Digiqole ad

โควิด-19 คร่าชีวิตสุดยอดนักร้องลูกทุ่ง “แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์” เจ้าของเพลงฮิต “แห่ขันหมาก” และ “หิ้วกระเป๋า”

 โควิด-19 คร่าชีวิตสุดยอดนักร้องลูกทุ่ง “แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์” เจ้าของเพลงฮิต “แห่ขันหมาก” และ “หิ้วกระเป๋า”
Social sharing

Digiqole ad

คนสนิทของอดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง “แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์” เปิดเผยว่า “แสงสุรีย์” ในวัย 68 ปี ได้เสียชีวิตวันนี้ วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 13.00 น. หลังจากติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งในวันพรุ่งนี้ วันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2564 ทางทีมปฏิบัติการเฉพาะทาง มูลนิธิร่วมกตัญญู จะไปรับศพมาณาปนกิจ ณ วัดบางพลีใหญ่กลาง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564  “ไทด์-เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์” นักแสดงหนุ่มจิตอาสา ได้เข้าเยี่ยม “แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์” หลังจากที่ได้ทราบข่าวว่ามีอาการป่วยหนัก ซึ่งไทด์ได้เปิดใจในขณะนั้นกับ TNN ว่า อาการตอนนี้ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา เพราะล่าสุดปอดติดเชื้อ เชื้อลงที่ปอดหมดแล้ว อาการความดั่นต่ำ ลดลงมา 30-40 เอง และเกล็ดเลือดต่ำด้วย ซึ่งด้านคุณหมอเองได้ถามว่า ถ้าหากหัวใจไม่รับยาแล้ว หัวใจเต้นช้าลง จะให้ทำยังไง ให้กระตุ้นด้วยไฟฟ้าขึ้นมาไหม ซึ่งตนได้บอกไปว่าอย่าทำแกเลย ถ้าเกิดแกจะไป ก็ให้แกไป

“ฉะนั้นที่ไปเยี่ยม ก็ไม่รู้ว่าทางโรงพยาบาล บอกว่าไม่มีเชื้อโควิด ตอนช่วงประมาณ 11.30 น. ก็ไปเยี่ยมแกตามปกติ แต่ตอนประมาณบ่ายสามโมง ได้โทรมาแจ้งว่า ตรวจเชื้ออย่างละเอียดแล้วทางแกติดโควิด ที่ลงที่ปอดคือมีเชื้อโควิดด้วย ตอนนี้หายใจเองไม่ได้ ถ้าเอาเครื่องช่วยหายใจออกทางแกก็ไป ซึ่งตัวไทด์เองจะต้องไปตรวจ เดี๋ยวพรุ่งนี้ต้องไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากนั้นอีกประมาณ 2-3 วันจะ Swab หาเชื้อ และเราป้องกันอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ไปสัมผัสไปอะไร แค่ยืนข้างๆ เตียงเท่านั้นเอง”

สำหรับประวัติของ แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์  เป็นนักร้องลูกทุ่งชายที่มีน้ำเสียงไพเราะเพราะพริ้งอีกคนหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่ง เส้นทางการขึ้นมาเป็นนักร้องของเขานั้น มีความแตกต่างจากนักร้องลูกทุ่งรุ่นเดียวกันและรุ่นก่อนหน้านั้นอยู่มาก เพราะเขามีผลงานเพลงโด่งดังขึ้นมาโดยที่ไม่เคยเป็นนักร้องอยู่กับวงดนตรีลูกทุ่งวงใด ๆ เลย โดย แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ โด่งดังมาจากผลงานเพลงแรกที่เขาบันทึกเสียงคือ “แห่ขันหมาก” และหลังจากนั้นก็ผลิตผลงานเพลงที่ไพเราะกินใจออกมามากมายหลายเพลง

ปัจจุบัน แม้ความนิยมจะตกต่ำไปตามกาลเวลา แต่แสงสุรีย์ ที่อยู่ในวงการมานานหลายสิบปี ก็ยังคงตระเวณร้องเพลงตามที่ได้รับการว่าจ้างด้วยน้ำเสียงที่ยังคงไพเราะเหมือนเช่นสมัยเข้าวงการใหม่ ๆ

แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ มีชื่อจริงว่า เฉลียว ไกอ่ำ เกิดวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 ที่บ้านเลขที่ 156 หมู่ 13 ตำบลกำปัง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา จากฐานะที่ยากจน และพ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เขาจบการศึกษาแค่ประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านจาน ต.คำบัว อ.โนนไทย แสงสุรีย์ เป็นคนที่ชอบการร้องเพลงลูกทุ่งอย่างมาก และก็ได้เข้าสู่เวทีการประกวดในเขตจังหวัดบ้านเกิดมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้น ป.2 และประกวดเรื่อยมา ซึ่งก็ชนะบ้างแพ้บ้างเป็นธรรมดา

