Digiqole ad

“กินเด็ก” หายนะ(จ๊ะ)สังคมไทย

 “กินเด็ก” หายนะ(จ๊ะ)สังคมไทย
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 414 วันที่ 12-18 มกราคม 2567

หน้า 2-3

“กินเด็ก”

หายนะ(จ๊ะ)สังคมไทย

“วันเด็ก” ปี 2567 นี้เด็ก ๆ ได้รับความสุขกันแบบจุก ๆ ได้รับสิทธิ์และอภิสิทธิ์ต่าง ๆ มากมาย แต่พ้นวันเด็กซึ่งเป็นวันเสาร์ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมทุกปี ภายหลังสิ้นสุดวันเด็กความสุขของเด็ก ๆ บางคนก็มลายหายไป กลับสู่ภาวะความทุกข์ปกติ เพราะผู้ใหญ่ “กินเด็ก” นั่นเอง ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันแกไขปัญหาเล่านี้ให้เด็ดขาดและเป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เป็นแบบไฟไหม้ฟาง

 

กินเด็ก : ล่วงละเมิดทางเพศ

            “เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ” คือปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่ตกเป็นข่าวเว้นในแต่ละวัน ซึ่งควรได้รับแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะต้นเหตุมาจากอินเทอร์เน็ต

จากรายงาน หยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย (Disrupting Harm in Thailand Report) ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพล พบว่า ในปี 2564 มีเด็กไทยอายุ 12-17 ปี กว่า 400,000 คน หรือเกือบ 1 ใน 10 คน เคยตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และรูปแบบการล่วงละเมิดที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ การที่ภาพหรือคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาทางเพศของเด็กถูกนำไปเผยแพร่ส่งต่อโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม และมีการแบล็กเมล หรือข่มขู่ให้เด็กมีสัมพันธ์ทางเพศ

รายงานหยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย ยังพบว่า เด็กที่เป็นผู้เสียหายเหตุการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์จำนวนมากไม่ทราบว่าจะต้องแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน โดยมีเด็กผู้ประสบเหตุเพียง 1 ใน 3 คนเท่านั้น ที่ไปแจ้งตำรวจ เด็กหลายคนโทษตัวเองและคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง รายงานฉบับนี้ยังพบอีกว่าในหลายกรณี ผู้ก่อเหตุมักเป็นคนที่เด็กรู้จักอยู่แล้ว

 

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย เปิดเผยว่า เราทุกคนต้องทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากประสบการณ์เลวร้ายนี้ หน่วยงานทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานด้านการคุ้มครองเด็ก ตลอดจนฝ่ายบังคับใช้กฎหมายและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยเราเริ่มต้นได้จากการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเด็กและผู้ปกครอง ให้พวกเขามีความเข้าใจถึงความเสี่ยงและมีความระแวดระวังในการส่งต่อข้อมูลหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ รวมถึงมีทักษะในการหลบเลี่ยงหรือตอบสนองเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงหรือตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย

“นอกจากคลิปวิดีโอเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องภัยออนไลน์แล้ว แคมเปญนี้ยังให้ความรู้และเคล็ดลับต่าง ๆ แก่เด็กและผู้ปกครอง เพื่อที่จะสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ แคมเปญนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์ และสนับสนุนให้เด็ก ๆ ขอความช่วยเหลือเมื่อพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงหรือเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศและแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์”

            (ป้องกัน)กินเด็ก : แคมเปญรณรงค์ #สงสัยไว้ก่อน

เมื่อเร็ว ๆนี้ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย เปิดตัว แคมเปญรณรงค์ #สงสัยไว้ก่อน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จัก คิดทบทวนให้ถี่ถ้วน ก่อนจะโพสต์ภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวบนพื้นที่ออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ หลังจากที่รายงานการศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่า เด็กในประเทศไทยจำนวนมากกำลังตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและการแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า แคมเปญนี้สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนที่เราทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหาการขู่กรรโชกทางเพศเด็กทางออนไลน์ ซึ่งเราทุกคนมีบทบาทสาคัญในการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน กระทรวง พม. มุ่งส่งเสริมพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันเรายังมีการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการให้บริการด้านการคุ้มครองเด็ก รวมถึงการตอบสนองต่อรายงานการล่วงละเมิดและละเลยเด็ก เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เด็กและเยาวชนจะสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทันท่วงที

