Digiqole ad

  กรุงเทพฯแซนด์บ็อกซ์ จะโดนน็อคถ้าล็อกไม่อยู่

   กรุงเทพฯแซนด์บ็อกซ์ จะโดนน็อคถ้าล็อกไม่อยู่
Social sharing
Digiqole ad

                กระดี๊กระด๊ายินดีปรีดากันเหลือเกินสำหรับรัฐบาล หน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่หากินกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ  กับกำหนดการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564  เพราะเห็นว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในบ้านเราจากการติดเชื้อ-ป่วย-ตาย เริ่มเบาบางลง  เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เริ่มขยับแง้มประตูในฤดูท่องเที่ยว  จึงไม่อาจปล่อยผ่านช่วงเวลาทำมาหากินให้คนในชาติที่กำลังจะอดตายได้ลืมตาอ้าปากโดยแลกกับความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดรุนแรงเป็นระลอกที่ 5

  กรุงเทพฯสีฟ้านำร่องท่องเที่ยว

          หนึ่งในพื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัดที่ ศบค.ไฟเขียวให้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้โดยไม่ต้องกักตัวก็คือ “กรุงเทพมหานคร” ที่มีผู้ว่าจากการแต่งตั้งจากสายทหารชื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง  ซึ่งมีการประชุมเตรียมการ “กรุงเทพฯแซนด์บ็อกซ์”เพื่อเปิดเมืองมานานนับเดือนโดยผู้ว่าฯอัศวินได้กำหนดเงื่อนไขการนเปิดเมืองไว้ 3 ข้อคือ 1.ประชากรของกรุงเทพมหานครต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อย 70% ขึ้นไป   2.จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง  3.จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง

          ดูการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศจนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2564 มียอดสะสม 68.5 ล้านโดส  เป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 39 ล้านราย ( 54.2% ของประชากร)  ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 สะสม 27.4 ล้านราย (38% ของประชากร)  และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 สะสม 2 ล้านราย( 2.8% ของประชากร) ถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้

          แต่เมื่อพิจารณาผู้ได้รับวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2564 มียอดฉีดสะสมแล้ว 14.2 ล้านราย  ประกอบด้วยเข็มที่ 1 สะสม 8.1 ล้านราย ( 106.06%)  เข็มที่ 2 สะสม 5.5 ล้านราย ( 71.75% )  เข็มที่ 3 สะสม 5.4 แสนราย  กว่าจะถึงวันเปิดเมืองการฉีดวัคซีนคงดำเนินการไปอีกมาก  เงื่อนไขข้อนี้ถือว่าผ่าน

         เรื่องการติดเชื้อเมื่อย้อนดูสถิติ  ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน การติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำวันละ 600-700 ราย  จากนั้นช่วงเดือนกรกฎาคมยอดติดเชื้อสูงขึ้นจนปลายเดือนสิงหาคมการติดเชื้อรายวันพุ่งเกือบแตะวันละ 4,000 ราย  จนเกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนคนเมืองหลวง  เกิดวิวาทะระหว่างกทม.กับกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน  

          อย่างไรก็ตามหลังจากมีการระดมฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องสถานการณ์ค่อยๆคลี่คลาย  การติดเชื้อลดลงในเดือนกันยายนเหลือวันละกว่า 2,000 ราย จนเข้าเดือนตุลาคมอยู่ในระดับ 1,000 รายเศษ  ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่กทม. 1,020 ราย แนวโน้มถึงสิ้นเดือนตุลาคมยอดผู้ติดเชื้อควรจะต่ำกว่าวันละ 1,000 ราย  จึงน่าเป็นที่พอใจ  และเมื่อผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดตามลงไปด้วย

          มาตรฐานรับมือเข้มข้น

          เมื่อทั้ง 3 เงื่อนไขไร้อุปสรรค  ประกอบกับหลักการอีก 3 ข้อในพิจารณาเปิดประเทศของศบค.ที่ยกมาอ้างคือ  1.มาตรการสาธารณสุข  2.มองเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจในประเทศ  3.ความสอดคล้องมาตรการระหว่างประเทศ เช่นเข้า-ออก ประเทศ  ก็ล้วนเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เปิดประเทศ เปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวตามคุณสมบัติที่กำหนดคือ

