู่ว่ามีร่างกายอยู่จริงๆ เป็นต้น ซึ่งจุดแรกในการสร้างปัญญาของคำสอนระดับสูงก็คือเรื่องความเชื่อ

โดยพระพุทธเจ้าได้วางหลักในการสร้างความเชื่อไว้โดยสรุปดังนี้ 1.อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า ได้ยินได้ฟังมา 2.อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ 3. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า กำลังล่ำลือกันอยู่อย่างกระฉ่อน 4. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า มีบันทึกไว้ในตำรา 5. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า คาดเดาตามสามัญสำนึก 6. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า คาดคะเนตามเหตุที่แวดล้อม 7. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า การตรึกตรองตามหลักเหตุผล 8. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า เข้ากันได้กับความเห็นที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว 9.อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า ผู้พูดนั้นดูภายนอกมีความน่าเชื่อถือ 10. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า ผู้พูดนี้คือครูอาจารย์ที่เรานับถือ

                 หลักการสร้างความเชื่อที่ถูกต้อง

                 ท่านเตชปญฺโญ ภิกขุ ยังกล่าวด้วยว่า หลักความเชื่อนี้จะแนะนำเราว่า “อย่าเชื่อจากเพราะเหตุเพียงแค่นั้น” (คือจากแต่ละข้อ) เพราะความเชื่อในแต่ละข้อนั้นมันมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ทั้งสิ้น ถ้ามันผิดมาก่อนแล้วเราเชื่อตาม เราก็จะเกิดความเห็นผิดไปด้วยโดยไม่รู้ตัว แล้วการปฏิบัติของเราก็จะผิดตามไปด้วย และเมื่อมีการปฏิบัติผิด ผลมันก็ย่อมที่จะผิดตามไปด้วยเสมอ แต่ถึงแม้บังเอิญเราจะได้คำสอนที่ถูกต้องมา แล้วเรานำเอามาปฏิบัติโดยไม่ใช้การพิจารณาไตร่ตรองให้เกิดความเข้าใจเสียก่อน การปฏิบัตินั้นก็ย่อมที่จะเป็นการปฏิบัติที่ไม่ใช้ปัญญา ซึ่งมันก็อาจจะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้โดยง่าย

                หลักการสร้างความเชื่อที่ถูกต้องก็คือ เมื่อเราได้เรียนรู้คำสอนใดมา ขั้นต้นเราก็ต้องนำมาพิจารณาไตร่ตรองดูก่อนว่ามีประโยชน์หรือมีโทษ ถ้าเห็นว่ามีโทษ ก็ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ก็ให้นำเอามาทดลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าปฏิบัติตามอย่างเต็มความสามารถแล้วก็ยังไม่บังเกิดผล ก็ให้ละทิ้งอีกเหมือนกัน แต่ถ้าปฏิบัติตามแล้วบังเกิดผลจริง จึงค่อยเชื่อและรับเอาไปปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป

จุดสำคัญหลักความเชื่อนี้เราต้องเข้าใจว่า “ไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้ศึกษาคำสอนใดเลย” คือเราสามารถศึกษาคำสอนของใครๆก็ได้ทั้งสิ้น คือให้เอาคำสอนนั้นมาไตร่ตรองพิจารณาก่อน ถ้าเห็นว่าไม่มีโทษและมีประโยชน์ ก็ให้นำเอามาทดลองปฏิบัติดูก่อน เมื่อได้ผลจึงค่อยเชื่อ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็อย่าเชื่อ อย่างเช่น คำสอนที่ว่า เมื่อจิตเกิดกิเลส (คืออยากได้ หรืออยากทำลาย หรือลังเลใจ) ขึ้นเมื่อใด จิตก็จะเกิดความเร่าร้อนทรมาน หรือเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที แต่ถ้าเมื่อใดที่จิตไม่มีกิเลส จิตก็จะสงบเย็น (นิพพาน-ทุกข์ดับ) เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราสังเกตจากจิตของเราจริงๆแล้วก็พบว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เราก็เชื่อได้ว่าคำสอนนี้ถูกต้อง ส่วนคำสอนที่ว่าถ้าหมดกิเลสแล้วตายไปจึงจะนิพพานนั้น เราไม่สามารถพิสูจน์หรือพบเห็นได้จริงในปัจจุบันเราก็อย่าเชื่อ หรืออย่าสนใจ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่เราในปัจจุบัน ถ้าเราเชื่อและมัวลุ่มหลงปฏิบัติตาม โดยหวังว่าจะได้นิพพานเมื่อตายไปแล้ว ก็ย่อมที่จะทำให้เรายังคงมีทุกข์ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ซึ่งความเชื่อเช่นนี้จัดว่ามีโทษอย่างยิ่ง

การศึกษาพุทธศาสนาในระดับสูงในเรื่องการดับทุกข์นั้น เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความเชื่อด้วยปัญญานี้เสียก่อนเท่านั้น เราจึงจะเกิดความเข้าใจพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องแท้จริง แต่ถ้าเราข้ามจุดนี้ แล้วไปสร้างความเชื่อขึ้นโดยไม่ใช้ปัญญา เราก็จะเสี่ยงกับการได้รับคำสอนที่ผิด แล้วก็จะทำให้เรายึดติดกับคำสอนที่ผิดนั้นอย่างเหนี่ยวแน่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็จะทำให้เราต้องเสียโอกาสที่จะได้รับรู้คำสอนที่ถูกต้องไปอย่างน่าเสียดาย

             “หลักความเชื่อนี้จัดว่าเป็นหลักวิทยาศาสตร์ และเป็นหลักในการสร้างคนให้เป็น…อัจฉริยะทางด้านความคิด…เพราะหลักการนี้จะทำให้เรามีอิสระทางความคิดอย่างเต็มที่ แล้วก็ไม่เป็นทาสทางสติปัญญาของใคร แม้แต่ของพระพุทธจ้าเองก็ตาม ซึ่งหลักความเชื่อนี้เองที่จะเป็นเครื่องตรวจสอบว่าคำสอนใดถูก คำสอนใดผิด แม้คำสอนของพุทธศาสนาเองเราก็ยังต้องตรวจสอบ เพราะมันอาจจะมีความผิดพลาดมาแล้วก่อนที่จะมาถึงเราแล้วก็ได้ ถ้าเราเชื่อจากตำราหรือจากคนอื่น ก็อาจจะทำให้เราเกิดความเห็นที่ผิดขึ้นมาได้ ซึ่งนี่ก็แสดงว่าเราไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนว่าอย่าเชื่อจากใครๆแม้จากตัวเองหรือจากผู้สอนเองก็ตาม จึงขอฝากเรื่องความเชื่อนี้ให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายนำเอาไปคิดพิจารณา เพื่อที่จะได้สร้างความเชื่อที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกันต่อไป”

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post