หลังจบการศึกษา เมื่อประมาณอายุ 15 ปี แสงสุรีย์ หิ้วกระเป๋าเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ และน้าสาวได้ฝากฝังให้เขาได้เข้าทำงานที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ แถวสุขุมวิท ในตำแหน่งล้างจาน 3 ปีหลังจากนั้นก็ขยับขึ้นมาทำในตำแหน่งพ่อครัวอาหารฝรั่ง และเขาทำหน้าที่นี้อยู่นานถึง 10 ปี

ระหว่างนั้นเขาก็ตระเวนประกวดร้องเพลงตามเวทีเล็ก ๆ ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งก็ชนะบ้างแพ้บ้าง มาวันหนึ่ง แสงสุรีย์ ได้เข้าประกวดการร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ขยะสังคม” ที่มี สรพงษ์ ชาตรี แสดงนำ และมีสายัณห์ สัญญา เป็นผู้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งคราวนี้ แสงสุรีย์ ได้รับชัยชนะ และเพื่อนที่มาร่วมประกวดด้วยกัน ได้พาเขาไปพบ ครูสัมฤทธิ์ รุ่งโรจน์ครูเพลงตาพิการ เพื่อให้ปั้นแสงสุรีย์ เป็นนักร้อง

เมื่อพบกัน ครูสัมฤทธิ์ บอกว่าถ้าอยากจะเป็นนักร้อง ก็จะขายเพลงให้เพลงละ 600 บาท ซึ่งแสงสุรีย์ก็ตกลงซื้อทันที 2 เพลง จากนั้นครูสัมฤทธิ์ก็กลับไปแต่งเพลงมาให้เขา 2 เพลง ก่อนจะพาลูกศิษย์คนใหม่ไปเข้าห้องอัดเสียง โดยไปขอแทรกคิวเวลาห้องอัด 2 ชั่วโมง เพื่อผลิตผลงานที่จะพลิกชีวิตของกุ๊กที่รักการร้องเพลงลูกทุ่ง

2 เพลงที่ว่านั้นก็คือ แห่ขันหมาก และ น่าอร่อย โดยใจความตอนหนึ่งของเพลง แห่ขันหมาก มีอยู่ว่า “ส่วน แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ไม่มีรถขี่” ก็เท่ากับว่า ครูสัมฤทธิ์ ตั้งชื่อให้กับลูกศิษย์คนใหม่ไปพร้อมกับเพลง ๆ นี้เลยทีเดียว

หลัง 2 เพลงของแสงสุรีย์ ถูกนำออกเผยแพร่ตามสถานีวิทยุ ก็ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของเหล่าบรรดาแฟนเพลง จึงมีนายทุนเสนอทำวงดนตรี แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ให้เพื่อทำการเดินสาย ครูสัมฤทธิ์จึงแต่งเพลงให้แสงสุรีย์อีก 4 เพลง สำหรับใช้ในการแสดงที่หน้าเวที และแสงสุรีย์ ก็ออกเดินสายในฐานะหัวหน้าวงโดยที่เขามีเพลงอยู่แค่ 6 เพลงเท่านั้น ซึ่งเพลงที่ตามมาที่หลังอีก 4 เพลงต่างก็ได้รับความนิยมจากบรรดาแฟนเพลงอย่างมากเช่นกัน จากนั้นจึงค่อย ๆ ทยอยผลิตผลงานเพลงตามมาสมทบอีกมาก แต่โดยหลักแล้วผลงานเพลงของแสงสุรีย์ยังคงเป็นเพลงที่แต่งขึ้นโดยครูสัมฤทธิ์

ในการแสดงครั้งหนึ่ง วงแสงสุรีย์สามารถเก็บค่าผ่านประตูได้เป็นหลักล้านบาท แม้จะเก็บแค่คนละ 20 บาท ขณะที่ผู้ชมก็มารอกันตั้งแต่บ่าย 3 โมง ขณะที่วงดนตรีเปิดการแสดงในช่วงเย็น วงแสงสุรีย์ ออกเดินสายระหว่างปี 2521-2524 ก่อนจะปิดวงไป เมื่อความนิยมเริ่มลดน้อยถอยลง

ที่มา : วิกิพีเดีย/TNN/อินเทอร์เน็ต

Facebook Comments


Social sharing

Related post