Digiqole ad

“กระทรวงการต่างประเทศ” ผนึกพลัง “มูลนิธิไทย” เดินหน้าจัดงานครั้งแรก “รางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี 2565”  เชิดชูผู้สร้างแฟนคลับ “นิยมไทย” ในต่างแดน

 “กระทรวงการต่างประเทศ” ผนึกพลัง “มูลนิธิไทย” เดินหน้าจัดงานครั้งแรก “รางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี 2565”  เชิดชูผู้สร้างแฟนคลับ “นิยมไทย” ในต่างแดน
Social sharing
Digiqole ad

กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับมูลนิธิไทย  เตรียมจัดงานมอบ “รางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2565”  หรือ “Public Diplomacy Award 2022”  ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อมอบให้บุคคล กลุ่มบุคคลทั่วไปหรือองค์กร ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยที่สร้างชื่อเสียง จนเป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างแฟนคลับให้กับประเทศไทย คนไทยและความเป็นไทย หรือสร้างแฟนคลับ “นิยมไทย” ในกลุ่มชาวต่างประเทศนั่นเอง

 

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การทูตสาธารณะถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงต่างประเทศ ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างเกียรติภูมิและบทบาทของไทยในประชาคมโลก ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศ มีการส่งเสริมด้านการสร้างการรับรู้ของประเทศไทยผ่านสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ รวมถึงผนึกกำลังกับหน่วยงานไทยที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ มาโดยตลอด รวมไปถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนที่ร่วมกันเผยแพร่ความเป็นไทยอย่างเข้มแข็งผ่านการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด

“ปัจจุบันเป็นยุคแห่งโลกไร้พรมแดน การดำเนินงานด้านการต่างประเทศมีความหลากหลาย จึงหารือร่วมกับมูลนิธิไทย จัดโครงการรางวัลทูตสาธารณะขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่ไปดำเนินงานด้านสาธารณประโยชน์ ด้านมนุษยธรรม ด้านศิลปวัฒนธรรม กีฬา นวัตกรรม เป็นต้น จนสามารถสร้างชื่อเสียง เกียรติภูมิ การยอมรับ ชื่นชม นิยม เป็นที่ประจักษ์ในต่างประเทศ”

นายธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย กล่าวว่า การจัดโครงการรางวัลการทูตสาธารณะ มีความตั้งใจที่จะเชิดชูเกียรติให้แก่บุคคล ไม่จำกัดเพศ-วัย และกลุ่มบุคคลชาวไทยผู้ทำคุณประโยชน์โดยไม่แสวงหาผลกำไรหรือทางธุรกิจใด ๆ ให้แก่ประเทศในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดังที่กล่าวมา และยังต้องการสนับสนุนให้ผู้รับรางวัลสามารถดำเนินงานตามเจตนารมณ์ที่ดีและเกิดผลดีต่อประเทศไทยต่อไปในอนาคต อีกทั้งเป็นแบบอย่างให้แก่บุคคลและองค์กรอื่นๆ ด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักและเข้าใจถึงบทบาทของการทูตสาธารณะมากยิ่งขึ้น และสร้างการรับรู้ว่าประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานการทูตสาธารณะได้เช่นกัน โดยรางวัลนี้จะมีบุคคลหรือองค์กรได้รับเพียง 1 เดียวเท่านั้นที่ได้รับ จะมีการจารึกชื่อไว้ที่ฐานถ้วยรางวัลใหญ่ที่ตั้งไว้ในกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมเงินรางวัลจำนวน 5 แสนบาท เพื่อให้นำไปต่อยอดในกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมต่อไป

“ความคาดหวังของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดตัวอย่างของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่มีจิตสาธารณะและรักประเทศไทยให้มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่หน่วยงานภาครัฐ  ทั้งนี้มูลนิธิไทยและกระทรวงการต่างประเทศ เปิดโอกาสให้สถานทูตไทยในประเทศต่างๆ นำเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมกับรางวัล รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปนำเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมกับรางวัลนี้เข้ามาได้เช่นกันภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้ได้ผู้สมควรได้รับรางวัล อีกทั้งเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม  โดยจะมีพิธีมอบรางวัลวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ณ กระทรวงการต่างประเทศ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิไทย 02-203-5000 ต่อ 11031 ในเวลาราชการ ดูวิธีการเสนอชื่อผู้รับรางวัลและรายละเอียดอื่นๆ ได้ที่ www.thailandfoundation.or.th

 

สำหรับประวัติมูลนิธิไทยก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 โดยดำริของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อดำเนินงานด้านการทูตสาธารณะของประเทศไทย อย่างไรก็ดีมูลนิธิไทยดำเนินการโดยอิสระภายใต้การกำกับของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลสำคัญภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับประเทศไทย ความเป็นไทยและคนไทย ผ่านการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยรอบด้านเป็นภาษาอังกฤษ อาทิ ประเพณี เทศกาล การแสดง วรรณกรรม อาหาร มวยไทย ภาพยนตร์ ดนตรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ กระชับความสัมพันธ์ รวมถึงจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือในระดับประชาชนผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ

นอกจากนี้ตั้งแต่ ปี 2563 มูลนิธิไทยได้ปรับแนวทางการทำงานเพื่อให้ก้าวหน้าและสอดคล้องกับยุคสมัย วิถีชีวิตใหม่และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทูตสาธารณะและแผนปฏิบัติการมูลนิธิไทย ฉบับที่ 1 (ปี 2564-2568) โดยเน้นการนำเสนอความเป็นไทย 3 ประการ อันเป็นคุณสมบัติดีเด่นของคนไทยที่ได้รับการยอมรับ ได้แก่ การมีความเคารพต่อผู้อื่น (Respect) การทีความเมตตาต่อผู้อื่น (Compassion) และการเปิดกว้างไม่ปิดกั้นวัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือเชื้อชาติใด (Openness)

 

Facebook Comments

Related post