Digiqole ad

โลกสิ้นทน คนสิ้นใจ…อย่าให้เป็นลมหายใจ เฮือกสุดท้ายของโลก

 โลกสิ้นทน คนสิ้นใจ…อย่าให้เป็นลมหายใจ เฮือกสุดท้ายของโลก
Social sharing
Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 399 วันที่ 29 ก.ย.- 5 ต.ค.66

หน้า 1-3

โลกสิ้นทน

คนสิ้นใจ

อย่าให้เป็นลมหายใจ

เฮือกสุดท้ายของโลก

            ถึงวันนี้ต้องบแกว่า “โลก” ของเราบอบช้ำเยอะมาก หากเป็นคนก็ป่วยวิกฤติหนักเข้าขั้น “โคม่า” นอนอยู่ในห้องไอซียู ต้นเหตุสำคัญเลยก็มาจากน้ำมือของ “มนุษย์” นี่แหละ ที่สร้างปัญหาให้กับโลกใบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่อง “ชั้นบรรยากาศ” และ “อากาศ” ที่มีผลการวิจัยระบุนับวันจะเลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราสร้างมลพิษให้กับอากาศมากมายเหลือเกิน หากไม่ร่วมมือกันช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหา เตรียมนับวันถอยหลังเจอ “มหันต์ภัยอันหลวงของโลก” ได้เลย

โดยเฉพาะเรื่อง “ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่มากเกินไปจนทำลายชั้นบรรยากาศโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษย์ชาติ”

            ปฐมบทก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่อง “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” เอาไว้ว่าลักษณะทางกายภาพนั้นในสภาวะปกติจะเป็นแก๊สที่มีอยู่ทั่วไปในบรรยากาศ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส หนักกว่าอากาศ หากถูกอัดด้วยความดันและทำให้เย็นลง จะอยู่ในสถานะของเหลวและของแข็งได้ ถ้าอยู่ในรูปของเหลว จะเรียกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เหลว (Liquid carbon dioxide) ถ้าอยู่ในรูปของแข็งเป็นผลึกเย็น จะเรียกว่าน้ำแข็งแห้ง (Dry ice)

แก๊สนี้มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีพของทั้งมนุษย์ สัตว์ และพืช เป็นสารตั้งต้นที่พืชใช้ผลิตอาหารโดยกระบวนการสังเคราะห์แสง ในด้านอุตสาหกรรมนั้น คาร์บอนไดออกไซด์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน โอกาสการเกิดพิษของแก๊สชนิดนี้ ในการทำงานโดยปกติมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย อย่างไรก็ตามหากได้รับแก๊สนี้เข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้หายใจเร็ว ชีพจรเร็ว หัวใจเต้นเร็ว กดสมอง ซึม มึนงง สับสน หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้

แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก่อโรคได้ทางหนึ่งโดยการแทนที่ออกซิเจน (Asphyxiant) ทำให้ออกซิเจนในอากาศมีไม่พอ จึงเกิดพิษจากภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ (Hypoxia) ขึ้นได้ การที่มีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด (Hypercapnia) ไม่ว่าจะจากการขาดออกซิเจนหรือได้รับคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมากก็ตาม จะทำให้เลือดเป็นกรด (Acidosis) เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด กระตุ้นระบบหายใจให้หายใจเร็วขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว และกดสมอง สำหรับกลไกการก่อโรคในกรณีคาร์บอนไดออกไซด์เหลวกับน้ำแข็งแห้งนั้น จะก่ออันตรายจากความเย็นจัด ซึ่งสามารถกัดกร่อนเนื้อเยื่อผิวหนังส่วนที่สัมผัส ทำให้เกิดเนื้อตายได้

ทั้งนี้เมื่อสูดหายใจเอาแก๊สเข้าไป ในระยะแรกจะทำให้เกิดอาการหายใจเร็ว หายใจลึกขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเร็ว หากได้รับในปริมาณมากขึ้น จะเริ่มมีผลกดสมอง ทำให้ซึมลง ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ มึนงง สับสน การได้ยินลดลง และรบกวนการมองเห็น เนื่องจากสมองถูกกดการทำงาน ที่ผิวหนังจะเกิดหลอดเลือดขยายตัว เหงื่อออก กล้ามเนื้อสั่นกระตุก (Tremor) อาจพบมีคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียได้ บางรายอาจมีอาการคลั่ง (Panic) หากได้รับปริมาณสูงมากจะทำให้หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด อาการพิษจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์นี้ มักจะพบร่วมกับภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia) ได้เสมอ ซึ่งภาวะขาดออกซิเจน อาจนำไปสู่อาการอย่างอื่นๆ เช่น สมองตาย ไตเสื่อม ตาบอด ตามมาได้

ระดับคาร์บอนฯ พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

            BBC NEWS THAILAND ระบุว่า องค์การบริหารกิจการด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือโนอา (NOAA) แถลงผลการตรวจวัดล่าสุดของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก โดยพบว่าในปีที่ผ่านมา มีระดับความเข้มข้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนเป็น 421 ppm หรือ 421 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

 

ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับดังกล่าวนั้น มนุษย์ไม่เคยได้ประสบพบเห็นมาก่อน เนื่องจากเป็นระดับเดียวกับบรรยากาศโลกเมื่อ 4.1 – 4.5 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับสมัยไพลโอซีน (Pliocene epoch) ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่าปัจจุบันถึง 3.9 องศาเซลเซียส ทั้งยังมีระดับน้ำทะเลสูงกว่าทุกวันนี้ 5 – 25 เมตรทั้งนี้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 คงที่อยู่ในระดับ 280 ppm มาเป็นเวลานานหลายล้านปี แต่สถิติล่าสุดนั้นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีที่แล้วถึง 1.9 ppm และสูงกว่าระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงกว่า 50% ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นถ่านหิน น้ำมัน หรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทำให้เกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

โดย NASA อธิบายไว้ว่า ตั้งแต่การเริ่มขึ้นของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม กิจกรรมของมนุษย์ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้นถึง 50% ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นตามธรรมชาติในช่วง 20,000 ปีที่ผ่านมา ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้น คือปัจจัยหลักที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น สัมพันธ์กับปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกด้วย เช่น ไฟป่า หรือระดับน้ำทะเลที่จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก

ในปี 2501 ซึ่งเป็นปีแรกที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มเก็บข้อมูลปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ Mauna Loa ในเดือนที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด ก็อยู่ที่ 317.51 ppm เท่านั้น จนกระทั่ง 20 ปีก่อน ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงสุดถูกบันทึกไว้อยู่ที่ 375.93 ppm และในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว Mauna Loa Observatory ได้บันทึกปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ที่ 419.13 ppm ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปริมาณมีการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ท่ามกลางสถานการณ์ที่ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์สภาะอากาศก็ออกมาเรียกร้องให้โลกหันมาลดก๊าซมลพิษนี้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดย เจมส์ แฮนเซ่น (James Hansen) เคยเรียกร้องต่อสภาที่สหรัฐฯ ให้ลดปริมาณให้ต่ำกว่า 350 ppm ตั้งแต่ปี 2531

วิธีการใหม่กำจัดก๊าซคาร์บอนฯครั้งแรกในโลก

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่โลกของเราจะมีวิธีการใหม่ ในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในตัวการสร้างภาวะโลกร้อนหลังไคลม์เวิร์คส์ (Climeworks) บริษัทด้านสิ่งแวดล้อมสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ได้ออกมาประกาศความสำเร็จ ในการพัฒนาวิธีการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ และกักเก็บไว้ใต้ดินอย่างถาวรสำเร็จเป็นเจ้าแรกของโลก

โดยวิธีการที่ ไคลม์เวิร์คส์ ใช้ เป็นการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วยเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บอากาศโดยตรง เริ่มจากตัวเครื่องดักจับอากาศใช้พัดลมขนาดใหญ่ดูดอากาศผ่านตัวกรอง ซึ่งจะใช้ดักจับอนุภาคคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อตัวกรองเต็ม ก็จะปิดรับอากาศ แล้วเพิ่มอุณหภูมิตัวกรองให้สูงขึ้นถึง 100 องศาเซลเซียส จากนั้น จะใช้เทคโนโลยีของ บริษัท คาร์บฟิกซ์ (CarbFix) หนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกด้านการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นหิน นำคาร์บอนไดออกไซด์แปลงให้เป็นสารละลายด้วยน้ำ แล้วส่งไปตามท่อ เก็บไว้ใต้ดินที่ความลึกอย่างน้อย 800 เมตร

ด้วยกระบวนการนี้ คาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกิน จะถูกกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศโดยตรงและนำไปฝังไว้ใต้ดิน จากนั้นจะแข็งตัวกลายเป็นหินในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งกระบวนการนี้ผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยบริษัท ดีอีวี (DEV) บริษัทอิสระด้านการตรวจสอบว่าทำงานได้จริงเป็นที่เรียบร้อย