          “ ผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศต้องได้รับวัคซีนครบแล้ว  มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทางภายใน 72 ชั่วโมง  มีการทำประกันสุขภาพไว้อย่างน้อย 50,000  ดอลลาร์  เมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำอีกรอบ ในวันแรกที่มาถึง เมื่อผลการตรวจเป็นลบถึงจะเดินทางในประเทศต่อได้โดยไม่ต้องกักตัว

           นั่นคือมาตรฐานสำหรับผู้ต้องการเดินทางเข้าไทย  แต่สำหรับ กทม.ซึ่งเป็นเมืองหลวงยังได้เตรียม “แผนรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่” ที่เป็นนักท่องเที่ยว ในการรักษาและการป้องกันและควบคุมโรค รวมถึง “แผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ” ที่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ก่อนการเดินทางมาถึงประเทศไทย (Pre Arrival) ระยะที่ 2 เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง   และเข้าพักในกรุงเทพฯ (Arrival) และระยะที่ 3 ออกเดินทางออกนอกกรุงเทพมหานครหรือเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย (Before Departure)

          ไม่เพียงเท่านั้น กทม.ยังได้กำหนด “มาตรฐานขั้นตอนปฏิบัติงาน 11 ด้าน” ประกอบด้วย   รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง   จากสนามบินเข้าที่พักโดยไม่แวะพักระหว่างทาง  เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางถึงโรงแรม ที่พัก หรือโฮมสเตย์  การท่องเที่ยวทางน้ำและการเดินเรือ  มัคคุเทศก์และผู้ช่วยมัคคุเทศก์ การจัดการของเสียและขยะต่างๆ   ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ  การบริการสปาและนวดเพื่อสุขภาพ   การจัดการท่องเที่ยวชุมชน  การเดินทางท่องเที่ยวภายในกรุงเทพมหานคร  และมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA และ SHA+

         ไม่ห่วงฝรั่งแต่กลัวไทยกันเอง

          ดูเงื่อนไขการเข้าเมือง  ดูมาตรการต่างๆของกทม.แล้วบอกได้เลยว่าถ้านักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ท้อจนเผ่นกลับบ้านก่อนก็ไม่จำเป็นต้องไม่กลัวว่านักท่องเที่ยวจะเอาเชื้อมาแพร่คนไทยที่เป็นเจ้าบ้าน  ในทางกลับกัน  ที่น่ากลัวคือคนไทยด้วยกันเองนี่แหละที่ยังไม่ได้รับวัคซีน  ที่ยังฉีดไม่ครบโดส  ที่ฉีดแล้วแต่ยังใช้ชีวิตมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง  พวกวัยรุ่นที่รักสนุกชอบชุมนุมมั่วสุมเฮฮาปาร์ตี้  พวกประมาทโรคไม่ระมัดระวัง และพวกไม่รับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ   ซึ่งคนเหล่านี้เคยก่อให้เกิดการแพร่ระบาดมาแล้ว 4 รอบ ครั้นเมื่อศบค.ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์พร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ  ย่อมมีโอกาสสร้างการแพร่ระบาดต่อทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวที่จะสัมผัสใกล้ชิดได้

               ตัวอย่างตำตาที่ไม่ต้องรอให้ถึง 1 พฤศจิกายน หรือ 1 ธันวาคมที่รัฐบาลบอกล่วงหน้าว่าจะให้นั่งดื่มเหล้าในร้านอาหารได้  ก็คือร้านอาหารใหญ่ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์กลางเมืองหลวงตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติแอบขายเหล้าเบียร์ให้กลุ่มวัยรุ่นนักเที่ยวยามราตรีกันแล้ว

              ว่ากันว่ามีการร้องเรียนมาแล้ว 2 ครั้ง  แต่คงเพราะร้านเส้นใหญ่ในห้างดังทำให้ตำรวจชั้นผู้น้อยเกรงใจทำได้แค่ว่ากล่าวตักเตือนแต่ก็ยังฝ่าฝืนกฎหมาย   เมื่อมีการร้องครั้งที่ 3 ผู้กำกับสน.ปทุมวันจึงต้องลงมือเองจนเจอวัยรุ่นร่วมร้อยคนทั้งชายหญิงกำลังนั่งดื่มกินอย่างสนุกสนาน โดยมีการแสดงเล่นดนตรีและมีการลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