“แคมเปญ #สงสัยไว้ก่อน เปิดตัวด้วยคลิปวิดีโอความยาว 1 นาที ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้มิตรภาพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จะน่าตื่นเต้น แต่ก็อาจมาพร้อมความเสี่ยงและอันตรายได้เช่นกัน อาชญากรรมแบบต่าง ๆ ที่เรายกมาพูดถึงในแคมเปญนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกวันในประเทศไทย ทั้งกับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่ปัญหานี้มักไม่ถูกรายงาน เนื่องจากเด็ก ๆ มักกลัวเกินกว่าที่จะเล่าปัญหานี้ให้ใครฟัง

            โดยก่อนหน้านั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา ยังได้กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก รวมถึงสตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กและสตรี โดยในสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้ www.violence.in.th พบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,264 เหตุการณ์ โดยมีประเภทเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ การทำร้ายร่างกาย จำนวน 996 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 54.25 รองลงมา คือ ดุด่า/ดูถูก จำนวน 344 เหตุการณ์ และหยาบคาย/ตะคอก/ประจาน/ขู่/บังคับ จำนวน 300 เหตุการณ์ ตามลำดับ โดยผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำมากที่สุด จำนวน 896 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.98 ของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทั้งหมด ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ในระดับปัจเจกบุคคลต่อผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย

รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเราส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล (Digital Literacy) และทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence) ให้แก่เด็กและเยาวชน พวกเขาก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ และเข้าใจถึงผลกระทบจากพฤติกรรมออนไลน์ของพวกเขาได้ เครือข่ายฯ หวังว่าแคมเปญนี้ จะมีส่วนช่วยผลักดันเชิงนโยบายให้มีการออกกฎหมายที่เข้มแข็งขึ้น เพื่อรับมือปัญหาภัยออนไลน์ที่กำลังขยายวงกว้างขึ้นอีกด้วย

ทางด้าน มาดามแป้ง-นางนวลพรรณ ล่ำซำ ทูตองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้แสดงการสนับสนุนแคมเปญนี้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ร่วมมือกันเพื่อคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ ภัยออนไลน์สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา เราต้องคิดไว้เสมอว่าเด็ก ๆ กำลังเผชิญหน้ากับอาชญากรมืออาชีพ ซึ่งมีประสบการณ์สูงในการล่อลวงเด็ก ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาทักษะและความรู้ของทุกฝ่าย รวมทั้งตัวเด็กเองด้วย เพื่อคุ้มครองพวกเขาจากภัยต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง และยกให้ประเด็นการคุ้มครองเด็กเป็นเรื่องสาคัญเร่งด่วนของทุกคน

“ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โดยเป็นโครงสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและรับมือกับความเสี่ยงและภัยออนไลน์ต่าง ๆ เครือข่ายนี้ นำโดยกระทรวง พม. มีสมาชิกจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ หน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตัวแทนเด็กและเยาวชน องค์การระหว่างประเทศ รวมถึงยูนิเซฟ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย รัฐบาลไทยยังได้กำหนดให้วันอังคารที่สองของเดือนกุมภาพันธ์เป็นวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ซึ่งตรงกับวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสากลด้วย”

            กินเด็ก : เหตุจากครอบครัวอ่อนแอ

มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรีเปิดเผยสถิติการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของมูลนิธิตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 27 ธันวาคม 2566 พบผู้ร้องเรียนปัญหาครอบครัวยังครองแชมป์ ปี 2566 สูงถึง 1,339 ราย ขณะที่จำนวนผู้ร้องเรียนกรณีข่มขืน/อนาจารสูงถึง 1,038 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 8.4 นอกจากนี้ ภัยอันตรายจากไซเบอร์และการล่อลวงค้ามนุษย์ ยังเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ได้เข้าพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิได้รับการร้องเรียนปัญหาครอบครัวมาโดยตลอด ซึ่งเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง เป็นเพราะสถาบันครอบครัวในปัจจุบันมีความอ่อนแอ พ่อแม่แยกทางกันอยู่ หรือเป็นครอบครัวแหว่งกลาง ทำให้เด็กอยู่ในสภาวะเสี่ยง หลายคนเป็นซึมเศร้า ดังนั้น โรงเรียนและครูจะต้องรับบทบาทเป็นพ่อแม่คนที่สอง คอยโอบอุ้มให้เด็กเหล่านี้ไปหลุดไปเผชิญกับความเสี่ยง ในกรณีการข่มขืนที่ได้รับการร้องเรียนมา ส่วนมากเกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิง และเมื่อย้อนดูสถิติเมื่อปี 2565 พบว่า เด็กอายุ 10-15 ปี ถูกข่มขืนมากที่สุด 381 คน รองลงมาคือ อายุ 15-20 ปี 198 คน และอันดับ 3 คือ เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 10 ปี ถูกข่มขืน 110 คนซึ่งถือเป็นสถิติที่น่ากังวลมาก และในปีนี้ยอดการร้องเรียนกรณีคุกคามทางเพศก็สูงขึ้นอีก แนะทาง สพฐ. หาแนวทางช่วยเหลือเด็ก และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุน่าสลดใจ

