Digiqole ad

‘แม่โพสพ’ สะอื้น! กับ ‘จักรวาลข้าวไทย’

 ‘แม่โพสพ’ สะอื้น! กับ ‘จักรวาลข้าวไทย’
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๒ ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗

สกู๊ปปก

‘แม่โพสพ’ สะอื้น!

จาก ‘แม่โพสพ’

สู่จักรวาลข้าวไทย

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” คงจะเป็นสำนวนที่นำมาใช้กับสถานการณ์ของรัฐบาลในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวเชียวแหละ เพราะเรื่องอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติยังไม่ทันเงียบดี ก็มีงอกงามจากกรณีข้าวในโครงการรับจำนำที่เก็บไว้ในโกดังนานถึง 10 ปี กลายเป็นวาระแห่งชาติไปอีก 1 เรื่อง ซึ่งต้องหาทางออกและการแก้ไขที่ดีกับทุก ๆ ฝ่าย แต่บางกอกทูเดย์จะขอนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องข้าวไทยผ่าน “แม่โพสพ” ในด้านวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีของข้าวไทย ทั้งด้านบวกและด้านลบ (เพื่อปรับปรุงแก้ไข) กันดีกว่า

            ประวัติ : เปิดตำนาน “แม่โพสพ”

“แม่โพสพ” ตามสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า เทวดาประจำพืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งปวง มวลมนุษยชาติเชื่อถือและกราบไหว้บูชามาตั้งแต่ครั้งโบราณของชาวไทย ลาว และละแวกลุ่มน้ำเจ้าพระยา บูชาเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เพาะปลูกตามฤดูกาล โดยจะทำพิธีบูชาแม่โพสพด้วยอาหาร มีข้าว กล้วย อ้อย เป็นต้น นี่ยกตัวอย่าง จริง ๆ มากกว่านั้นเห็นมั้ยที่ตั้งอยู่นั้นเยอะเลย กล่าวไว้ว่าพระพรหมทรงแบ่งภาคส่วนหนึ่งลงมาเป็นพระไพสร เหตุด้วยว่าเพราะตบะอันแก่กล้าเต็มไปด้วยบารมีถึงขั้นสูงสุดของประไลยโกฐิดาบสคือฤาษี จึงทำให้อาสนะของพระพรหมเบื้องบนสวรรค์ถึงกับร้อนอาสขึ้นมา ทันใดนั้นเองพระพรหมจึงทรงตรวจตราดูบนโลกมนุษย์ว่ามีเหตุใดให้พระองค์ช่วยเหลือเหล่ามนุษย์ได้บ้าง และทรงมองเห็นพระดาบสนามประไลยโกฐิได้บำเพ็ญตบะด้วยความมุ่งมั่นแต่ต้องหิวโหย อดอยากเพราะขาดอาหารอยู่ในชายป่าริมแม่น้ำ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์จึงแบ่งภาคส่วนหนึ่งลงมาเป็นพระไพสร ได้เนรมิตบันดาลให้เกิดฝนตกทั่วบริเวณของอาศรม (อาศรมคือที่พักของฤาษี)

 

 

ภาพ : lazada

ต่อมาเมื่อฝนตกแล้วก็ซาลง พระดาบสได้พบกับเมล็ดข้าวสาลีโปรยทั่วบริเวณพื้นดินที่มากับลมและฝน มาตกอยู่พื้นดินรอบอาศรมของฤาษี พอฝนซา (ฝนสะ) พอฝนสะเรียบร้อยแล้ว พระดาบสได้พบเมล็ดข้าวสาลีบนพื้นดินและงอกเติบโตขึ้นเป็นรวงข้าวสุกเหลืองอร่ามทั่วบริเวณอาศรมนั้น พระดาบสมองดูแล้วยังไม่แน่ใจว่าจะกินได้หรือเปล่า แต่หอมแน่นอน พอสุกแล้วก็นั่งเข้าฌานนิ่งอยู่ร่มไม้นี้ ถ้าหากว่านก หนู ปู ปลา มากินเมล็ดข้าวนี้ได้ มนุษย์ต้องกินได้แน่นอน ฤาษีคิดอย่างนี้ นั่งตบะคอยดู พอดีฝูงนกกระจอกบินมาเก็บข้าวสาลีที่ขึ้นนั้นกิน ดังนั้นเองพระดาบสก็คิดว่ามนุษย์ต้องกินได้แน่ จึงเก็บเกี่ยวรวงข้าวมารับประทานและได้นำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน

นี่เป็นตำนานนะ บางส่วนเก็บให้นกกินต่อไป คือเก็บไม่หมด พระดาบสได้ดูแลรดน้ำต้นข้าวสาลีอย่างสม่ำเสมอและได้แบ่งเมล็ดพันธุ์ไปให้ชาวบ้านนำไปเพาะปลูกจนมีข้าวสาลีมากมายในหมู่บ้านใกล้ ๆ และที่อยู่ห่างไกลออกไปบริเวณชายป่านั้น ทำให้ชาวบ้านพ้นจากความอดอยากดังเช่นอดีตที่ผ่านมา นี่คือประวัติความเป็นมาของแม่โพสพ

ประไลยโกฐิดาบสจึงบอกชาวบ้านเหล่านั้นให้บูชาบวงสรวงแม่โพสพ พระไพสรและเคารพบูชากันเหมือนเรากำลังปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้ ที่พระแม่เป็นผู้มอบข้าวปลาอาหารให้แก่พวกตนและเหล่ามวลมนุษย์สืบต่อไปจนปัจจุบัน  (ที่มา : มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน)

พิธีกรรม : การสมโภช “แม่โพสพ”

กระทรวงวัฒนธรรมได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการสมโภชแม่โพสพเป็นภูมิปัญญาและพิธีกรรมที่ได้รับการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนานของชาวนาในจังหวัดพัทลุง จัดเป็นภูมิปัญญาสั่งสมมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในอดีตแต่ละครอบครัวจะประกอบพิธีกรรมเป็นเฉพาะครอบครัว แต่ปัจจุบันมีการรวมตัวกันเป็นงานประเพณีหมู่บ้าน หรือชุมชนโดยการเชิญหมอทำขวัญข้าวที่เคารพนับถือ หรือคนเฒ่าคนแก่ในตระกูลหรือหมู่บ้านมาเป็นผู้ทำพิธี ในสมัยโบราณส่วนใหญ่ผู้นำตระกูล หรือผู้นำครอบครัวสามารถทำพิธีได้ เนื่องจากมีตำราสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ต่อมาเมื่อระบบการทำนาเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำเพื่อยังชีพเป็นการทำเชิงพาณิชย์มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิตทำให้ภูมิปัญญานี้ลดน้อยลง ปัจจุบันจึงเกิดการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่โดยมีการสืบทอดและประยุกต์ให้เข้ากับปัจจุบัน แต่ยังคงภูมิปัญญาสืบทอดกับเยาวชนรับทราบรุ่นต่อไป

ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพสะท้อนที่ปรากฏในประเพณีสมโภชแม่โพสพ “ความเชื่อกับสังคมมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่ความเชื่อเป็นตัวกำหนดพิธีการและการถือปฏิบัติต่างๆ” สังคมและความเชื่อมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง เพราะความเชื่อของคนในสังคมจะเป็นตัวกำหนดพิธีกรรมและการถือปฏิบัติต่าง ๆ ของบุคคลในสังคมนั้น ๆ ความเชื่อจึงเปรียบเสมือนต้นกำเนิดแห่งพิธีกรรมและการถือปฏิบัติทั้งปวง

ประเพณี : ลงแขกเกี่ยวข้าว

ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวนี้เป็นประเพณีไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ ที่มีการช่วยเหลือซึ่่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่บ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมและการขับร้องเพลงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ ผู้ที่ประกอบอาชีพทำนา ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีที่เจ้าของนาจะบอกเพื่อนบ้านให่รู้ว่าจะเกี่ยวข้าวเมื่อใด และเมื่อถึงวันที่กำหนดเจ้าของนาก็จะต้องปักธงที่ที่นาของตนเพื่อให้เพื่อน บ้านหรือแขกที่รู้จะได้มาช่วยเกี่ยวได้ถูกต้องทั้งนี้เจ้าของนาจะต้องจัด เตรียมอาหาร คาวหวาน สุรา บุหรี่ น้ำดื่ม ไว้รองรับด้วย

ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม

และในการขณะเกี่ยวข้าวก็จะมีการละเล่นร้องเพลงเกี่ยวข้องระหว่างหนุ่มสาว เป็นที่สนุกสนานและเพลิดเพลินเพื่อคลายความเหน็ดเหนื่อยได้ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีไทยอีกอย่างหนึ่งของชาวนาไทย ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากในสภาพปัจจุบัน ชาวอีสานส่วนใหญ่ จะเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี ดังนั้นในการทำกิจการ งานใดๆ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะทุกคนต่างมีน้ำใจให้กันและกัน ช่วยงานกันคนละมือละไม้ใช้เวลาไม่นานงานก็สำเร็จลุล่วงไปได้สมปรารถนา การทำงานแบบนี้ คนอีสานเรียกว่า “ลงแขก” การลงแขกในภาคอีสานก็คือการบอกกล่าวขอแรงบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย ให้มาช่วยทำงานนั่นเอง งานที่จะลงแขกกันนั้นอาจจะเป็นงานส่วนรวมหรืองานส่วนตัวก็ได้

ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม

สำหรับงานส่วนตัวนั้นส่วนมากมักจะเป็นงานใหญ่สุดกำลังคนในครอบครัวจะทำได้ หรืออาจจะเป็นงานหนักแต่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว จึงต้องบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยเหลือเพื่อให้งานเสร็จสิ้นไป งานที่มักลงแขก เช่น การลงแขกทำนา ซึ่งมีการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกตีข้าว (นวดข้าว) เป็นต้นนอกจากจะมีประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวแล้ว ยังมีประเพณีลงแขกทำนา ด้วยการทำนาเป็นงานหนักและในรอบปีหนึ่งต้องใช้ แรงงานมากถึง 4 วาระด้วยกันคือช่วงการดำนา การเกี่ยว การตี และเอาข้าวขึ้นเล้า ดังนั้นการทำงาน ทุกๆ ระยะ ชาวนาส่วนมากจะใช้วิธีการลงแขก อาศัยแรงจากญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยกัน เมื่อลงแขกในนาตนเสร็จก็เปลี่ยนไปลงแขกนาของคนอื่นๆ ต่อไปเป็นการตอบแทน ซึ่งเป็น การแสดงน้ำใจที่มีให้กันและกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันลูกหลานคนหนุ่มสาวไปทำงานต่างถิ่น ปล่อยให้พ่อแม่และคนแก่อยู่บ้าน การลงแขกจึงยังมีความจำเป็นสำหรับชาวนา

เพลง : ละเล่นเกี่ยวข้าว
กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ข้อมูลเพลงเกี่ยวข้าวไว้ว่า เป็นเพลงที่สำหรับร้องกันในขณะลงแขกเกี่ยวข้าว อันเป็นอาชีพสำคัญของประชาชนชาวไทยอย่างหนึ่ง เพื่อให้ความสนุกสนานกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการงานและเชื่อมความสามัคคีในระหว่างพื้นบ้านอาชีพเดียวกันเพลงเกี่ยวข้าวจะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าวจะเล่นกันเมื่อหยุดจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเหมือนกับเพลงเต้นกำรำเคียวกล่าวคือจะเล่นเพลงเกี่ยวข้าวก่อนที่จะเล่นเพลงเต้นกำรำเคียวไม่มีกำหนดเวลาในการเล่น คือ เล่นกันจนเหนื่อยก็เลิกเนื้อความของเพลงมักจะเกี่ยวกับ การไต่ถามถึงการทำนาผสมผสานการเกี้ยวพาราสีกัน  เพลงเกี่ยวข้าวบางแห่งเรียก  “เพลงกำ”  เวลาแสดงมือหนึ่งถือเคียว อีกมือหนึ่งกำข้าวไว้ ย่ำเท้าใช้ลีลาไปตามจังหวะเพลง ใช้ตบมือให้จังหวะพร้อม ๆ กัน บางครั้งใช้กลองและฉิ่งเข้าร่วมด้วย

