Digiqole ad

ขบวนการแรงงานต่างด้าว เปิดประเทศรับอะไรแน่

 ขบวนการแรงงานต่างด้าว เปิดประเทศรับอะไรแน่
Social sharing

Digiqole ad

          เมื่อก่อนนั้นเคยมีความเชื่อกันในระดับหนึ่งว่าการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในกระบวนการผลิตภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมโดยสามารถลดกำลังคนและการจ้างงานจำนวนมาก  อันเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นคือความสำเร็จของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ   จนมาถึงยุคปัจจุบันที่นำเอาเทคโนโลยี 5G มาใช้กับ Internet of Thing ( IoT) เอาการสื่อสารไร้สายมาเชื่อมต่อกับกระบวนการทำงานในภาคธุรกิจที่ช่วยให้งานง่ายขึ้นรวดเร็วขึ้น  ก็ยิ่งเป็นช่องทางการในการลดภาระงานของบุคคลากร  โดยเฉพาะบุคคลากรประเภทใช้แรงงานหรือขาดทักษะขาดความเชี่ยวชาญ

         ยุคโชติช่วงชัชวาล

         การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยที่เดินหน้า-ถอยหลัง กระฉึกกระฉักมาพร้อมกับพัฒนาการด้านการเมือง  ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานตามมาเป็นระยะ  โดยหากย้อนไปในช่วง 4 ทศวรรษ นับจากวันที่ “ป๋าเปรม”พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เปิดวาล์วส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเข้าโรงแยกที่ระยอง เมื่อปลายปี 2524 พร้อมกับคำว่า “โชติช่วงชัชวาล” ซึ่งถูกใช้สร้างเป็นสัญญลักษณ์การพัฒนาด้านพลังงานและอุตสาหกรรมยุคก้าวกระโดดของไทย

         จากรากเหง้าของการเป็นชาติเกษตรกรรมทำนา ทำไร่ ปศุสัตว์ ประมง ซึ่งใช้แรงงานเป็นหลัก  และอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตการเกษตรกำลังเติบโตโดยมีแรงงานราคาถูกให้เลือกจ้างได้มากมาย  ได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจากการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้พร้อมกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสู่พื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออกตามแผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด    

         นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ที่ประกาศโดย “น้าชาติ” พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2531 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสนามรบของอินโดจีนให้เป็นตลาดการค้าที่สร้างประโยชน์   ช่วยเจรจาลดความขัดแย้งภายในประเทศกัมพูชา  สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มอินโดจีน  ลดปัญหาการรบและความไม่ปลอดภัยตามแนวชายแดนพลิกสถานการณ์ให้การค้าชายแดนทุกด้านเติบโตอย่างก้าวกระโดด

         สิ่งที่ตามมาจากนโยบายของน้าชาติคือการลงนามสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งแรกที่หนองคายซึ่งมีผลให้ราคาที่ดินริมแม่น้ำโขงพุ่งสูง  เช่นเดียวกับตลาดสินค้าชายแดนไทย-กัมพูชา   ไทย-พม่าในยุคนั้น  เมื่อความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศดีขึ้นจึงส่งผลต่อความสัมพันธ์ในระดับประชาชนและแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านได้เริ่มขยายตัวในช่วงเวลานี้เอง

          ยุคโอท็อปและเอสเอ็มอี

          เศรษฐกิจและการเมืองในยุค ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 23 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2544–2549  ที่เด่านชัดคือนโยบายกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน  โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป)  และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)  ส่งเสริมผู้ประกอบการระดับกลางและล่างซึ่งมีส่วนจุดประการความคิดให้คนไทยลงทุนประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น

          สมัยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน  คนจนเมืองที่เผชิญค่าครองชีพสูง  นโยบายนี้เป็นที่พอใจของลูกจ้างแต่ถูกโจมตีจากนายจ้างว่าเพิ่มต้นทุนการผลิต  นักวิชาการก็กล่าวหาว่าเป็นตัวทำลายเศรษฐกิจ  มีผลให้นายจ้างไทยหันไปจ้างต่างด้าวและส่งผลให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย

         แรงงานไทยหายไปไหน

         เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนคนไทยเปลี่ยนทัศนคติไปเยอะ  พื้นฐานการศึกษาที่ดีขึ้น  การรับรู้ข่าวสารที่เปิดกว้างและรวดเร็วขึ้นมีผลให้แรงงานไทยเลิกเป็น “อีแจ๋ว”ทำงานรับใช้ตามบ้าน  เลิกเป็นแรงงานก่อสร้างแบกหามตามไซต์งานเล็กใหญ่    แรงงานไทยต้องการรายได้ที่มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ  เห็นโอกาสมากกว่าในช่องทางค้าขายหรืองานรับจ้างที่ใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญที่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่า  หรือต้องการงานที่มีความมั่นคงกว่าเช่นลูกจ้างประจำ  พนักงานบริษัท  พนักงานราชการ  หรือสอบเป็นข้าราชการ ตำรวจ ทหาร 

         เด็กยุคใหม่มีความคิดอิสระมากขึ้นนอกจากการศึกษา  คิดอยากทำอาชีพอิสระ  ช่องทางค้าขายออนไลน์ที่มีตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จทั้งไทยและต่างประเทศ  ไม่ต้องการถูกสั่งถูกกดหัว  หรืองานประจำที่จำเจ  มีงานใหม่ๆให้ลองให้เลือกอาทิ กราฟฟิกดีไซน์ ทำอาหาร ดีไซเนอร์แฟชั่น  หรืออาชีพแปลกๆน่าทึ่งเช่นรับผลิตเคสคอมพิวเตอร์ที่ต้องออร์เดอร์ล่วงหน้า 3 ปี

          ต่างด้าวขุดทองในไทย

          ความเปลี่ยนแปลงของแรงงานไทยดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนที่ขาดแคลน  เริ่มจ้างเด็กรับใช้ในบ้าน โรงงานอุตสาหกรรม จากเมียนมาร์เป็นส่วนใหญ่  แรงงานก่อสร้างกัมพูชาจับจอง  งานประมง ปศุสัตว์ การเกษตร  ลงไปถึงธุรกิจบริการ เด็กเสิร์ฟตามร้านอาหาร ผู้ช่วยพ่อครัว หรือมีประสบการณ์มีฝีมือยกระดับเป็นพ่อครัวไปแล้ว  พนักงานขายของหน้าร้านซึ่งเจ้าของร้านเป็นจีน  หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ไม่ใช่อาบังอย่างในอดีต

           ยุคสมัยหนึ่งปากต่อปากบอกคนไทยว่ามีโอกาสไปขุดทองที่อเมริกา  ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น  ต่อมาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขุดทองที่เมืองไทยที่แม้จะไม่ร่ำรวยอย่างอเมริกา  แต่เพราะคนไทยใจดี  ช่องทางเข้ามาทำมาหากินง่าย  ยิ่งถ้าพูดภาษาไทยได้ก็ได้ค่าตอบแทนดีตั้งตัวเร็ว  บางคนทำงานไม่กี่ปีสะสมทุนแยกออกไปค้าขายเอง  เคยเห็นบางคนเป็นลูกจ้างร้านซักรีด  วันนี้กลายเป็นเจ้าของไปแล้วแถมยังเปิดสาขาเรียกญาติพี่น้องมาขยายธุรกิจ  ต่อไปอาจขายแฟรนไชส์ข้ามชาติ  หรือลูกจ้างแผงไข่ในตลาดสดแรกๆยังพูดไทยไม่ค่อยชัด  วันนี้นั่งคุมแผงกับเมียสาวไปแล้ว

         โควิด-19 เขย่าตลาดแรงงาน

          อย่างไรก็ตามช่วงโควิด-19 ระบาดนั้นสถานการณ์แรงงานเปลี่ยนไปเยอะมาก  ด้านแรงงานคนไทยจะเห็นภาพของการปิดโรงงานเลิกจ้างหรือลอยแพเยอะมากช่วงกลางปี 2563  นอกนั้นบริษัทห้างร้านจลดจำนวนคน  ลดเงินเดือน  ลดเวลาทำงาน  ตัดสวัสดิการ  ช่วงปลายปี 2563 ประเมินกันว่ามีคนไทยตกงานกว่า 6 ล้านคน  พอเปี 2564 มีการระบาดระลอก 2-4 ล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวยาวออกนโยบาย Work From Home ยังไม่มีการประเมินว่าตกงานเพิ่มอีกมากน้อยแค่ไหน  แต่บรรยากาศโดยทั่วไปยังไม่เป็นบวกต่อการจ้างงานเพิ่มแน่

