
โรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ จับมือฟินแลนด์ ยกระดับการเรียนการสอนปฐมวัยเทียบเท่าสากล

นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการอำนวยการ โรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมอนุบาลไปจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในฐานะ “โรงเรียนทางเลือก” ดำเนินการตามแนวทางการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ เน้นแนวทางจัดการเรียนการสอนที่ยึดธรรมชาติของผู้เรียนเป็นแนวทางในการบ่มเพาะจินตนาการและความสุขเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สู่การพัฒนาศักยภาพตัวเอง โดยจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่น การลงมือปฏิบัติจริง การสนับสนุนนักเรียนรายบุคคล เพื่อเสริมสร้างจินตนาการบนรากฐานแห่งความสุข ล่าสุดได้จัดกิจกรรม “Hello Finland” และต้อนรับ ฯพณฯ ยูวริ แยร์วิอะโฮ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือใช้หลักสูตร HEI Schools Teacher Toolkit (เฮย์สคูล ทีชเชอร์ ทูลคิท) ระหว่าง บุญเอนก มณีธรรม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ กับ มิลลา ก๊กโก
นางสาวกุลธิดา เปิดเผยว่า ตลอดเวลาตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ ในปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เรายังคงมุ่งจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพตามพัฒนาการของนักเรียน โดยพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีคุณค่าและมีความสุข โรงเรียนต้นกล้าจึงได้ยกระดับต่อยอดโดยนำหลักสูตรจากประเทศฟินแลนด์ซึ่งผ่านสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการเล่นที่สร้างเสริมทักษะต่างๆ โดยสอดแทรกวิชาการอย่างแนบเนียน มาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ลงนามร่วมมือกับ บริษัท เฮลซิงกิ อินเตอร์เนชั่นนอล สคูล กรุ๊ป ในรูปแบบของหลักสูตร HEI Schools Teacher Toolkit เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับสากล
“สำหรับรูปแบบของ HEI Schools Teacher Toolkit นี้ เป็นหลักสูตรปฐมวัยจากประเทศฟินแลนด์ที่โรงเรียน ต้นกล้า จ.เชียงใหม่ นำมาเพิ่มศักยภาพให้คุณครูในการจัดการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเข้าถึงสื่อการเรียนการสอน กิจกรรมต่างๆ ทั้งรายสัปดาห์และรายเดือน เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรนี้ยังมาพร้อมกับ Teacher’s Corner ที่จะช่วยให้ครูต้นกล้าเข้าถึงสื่อการสอนและการพัฒนาวิชาชีพ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรจากประเทศฟินแลนด์ นอกจากนี้ต้นกล้ายังริเริ่มการพัฒนาครูต้นแบบ จำนวน 3 คน ที่จะได้พัฒนาทักษะและกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบฟินแลนด์ออนไลน์ตลอดระยะเวลา 12 เดือนผ่าน HEI Schools Teacher Certificate เพื่อทักษะวิชาชีพของครู และความเข้มแข็งในการออกแบบการเล่นที่เปี่ยมไปด้วยความรู้และทักษะที่จำเป็นตามช่วงวัยของเด็กๆ อย่างมีความสุข” นางสาวกุลธิดา เล่าถึงความสำคัญของ HEI Schools Teacher Toolkit
ทั้งนี้ประธานกรรมการอำนวยการ โรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้นำหลักสูตรและแนวทางจัดการเรียนการสอนจากฟินแลนด์หลายแขนง อาทิ การเรียนรู้ผ่านการเล่น (Learn through play) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้ในระดับอนุบาลที่เปี่ยมไปด้วยการพัฒนาเด็กๆ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ภาษา อารมณ์และสังคม สร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ รวมทั้งยังสร้างมีจินตนาการใหม่ๆ ให้เด็กๆ ได้ไม่รู้จบ ซึ่งต้นกล้าได้ริเริ่มจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นมาเป็นระยะเวลา 12 ปีแล้ว การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Learn through experience) ถือเป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบองค์รวมที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ จากประสบการณ์รอบตัวพวกเขา (Phenomenon-Based Learning) เช่น ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นมาจากไหน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และจะแก้ไขด้วยวิธีใดได้บ้างเหล่านี้สามารถนำมาจัดกระบวนการเรียนการสอนได้หลากหลายวิชา อาทิ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคม, สิ่งแวดล้อม, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และงานช่าง ฯลฯ
