Digiqole ad

“คอร์รัปชัน”อสรพิษสังคมไทย จากรุ่นสู่รุ่น(ชั่ว)ไม่มีที่สิ้นสุด

 “คอร์รัปชัน”อสรพิษสังคมไทย จากรุ่นสู่รุ่น(ชั่ว)ไม่มีที่สิ้นสุด
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับที่ 417 วันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2567

หน้า 2-3

“คอร์รัปชัน”อสรพิษสังคมไทย

จากรุ่นสู่รุ่น(ชั่ว)ไม่มีที่สิ้นสุด

จากกรณีดั่งฝีแตกของ “อธิบดีกรมการข้าว” ได้กลายเป็นที่น่าจับตาของผู้คนในสังคมไทยว่า งานนี้จะจบแบบไหน จะมีแพะ ลิง  หมู หมา กา ไก่ ถูกเชือดอีกแล้วหรือไม่ ซึ่งการ “ข่มขู่รีดไถทรัพย์” รวมถึงการรับสินบน ส่วย ใต้โต๊ะ เป็นการ “ทุจริตคอร์รัปชัน” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่มีมานานมาก เรียกว่าสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ไม่จบไม่สิ้นสักที สร้างความเสียหายและผลกระทบอย่างมากมายแต่ที่แน่ ๆ “นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์” อธิบดีกรมการข้าว  กับ “คุณนายติ๋ม-ธัญญรัตน์ ไชย์ศิริคุณากร”  ผู้เป็นภรรยา คือฮีโร่ที่สู้แบบไม่กลัวตาย ดังที่คุณนายติ๋มกล่าวเอาไว้ว่า

            “…ทำไงได้ค่ะเลือดนักสู้มันติดเป็นสันดานฉีดทุกรูขุมขนลูกชาวนาไปแล้วค่ะ แค่ได้เกิดในที่ ๆ ไม่มีสงคราม ภูมิใจที่ได้เกิดบนแผ่นดินนี้ ต่อให้ตายก็ไม่เสียดายชาติเกิด ขอบคุณทุกๆ ความห่วงใย…”

 

        บิ๊กเนมออกโรง-รับลูก

            งานไม่ใหญ่แน่นะวิ…ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ต้นสังกัดกรมการข้าว) และ นายตำรวจ ต่างออกโรงกันยกใหญ่ โดย

โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ที่ถูกจับภายหลังถูกกล่าวหาเรียกรับเงินจากนายณัฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ว่า ตนเองได้ติดตามอยู่ ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้อยู่ในกระบวนการของกฎหมายแล้ว ส่วนที่ทนายของอธิบดีกรมการข้าว ออกมาเปิดเผยว่าตอนนี้มีนักการเมือง ป. เข้ามาเกี่ยวข้อง และไปกดดันอธิบดีกรมการข้าว และภริยาให้หยุดความเคลื่อนไหวนี้ นายเศรษฐา กล่าวว่า หากเป็นตามเรื่องดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ยอมไม่ได้ ซึ่งคิดว่าคงไม่มีด้วย และไม่อยากให้มี ถึงมีก็คิดว่าไม่สามารถมีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรมได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้กำชับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือไม่ หลังมีการพูดถึงหลายกรมที่มีการทุจริต นายเศรษฐา ระบุว่า ได้เจอกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อคืนก็ได้สั่งกำชับไปให้ดำเนินการตามกฎหมาย และ ร.อ.ธรรมนัสก็รับปากว่าจะดำเนินตามกฎหมาย และให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ส่วนกระทรวงอื่นก็ยังไม่ได้เจอกัน (ที่มา : TheReporters)