โดยเบื้องต้น ไคลม์เวิร์คส์ มีองค์กรยักษ์ใหญ่เข้ามาเป็นลูกค้ารายแรก ๆ ได้แก่ ไมโครซอฟต์ (Microsoft) บริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง, ชอปปิฟาย (Shopify) บริษัทด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และสไตรป์ (Stripe) บริษัทด้านการเงิน และไคลม์เวิร์คส์กำลังจะเปิดโรงงานกำจัดคาร์บอนแห่งที่ 2 ในประเทศไอซ์แลนด์ซึ่งจะช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกราว 36,000 เมตริกตันต่อปี

ทั้งนี้ ราคาสำหรับการกำจัดและจัดเก็บคาร์บอนของลูกค้าองค์กรในแต่ละราย ไม่ได้มีเปิดเผยสาธารณะ แต่ทางบริษัท ระบุคร่าว ๆ ว่า ต้นทุนเฉลี่ยในการกำจัดคาร์บอนอยู่ที่ประมาณ หลักหมื่นบาทต่อคาร์บอน 1 ตัน ขณะที่บริษัทยังเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมในการกำจัดคาร์บอน โดยมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 20 ยูโร หรือ 712 บาท ต่อเดือน สำหรับการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ 20 กิโลกรัม ไปจนถึง 20 ยูโร หรือ 8,218 บาท ซึ่งจะกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 80 กิโลกรัม

ภาวะโลกร้อนมีสาเหตุมาจากการที่โลกมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ส่วนหนึ่งเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติ จนมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศรายงานในปี 2021 มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 36,300 ล้านเมตริกตัน จึงทำให้บริษัททั่วโลกต้องตื่นตัวในการลดคาร์บอน ซึ่งเกี่ยวพันกับข้อกฏหมายด้านคาร์บอนเครดิตหรือจำนวนการปล่อยคาร์บอนของแต่ละบริษัท ในแต่ละปีอีกด้วย

            ไทยมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนฯ ปี ค.ศ.2050

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 ก.ย.66 โดย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนและร้ายแรงในปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลาผ่านมาได้มีโอกาสพบปะกับเกษตรกรของประเทศไทย และรับทราบโดยตรงถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไขปัญหาทันที ซึ่งไทยขอชื่นชมวาระเร่งด่วนของเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ให้ใกล้เคียงกับปี ค.ศ. 2050 มากที่สุด พร้อมนำเสนอแผนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน รวมถึงการเลิกใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2040 และเตรียมการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น ฉบับปรับปรุง (Nationally Determined Contributions : NDCs) สำหรับปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้งหมด
ไทยพยายามอย่างที่สุดที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งคำนึงถึงการดำเนินการตามกระบวนการภายใน การเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินและการสร้างขีดความสามารถ โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC COP ครั้งที่ 26 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญและมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 โดยเราได้เพิ่มเป้าหมายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) จาก 20% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งมีการดำเนินการที่มีผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาว โดยประเทศไทยได้ทำงานอย่างหนักเพื่อจะบรรลุภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้


รัฐบาลใช้เป้าหมายเหล่านี้ในการร่างแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง การเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการเตรียมการที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน
ไทยได้ดำเนินโครงการนำร่องโดยใช้แนวความคิดจากเกษตรกรรมยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประสบความสำเร็จพร้อมต่อยอดโครงการ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย
รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) สนับสนุนการใช้โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (net-metering) เพื่อจูงใจการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037
พร้อมกันนี้ ประเทศไทยยังได้ส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) อย่างแข็งขันผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันสามารถระดมเงินได้ในจำนวน 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกลไกนี้ ไทยจะออกพันธบัตรเชื่อมโยงกับความยั่งยืน กระตุ้นการเติบโตของพันธบัตรสีเขียว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่างๆ จะได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมาย SDG
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ล่าสุดได้จัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment) ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ และเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศให้แก่ทุกภาคส่วน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยยังคงเร่งดำเนินการต่อเนื่อง พร้อมมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะบรรลุเป้าหมายและเอาชนะวิกฤตการณ์นี้

     “ภาษีคาร์บอน”มาตรการใหม่ที่ธุรกิจไทยต้องรับมือ

        “ภาษีคาร์บอน” (Carbon Tax) คือ หนึ่งในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน ร่วมกับการผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2606

