
โควิด-19 รอดจากไวรัส แต่อาจอดตาย

เมื่อตอนต้นปีธนาคารโลก(World Bank) เคยประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่าจะขยายตัวประมาณ 3.4% และจะฟื้นตัวได้เต็มที่ในปี 2565 โดยจะขยายตัวได้ถึง 4.7%
แต่มาถึงตอนนี้เข้าสู่เดือนพฤษภาคม สถานการณ์เปลี่ยนไปมากเมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันพาประเทศไทยหลงทางเข้าสู่การระบาดของโควิด-19 รอบที่สาม โดยมียอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 2,000 คน เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 20 คน
การระบาดระลอกสามที่รุนแรงกว่าปี 2563 มีผลให้รัฐบาลต้องขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและคุมเข้ม “พื้นที่สีแดง” ปิดโรงเรียน ปิดสถานบริการคลับ บาร์ อาบอบนวด ฟิตเนส ฯลฯ รวมถึงห้ามนั่งกินอาหารหรือเครื่องดื่มในร้าน ซึ่งมีผลให้สถานประกอบการภายใต้คำสั่งต้องปิดชั่วคราวอีกครั้ง ผลที่ตามมาคือลูกจ้างนับพันนับหมื่นคนต้องขาดรายได้ ถูกลดค่าจ้าง หรืออาจต้องตกงานเพิ่มขึ้นอีก
ตอนปลายเดือนมีนาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทยยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในระดับ % ครั้นเข้าเดือนเมษายนศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 1.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.6%
ฆ่าตัวตายนับพัน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยเปิดเผยข้อมูลว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย เมื่อไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ในระดับ 78.9% ก็ถือว่าสูงแล้ว แต่พอปี 2563 เจอโควิด-19 มีการล็อคดาวน์ทั้งประเทศ แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการ แม้จะมีการจ่ายเงินเยียวยา แต่หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 2563 พุ่งขึ้นถึง 86.6%
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการสำรวจด้วยว่าคนไทยมีการออมต่ำ 5.8 ล้านครัวเรือนไทย หรือ 27.1% ของครัวเรือนทั้งประเทศไร้การออม อีก 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% มีการออมเงินก็จริง แต่พบว่า 38.9% มีพฤติกรรมใช้เงินก่อนออม 38.5% ออมไม่สม่ำเสมอ ที่เหลือ 22.6% มีพฤติกรรมออมก่อนใช้
ความเปราะบางทางการเงินของคนไทยเมื่อต้องเผชิญวิกฤติอย่างกระทันหัน ค้าขายไม่ได้ ตกงาน ขาดรายได้ หนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด คนส่วนหนึ่งไร้ทางออก คิดสั้นหนีปัญหา จึงเกิดปรากฏการณ์ว่าในปี 2563 คนไทยฆ่าตัวตายมากกว่า 1,000 คน
ในปี 2564 ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาก็ปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายมาเป็นระยะแล้ว ทั้งรมควัน ยิงตัวเอง แขวนคอ ฯลฯ ซึ่งหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อก็เป็นไปได้ว่าสถิติจะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา
ระลอกสามรุนแรง
โควิด-19 ระลอกสามในปี 2564 ดูท่าจะลดลงไม่ง่ายอย่างสองรอบแรก เพราะกระจายวงกว้าง ติดง่าย ตายเร็ว ผู้ป่วยหลายคนเสียชีวิตคาบ้านเช่นกรณีอาม่าสูงวัย บางรายเสียชีวิตคาห้องในคอนโดมิเนียม เพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เช่นนักกีฬาอี-สปอร์ต
แต่บางคนรักษาแล้วก็ยังไม่รอด เช่น “น้าค่อม” ศิลปินตลกที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ติดเชื้อโควิด-19หิ้วกระเป๋าขึ้นรถพยาบาลที่มารับถึงบ้าน ตอบไปก็ยังดีๆโบกไม้โบกมือกับคนในบ้าน แต่สุดท้ายต้องมาจบชีวิตอย่างเดียวดายโดยไม่ได้ร่ำลาญาติพี่น้อง สะท้อนว่าน่ากลัวและรุนแรงกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่ไข้หวัดธรรมดาอย่างที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณสุข เคยบอกกล่าวเอาไว้
ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 76,811 ราย หายป่วยแล้ว 46,795 ราย ยังรักษาอยู่ 29,680 ราย เสียชีวิต 336 ราย โดยช่วงปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมามีผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยวันละ 2,000 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 15-20 ราย
ลามเข้าสลัม วิ่งไล่แก้ปัญหา
เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น สัดส่วนการเสียชีวิตก็มากตามมา ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการซึ่งเจ้าตัวไม่รู้ตัว ไม่ได้รับการตรวจเชื้ออีกจำนวนมาก ช่วงที่ผ่านมาปรากฏภาพคนตายกลางตลาดสด ตายริมฟุตบาท นั่งตายคาปั๊มน้ำมัน มีเจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญู ปอเต๊กตึ้งสวมชุดป้องกันมาเก็บศพห่อมิดชิด สังคมไม่รู้ว่าบุคคลเหล่านั้นคือใครและเสียชีวิตเพราะอะไร ได้รับการชันสูตรศพหรือเผาเลย ยิ่งเป็นที่น่าหวาดกลัว
สถานการณ์ปัจจุบันโควิด-19 ได้ลามเข้าชุมชนแออัดหลายแห่งในเขตกทม. อย่างคลองเตย ดินแดง ปทุมวัน ดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนนับแสนที่มีโอกาสแพร่เชื้อในวงกว้างและยากต่อการควบคุม
ข้อเท็จจริงคือกทม. มีชุมชนแออัดมากถึง 641 ชุมชน เมื่อพิจารณาจากการบริหารงานของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งวิ่งไล่ตามแก้ปัญหามากกว่าจะทำงานเชิงรุกวางแผนสกัดยับยั้งตั้งแต่เนิ่นๆแล้ว ให้น่าเป็นกังวลว่าควบคุมโควิด-19 ได้หรือไม่
กลไกพิกลพิการ
ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของผู้ประกอบการภาคธุกิจ และประชาชนที่ทำมาหาเช้ากินค่ำในสถานการณ์วิกฤติของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส “ข้าราชการประจำ” และ “นักการเมือง” ในสภาดูเหมือนจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เพราะกินเงินเดือนประจำแถมทำงานน้อยลงตามนโยบาย work from home
มิหนำซ้ำหน่วยงานราชการส่วนใหญ่ยังถือโอกาสลดเวลาทำงานโดยอัตโนมัติ โดยปิดบริการแค่ 15.00 น. แต่พอ 14.30 น. ก็ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ตั้งป้ายกั้นประตูเตรียมกลับบ้านแล้ว หรือบางหน่วยงานที่เคยเปิดบริการเสาร์-อาทิตย์ ตามห้างสรรพสินค้าก็ยกเลิกบริการ ทั้งหลายทั้งปวงคืออ้างโควิด-19
ด้านรถโดยสารประจำทางที่คนจนเมืองต้องใช้บริการก็ถือโอกาสลดเที่ยววิ่งโดยอ้างคนใช้บริการน้อย ผู้โดยสารจึงต้องรอรถนานกว่าเดิม และเบียดกว่าเดิม บางสายวิ่งยาวไม่ยอมแวะรับผู้โดยสารก็มี
การรณรงค์ให้ภาคเอกชน work from home เป็นการลดความเสี่ยงการแพ่ระบาด แต่การปล่อยให้ภาคราชกรและรัฐวิสาหกิจถือโอกาสให้บริการปะชาชนน้อยลงในยามวิกฤติคือซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ถ้าผู้นำคิดกลับกันสถานการ์เช่นนี้ควรจะเพิ่มบริการเป็นพิเศษ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
เศรษฐกิจไทยฟื้นแบบ K
เป็นที่ประจักษ์ว่าโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ประเทศไทยกำลังเผชิญการระบาดระลอกสาม บางประเทศไปถึงระลอกสี่ แต่บางประเทศอย่างเช่นสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ระบาดเป็นประเทศแรกแล้วสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว เศรษฐกิจจีนเริ่มกลับมาฟื้นตัว หรืออย่างเวียดนามที่มีการติดเชื้อสะสมเพียง 3,000 คน ทั้งสองประเทศถูกจับตามองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วในรูปตัว V หมายถึงฟื้นตัวพร้อมกันทั้งระบบ
สำหรับประเทศไทยที่ในปี 2563 คาดว่ามีการปิดกิจการลอยแพ ลดคนเลิกจ้างมากถึง 6 ล้านคน ส่วนนักศึกษาจบใหม่ขาดโอกาสหางานทำกลายเป็นบัณฑิตเตะฝุ่นประมาณ 1.3 ล้านคน คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในรูปตัว K
ความหมายคือจะมีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว และกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวหรือแย่ลงอีกเรื่อยๆ เช่นเดียวกับตัว K ที่มีทั้งเส้นทแยงขึ้น และทแยงลง
เราจะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจกลุ่มค้าปลีก ร้าน 7-11 ห้างแมคโคร โลตัส บิ๊กซี ห้างเซ็นทรัล แม้จะดูว่าคนไม่พลุกพล่านเหมือนเดิมแต่ก็ยังมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ เช่นเดียวกับกลุ่มโรงพยาบาล เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ถือเป็นปีทองทางธุรกิจ
แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่เคยหากินกับนักท่องเที่ยว ยังอยู่ในสถานะก้นเหวตราบนานเท่าที่ประเทศไทยยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ ซึ่งนั่นหมายถึงธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวพันกับการจ้างงานอีกนับแสนนับล้านคน
ประชาชนและรากหญ้าวันนี้หนี้สินพอกพูน ลูกจ้างภาคบริการตกงานมากมาย หรือรายได้ลดลง ชั่วโมงทำงานลดลง แม้รัฐบาลจะพยายามบรรเทาความเดือดร้อนด้วยเงินเยียวยา ออกโครงการคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า แต่ก็เป็นเพียงเศษกระดูกที่ไม่พอยาไส้หรือแก้ไขความเดือดร้อน
โควิด-19 คือหายนะของชนชั้นล่างที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง