
โอไมครอน…โอมายก๊อด ไวรัสกลายพันธุ์ทำฝันสลาย

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีอันเป็นช่วงเวลาที่ชาวโลกกำลังเตรียมตัวเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขทั้งคริสต์มาสและปีใหม่ หลังจากถูกโควิด-19 กดดันมาต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปี ในส่วนของคนไทยก็เตรียมวางแผนเที่ยวช่วงหน้าหนาว ผู้ประกอบการภาคบันเทิงก็เตรียมเปิดกิจการอีกครั้งในกลางเดือนมกราคม 2565ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ แต่พลันที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ออกข่าวเตือนเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่กลายพันธุ์อย่างน่ากลัวและเริ่มระบาดไปหลายประเทศ ได้กลายเป็นเรื่องช็อคโลก กลายเป็นข่าวร้ายที่กระแทกใจแบบตั้งรับแทบไม่ทัน
เดิมชาวโลกอาจจะมีความกังวัลใจอยู่บ้างเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งมีขึ้นๆลงๆเป็นปกติเป็นความเสี่ยงที่พอเข้าใจ แต่กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เคยเผชิญตัวกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เดลต้าที่มาเร็วมาแรงทำให้ผู้ติดเชื้อไว ออกอาการเร็ว รุนแรง และเสียชีวิตมาก ส่งผลให้นานาประเทศต้องใช้มาตรการเข้มข้นล็อคดาวน์ เคอร์ฟิว ปิดเมือง ปิดกั้นการเดินทางระหว่างประเทศ สั่งหยุดธุรกรรม สั่งWork From Home ส่งผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสต่อภาคธุรกิจ บริการ ระบบการผลิต การขนส่ง จนเริ่มจะคุ้นชินและพยายามปรับตัวให้อยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสได้อย่างปลอดภัยไม่เท่าไร กลับต้องมาเผชิญหน้ากับสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะร้ายกว่าเดิมอีกกี่เท่า
แพร่กระจายสกัดเดินทาง
ล่าสุดตรวจพบว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนกว่า 20 ประเทศ กระจายไปทั่วทั้ง ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บอตสวานา แคนาดา สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และทันทีที่WHO ออกคำเตือนได้มีอย่างน้อย 70 ประเทศและดินแดนที่ใช้มาตรการจำกัดการเดินทางทันที โดยเฉพาะการสั่งห้ามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศทวีปแอฟริกาเข้าเมือง ประกอบด้วย บอสวานา โมซัมบิก เอสวาดีนี นามิเบีย เลโซโท ซิมบับเว และแอฟริกาใต้
แม้ยังไม่ปรากฏว่ามีใครเสียชีวิตจากเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่แต่ผลกระทบที่เห็นชัดเจนและเกิดขึ้นแล้วคือ แผนการเดินทางท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลใหญ่ปลายปี 2564 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนในระยะยาวคือผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ยิ่งหากในช่วง 2 สัปดาห์ที่องค์การอนามัยโลกกำลังเฝ้าจับตาว่าจะมีการแพร่ระบาดมาก เจ็บป่วยรุนแรงมาก และเสียชีวิตมากหรือไม่ ในขณะที่วัคซีนที่มีอยู่อาจจะไม่สามารถรับมือได้ก็อาจจะพาให้โลกดำดิ่งสู่หายนะอีกครั้ง
WHO เผยแพร่เรื่องโอไมครอนว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ร้ายแรงในบางประเทศ แต่ความรุนแรงในการเจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิตยังต้องรอดูผลและประเมินกันอีกครั้ง เพราะยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ยังไม่รู้ว่าโอไมครอนสามารถหลบวัคซีนที่ฉีดได้แล้ว หรือคนที่เคยติดเชื้อแล้วมีภูกคุ้มกันได้หรือไม่อย่างไร
นายเตโวโดรส อัดฮาโนม ผู้อำนวยการใหญ่ WHOกล่าวว่า การปรากฏขึ้นของสายพันธุ์โอไมครอนที่มีการกลายพันธุ์สูงเป็นการย้ำเตือนว่าสถานการณ์ของโลกยังอันตรายและล่อแหลมเพียงใด ประเทศแอฟริกาใต้ และบอสวานาควรจะได้รับคำขอบคุณที่ตรวจพบ วิเคราะห์และรายงานเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้ ไม่ใช่ถูกกล่าวโทษ สายพันธุ์โอไมครอนแสดงให้เราเห็นว่าทำไมโลกจึงต้องการข้อตกลงใหม่เกี่ยวกับโรคระบาด เพราะระบบในปัจจุบันของเราไม่จูงใจให้ประเทศต่างๆเตือนกันและกันถึงภัยที่อาจมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
คำกล่าวของผู้อำนวยการใหญ่ WHO ทำให้นึกถึงตอนที่จีนตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วแจ้งข่าวต่อทั่วโลก จีนกลับกลายเป็นผู้ร้ายที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกเรียกว่า “ไวรัสอู่ฮั่น ไวรัสจีน” พร้อมโยนบาปว่า แล็บจีนทำเชื้อไวรัสรั่วไหล มีการปั่นกระแสสังคมจนกลายเป็นกระแสรังเกียจจีนและคนเอเชียถึงขั้นไล่ทำร้ายร่างกายและฆ่าคนเอเชียมาแล้วหลายราย
ญี่ปุ่น-อิสราเอลสั่งปิดประเทศ
ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นโดยนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ได้ออกประกาศระงับเข้าเมืองของชาวต่างชาติจากทุกประเทศซึ่งรวมถึงนักเดินทางเพื่อธุรกิจ และนักศึกษาต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้าญี่ปุ่นด้วย ทั้งๆที่ญี่ปุ่นปุ่นเพิ่งเริ่มผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคระบาดเพียงไม่กี่สัปดาห์ และเพิ่งเริ่มผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่น ส่วนพลเมืองญี่ปุ่นที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศจะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวในสถานที่กักตัวที่ได้รับการรับรอง
