Digiqole ad

โกดังพลุระเบิดในพื้นที่ความมั่นคง สรุปใครมั่นคง? ใครปลอดภัย?

 โกดังพลุระเบิดในพื้นที่ความมั่นคง สรุปใครมั่นคง? ใครปลอดภัย?
Social sharing
Digiqole ad
โศกนาฏกรรมที่มูโนะครั้งนี้ คือการเปิดโปงให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของ ‘กิจกรรมสีเทา’ ที่ซุกซ่อนใต้พรม ในเมืองชายแดนและพื้นที่ความมั่นคงสูง
 เพียง 4 วันก่อนเหตุการณ์ที่มูโนะนราธิวาส เกิดเหตุคล้ายกันที่ดอยสะเก็ดเชียงใหม่ ถึงเวลาหรือยัง ทำให้ปัญหาพลุระเบิดจบในรุ่นเรา! ผ่าน 4 ข้อเสนอเบื้องต้น
เหตุโกดังพลุระเบิด ที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เมื่อ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ได้เพียงสะเทือนต่อจิตใจประชาชนในพื้นที่และประชาชนทั่วประเทศ แต่ยังสะเทือนปัญหาสีเทาๆ ที่พยายามซุกซ่อนอยู่ใต้พรมมานาน
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 3 ส.ค. พรรคก้าวไกลโดย รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ และ ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ จึงเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
โกดังพลุคือ ‘ระเบิดเวลา’ มาตั้งกลางชุมชนได้อย่างไร?
รอมฎอนระบุว่า โศกนาฏกรรมที่มูโนะครั้งนี้ คือการเปิดโปงให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของ ‘กิจกรรมสีเทา’ ที่ซุกซ่อนใต้พรม ในเมืองชายแดนและพื้นที่ความมั่นคงสูง
จากการเดินทางไปพื้นที่ พบว่าประทัดในโกดังที่มูโนะ เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน เข้ามาในประเทศผ่านทางแหลมฉบัง เมื่อตรวจสอบบ้านผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุดเพียง 8 เดือน พบว่าอยู่ติดกับโกดัง ทั้งที่หลักเกณฑ์โกดังเก็บสิ่งของควรอยู่ห่างจากที่พักอาศัยหรือบ้านเรือนประชาชน ขณะเดียวกัน สภ.มูโนะ ก็อยู่ห่างจากพื้นที่โกดังเพียง 700 เมตรเท่านั้น เจ้าหน้าที่จะไม่ทราบเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีคือ ตลาดมูโนะเป็นตลาดชายแดน เป็นจุดยุทธศาสตร์ของธุรกิจสีเทาที่อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ระบบราชการ เครือข่ายธุรกิจและผู้มีอิทธิพล เนื่องจากเป็นช่องทางขนของหนีภาษี โดยธุรกิจสีเทามี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทเทาขาว คือสินค้าอุปโภคบริโภค และประเภทเทาดำ คือยาเสพติดสิ่งผิดกฎหมาย
จึงขอตั้งคำถามว่า โกดังพลุซึ่งเปรียบเหมือนระเบิดเวลานั้น มาตั้งอยู่กลางชุมชนได้อย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้เห็นได้อย่างไร ปัญหาการอนุญาต การควบคุม และการกำกับดูแลตามกรอบกฎหมายต่างๆ เป็นอย่างไร และในเหตุการณ์นี้ ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง เพราะตอนนี้คนในพื้นที่กังวลว่าจุดจบของคดีอาจมีความไม่ชอบมาพากลและอาจไม่สามารถสาวหาผู้รับผิดชอบได้ครบถ้วน
 ‘ดูวิรายกัง’ ส่วยพัวพันหน่วยงานรัฐและนักการเมือง
รอมฎอน ยังกล่าวถึง ‘ดูวิรายกัง’ หรือ เงินส่วยเงินสินบน ที่ข้อมูลในพื้นที่ระบุว่ามีหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้องรับผลประโยชน์ไม่น้อยกว่า 20 หน่วยงาน รวมถึงส่วยนักการเมือง ซึ่งตนพบว่าประชาชนในพื้นที่มีความอึดอัด 2 ชั้น คือ อึดอัดต่อผลกระทบเฉพาะหน้า และอึดอัดต่อการเปิดเผยเรื่องราวที่อยู่ใต้พรมต่อคนนอกพื้นที่
สำหรับโจทย์ที่สำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องรับมือในระยะยาว คือจะฟื้นฟูเมืองมูโนะได้อย่างไร ทั้งบ้านเรือน ตลาด วิถีชีวิต นอกจากนั้น ปัญหาคือพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ความมั่นคงสูง แต่ประชาชนกลับมีความไว้วางใจต่ออำนาจรัฐอย่างจำกัด จึงขอตั้งคำถามว่าเหตุใดชีวิตของผู้คนธรรมดาจึงไม่ได้รับการดูแลขนาดนี้ กฎอัยการศึกจะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่สามารถคุ้มครองเรื่องพื้นฐานได้ ภายใต้มาตรการความมั่นคงและกำลังพลมากมายนั้น เป็นความมั่นคงของใคร และเป็นความปลอดภัยของใครกันแน่
4 ข้อเสนอ จบปัญหาพลุระเบิดในรุ่นเรา
ด้าน ณัฐพล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เพียง 4 วันก่อนเหตุการณ์ที่มูโนะ เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยสาเหตุมาจากไฟฟ้าลัดวงจร สะเก็ดไฟกระเด็นไปโดนกองประทัดเกิดเหตุระเบิดลุกไหม้ โดยเกิดที่สถานประกอบการไม่ใช่โรงงานพลุ มีผู้บาดเจ็บแต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตพลุหรือสารเคมีต่างๆ มีหลายฉบับ แต่การกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายนั้น ควรเป็นอย่างไร
ตนมีข้อเสนอเบื้องต้น 4 ข้อ ได้แก่
(1) ปรับปรุงกฎหมาย โดยขอฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน ปรับบทลงโทษกรณีไม่มีการขอใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งเดิมโทษคือจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท ขอให้ปรับให้สูงขึ้น ให้ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
(2) การกำกับดูแล ทุกวันนี้ผู้ให้อนุญาตคือเจ้าหน้าที่ในท้องที่ ได้แก่ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ โดยใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี แต่การตรวจสอบปีละ 1 ครั้งในวันขออนุญาตนั้น ทำให้ไม่สามารถทราบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างปีได้เลย
(3) กำหนดหน่วยงานเพื่อผลัดกันเข้าไปตรวจสอบพื้นที่เป็นระยะและเป็นระบบ เช่น ทุก 3 เดือน
(4) ใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบช่วยในการตรวจสอบสารเคมีวัตถุอันตราย ตั้งแต่ต้นทางการนำเข้า การขนส่ง บันทึกและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าบริเวณชุมชนที่อยู่อาศัย มีสถานที่ที่อาจก่ออันตรายหรือไม่ ท้ายที่สุดเพื่อให้ปัญหาพลุระเบิดเช่นนี้ มันจบในรุ่นของเรา
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments

Related post