            ร.อ.ธรรมนัส​ พรหม​เผ่า​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่มีการพาดพิงที่ปรึกษามีส่วนเกี่ยวข้องกับการรีดทรัพย์อธิบดีกรมการข้าว​ โดยถามกลับสื่อมวลชนว่า ขอให้หลับตานึกว่า กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้เสียหาย ตนในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา และมีความสนิทสนมกับอธิบดีกรมการข้าวรวมถึงภรรยา เนื่องจากรู้จักกันมาก่อน ทุกเรื่องที่ผู้ใต้บังคับบัญชามีความทุกข์จะมารายงาน ทราบถึงขั้นตอนจนถึงการนำจับ จึงแนะนำให้ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ตัวเองมีฝ่ายกฎหมายกว่า 20 คน และอธิบดีมีการปรึกษามาโดยตลอด​ อย่ามองกระทรวงเกษตรเป็นผู้ร้าย เนื่องจากกระทรวงเกษตรเป็นผู้ถูกกระทำ และฝากว่าเวลาจะพูดอะไร รวมถึงการเปิดคลิป ขอให้เปิดให้หมด อย่าโจมตีกระทรวงเกษตร เราเป็นผู้เสียหาย

“เมื่อพูดคุยกันแล้ว ให้ตัวแทนไปคุยแล้ว แต่ไม่จบก็ไม่ต้องคุยกันว่าอย่าไปสงสัยที่ปรึกษาตน​ มั่นใจว่าที่ปรึกษาเวลาจะทำอะไร ไม่ทำโดยพละการ ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย มีแต่จะจัดการกับผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง เรากำลังช่วยกันปัดกวาดบ้านเมืองให้สะอาด อย่าปล่อยให้มันเลอะเทอะเหมือนที่ผ่านมา เรื่องนี้ตนรายงานต่อนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด ตนจึงอยากถามสื่อมวลชนกลับว่าไม่สงสัยหรือ ที่นายกรัฐมนตรีไม่ตอบประเด็นนี้” (ที่มา : thaipbs)

บิ๊กเต่า-พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการ ตำรวจสอบสวนกลาง  กล่าวว่า  การสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา กับพวกรวม 3 ราย ได้ร่วมกันข่มขู่เรียกเงินอธิบดีกรมการข้าว มีความคืบหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะคำให้การของอธิบดีกรมการข้าวที่ให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีอย่างมาก และยังมีพยานหลักฐานอื่น ๆ อีกหลายส่วน   ซึ่งจะต้องเรียกเข้ามาสอบปากคำ โดยมีคนหนึ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นคนให้ข้อมูลกับระดับ ผู้สั่งการ ในขบวนการดังกล่าวให้ร้องเรียนในที่ต่างๆ  และยังมีข้อมูลว่ามีหน่วยงานอื่นที่ถูกเรียกรับทรัพย์จากกลุ่มดังกล่าวในระดับร้อยล้านบาท แต่ยังไม่มีการจ่ายเงิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานดังกล่าวว่าจะเข้ามาให้ข้อมูลหรือไม่

“ยืนยันว่า ตำรวจยังต้องการตัว ปลาใหญ่กว่านี้  แต่ไม่ขอระบุเป็นนักการเมืองหรือไม่ ความคืบหน้าในการตรวจสอบวงจรปิดบริเวณรอบบ้านนายศรีสุวรรณ รวมถึงโทรศัพท์  คาดว่าจะเสร็จในวันนี้  ทั้งนี้ ยืนยันว่าชุดพนักงานสอบสวนยังไม่ได้รับแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองมา แต่อย่างใดและ ยังไม่มีใครติดต่อมา หากมีก็รับมาตรา 157 ไปก่อน” (ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

10 คดีคอร์รัปชันแห่งปี 2566

        องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เปิดเผยข้อมูลเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับ 10 คดีคอร์รัปชันแห่งปี 2566 โดยระบุว่า “โกงไม่อายใคร ท้าทายไม่เกรงกลัว” เป็นพฤติกรรมของคนโกงที่น่ากลัวและมีให้เห็นมากขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานที่น่ากังขามากกว่าใคร ขณะที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ป.) ก้าวมาเป็นความหวังใหม่ พฤติกรรมฉ้อฉลแบบย้อนยุคของนักการเมืองกำลังหวนคืน กลไกรัฐหลงอำนาจและซื้อขายได้กลายเป็นโอกาสให้เอกชนบางรายเอาเปรียบสังคม