เช่นเดียวกับรัฐบาลอิสราเอลได้ประกาศปิดพรมแดนเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันนับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ด้วยเหตุผลทางด้านสาธารณสุขเพื่อลดความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน
ขณะที่รัฐบาลฮ่องกงใช้มาตรการเข้มข้นแบบไม่แคร์ชาติอื่นไม่กลัวกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวเหมือนเมืองสารขัณฑ์ นอกจาก 12 ประเทศในทวีปแอฟริกาไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าสู่ฮ่องกงแล้ว ยังห้ามผู้ที่มีประวัติเดินทางไปยังหลายประเทศในยุโรปรวมถึงออสเตรเลียที่ตรวจพบเชื้อโอไมครอนเดินทางเข้าฮ่องกงตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคมอีกด้วย เพื่อลดโอกาสที่เชื้อโอไมครอนจะระบาดสู่จีนแผ่นดินใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีนมั่นใจว่าวิธีการตรวจที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อ และยุทธศาสตร์คุมโควิดเป็นศูนย์จะสามารถสกัดการแพร่ระบาดในจีนได้
ไทยเชื่องช้าเสียดายเปิดประเทศ
สำหรับไทยเราที่เพิ่งแสดงความใจกล้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกโดยไม่ต้องกักตัวนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ช่วง 1 เดือนมีนักท่องเที่ยวต่างชาตินักเครื่องมาลงมากกว่า 128,000 คน เป็นที่อิจฉาของเพื่อนบ้านและอีกหลายประเทศที่เป็นเมืองท่องเที่ยว
ส่วนครม.สัญจรที่จังหวัดกระบี่ก็เพิ่งเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ปี 2565 เป็น “ปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย” ภายใต้แคมเปญ “Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters” โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)เพิ่งยิงโฆษณาชุดใหม่ออกไปทั่วโลกโดยมีเป้าหมายปี 2565 จะต้องสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 1.5 ล้านล้านบาท และเป้าหมายรายได้ในปี 2566 จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. หลังจากดำเนินนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน2564 พบว่าผลตอบรับดี ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) มากกว่า 3 แสนคนแล้ว ส่วนเป้าหมายในช่วง 6 เดือนไฮซีซั่นตั้งแต่ ตุลาคม2564-มีนาคม2565 ยังคงเป้าที่จำนวน 1 ล้านคน
ปี 2562 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3 ล้านล้านบาท โดย 2 ใน 3 เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากถึง 40 ล้านคน ขณะที่ปี 2564 รายได้รวมด้านการท่องเที่ยวเหลืออยู่เพียง 3 แสนล้านบาท หรือแค่ 10% ของรายได้รวมที่เคยทำได้
วัคซีน100ล้านโดสไม่พอต้านโอไมครอน
ก่อนจะปรากฏข่าวสายพันธุ์โอไมครอน รัฐบาลไทยกำลังรณรงค์เร่งระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบ 100 ล้านโดสภายในวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันพ่อแห่งชาติ โดยหมายมั่นปั้นมือจะใช้เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลในการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชน อีกทั้งเป็นการการันตีความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่อยากเชิญชวนให้มาเที่ยวไทย
แต่พลันที่โอไมครอนตรวจพบที่แฟริกาใต้และถูกแนะนำอย่างเป็นทางการโดย WHO เป้าหมายวัคซีน 100 ล้านโดสก็แทบหมดความหมายไม่ว่าจะเป็นเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 หรือบางคนได้รับเข็มที่ 3 ไปแล้วก็ตาม เนื่องจากยังไม่มียี่ห้อไหนที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับสายพันธุ์ใหม่อย่างโอไมครอน และกว่าจะพัฒนาวัคซีนตัวใหม่สำเร็จต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 100 วัน หรือประมาณไตรมาสแรกของปี 2565
ดังนั้นที่รัฐบาลไทยประกาศไว้ว่าปี 2565 ได้จัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 120 ล้านโดส เพื่อใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 นั้น กระทรวงสาธารณสุขก็จำเป็นต้องเร่งเจรจากันใหม่กับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนถึงการพัฒนาประสิทธิภาพวัคซีนรุ่นใหม่ที่จะออกมาสู้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ด้วยเช่นกัน
ช่วงที่เกิดสายพันธุ์เดลต้านั้น ประเทศที่ร่ำรวยหลายประเทศบอกว่า “การฉีดวัคซีนครบโดส” ไม่ได้แปลว่าครบ 2 เข็ม แต่หมายถึงได้ฉีดเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันมาสู้กับสายพันธุ์เดลต้าได้ โดยหลายประเทศในยุโรปเช่นฝรั่งเศส หรือออสเตรีย ได้ออกกฎบังคับฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือมิฉะนั้นก็ต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ก่อนเข้าใช้บริการในร้านอาหารหรือสถานที่ที่กำหนด บัดนี้เมื่อเกิดสายพันธุ์โอไมครอนตามหลังเดลต้ามาภายใน 6 เดือน อีกไม่นานบรรดาประเทศเหล่านั้นก็คงต้องบังคับให้พลเมืองไปยกแขนปักเข็มที่ 4 เพื่อกระตุ้นภูมิกันใหม่อีกรอบ
มนุษย์โลกโปรดทราบ! เราอยู่กับโควิด-19 มาแล้ว 2 ปีเต็ม หากจะต้องอยู่กับมันต่อไปอีกสัก 2-3ปี หรืออาจจะตลอดไปคงไม่มีใครเลือกได้