              ในเมื่อร้านอาหารที่อยู่ใกล้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแค่เอื้อมยังกล้าฝ่าฝืนกฎหมาย  แล้วประสาอะไรกับร้านแถวทองหล่อที่ขึ้นชื่อลือชา  หรือร้านเล็กๆในตรอกซอกซอยที่ไกลหูไกลตาเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 50 เขตของ กทม.จะทำตัวเป็นเด็กดีปฏิบัติตามคำสั่งจนปลอดภัยไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ…กระนั้นหรือ?!?

          ตัวอย่างระบาดเมื่อเปิดประเทศ                  

           ผู้บริหารกรุงเทพมหานครควรศึกษาตัวอย่างที่มีให้เห็นอยู่แล้วกับประเทศใหญ่ที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบโดสมากกว่า 80%  แต่พอผ่อนคลายมาตรการหรือเปิดประเทศแล้วเชื้อโควิดได้กลับมาระบาดอีกครั้ง  อาทิ “ประเทศออสเตรเลียซึ่งจัดอยู่ในอับดับที่ 102 ของโลกเพราะที่ผ่านมาถือว่ามีการระบาดน้อย ณ วันที่ 21 ตุลาคม มียอดติดเชื้อสะสมเพียง 149,421 ราย  แต่มีการติดเชื้อใหม่รายวัน 2,146 ราย  

           นักวิชาการของศูนย์วิจัยคลังข้อมูลขนาดใหญ่ทางสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ออสเตรเลีย  คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในแผนกผู้ป่วยหนักจะพุ่งสูงสุดถึง 2,000 ราย หลังเปิดประเทศเพราะภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และการฉีดวัคซีนจำนวนมากไม่น่าจะป้องกันโรคโควิด-19 ได้อย่างสมบูรณ์  

            ปัจจุบันออสเตรเลียมีอัตราการฉีดวัคซีนในประชากรผู้ใหญ่มากกว่า80%  และ 68.33% ของประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไปในออสเตรเลียได้รับวัคซีนครบโดส ขณะที่ 84.79% ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสแล้ว

             ส่วนที่ “ประเทศอังกฤษ”ซึ่งมียอดติดเชื้อสะสมสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก คือ 8,589,737 ราย   มี         รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อ 21 ตุลาคม เพิ่ม 49,139 ราย  กลายเป็นสถานการณ์น่าวิตกของอังกฤษเพราะยอดผู้ป่วยใหม่รายวันของอังกฤษสูงเกิน 40,000 ราย ติดต่อกันถึงหนึ่งสัปดาห์

            ข้อมูลล่าสุดระบุว่าผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไปในอังกฤษได้รับวัคซีนโดสแรกมากกว่า 85% และได้รับวัคซีนครบสองโดสมากกว่า 78% แล้ว

             ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ของศบค. ของกระทรวงสาธารณสุข ของกทม. หากส่งสัญญาณโฆษณาชวนเชื่อว่าเปิดประเทศได้เพราะคนในชาติฉีดวัคซีนได้มากแล้ว  หรือต่อไปโควิด-19จะเป็นโรคประจำถิ่น   หรือต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมไวรัส  กับการต้องยอมรับการระบาดระลอกใหม่ที่มีโอกาสกลับมาอีกครั้ง  

            การควบคุมพฤติกรรมคนเมืองหลวงที่มาจากร้อยพ่อพันแม่  ต่างอาชีพต่างฐานะ แถมยังมีชาวต่างประเทศที่ต่างชาติต่างภาษา  จึงเป็นเรื่องยากลำบากยิ่ง  แต่หากผู้ว่าอัศวินมองไม่รอบด้าน  วางแผนไม่รอบคอบก็เป็นไปได้สูงที่จะต้องวิ่งพล่านอีกครั้งในการรับมือการแพร่ระบาดระลอก 5 ที่คงรุนแรงไม่น้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

Facebook Comments

Related post