ภาพ : digitalschool.club

โอกาสที่แสดง : เพลงเกี่ยวข้าวจะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว จะเล่นกันเมื่อหยุดจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เหมือนกับเพลงเต้นกำรำเคียว กล่าวคือ จะเล่นเพลงเกี่ยวข้าวก่อนที่จะเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว  และไม่มีกำหนดเวลาในการเล่น คือ เล่นกันจนเหนื่อยก็เลิก สถานที่แสดง : เล่นกันในท้องนาที่เกี่ยวข้าวหรือลานดินกว้าง ๆ ในท้องนาแต่ในปัจจุบันร้องและเล่นกันบนเวที จัดเป็น 2 ฝ่าย ชาย – หญิง ว่าแก้กันเป็นคู่ จำนวนผู้แสดง : ผู้เล่นเพลงเกี่ยวข้าวเป็นชาวบ้านมีอาชีพทำนา  โดยไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น  จะเล่นกี่คนก็ได้  ยิ่งมากยิ่งสนุก  โดยมีพ่อเพลงแม่เพลงและลูกคู่รวมทั้งผู้ชมด้วย

เกษตรกรรม : การเจริญเติบโตของข้าว

การเจริญเติบโตของข้าว แบ่งได้ดังนี้

1.การเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ แบ่งออกเป็น –ระยะกล้า เริ่มตั้งแต่เมล็ดข้าวเริ่มงอกจนถึงมีใบ 5-6 ใบ หรือประมาณ 20 วัน หลังหว่าน และ -ระยะแตกกอ เริ่มตั้งแต่มีการปักดำข้าวจนถึงข้าวสร้างรวงอ่อน หรือประมาณ 30-50 วันหลังปักดำ  2.การเจริญเติบโตทางระบบสืบพันธุ์ จะใช้เวลาประมาณ 30-50 วัน หลังข้าวแตกกอสูงสุด หรือแตกกอเต็มที่ แบ่งออกเป็น –ระยะสร้างรวงอ่อน เป็นช่วงที่ข้าวมีการเจริญเติบโตเต็มที่ ลำต้นจะเปลี่ยนจากลักษณะแบนเป็นต้นกลม –ระยะตั้งท้อง ระยะนี้จะเห็นต้นข้าวมีลักษณะกลมพองขึ้นอย่างชัดเจน และมีใบธงปรากฎให้เห็น ระยะออกดอกและผสมพันธุ์ เป็นช่วงที่ข้าวจะส่งรวงพ้นจากกาบใบ ดอกข้าวจะบานและละอองเกษรตัวผู้จะร่วงลงบนเกสรตัวเมีย 3.การเจริญเติบโตทางเมล็ด เริ่มจากการผสมเกสรของดอกข้าว ภายในเมล็ดข้าวมีลักษณะคล้ายน้ำนมแล้วจะเปลี่ยนเป็นแป้งแข็งจนกระทั่งสุกแก่ ในระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 30-35 วัน (ม.แม่โจ้)

ภาพ : kasetmodern

 

            สายพันธุ์ : ประเภทข้าว

            ประเภทของข้าว แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

           1.ข้าวหอมมะลิ มีถิ่นกำเนิดในไทย มีลักษณะกลิ่นหอมคล้ายใบเตย พันธุ์ที่นิยมปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ  และ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา  2. ข้าวเหนียว พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ดีส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ข้าวเหนียวพันธุ์ กข. 6 , ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์, ข้าวเหนียวเขี้ยวงู และ ข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำ  3. ข้าวขาว ข้าวขาวที่ปลูกกันอยู่โดยทั่วไปมีหลายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวเหลืองประทิวชุมพร, ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ ( เจ๊กเชย)  ซึ่งข้าวสายพันธุ์นี้มีชื่อเสียงมายาวนานตั้งแต่ต้นรัชสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นข้าวที่หุงขึ้นหม้อ ไม่แข็งกระด้าง ที่สำคัญไม่บูดง่าย และไม่ยุบตัวเมื่อราดแกง สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้นและขนมได้ดี  4. ข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวพวกนี้จะเป็นข้าวที่ยังไม่ได้ผ่านการขัดสี ข้าวที่ได้จึงยังคงคุณค่าของวิตามินและกากใยไว้สูง ได้แก่ ข้าวกล้อง หรือ ข้าวซ้อมมือ หรือ ข้าวแดง, ข้าวไรซ์เบอร์รี และ ข้าวมันปู