สำหรับคดีดังคอร์รัปชันปี 2566

  1. คดีส่วยสินบนกรมอุทยานแห่งชาติ อดีตอธิบดีถูกจับพร้อมหลักฐานซองเงินค่าวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งและค่ารักษาเก้าอี้ เงินส่วย เงินทอน และกระเช้าของขวัญจำนวนมาก
  2. คดีทุนจีนเทา อาชญากรรมข้ามชาติมีเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองสนับสนุน ช่วยเหลือ ปกป้อง นำไปสู่การเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ เช่น กรณีตู้ห่าวและผับจินหลิง กรณีนายหยู ชิน ซี ที่ตั้งสมาคมเถื่อนเป็นช่องทางจัดหาวีซ่าให้คนจีนเข้าประเทศมากถึง 7 พันคนในช่วงปี 2563 – 2564 กรณีสารวัตรซัว นายตำรวจพัวพันบ่อนออนไลน์เครือข่ายใหญ่ กรณีบ่อนมินนี่และเว็บพนันออนไลน์888 ที่มีนายพลตำรวจสายไอทีมีเอี่ยว จนสังคมสงสัยว่า แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ ที่ระบาดเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่ได้เพราะนายตำรวจหลายคนไปรับเงินจากขบวนการจีนเทาด้วย ใช่หรือไม่
  3. คดีโกดังพลุเถื่อนระเบิดที่บ้านมูโน๊ะ นราธิวาส ทั้งที่ตั้งอยู่กลางตลาดและเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษของทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กอ.รมน. ศอ.บต. จึงเชื่อว่างานนี้ต้องมีคนรับส่วยกินสินบนค่าปิดตามองไม่เห็นแน่นอน
  4. คดีดัง 2 ส.ว. คือ กรณี ส.ว. ซุกกิ๊ก ก่อเรื่องฉาวซ้อมทหารรับใช้หญิงยศสิบโท สะท้อนการเอาเปรียบหลวงของเครือข่ายผู้มีอำนาจในวงการทหาร ตำรวจและการเมืองที่ให้การอุปถัมภ์พวกพ้องอย่างน่ารังเกียจ และอีกคดีคือ ส.ว. ชื่อดังถูกอัยการสั่งฟ้อง 6 ข้อหาพัวพันเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติและธุรกิจมืดชายแดนพม่า
  5. คดีกำนันนก นักธุรกิจท้องถิ่นผู้มีอิทธิพล พัวพันการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ธุรกิจสีเทา ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง การฟอกเงิน และเครือข่ายบ้านใหญ่ในจังหวัด
  6. คดีหมูแช่แข็งเถื่อน ลักลอบนำเข้าต่อเนื่องมา 3 ปีนับหมื่นตู้คอนเทนเนอร์ ชัดเจนว่าพัวพันพ่อค้านำเข้า ห้างค้าส่ง โรงงานแปรรูปอาหาร แต่ที่หลบในมุมมืดคือ นักการเมืองใหญ่อดีต รมช. 2กระทรวง กับอีก 3 หน่วยงานรัฐคือ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง
  7. คดีจับลูกเขยนายชาดา รมช. มหาดไทย ถูกจับเพราะเรียกรับเงินหกแสนบาทจากผู้รับเหมาฯ งานนี้สังคมอยากรู้ว่า รัฐบาลจะกำจัดผู้มีอิทธิพลหรือกำจัดคู่แข่งของผู้มีอิทธิพลได้ก่อนกัน
  8. คดีเสาไฟกินรี และโครงการประเภท “คิด ทำ ทิ้ง” ทั่วประเทศ เช่น เครื่องออกกำลังกาย เครื่องกรองน้ำและโซล่าเซลล์ ลานออกกำลังกายชุมชน เครื่องผลิตน้ำประปา เสาไฟโซล่าเซลล์ ฯลฯ
  9. คดีส่วยทางหลวง สติ๊กเกอร์และขบวนการรีดไถรถบรรทุกมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งตำรวจทางหลวง กรมทางหลวง ตำรวจท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนถึงอัยการจังหวัดบางคน
  10. กรณีโกงนมโรงเรียน อาหารกลางวันเด็ก ตำราเรียน