“อีกหนึ่งความร่วมมือที่โรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ Positive Finland (โพสิทีฟ ฟินแลนด์) คือโปรแกรม See the Good from Positive Finland เน้นการรู้จักตัวเองและจุดแข็งด้านทักษะทางอารมณ์และสังคมของตัวเอง ผ่านการให้ข้อเสนอแนะ (Feedback) เชิงบวกของคุณครูอย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนและนอกห้องเรียนผ่านการสังเกตพฤติกรรมเชิงบวกของนักเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้ภาคภูมิใจในจุดเด่นของตัวเอง และสร้างการมองเห็นคุณค่าของตัวเอง (self-esteem) ที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการเติบโตของเด็ก” นางสาวกุลธิดา กล่าว
ภายหลังจากเยี่ยมชมกิจกรรมและผลงานของนักเรียน ฯพณฯ นายยูวริ แยร์วิอะโฮ กล่าวถึงความประทับใจว่า มีความสุขมาก เป็นครั้งแรกที่เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ และได้มาที่โรงเรียนต้นกล้า รู้สึกเยี่ยมมากเมื่อได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของที่นี่ อีกทั้งยังดีใจที่ได้พบเด็กๆ เมื่อเห็นพวกเขาสนุกกับการสร้างงานฝีมือของแต่ละคน การวาดภาพที่แตกต่างกัน รวมถึงโครงงานต่างๆ ที่สำคัญคือได้เห็นพวกเขา “เรียนรู้ผ่านการเล่นและผ่านปรากฏการณ์” คิดว่านี่คือส่วนที่ดีที่สุดของการได้พบกับเด็กๆ ในครั้งนี้ นับเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมากจริงๆ
ในมุมมองของตัวแทนนักเรียนก็ได้ร่วมเผยถึงความประทับใจเมื่อมาศึกษาในโรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ รวมถึงสิ่งที่อยากให้มีเพิ่มเติม เริ่มจาก “น้องยุ่น” เด็กชายกัลยวรรธน์ หงษ์ทอง อายุ 8 ปี กำลังศึกษาชั้นประถมปีที่ 2 เผยว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนดีมากครับ เพราะคุณครูสอนให้เราเรียนรู้และสนุกได้ไปพร้อมๆ กัน วิชาที่ผมชอบที่สุดคือวิชาพละศึกษา ยิ่งได้ไปเล่นที่ playground ก็ยิ่งสนุกที่สุด เพราะมีพื้นที่กว้าง แถมยังได้ฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรงด้วย และสิ่งที่อยากให้โรงเรียนเพิ่มเติมให้กับเด็กๆ คือ การเน้นให้อ่านหนังสือ อาจมีสติกเกอร์สะสมให้เด็กที่อ่านหนังสือเยอะๆ ก็ได้ครับ
ส่วน “น้องต้นหลิว” เด็กหญิงนภัสสร วรรัตน์กุล อายุ 10 ปี กำลังศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 กล่าวว่า การเรียนการสอนของที่นี่ เน้นให้เด็กๆ ลงมือทำในสิ่งที่เคยทำ ซึ่งวิชาที่ชอบที่สุด คือวิชาดนตรี เพราะชอบเล่นอูคูเล่เล่ อีกอย่างในห้องเรียน จำนวนนักเรียนต่อห้องก็ไม่เยอะมาก คุณครูเข้าถึงเด็กๆ ได้ทุกคน ส่วนสิ่งที่อยากให้โรงเรียนเพิ่มเติม คืออยากให้มีอุปกรณ์กีฬาหลากหลายกว่านี้ เด็กๆ จะได้เล่นกีฬาได้หลายประเภทยิ่งขึ้นค่ะ
ปิดท้ายที่ “น้องตี้” เด็กชายณพชภัทร์ วรรัตน์ชัยกุล อายุ 11 ปี กำลังศึกษาชั้นประถมปีที่ 5 เล่าด้วยน้ำเสียงสดใสว่า เรียนที่นี่สนุกและเข้าใจดีทุกวิชา ทำให้ไม่เครียด เพราะคุณครูค่อยๆ สอน ถ้านักเรียนยังติดหรือไม่เข้าใจตรงไหน ก็จะอธิบายจนกว่าทุกคนจะเข้าใจ ส่วนวิชาที่ชอบมากเป็นพิเศษคือวิทยาศาสตร์ ชอบตรงที่ได้ลงมือปฏิบัติพร้อมกับเพื่อนๆ ทำให้สนุกไม่น่าเบื่อ และหากถามว่าอยากให้โรงเรียนเพิ่มสิ่งใด เจ้าตัวบอกอยากให้มีคาบเรียนวิชาคอมพิวเตอร์มากขึ้น เพราะวิชา Coding ก็เป็นอีกหนึ่งวิชาที่สนุกมาก รวมถึงอยากให้โรงเรียนเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารโรงเรียนต้นกล้า เชียงใหม่ ย้ำถึงเป้าหมายของการบริหารโรงเรียนว่า มุ่งพัฒนาให้มีขีดความสามารถสอดคล้องกับมาตรฐานสากลทั้งในระบบปฏิบัติงาน มาตรฐานการปฏิบัติงาน และบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิชาการที่จะมุ่งให้เป็นไปตามบริบทสากลและเท่าทันอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผ่านการสร้างความร่วมมือทั้งกับองค์กรระดับชาติ และนานาชาติ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนบนเวทีวิชาการทั้งในและนอกประเทศ