“เมื่ออันตรายเริ่มต้นที่บ้าน คนที่รู้ปัญหานี้ได้มากที่สุดคือครูและเพื่อนของเขา หลายครั้งผู้ที่แจ้งเหตุมายังมูลนิธิเพื่อช่วยแก้ปัญหาคือครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง ศึกษาธิการต้องเปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงการช่วยเหลือมากขึ้น เช่น เราต้องมีนักจิตวิทยาในโรงเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีพื้นที่ในการพูดคุย เพื่อเด็กที่มีปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที”

ทางด้าน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยข้อมูลความไม่ปลอดภัยของนักเรียนว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 ธันวาคม 2566 พบทั้งสิ้น 2,618 กรณี แบ่งออกเป็น 4 ภัย ดังนี้ 1. ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ 1,168 เรื่อง 2. ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์/การคุกคามทางเพศ และการทะเลาะวิวาท 729 เรื่อง 3. ภัยที่เกิดจากผลกระทบทางสุขภาวะทางกายและจิตใจ/ภัยทั่วไป 495 เรื่อง 4. ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ 226 เรื่อง

“โดยเฉพาะภัยจากการละเมิดสิทธิ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องครูทำโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ ครูผู้บริหารมีความประพฤติไม่เหมาะสม เป็นต้น ทาง สพฐ. ยืนยันว่า จะยกระดับวิธีการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กให้มากขึ้น และไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นซ้ำอีก ขณะเดียวกันโรงเรียนจะต้องให้ความรู้กับนักเรียนในเรื่องบทบาท หน้าที่และสิทธิของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความปลอดภัย”

            ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวด้วยว่า  ส่วนเรื่องของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทางสพฐ. จะมีการให้ข้อมูลและความรู้กับทางผู้ปกครองให้รู้เท่าทันภัยดังกล่าว และยังมีการให้การศึกษาในหลักสูตรแกนกลาง วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา หน่วยการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัย ปลูกฝังให้เยาวชนสามารถเรียนรู้และรับมือกับภัยอันตรายได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมีสอนตั้งแต่ช่วงชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงยังมีการให้จัดอบรมครูให้มีความรู้พิเศษเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า การทำ CPR การตรวจมะเร็งเต้านม เป็นต้น ซึ่งตนเชื่อว่าครูจะสามารถดูแลเด็กได้อย่างครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต (ที่มา : theactive.net)

            กิน (หัวคิว) เด็ก : อาหารกลางวัน

อีกหนึ่งเรื่องราวของการกินเด็กนั่นคือ การกินหัวคิวอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ทำให้เด็กได้รับประทานอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ เป็นการด้อยคุณภาพชีวติของเด็ก ๆ ดังที่จะเห็นได้จากรายงานข่าวมากมาย ซึ่งชาวบ้าน ผู้ปกครองนักเรียน และเด็กนักเรียนโรงเรียน รวมตัวกันถือป้ายประท้วงที่บริเวณหน้าอาคารเรียน เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบการบริหารงานของ ผู้อำนวยการโรงเรียน โดยส่วนใหญ่กล่าวหาว่า ผู้อำนวยการมีพฤติกรรมหักหัวคิวเงินค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ที่ได้รับการอุดหนุนจากส่วนราชการ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้อาหารกลางวันไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่มีอยู่ กระทั่งเด็กพากันบ่นว่ากินไม่อิ่ม บางวันข้าวหมด คนที่มาทีหลังจะเหลือแต่น้ำแกงจืดให้กิน ซึ่งแน่นอนว่า ในยุคไอทีทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ จึงผู้ปกครองถ่ายภาพน้ำแกงจืดไว้เป็นหลักฐานด้วย โดยปัญหาการกินหัวคิวค่าอาหารกลางวันเดกเรียนนั้น หลายโรงเรียนถูก็ดัระบุว่ าเป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว ตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียนคนนั้นคนนี้มาดำรงตำแหน่งที่โรงเรียน