 

นอกจากนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เรื่องน่าสงสัยในกระบวนการลงโทษคนโกง..

  1. กรมราชทัณฑ์ ลดโทษ ขออภัยโทษ ให้นักโทษคดีคอร์รัปชัน รวมถึงปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียม ไม่มีอภิสิทธิ์ชน เช่น กรณีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
  2. หลายคดีที่ ป.ป.ช. ชี้ว่ามีมูลความผิดแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือ สตง. เห็นว่าไม่ผิด หลายคดีที่ศาลตัดสินว่าผิดแต่ให้รอลงอาญา และหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยทำแค่สั่งลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง
  3. คดีนายอิทธิพล คุณปลื้ม หนีไปต่างประเทศ หลัง ป.ป.ช. ส่งสำนวนถึงอัยการล่าช้ามาก
  4. คดีก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ นักการเมืองพ้นผิด แต่ตำรวจติดคุก 8 นาย เช่นเดียวกับคดีรุกป่าเขาใหญ่ นายสุนทรและนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ พ้นผิด แต่ข้าราชการติดคุก
  5. นักการเมืองครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย แม้หลายคนโดนลงโทษแล้ว แต่ยังเหลืออีกมากกว่า 10 คดีในมือ ป.ป.ช. เช่น ครอบครัวนักการเมืองใหญ่รุกที่ดินการรถไฟที่เขากระโดง บุรีรัมย์

กรณีต้องจับตาในปี 2567

  1. การประมูลสีส้ม ล้มและเลื่อนยาวเพราะเจ้าหน้าที่รัฐทำเรื่องไม่ชอบมาพากลซ้ำซ้อน
  2. สัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จบการประมูล 5 ปีแล้วแต่เอกชนผู้ชนะยังขอเจรจาอยู่ โดยไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้สิ่งที่เปลี่ยนไป ถือเป็นการทำลายหลักพื้นฐานการประมูลงานอย่างเป็นธรรม
  3. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน 1.79 แสนล้านบาท ที่ล่าช้า ยืดเยื้อ มากข้อขัดแย้ง
  4. สินบนข้ามชาติไม่คืบหน้า สินบนโรลส์รอยซ์ สวนปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย เหมืองทองคำ
  5. โครงการรถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้างและจะประมูลเพิ่มเติม
  6. การขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ เฟสสอง

“…แน่นอนว่า หากก้าวข้ามคอร์รัปชันไม่ได้ รัฐบาลคิดทำอะไรก็ยากจะสำเร็จ เพราะคนจ้องจะคดโกงมีมาก จนสังคมไม่ไว้วางใจ ไม่ร่วมมือ เพื่อหยุดวิกฤตนี้ รัฐบาลต้องจริงจัง ต่อสู้เชิงรุกโดยประกาศให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งวอร์รูมมีท่านนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะทำงานร่วมกับภาคประชาชน…”

เงินคอร์รัปชันสะพัดแค่ไหนในแต่ละปี

ดร. มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า เงินบาปจากคอร์รัปชันในภาครัฐราว 5 แสนล้านบาทต่อปี เกิดจากกลโกง 3 ประเภท “โกงหลวง ฉ้อราษฎร์ และกัดกินกันเอง” ความเสียหายนี้ยังไม่รวมความเดือดร้อนและผลกระทบต่อประเทศชาติ ประชาชน คนทำมาค้าขายที่ตามมาอีกมากมาย