         แรงงานต่างด้าวที่พยายามหลบหนีเข้าเมืองและถูกจับได้นั้น  ถือเป็นผลงานของเจ้าหน้าที่ตามชายแดนที่ไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่  จริงอยู่ว่ามีขบวนการรับจ้างหาแรงงานป้อนนายจ้างในประเทศไทยที่ไม่สนเรื่องถูกผิด  คิดแต่หาแรงงานต้นทุนต่ำ  อาจจะเอาไปชดเชยคนงานที่กลับบ้านตั้งแต่ปี 2563  แต่ที่ถูกจับนั้นเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาที่หนีภัยสงครามและความอดอยากมาตายเอาดาบหน้า  เพราะฝั่งเมียนมาไม่มีอนาคตว่าจะกลับไปยู่อย่างสงบหรือมีกินมาใช้เช่นในอดีตในเร็ววัน  ข่าวลือหนาหูว่าเมื่อหมดฝนแล้วจะเกิดการโจมตีชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่   ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะมีการอพยพครั้งใหญ่ปรากฏให้เห็นตามแนวชายแดน

          ตะลึง!เปิดประเทศจะรับต่างด้าว 4 แสนคน         

          การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกโดยไม่ต้องกักตัว  การยกเลิกเคอร์ฟิว  เลิกมาตรการควบคุม  เปิดให้ร้านอาหารขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  และอีกไม่กี่วันคลับ บาร์ อาบอบนวด สนามชนไก่ ชนวัว ฯลฯ จะกลับมาเปิดปกติ 100%  เพื่อให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว  การจ้างงานในทุกระดับจะกลับมาพร้อมกับความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นนั้นเป็นที่คาดหมาย

          แต่การที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวรงาน อ้างว่ามีความต้องการแรงงานต่างด้าวสูงกว่า 4 แสนคน จึงจะเสนอให้มีการนำเข้าในช่วงเดือนธันวาคมยั้ย ไม่รู้ว่าเป็นข้อมูลเก่าหรือใหม่แค่ไหน  เป็นข้อมูลก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อสองปีก่อนหรือข้อมูลปัจจุบัน  และตัวเลข 4 แสนคนนี้มีที่มาอย่างไรหน่วยงานไหนรับผิดชอบ  รัฐมนตรีแรงงานยังไม่เคยอธิบายในรายละเอียด

          เราไม่เคยรู้ตัวเลขแน่ชัดว่าแรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก่อนเกิดโควิด-19 มีมากน้อยเพียงไร  แต่การเปิดประเทศยังไม่ถึงเดือนกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวประปรายที่มุ่งเที่ยวในพื้นที่หลักๆเพียงไม่กี่แห่ง  จะทำให้เกิดการจ้างงานในภาคบริการกลับมาทันทีทันใดอย่างมากมาย  หรือการเปิดประเทศได้ส่งผลบวกอย่างมหัศจรรย์ต่อภาคการผลิต  

          ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงรัฐมนตรีแรงงานควรใส่ใจต่อพี่น้องคนไทยที่เคยถูกเลิกจ้าง ถูกลดเงินเดือน  ประสานกับภาคธุรกิจเอกชน  คุยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้นำอดีตพนักงานและลูกจ้างที่เคยมีประวัติการทำงานเหล่านี้กลับสู่ระบบแรงงานอีกครั้งให้มากที่สุดก่อนไม่ดีกว่าหรือ  ทำไมจึงกระตือรือร้นจะเร่งรีบผลักดันนำเข้าแรงงานต่างด้าวจำนวนมากถึง 4 แสนคนให้รีบเข้ามาแย่งงานคนไทยซึ่งทุกวันนี้หลายครอบครัวรายได้หดหาย  หนี้สินเพิ่มพูน เพราะผลกระทบจากโควิด           

          ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ระบุว่าประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร 2.3 ล้านคน  ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพียงแค่ 1%  ขณะที่ไทยมีการไหลเข้าของแรงงานต่างด้าวติดอันดับที่ 17 ของโลก  ตอนนี้จับทุกวันชายแดนทุกด้านทั้งตะวันออก ตะวันตก  ภาคใต้

          หรือเพราะแรงงานไทยกดหัวได้ไม่มีปากเสียง  แต่แรงงานต่างด้าวค่านำเข้ารวมค่ากักตัวหัวละ 2.6 หมื่นบาท เลยต้องใส่ใจให้มาก

  

          

Facebook Comments


Social sharing

Related post