ภาพ : baimianghealthyshop

            โภชนาการ : ประโยชน์ข้าว

“ข้าว” ประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  อธิบายไว้ดังนี้

            คาร์โบไฮเดรต : ข้าวทุกชนิดมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบร้อยละ 70-80 ซึ่งเป็นแป้งเกือบทั้งหมด มีน้ำตาลซูโครส (sucrose) และน้ำตาลเดกซ์ทริน (dextrin) เล็กน้อย โปรตีน : มีโปรตีนไม่มาก อยู่ระหว่างร้อยละ 7-8 ในข้าวเจ้า และร้อยละ 11-12 ในข้าวสาลี ไขมัน : ในข้าวกล้องมีปริมาณไขมันสูงกว่าข้าวชนิดอื่น ๆ เพราะข้าวกล้องยังมีส่วนของรำข้าวอยู่ แต่เมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่น ๆ แล้ว ข้าวไม่ใช่แหล่งที่อุดมด้วยสารอาหารจำพวกไขมัน ใยอาหาร : ข้าวกล้องและให้ใยอาหารสูงกว่าข้าวขาว โดยทั่วไปข้าวกล้องจะมีสีน้ำตาลอ่อน คนไทยสมัยก่อนใช้วิธีซ้อม หรือ ตำด้วยมือ จึงเรียกว่า “ข้าวซ้อมมือ” เป็นข้าวกล้องอย่างหนึ่ง มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง มีใยอาหาร ไขมันและวิตามินบี 1 มากกว่าข้าวชนิดอื่น วิตามินและแร่ธาตุ : ในข้าวกล้องจะมีวิตามินและแร่ธาตุสูงกว่าข้าวขาว ที่เห็นได้ชัด คือ ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุแมกนีเซียม ไนอาซิน และวิตามินบี 1

            หมายเหตุ : ควรกินให้พอดี เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ยึดหลักการกินแบ่งส่วน 2 1 1 คึอ ผัก 2 ข้าว 1 เนื้อสัตว์หรือไข่ 1 เพื่อการกินที่ครบถ้วนใน 1 จาน 1 มื้อ

ภาพ : paphungkornrice

            การตลาด : อุปสรรคการขายข้าวไทย

            “ข้าวหอมมะลิ” เกรดพรีเมี่ยมราคาสูงของไทย ครองความนิยมและเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทุกมุมโลก ในฐานะข้าวที่ดีที่สุดของโลก ที่มีจุดเด่นสำคัญคือ เมล็ดข้าวเรียวยาว มันวาว สวยงาม กลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายใบเตย เวลาเคี้ยวเมล็ดข้าวจะได้กลิ่นหอม รสนุ่มละมุนลิ้น อร่อยมากกว่าข้าวอื่นๆ ข้าวหอมมะลิ นำไปปลูกที่ไหนก็ไม่ดีเท่ากับปลูกในไทย

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดโลกคือ ราคาข้าวไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง  การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาความผันผวนจากค่าเงินบาทของไทย ล้วนมีผลกระทบต่อการส่งออกทั้งสิ้น นอกจากนี้ ข้าวไทยเผชิญหน้ากับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เช่น การแข่งขันเชิงรุกของข้าวบาสมาติของอินเดีย การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมหลากหลายชนิดของสหรัฐอเมริกาเพื่อป้อนตลาดในประเทศทดแทนการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทย

รวมทั้งการพัฒนาการผลิตข้าวหอมของประเทศคู่แข่งในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา ที่มีราคาถูกกว่าแต่คุณภาพใกล้เคียงข้าวหอมมะลิของไทย ที่ผ่านมา ข้าวหอมจากเวียดนามเริ่มเบียดตลาดข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดเอเชียตะวันออกและตลาดสหรัฐอเมริกา ขณะที่ข้าวหอมจากกัมพูชาสามารถทดแทนข้าวไทยในตลาดยุโรปได้มากขึ้น (ที่มา : technologychaoban.com)