  1. โกงหลวง

– เงินทอนในการจัดซื้อจัดจ้าง มีมูลค่า 2 – 3 แสนล้านบาทต่อปี[1] เป็นความสูญเสียจากเงินทอนหรือเงินใต้โต๊ะในอัตราเฉลี่ย 20% – 30% ของงบลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐทุกประเภท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจมากหรือน้อยกว่านี้ตามยุคสมัย

– เอาเปรียบรัฐ เช่น หน่วยงานรัฐให้การอุดหนุนเอกชนเกินจำเป็นในโครงการ พีพีพี, ขยายอายุสัมปทานให้เอกชนอย่างไม่เหมาะสม การไฟฟ้าฯ ลงทุนหลายพันล้านบาทสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงเพื่อรองรับการซื้อกระแสไฟฟ้าจากเอกชนรายเดียว รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากเอกชนราคาแพงและซื้อมากเกินจำเป็น เก็บค่าภาคหลวงจากสัมปทานเหมืองแร่ต่ำเกินจริง ปล่อยเช่าที่ราชพัสดุราคาถูกๆ ฯลฯ การเอาทรัพยากรของรัฐไปเอื้อเอกชนเช่นนี้ เจ้าหน้าที่รัฐมักอ้างเหตุผลเกินจริงและปิดบังข้อมูลสำคัญ จึงยากที่จะสังคมจะเข้าใจ และศึกษามูลค่าความเสียหายที่แท้จริง

– ขโมยหรือยักยอกเงินหลวง เช่น ยักยอกเงินค่าเข้าอุทยานแห่งชาติที่เก็บจากนักท่องเที่ยวหรือไม่เก็บแต่เรียกรับใต้โต๊ะจากบริษัทนำเที่ยว โกง “เงินอุดหนุน” ตามนโยบายของรัฐ เช่น กรณีเงินทอนวัด เงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ เงินกองทุนหมุนเวียน เช่น ทุจริตเงินกองทุนเสมาฯ ของกระทรวงศึกษาฯ สหกรณ์และกองทุนกู้ยืมต่างๆ เป็นต้น พฤติกรรมประเภทนี้พบเห็นได้ทั่วไปมีมูลค่าหลักพันบาทจนถึงหลายร้อยล้านบาทต่อกรณี

  1. ฉ้อราษฎร์ เช่น แปะเจี๊ยะ ส่วย ค่าวิ่งเต้นล้มคดี ฯลฯ

– สินบนและส่วยจากเศรษฐกิจนอกระบบ (Illegal Economy) หวย ซ่อง ค้าอาวุธ แรงงานเถื่อน ยาเสพติด และบ่อน ที่ประเมินว่าธุรกิจมืดเหล่านี้มีมูลค่า 8% – 13% ของ จีดีพี[2] 17 ล้านล้านบาทต่อปี หรือราว 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี หากคิดคร่าวๆ ว่ามีการจ่ายส่วยสินบนให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับจากต้นทางถึงปลายทางแค่ 5% จะเป็นเม็ดเงินมากถึง 8.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

– สินบนครัวเรือนหรือสินบนที่ “ชาวบ้าน” ต้องจ่ายเมื่อไปติดต่อราชการ เพื่อทำนิติกรรม จดแจ้ง หรือใช้สิทธิ์ใช้บริการตามกฎหมาย อาจเพราะโดนรีดไถหรือตั้งใจจ่ายเองเพื่อแลกกับความสะดวก เร่งเวลา ลดขั้นตอน ลดเอกสาร มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี เช่น ที่ดิน อำเภอ อบต. เทศบาล โรงพัก ศุลกากร สรรพากร โรงเรียน ฯลฯ เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงคงสูงกว่านี้มาก แต่ผู้ให้ข้อมูลในการสำรวจอาจปิดบังเนื่องจากเกรงกลัวอันตรายหากเปิดเผย ตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงกรณีภาคธุรกิจอุตสาหกรรม “ไปติดต่อ” เจ้าหน้าที่