โดยรัฐบาลไทยและในอีกหลาย ๆ ประเทศ จะมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่สามารถก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (NO2) หรือไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ซึ่งเป็นก๊าซกลุ่มฟลูโอริเนต (F-Gases) ที่สามารถทำลายชั้นโอโซนได้ เป็นต้น

ในตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนโดยตรง แต่ทางรัฐบาลก็กำลังเร่งศึกษาแนวทางเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษี โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นปี พ.ศ. 2566 นี้ เพื่อเตรียมจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคพลังงานที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกสูงถึง 35% และรองลงมาคือภาคขนส่งทั้งรถยนต์ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ ที่ 32% ในขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคครัวเรือนจะอยู่ที่ 6% เท่านั้น

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1.การจัดเก็บภาษีทางตรง : โดยจะจัดเก็บจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิตสินค้า 2.การจัดเก็บภาษีทางอ้อมตาม : เป็นการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากการบริโภค อาทิ ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง หรือปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น (ที่มา : https://unicarriersthailand.com)

                       

        สหประชาชาติแนะแก้วิกฤติอากาศ

      “ActNow” เป็นโครงการรณรงค์ของสหประชาชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนในระดับบุคคล ได้แนะนำวิธีง่าย ๆ สำหรับการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วย 10 วิธีต่อไปนี้!

1.ประหยัดพลังงานที่บ้าน : การผลิตไฟฟ้าและความร้อนส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เราสามารถใช้พลังงานให้น้อยลงได้โดยการปรับระดับการทำความร้อนและความเย็นให้ต่ำลง เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED และเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ซักผ้าด้วยน้ำเย็น หรือตากผ้าแทนการใช้เครื่องอบผ้า

            2.เดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ : ถนนทั่วโลกแน่นขนัดไปด้วยยานพาหนะซึ่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลหรือเบนซินเป็นเชื้อเพลิง การเดินหรือขี่จักรยานแทนการขับรถจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพและความแข็งแรงอีกด้วย หากคุณต้องเดินทางไกล ลองเปลี่ยนมาโดยสารรถไฟหรือรถประจำทาง และติดรถไปกับผู้อื่นเมื่อทำได้

3.รับประทานผักให้มากขึ้น : แค่รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว และเมล็ดพืชมากขึ้น และลดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมให้น้อยลง คุณก็สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก โดยทั่วไปกระบวนการผลิตอาหารที่มาจากพืชจะสร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า อีกทั้งยังใช้พลังงาน ที่ดิน และน้ำน้อยกว่า

           4.เลือกวิธีเดินทาง : เครื่องบินใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมหาศาล และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก การนั่งเครื่องบินให้น้อยลงจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่เร็วที่สุดในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากทำได้ ให้คุณนัดพบกันในทางออนไลน์ ขึ้นรถไฟ หรือยกเลิกการเดินทางระยะไกลนั้นไปเลย

            5.รับประทานอาหารให้หมด : ทุกครั้งที่คุณทิ้งอาหาร คุณกำลังทิ้งทรัพยากรและพลังงานที่ใช้ในการเพาะปลูก/เลี้ยง ผลิต บรรจุ และขนส่งอาหารนั้น ๆ และอาหารที่บูดเน่าอยู่ในบ่อขยะก็จะปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรงมาก ดังนั้น รับประทานอาหารที่คุณซื้อมาให้หมดและส่วนที่เหลือให้หมักทำปุ๋ย

6.ลด ใช้ซ้ำ ซ่อมแซม และรีไซเคิล : อุปกรณ์ไฟฟ้า เสื้อผ้า และสินค้าอื่น ๆ ที่เราซื้อล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ณ จุดใดจุดหนึ่งของการผลิต ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ ไปจนถึงการผลิต และการขนส่งสินค้าสู่ตลาด คุณสามารถช่วยรักษาสภาพอากาศของเราด้วยการซื้อของให้น้อยลง ซื้อของมือสอง ซ่อมหากซ่อมได้ และรีไซเคิล

            7.เปลี่ยนแหล่งพลังงานในบ้าน : สอบถามบริษัทสาธารณูปโภคของคุณว่าพลังงานที่คุณใช้ในบ้านนั้นผลิตมาจากน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ ให้ลองเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ หรือติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตพลังงานให้บ้านของคุณ

            8.เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า : หากคุณวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ ลองเลือกดูรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งตอนนี้มีหลายรุ่นและราคาถูกลง แม้ว่าไฟฟ้าที่ใช้จะยังผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ แต่รถยนต์ไฟฟ้าก็ช่วยลดมลพิษทางอากาศและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้แก๊สหรือดีเซลอย่างมีนัยสำคัญ

