Digiqole ad

“กรมอุทยานฯ” ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน เชียงใหม่ รับมือฤดูกาลท่องเที่ยว ติดตามภารกิจด้านการกู้ชีพ กู้ภัยและแผนเผชิญเหตุในอุทยานแห่งชาติ สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว

 “กรมอุทยานฯ” ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน เชียงใหม่ รับมือฤดูกาลท่องเที่ยว ติดตามภารกิจด้านการกู้ชีพ กู้ภัยและแผนเผชิญเหตุในอุทยานแห่งชาติ สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว
Social sharing

Digiqole ad

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.65 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายสุธีรพันธ์ สวัสดิ์กุลดิลก ผู้อำนวยการส่วนกู้ภัยอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ พร้อมคณะ ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามภารกิจด้านการกู้ชีพ กู้ภัย ในอุทยานแห่งชาติ และวนอุทยาน โดยมี น.ส.นิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน และ น.ส.ชลกร ช่วยเชื้อสาย หัวหน้าศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมติดตามภารกิจครั้งนี้ เมื่อมาถึง เจ้าหน้าที่ได้ทำการสาธิตการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุทั้งทางบกและทางน้ำ สาธิตการโรยตัว การปฐมพยาบาล การทำ CPR การประสานและส่งต่อผู้ป่วยเป็นต้น

จากนั้น นายสุธีรพันธ์ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ   มีการดำเนินการด้านความปลอดภัยในอุทยานแห่งชาติ และวนอุทยาน มาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนกู้ภัยอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งภารกิจหลักที่ได้ดำเนินการ ประกอบด้วย 1) การพัฒนาและทบทวนความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 2) การพัฒนาและจัดหาเครื่องมือ/อุปกรณ์ให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ และ 3) การกำหนดแนวทาง/มาตรการด้านความปลอดภัย ให้อุทยานแห่งชาติ และวนอุทยาน นำไปปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมและป้องกันภัย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจมีประสิทธิภาพ ส่วนกู้ภัยอุทยานแห่งชาติ มีศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติ กระจายอยู่ตามภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ คือ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ตราด กาญจนบุรี ภูเก็ต และสตูล

“กรมอุทยานฯ คำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ดำเนินการฝึกอบรมการกู้ชีพกู้ภัยและแผนเผชิญเหตุมาตั้งแต่ปี 2561ภายใต้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) มี 7 ศูนย์ดูแลนักท่องเที่ยวใน 155 อุทยานแห่งชาติและ 15 อุทยานฯ เตรียมการ มีรถแอมบูแลนซ์ 155 คันใน 155 อุทยานฯ มีเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับการฝึกฝนช่วยเหลือชีวิต ดังนั้นขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัยและสวัสดิภาพเมื่อมาท่องเที่ยวอุทยานฯ และขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสธรรมชาติในอุทยานฯ โดยในฤดูกาลท่องเที่ยวทางทะเลจะเริ่มในวันที่ 15 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ส่วนทางบก กรมอุทยานฯ ได้เตรียมความพร้อมตลอดทั้งปี” นายสุธีรพันธ์ กล่าว

ด้าน น.ส.ชลกร กล่าวเสริมว่า ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติ ทั้ง 7 ศูนย์ มีหน้าที่ประสานการปฏิบัติงานกับชุดกู้ภัยประจำอุทยานแห่งชาติ ดำเนินการฝึกซ้อมการกู้ชีพ กู้ภัย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่อุทยานแห่งชาติได้รับการสนับสนุนจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ เช่น รถกระบะกู้ชีพฉุกเฉินขับเคลื่อน 4 ล้อ และให้คำแนะนำในการฝึกซ้อมตามแผนเผชิญเหตุของอุทยานแห่งชาติ จำนวน 155 แห่ง เพื่อให้เกิดทักษะและเข้าใจขั้นตอนในการปฏิบัติงานรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉิน และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลวันหยุดยาว ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติจะร่วมกับอุทยานแห่งชาติจัดตั้งศูนย์ให้บริการ ดูแล อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและประชาชน ทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่ใกล้เคียง หรือในช่วงเกิดภัยธรรมชาติ อุทกภัย ต้นไม้ล้มขวางเส้นทางสัญจร เจ้าหน้าที่จะเข้าให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก อพยพคน นำอาหาร และเครื่องยังชีพไปส่งตามบ้านที่ประสบภัย สำหรับศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ที่รับผิดชอบนั้น มีอุทยานแห่งชาติในความรับผิดชอบ จำนวน 34 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ผ่านมาจึงมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุในลักษณะการบาดเจ็บที่เกิดจากการหลงป่า การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ/ผู้เสียชีวิต ออกจากพื้นที่ป่า ดังนั้น นักท่องเที่ยวจึงสามารถมั่นใจได้ว่า เมื่อท่านมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ท่านจะได้รับการบริการด้านความปลอดภัยเป็นอย่างดี หากเกิดกรณีได้รับบาดเจ็บ ท่านจะได้รับการช่วยเหลือดูแลเบื้องต้นตามมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างรวดเร็วรวมถึงการส่งต่อโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post