สินบนและส่วยจากธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายเพื่อความอยู่รอดหรือความได้เปรียบ ทั้งที่จ่ายโดยผู้ทำมาหากินสุจริตและไม่สุจริต เช่น ส่วยรถบรรทุก รถตู้ รถทัวร์ สถานบันเทิง

-สินบนเพื่อให้ได้ใบอนุญาตอนุมัติจากราชการ เช่น ต่อเติม-สร้างบ้าน เปิดธุรกิจร้านค้า โรงงาน สถานบันเทิง โรงแรม อพาร์ตเม้นท์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต การส่งออก-นำเข้าสินค้า ฯลฯ (ข้อนี้มีลักษณะต่างจาก 2.2,2.3 และมีจำนวนมาก จึงแยกให้ชัดเจนเพื่อการศึกษาต่อไป)

ค่ามองไม่เห็น ตรวจไม่เจอ เป็นสินบนที่ประชาชนต้องจ่ายเมื่อเผชิญกับเจ้าหน้าที่นอกสถานที่ราชการ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้จ่ายกระทำผิดจริงและโดนกลั่นแกล้ง เช่น การจ่ายให้กับตำรวจจราจร เทศกิจ นายจ้างหรือแรงงานต่างด้าวต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่แรงงานหรือตำรวจ เงินบาปประเภทนี้รวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท แม้ควักล้วงจากกระเป๋าชาวบ้านแต่สุดท้ายย่อมส่งผลร้ายต่อบ้านเมือง คนไร้เส้นสาย คนซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา แน่นอนว่าคนที่เดือดร้อนที่สุดคือ “คนจน”

  1. กัดกินกันเอง : เป็นสินบนและค่าวิ่งเต้นในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง แม้จ่ายไม่แพงมากเมื่อเทียบกับข้ออื่นๆ แต่เป็นเรื่องสำคัญและอันตรายมาก เพราะมันเป็นรากเหง้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหาเส้นสายและหาเงินเป็นค่าใช่จ่ายไปสู่ดวงดาว

– การซื้อขายตำแหน่ง มีมากในหน่วยงานที่มีผลประโยชน์สูง ราคาที่จ่ายก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งนั้นจะทำเงินได้มากน้อยเพียงใด ที่มีการร้องเรียนกันมาก เช่น คมนาคม ตำรวจ มหาดไทย อุตสาหกรรม เกษตร ทรัพยากรธรรมชาติฯ กรมศุลกากร กรมที่ดิน กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน กรมปศุสัตว์ เป็นต้น

– กัดกินกันเองอื่น ๆ เช่น ค่าวิ่งเต้นล้มคดี, เงินส่วนแบ่งตามลำดับชั้นที่เกิดจากส่วยสินบนกลุ่มที่ 2 การวิ่งเต้นของบประมาณจากผู้มีอำนาจในมหาดไทยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

            – ค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันของรัฐสูงมากในแต่ละปี กล่าวคือในปี 2566 ป.ป.ช. ป.ป.ท และ สตง. ใช้งบประมาณ 5,848 พันล้านบาท มีบุคลากรรวมกันกว่า 7,578 คน