นอกจากนี้ยังมีการกินหัวคิวหรือเปอร์เซ็นต์หนังสือเรียนอีกด้วย โดยเคยมีการร้องเรียน อาทิ

“ข้าพเจ้าทราบข้อมูลมาว่าทางบริษัทต่างๆ จะโอนเงินค่าส่วนลดหนังสือเข้าบัญชีของอาจารย์คนนี้ คนเดียว แล้วอาจารย์คนนี้ ก็จะดำเนินการนำเงินส่วนนี้ให้แก่บุคคลอื่นพรรคพวกของตนเอง และที่สำคัญงบประมาณของโครงการเรียนฟรี15 ปี มีมานานมาก ตั้งแต่ปี 2552 การเรียกรับเงินส่วนลดจากร้านค้านี้ ส่งผลให้รัฐซื้อสินค้าในราคาแพงเกินควร ซึ่งเจ้าหน้าที่ ของรัฐทุกคนพึงจะรักษาประโยชน์สูงสุดให้แก่รัฐ แต่ไม่กระทำกลับแสวงหาผลประโยชน์โดยการเรียกรับให้แก่ตนเองและพรรคพวก สร้างความเสียหายให้แก่รัฐบาลเป็นอย่างมาก”ผู้ร้องเรียนคนหนึ่งระบุ

            สารนายกฯ ถึงเด็กสู่รูปธรรมยั่งยืน(มั้ย!?!)

ทั้งนี้ได้มีสาร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาส “วันเด็กแห่งชาติ” ประจำปี 2567 ซึ่งมีหลายฝ่ายจับตามองว่าจะสามารถเป็นรูปธะรมและยั่งยืนได้มากน้อยแค่ไหน

โดย นายเศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า เด็กและเยาวชนมีส่วนสำคัญในการร่วมกำหนดอนาคตของสังคมและประเทศชาติ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็กและเยาวชนที่จะต้องได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ และการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทุกมิติอย่างเหมาะสม ทั้งด้านสุขภาวะทางกายและจิตใจ รวมทั้งมีประสบการณ์และทักษะการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน และมีความพร้อมสำหรับการโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต โดยรัฐบาลมุ่งมั่นสร้างโอกาสในทุกด้านให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งปลูกฝังความเป็นคนดี มีวินัย มีคุณธรรมและจริยธรรม ยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม

วันเด็กแห่งชาติปีนี้ ผมได้มอบคำขวัญว่า “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” เพื่อให้เด็ก เยาวชน รวมถึงผู้ปกครองทุกคนตระหนักว่า โลกปัจจุบันเชื่อมโยงกันไร้พรมแดนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีมุมมองที่กว้างขวางเป็นสากล มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะ และสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมทั้งเป็นผู้ที่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับตัวให้ก้าวทันโลกยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเป็นพลเมืองที่เคารพและยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายในทุกมิติ มีความคิดและจิตใจที่เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อันเป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมแห่งประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและเป็นพลังในการพัฒนาสังคมและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เหนือสิ่งอื่นใดเป็นผู้ที่ธำรงไว้และนำอัตลักษณ์ความเป็นไทยไปสู่สากล

เนื่องในโอกาส “วันเด็กแห่งชาติ” ประจำปีพุทธศักราช 2567 ผมขออวยพรให้เด็กและเยาวชนไทยทุกคน ประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเพียบพร้อมไปด้วยความสุขและความมั่นคงในการดำรงชีวิต เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ภาพ : อินเทอร์เน็ต,เพจมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 414 วันที่ 12-18 มกราคม 2567

หน้า 2-3

“กินเด็ก”

หายนะ(จ๊ะ)สังคมไทย

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๑๔ ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๘ มกราคม ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/mqlf/#p=1
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

 

 

 

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post