Digiqole ad

กฟผ. ร่วมกับลายกนก ยกสยาม ผลิตรายการเฉลิมพระเกียรติ ‘สืบสาน พระราชปณิธาน ในหลวงเพื่อปวงประชา’

 กฟผ. ร่วมกับลายกนก ยกสยาม ผลิตรายการเฉลิมพระเกียรติ ‘สืบสาน พระราชปณิธาน ในหลวงเพื่อปวงประชา’
Social sharing

Digiqole ad

กฟผ. ร่วมกับลายกนก ยกสยาม เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ผลิตรายการเฉลิมพระเกียรติ ‘สืบสาน พระราชปณิธาน ในหลวงเพื่อปวงประชา’

กฟผ. ร่วมกับ ลายกนก ยกสยาม เปิดตัวรายการเฉลิมพระเกียรติตอนพิเศษ “สืบสานพระราชปณิธาน ในหลวงเพื่อปวงประชา” ส่งเสริมความเข้าใจในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ และสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย…

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร่วมกับบริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด ผู้ผลิตรายการลายกนกยกสยาม ได้จัดงานเปิดตัวรายการเฉลิมพระเกียรติตอนพิเศษ “สืบสานพระราชปณิธาน ในหลวงเพื่อปวงประชา” เพื่อถ่ายทอดพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์สังคม และพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองแผ่นดินต่อจากองค์มหาราชที่ยิ่งใหญ่ ให้ประชาชนและเยาวชนได้ภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยผ่านการนำเสนอรายการตอนพิเศษใน ลายกนกยกสยาม 8 ตอน

โดยในงานแถลงข่าวมีการพูดคุยเสวนาถึงความเป็นมาและความร่วมมือครั้งสำคัญในการผลิตรายการตอนพิเศษครั้งนี้ ได้แก่ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อปนิวส์ดิจิตัล มีเดีย จำกัด, อาจารย์ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ (ที่ปรึกษาโครงการกิตติมศักดิ์)

จากนั้นเป็นการพูดคุยกับผู้ดำเนินรายการหลักของตอนพิเศษนี้ นำโดย นายกนก รัตน์วงศ์สกุล ร่วมด้วย นางสาวอุบลรัตน์ เถาว์น้อย และนางสาวนิธิตรา เชาว์พยัคฆ์ โดยแต่ละคนได้เล่าถึงความรู้สึกในการเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดและการเตรียมตัวข้อมูลในการถ่ายทำรายการครั้งนี้ โดยจะออกอากาศทั้งหมด 8 ตอน ประกอบไปด้วย

ตอนที่ 1 : พระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ร.๒) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นทั้งนักรบ นักปกครอง ศิลปิน กวีและช่าง ซึ่งได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามประณีตไว้เป็นมงคลแก่ชาติ และปรากฏพระเกียรติคุณแพร่หลายไปในนานาประเทศ จนได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก รัชสมัยของท่านถือเป็นยุคทองของวรรณคดี

ตอนที่ 2 : เลิศล้ำเศรษฐกิจ แนวคิดอารยะ วัฒนะสู่สากล (ร.๔) พระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ ๔ ที่ต่อประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์พระองค์แรกที่ทรงเริ่ม “พระราชวิเทโศบาย” เปิดประเทศคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตก ยอมรับวัฒนธรรมบางอย่างมาใช้ บางอย่างก็มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ทรงผูกราชสัมพันธมิตรกับนานามหาประเทศ ทรงมีสายพระเนตรสอดส่องการณ์ไกล เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระอัจฉริยะทางดาราศาสตร์ ทรงเป็น“พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช”หมายความว่า “พระมหาราชเจ้าผู้ทรงเปรียบแม้นเทวดา ทรงวิทยาภรณ์เป็นมหามงกุฎปกเกล้าปกกระหม่อมชาวสยาม”

ตอนที่ 3 : กษัตริย์นักปฎิบัติ สืบสาน รักษา ต่อยอด (ร.๑๐) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานมุ่งมั่นทรงเพื่อคนไทยทุกคน ท่านทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนมาโดยตลอด ดั่งพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอดให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดสัมฤทธิผลสู่พสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดินไทย ทรงให้ความสำคัญกับ “น้ำ” ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ในการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับการเกษตรผสมผสานการเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ศูนย์เรียนรู้ “โคก หนอง นา โมเดล” ประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชา โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ. เขื่อนวชิราลงกรณ นอกจากนี้ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข มูลนิธิกาญจนบารมี โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณ และยังมี โครงการจิตอาสา“เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสมัครสมานสามัคคี สร้างสรรค์ความดีเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ไม่หวังสิ่งตอบแทน