9.เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : ทุกการใช้จ่ายของเราส่งผลกระทบต่อโลกทั้งสิ้น คุณมีอำนาจว่าจะเลือกสนับสนุนสินค้าและบริการใดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้คุณซื้ออาหารตามฤดูกาลที่ผลิตในท้องถิ่น เลือกผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบและมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเสีย

           10.เป็นกระบอกเสียง : เปล่งเสียงของคุณและชักชวนผู้อื่นให้ร่วมลงมือด้วยกัน นี่เป็นหนึ่งในวิธีที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ชักชวนเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เพื่อน และครอบครัวของคุณ บอกให้ธุรกิจต่าง ๆ รู้ว่าคุณต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่กล้าหาญและชัดเจน ตลอดจนเรียกร้องให้ผู้นำท้องถิ่นและระดับโลกดำเนินการในทันที

 

แนะวิธีง่ายลดคาร์บอนฯ

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุกกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ต่างก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ อาทิ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง การผลิตในภาคอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้า เมื่อความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามเป็นต้น ในชีวิตประจำวัน เราสามารถลดละการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไรบ้าง

  1.ร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว-ลดการเผาป่า : เพราะต้นไม้จะดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาปรุงเป็นอาหารต้นไม้ 1 ต้น จะเก็บก๊าซคาร์บอนอยู่ในเนื้อไม้ประมาณ 50% เช่น ถ้าปลูกไผ่รวก 1 ต้น แล้วเติบโตจนกระทั่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 130 เซนติเมตร ไผ่รวกต้นนี้จะมีปริมาณกักเก็บคาร์บอนได้ 7,146.25 กิโลกรัม การเผาป่า เผาพื้นที่เกษตร นอกจากจะสร้างมลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังทำลายป่าซึ่งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญอีกด้วย
 2.ลดขยะ-ลดก๊าซเรือนกระจก  : ขยะที่คัดแยกนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่ที่เหลือนำไปฝังกลบ โดยหลุมฝังกลบขยะ เป็นแหล่งกำเนินของก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพจะทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า
ลดใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่จำเป็น                                                                                                                                                                                                                                                       3.หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ : เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟฟ้า เบอร์ 5 บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรเลือกขนาดเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน หันมาใช้ไฟฟ้าผ่านพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด
 4.ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ตรวจสภาพรถอยู่เสมอ : การใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยเฉพาะรถเครื่องยนต์ดีเซล ปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 2.7 กิโลกรัม ต่อลิตร ขณะที่เครื่องยนต์เบนซินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ประมาณ 2.3 กิโลกรัมต่อลิตร ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวอาจเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าดูแลรักษาเครื่องยนต์ หรือหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน
    5.ร่วมมือประหยัดน้ำ และจัดการน้ำเสีย : ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ คือ ผลกระทบจากเอลนีโญ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต การหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าของน้ำ โดยใช้น้ำประปาเท่าที่จำเป็น อาทิ การปิดน้ำขณะฟอกสบู่ ตอนถูแชมพูขณะสระผม หรือตอนที่ถูสบู่ขณะล้างมือ ไม่เปิดน้ำทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์จะสามารถประหยัดน้ำไปคนละ 9 ลิตร ต่อ 1 นาที เพื่อสงวนทรัพยากรน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน นอกจากนี้ยังต้องร่วมบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการอุปโภคด้วย เพราะน้ำเสียก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ถ้าทุกครัวเรือนร่วมกันบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นก่อนปล่อยออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะจะสามารถช่วยเหลือสภาพแวดล้อมโดยรวม ประเทศไทยซึ่งถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องหันมาดูแลสภาพแวดล้อมอย่างจริงจัง ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ลดการอุปโภค บริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็นเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ให้เลวร้ายมากไปกว่านี้

(ภาพ : อินเทอร์เน็ต,https://www.orangeth.com,https://www.science.org)

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 399 วันที่ 29 กันยายน -ก.ย.- 5 ตุลาคม 2566

หน้า 1-3

โลกสิ้นทน

คนสิ้นใจ

อย่าให้เป็นลมหายใจ

เฮือกสุดท้ายของโลก

ลิ้งก์อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 399 วันที่ 29 กันยายน -ก.ย.- 5 ตุลาคม 2566

https://book.bangkok-today.com/books/ijoj/

(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

           

 

Facebook Comments

Related post