Digiqole ad

ไต้หวัน…หลังวันเลือกตั้ง

 ไต้หวัน…หลังวันเลือกตั้ง
Social sharing

Digiqole ad

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติของไต้หวันเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2024  คณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของไต้หวัน (Central Election Commission: CEC) รายงานว่า มีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 69.8% จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 19.54 ล้านคน   ปรากฏว่านายไล่ ชิงเต๋อ หรือ “วิลเลียม ไล” วัย 64 ปี ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) กำชัยชนะด้วยคะแนนนำอยู่ที่ 5.58 ล้าน คะแนน หรือประมาณ 40.05% ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง     

ส่วนนายโหว โหย่วอี๋ จากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ได้รับเสียงสนับสนุน 4.67 ล้านคะแนน หรือ 33.49%   และนายโก เหวินเจ๋อ  จากพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ได้  3.69 ล้านคะแนน หรือเพียง 26.46%

แม้จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ DPP ได้ครองอำนาจต่อเนื่องสมัยที่ 3  แต่ 5.58 ล้านเสียงยังถือว่าห่างไกลจาก 8 ล้านเสียงที่ ไช่ อิงเหวิน เคยกวาดคะแนนเสียงมาได้อย่างถล่มทลายในปี 2020 ด้วยกระแสเรียกร้องเอกราช อธิปไตย  พร้อมโหนกระแสม็อบฮ่องกงที่กำลังขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่ จนสามารถครองเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อได้ในสมัยที่ 2          

     การหาเสียงของ ไช่ อิงเหวิน เมื่อ 4 ปีก่อนค่อนข้างร้อนแรงด้วยการประกาศสนับสนุนม็อบฮ่องกงที่ออกมาต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฮ่องกง   โดยบอกว่าไต้หวันจะจัดตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาช่วยเหลือชาวฮ่องกง ทั้งด้านที่อยู่ ที่กิน และอาชีพการงาน 

    แต่หลังจากม็อบฮ่องกงถูกปราบลงอย่างราบคาบ  แกนนำถูกจับดำเนินคดี  บางส่วนลี้ภัยไปผจญความยากลำบากนอกประเทศ  ไม่เคยปรากฏว่ารัฐบาลไทเปได้ให้การช่วยเหลือม็อบฮ่องกงตามที่เอ่ยปากหรือไม่

เสียงสนับสนุนที่ลดลงไปเกือบ 3 ล้านเสียงของ DPP อาจเนื่องมาจากเดิมนั้นไล่ ชิงเต๋อ มีจุดยืนในการประกาศเอกราชของไต้หวันเช่นเดียวกับไช่ อิงเหวิน  แต่ในการหาเสียงครั้งนี้ไล่ไม่พูดเรื่องการแยกตัวเพราะรู้ดีว่าชาวไต้หวันส่วนหนึ่งก็กลัวจะเกิดสงคราม  เขาจึงเน้นเรื่องการรักษาความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวันที่มีอยู่  เขาพูดเรื่องการพร้อมเจรจาเพื่อลดความขัดแย้ง  

หลังได้รับชัยชนะไล่กล่าวปราศรัยกับผู้ให้การสนับสนุนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าชาวไต้หวันยืนหยัดต่อระบอบประชาธิปไตย เราต้องแทนที่การปิดล้อมด้วยการแลกเปลี่ยน และแทนที่การเผชิญหน้าด้วยการเจรจา เพื่อบรรลุสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยการเจรจาต้องตั้งอยู่บนหลักความเสมอภาค และประชาธิปไตย 

 โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของรัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์ทันทีว่า  ผลการเลือกตั้งของไต้หวันไม่สามารถเป็นสิ่งชี้วัดทัศนคติของประชาชนส่วนใหญ่ได้  ไต้หวันคือ “ไต้หวันของจีน” โดยการเลือกตั้งนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์พื้นฐานและทิศทางการพัฒนาของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ จะไม่เปลี่ยนแปลงความปรารถนาร่วมของเพื่อนร่วมชาติทั่วช่องแคบไต้หวันในการกระชับสายสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และจะไม่ขัดขวางทิศทางการรวมชาติของจีน

                มีข้อสงสัยว่าเมื่อพรรค DPP ได้เป็นรัฐบาลต่อ  ความขัดแข้งระหว่างจีนกับไต้หวันโดยมีสหรัฐอเมริกาคอยแทรกแซงจะกลับมาคุกรุ่นรุนแรงให้เกิดการซ้อมรบใหญ่  ยิงจรวดข้ามเกาะไต้หวันและพัฒนาเป็นสงครามสนามที่ 3 เหมือน รัสเซียยูเครน และอิสราเอลปาเลสไตน์ หรือไม่

               เพราะแค่ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งไต้หวัน  รัฐบาลวอชิงตันที่รับรองนโยบายจีนเดียวและพูดมาตลอดว่าไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน  ได้ผ่านกฎหมาย “US National Defense Authorization Act” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการขายอาวุธและการฝึกอบรมทางทหารให้กับกองทัพไต้หวัน  ทั้งๆที่จีนคัดค้านและระบุว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองของจีน

              วันนี้บริษัทผลิตอาวุธที่หนุนรัฐบาลวอชิงตันคงเปิดแชมเปญฉลองกันไปแล้วที่จะได้ขายอาวุธให้รัฐบาลไต้หวันได้อีกอย่างน้อย 4 ปี แม้จะมีโอกาสเปิดศึกจริงน้อยมาก 

               นักวิจัยยุทธศาสตร์จีนท่านหนึ่งเชื่อว่า  ตราบใดที่ไต้หวันไม่ประกาศเอกราช  จีนก็จะไม่บุกไปทำสงคราม   เพราะถ้าจีนตั้งใจจะยกทัพบุกไต้หวันเพื่อควบรวมเป็นชาติเดียวกันโดยสมบูรณ์  จีนก็คงทำมานานแล้วโดยไม่รอมาถึง 75 ปีนับจากวันที่เจียง ไคเชก นำพรรคก๊กมินตั๋งหนีพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปตั้งรัฐบาลใหม่ที่เกาะไต้หวัน

            แม้ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนบัญญัติไว้ชัดเจนว่า  “ ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน การดำเนินการอันยิ่งใหญ่เพื่อให้ปิตุภูมิเป็นเอกภาพ เป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของประชาชนชาวจีนทั้งหมด รวมถึงพี่น้องชาติชาวไต้หวันด้วย” แต่ผู้นำจีนที่ผ่านมาก็ไม่เคยคิดจะใช้ความรุนแรงในการควบรวมจีน

          ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็พูดในวันรำลึก 130 ปี ชาตกาลเหมา เจ๋อตุง ว่า “จะรวมชาติกับไต้หวันโดยสันติ”

            ในอดีตสหประชาชาติโดยการหนุนหลังของสหรัฐอเมริกาเคยรับรองรัฐบาลไต้หวัน  แต่กว่า 50 ปีมาแล้วที่สหประชาชาติเปลี่ยนมารับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าคือ “จีนเดียว” ส่วนไต้หวันนั้นวันนี้เพียง 12 ประเทศเล็กๆที่ให้การรับรองว่าเป็นเอกราช

           เพราะหลังวันเลือกตั้งที่ไต้หวัน  สาธารณรัฐนาอูรูได้ประกาศรับรองหลักการจีนเดียว และยุติ ความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน โดยอ้างมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 2758 ซึ่งรับรองว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรัฐบาลผู้แทนจีนทั้งหมดโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงหนึ่งเดียว               

          ต้องยอมรับความจริงที่ว่า  คนจีนที่เกิดในไต้หวันอายุต่ำกว่า 75 ปีอาจจะปฏิเสธแผ่นดินใหญ่และเรียกตนเองว่าเป็น “คนไต้หวัน”ไม่ใช่ “คนจีน”  เช่นเดียวกับคนฮ่องกงส่วนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาชุมนุมต่อต้านจีนกฎระเบียบอันเข้มงวดของจีนแล้วเรียกตนเองว่า “คนฮ่องกง” ไม่ใช่ “คนจีน”  

          ในกรณีฮ่องกงรัฐบาลจีนก็ตอบผู้ที่เคยประท้วงต่อต้านอย่างนุ่มนวลว่าหากไม่ต้องการเป็น “คนจีน” ก็ยินดีให้ออกไปเป็นคนของชาติอื่น

           ในกรณีไต้หวัน  รัฐบาลจีนพยายามเอาใจคนที่เกิดบนเกาะไต้หวันด้วยการเสนอให้บัตรประชาชนคนจีน  ให้ไปทำงานบนแผ่นดินใหญ่  ส่งเสริมผู้ประกอบการเอกชนให้ทำการค้าการลงทุนกับเอกชนหรือวิสหกิจจีน

          8ปีภายใต้พรรค DPP เศรษฐกิจไต้หวันอ่อนแอลง  รายได้คนไต้หวันที่เคยดีกว่าคนจีนบนแผ่นดินใหญ่  จนเคยเป็นพื้นที่ที่คนจากอผ่นดินใหญ่อยากอพยบมาอยู่ด้วย  เหมือนกับที่เคยรู้สึกกับฮ่องกง  วันนี้กลายเป็นคนไต้หวันจำนวนไม่น้อยได้ย้ายไปทำงานที่แผ่นดินใหญ่  เพราะรายได้ดีกว่า  ทันสมัยกว่า  

           ว่ากันว่ารัฐบาลปักกิ่งดำเนินนโยบายใช้ทั้งไม่อ่อนและไม่แข็งทางเศรษฐกิจ  เพื่อให้ไต้หวันรู้ว่า

           ประชาธิปไตยแบบอเมริกันนั้นอดอยาก เป็นคนไร้บ้าน  กับประชาธิปไตยแบบไต้หวันที่หวั่นสงคราม  และประชาธิปไตยแบบจีนที่เติบโตและมุ่งหน้าหาความทันสมัย  สมควรจะเลือกอะไร 

          

Facebook Comments


Social sharing

Related post