ตอนที่ 4 : ย้อนมองประวัติศาสตร์ กษัตริย์ผู้พัฒนาสยามประเทศ (ร.๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกระสาปน์สิทธิการ โรงกษาปณ์แห่งแรกของไทย ภายในพระบรมมหาราชวังบริเวณที่เคยเป็นโรง ทำเงินพดด้วงเดิม ด้านหน้าพระคลังมหาสมบัติ บริเวณมุมถนนใกล้กับทางออกประตูสุวรรณบริบาลด้านทิศตะวันออก และติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ ขับเคลื่อนด้วยแรงดันไอน้ำเป็นเครื่องแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ตอนที่ 5 : กษัตริย์ผู้มาก่อนกาล สายพระเนตรกว้างไกล (ร.๖) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสะท้อนให้เห็นถึงนำแนวคิดแบบอังกฤษมาประยุกต์เข้ากับความเป็นไทย นำศิลปะแบบตะวันตกมาผสมผสานเข้ากับศิลปวัฒนธรรมไทยของพระองค์ท่านการวางรากฐานประชาธิปไตย และความเท่าเทียม โมเดลการทดลองประชาธิปไตย จำลอง ดุสิตธานี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือกำเนิด กองเสือป่า มีลักษณะคล้ายทหารรักษาดินแดนของอังกฤษ (Territory Army) สนับสนุนการทำงานของทหารโดยเฉพาะในยามศึกสงคราม ทรงสถาปนาวชิราวุธวิทยาลัย โดยถอดแบบการศึกษามาจากอังกฤษ ปัจจุบันในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ได้ทรงสืบสาน ต่อยอด ด้วยการพระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธยให้แก่โรงเรียน วชิราวุธวิทยาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระพุทธศักราช ๒๔๖๖” ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัดของประเทศ

ตอนที่ 6 : พระมหาธีรราชเจ้า นักปราชญ์แห่งสยาม (ร.๖) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เพราะทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมประเภทต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเท่าที่รวบรวมได้ในปัจจุบันถึง ๑,๒๓๖ เรื่อง นอกจากนั้น ยังทรงบัญญัติศัพท์ และทรงตั้งนามสกุลพระราชทานมากกวำ ๖,๔๐๐ นามสกุลพระราชนิพนธ์ใน รัชกาลที่ ๖ “ เพลงสรรเสริญพระบารมี ” เป็นเพลงประจำพระมหากษัตริย์ ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามได้ใช้เพลงประโคมอย่างโบราณ เพื่อใช้เป็นเพลงถวายพระเกียรติUNESCO ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก

ตอนที่ 7 : แสงสว่างจากผืนดิน พระบารมีปกเกล้า ประชาธิปไตย (ร.๗) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้มีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ใช้ในราชการเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลและเป็นที่ประจักษ์จนปัจจุบัน สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน “เหมืองแม่เมาะ” กฟผ. มีพื้นที่บ่อเหมืองประมาณ 18,000 ไร่ มีปริมาณถ่านหินลิกไนต์สำรองทางธรณีวิทยา 1,088 ล้านตัน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พิสูจน์ให้เห็นว่าได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อกิจการพลังงาน ของประเทศที่มีการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์และถือเป็นต้นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ (จ.ลำปาง)กษัตริย์ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

ตอนที่ 8 : เลอตอ สืบสานปณิธาน โครงการหลวงสองแผ่นดิน (ร.๑๐) “ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ” ลำดับที่ ๓๙ ของมูลนิธิโครงการหลวง ก่อตั้งขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ โครงการหลวงเลอตอ” รอยต่อแห่ง ๒ ยุคสมัย และความสำเร็จจากพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นโครงการหลวงลำดับแรกของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ที่มีผลสัมฤทธิ์จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม จากพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของมูลนิธิโครงการหลวงของล้นเกล้า รัชกาลที่ ๙ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทย “เขื่อนภูมิพล เขื่อนพระราชา” โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ที่มีสายส่งเชื่อมโยงครอบคลุมและดำเนินการจ่ายไฟให้แก่จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ ทำให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนของพระองค์พ้นจากความทุกข์ยากลำบาก ทั้งนี้ยังมี “โครงการหลวงเลอตอ” รอยต่อแห่ง ๒ ยุคสมัย ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน โดยมี กฟผ. ยื่นมือเข้าไปสนับสนุนซึ่งได้ปรากฏผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้มาจนถึงปัจจุบัน

ร่วมตามติดรายการลายกนกยกสยามตอนพิเศษ “สืบสานพระราชปณิธาน ในหลวงเพื่อปวงประชา” ซึ่งมีทั้งหมด 8 ตอน ออกอากาศเดือนละ 1 ตอน เริ่มตอนแรก พระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ร.๒) วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคมนี้ เวลา 20.10-21.10 น. ทางสถานีโทรทัศน์ TOP NEWS-JKN 18 และชมสดผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทาง YouTube Facebook ของ TOPNEWS

Facebook Comments


Social sharing

Related post