ทั้งนี้ความเสียหายจากคอร์รัปชันราว 5 แสนล้านบาทต่อปี! ที่กล่าวมานี้ ยังไม่รวมความสูญเสียทางอ้อมที่กัดกินสังคมไทย เช่น นักลงทุนหนีหายเพราะกลัวความไม่ชัดเจนของราชการ ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นและไม่แน่นอนส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการให้เพิ่มสูงขึ้น ประชาชนใช้สินค้าและบริการรัฐในราคาแพงหรือคุณภาพไม่ดีพอ รัฐต้องใช้เงินภาษีจำนวนมหาศาลไปแก้ไขปัญหาอย่างไม่รู้จบ เช่น กรณีสามจังหวัดภาคใต้ การแพร่ระบาดของยาเสพติด การศึกษาด้อยคุณภาพ การค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ นมโรงเรียน ฯลฯ โกงเล็กโกงน้อยข้าราชการทำกันเองได้ แต่โกงกินคำใหญ่เสียหายครั้งละมากๆ ต้องมีนักการเมืองร่วมบงการด้วยเสมอ ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าเห็นคนในรัฐบาลทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเรื่องปราบคอร์รัปชัน

ร้องเรียนที่ไหนเมื่อเกิดคอร์รัปชัน

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ให้ช่องทางการติดต่อหน่วยงานที่สามารถร้องเรียน ได้เมื่อถูกรีดไถ หรือรู้เห็นเหตุการณ์โกง ถูกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น

  1. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สายด่วน 1205
  2. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) สายด่วน 1206
  3. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) โทรศัพท์ 02 2718000
  4. สำนักนายกรัฐมนตรี สายด่วน 1111
  5. ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 (กระทรวงมหาดไทย)
  6. ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง (ศปท.)
  7. ร้องเรียนโดยตรงที่หน่วยงานนั้นๆ หรือ หน่วยต้นสังกัด

ข้อสังเกต:

  1. หน่วยงานที่รับแจ้งปัญหาคอร์รัปชันมีหลายแห่ง แต่ตามกฎหมายแล้ว “ทุกคดีต้องส่งไปให้ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ดำเนินการทางคดี” แม้หน่วยงานสำคัญอย่าง สตง. จะมีอำนาจระดับหนึ่ง
  2. การมีหลายหน่วยงานรับร้องเรียนถือเป็นเรื่องดี คือ ทำให้คนเลือกที่จะไปยังหน่วยงานที่สะดวก แต่หน่วยงานเหล่านั้นควรแจ้งให้ประชาชนรับรู้ด้วยว่า เมื่อรับเรื่องแล้วขั้นตอนดำเนินการต่อไปของหน่วยงานเป็นอย่างไร ผู้ร้องเรียนจะติดตามเรื่องได้อย่างไร
  3. การยื่นเรื่องต่อ สตง. คสช. หรือหน่วยทหาร อาจช่วยให้เรื่องบางประเภทคลี่คลายเร็วขึ้น แต่หากถึงขั้นดำเนินคดี ก็ต้องไปจบที่ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. อยู่ดี
  4. พบเสมอว่า ผู้เดือดร้อนหรือพบเห็นพฤติกรรมคอร์รัปชัน “มักไปยื่นเรื่องกับทุกหน่วยงาน” ที่ตนเชื่อว่าเป็นประโยชน์ เหตุนี้ทำให้ข้อมูลและสถิติของคดีในภาพรวมคลาดเคลื่อน หน่วยงานต่างๆทำงานซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองทรัพยากร แต่ในกรณีนี้ รัฐควรศึกษาว่า ทำไมคนจึงยอมเสี่ยงภัย เสียเวลา เสียค่าเดินทาง เสียค่าจัดทำเอกสาร เพื่อไปร้องเรียนยังที่ต่างๆ มากมาย แม้ไม่แน่ใจว่าหน่วยงานนั้นจะมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ อย่างเช่น รัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึง สำนักข่าวและองค์กรภาคประชาชน ต่าง ๆ

ภาพ : อินเทอร์เน็ต,องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับที่ 417 วันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2567

หน้า 2-3

“คอร์รัปชัน”อสรพิษสังคมไทย

จากรุ่นสู่รุ่น(ชั่ว)ไม่มีที่สิ้นสุด

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๑๗ ระหว่างวันที่ ๒-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)
https://book.bangkok-today.com/books/sjua/#p=1

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post