บทวิเคราะห์ : ชาวนาไทย “จนเพิ่ม หนี้ท่วม”

เมื่อช่วงปีที่แล้ว รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาเปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ “10 ปี ชาวนาไทย : จนเพิ่ม หนี้ท่วม” ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชาวนาไทยต้องเผชิญกับหลากหลายปัญหาและอุปสรรคทำให้ยังตกอยู่ในสภาพความยากจน โดยชาวนาไทยมีรายได้และเงินคงเหลือลดลง แต่ต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มสูงขึ้น

ภาพ : ม.หอการค้าไทย

 

โดยขอสรุปได้ 10 ดังนี้ 1.ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำ ไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่) 2.ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ขณะที่เวียดนามคือชาวนาอาชีพ จากชาวนาไทยส่วนใหญ่คิดแค่ 2 เรื่องคือ ราคากับผลผลิต ไม่ค่อยคิดเรื่องการปรับลดต้นทุน แต่ชาวนาเวียดนามคิดในเรื่อง “3 ลด 3 เพิ่ม” 3.ปลดหนี้โดยขายที่นา ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้ 4.แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เวียดนามทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี ไทยทำได้ 1-2 ครั้ง 5.เงินวิจัยน้อย ไทยใส่เงิน 200 ล้านบาทในการวิจัย แต่เวียดนามใส่เงิน 3 พันล้านบาท ส่วนอินเดีย จีน และญี่ปุ่นใส่เงินวิจัยข้าวมากกว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี 6.นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งข้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง 7.ยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลง ราคาขายลดลง 8.ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปรักสุขภาพมากขึ้นและข้าวหอม และนุ่ม 9.เอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง (ความหอม ความนุ่ม) มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ 10.การควบคุมการกระจายพันธุ์ข้าว การกระจายพันธุ์ข้าวเพื่อควบคุมคุณภาพข้าวเวียดนามทำได้ดีกว่าไทย

ภาพ : ม.หอการค้าไทย

“ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้ แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เงินวิจัยน้อย ไทยใส่เงิน 200 ล้านบาทในการวิจัย แต่เวียดนามใส่เงิน 3 พันล้านบาท นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งข้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปรักสุขภาพมากขึ้น และข้าวหอม และนุ่ม โดยเอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ” (ที่มา : amarintv)

ความทรงจำ : (ที่เลวร้าย) แม่โพสพสะอื้นไห้

จากบทความของ รศ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงคดีจำนำข้าวเอาไว้ว่า  เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2557 มีจุดเริ่มต้นจากการที่พรรคเพื่อไทยในขณะนั้นใช้เป็นนโยบายหาเสียงการแข่งขันกับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปปี 2554 ภายหลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จึงเริ่มดำเนินการโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดแบบไม่มีโคต้า โดยให้ราคาสูงถึงเกรียนละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด

ภาพ : Thai PBS

อย่างไรก็ตาม โครงการจำนำข้าวกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจากทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าข้าว นักวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ นักการเมืองฝ่านค้าน รวมถึงสื่อมวลชนว่าจะส่งผลกระทบต่องบประมาณในการบริหารประเทศ และอาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อการเป็นผู้นำการค้าข้าวอันดับหนึ่งของไทยในตลาดโลก ยิ่งไปกว่านั้นระหว่างปี พ.ศ. 2556 – 2557 โครงการจำนำข้าวกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีโดยกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่เคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โครงการจำนำข้าวจึงถูกตรวจสอบอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นถึงกรณีการทุจริตและความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่รัฐ จนนำไปสู่การฟ้องร้องคดีอาญา คดีแพ่งและคดีทางปกครอง ซึ่งมีนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจเกี่ยวข้องจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้รวมถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 48 ปี

            คดีจำนำข้าวจึงเป็นบทเรียนให้แก่บรรดานักการเมือง ข้าราชการ และบรรดาบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการของรัฐ ได้เป็นอย่างดีในประเด็นการเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ ทั้งยังกลายเป็นบรรทัดฐานและแนวปฏิบัติราชการ ที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้และความพร้อมรับผิดของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๒ ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗

สกู๊ปปก

‘แม่โพสพ’ สะอื้น!

จาก ‘แม่โพสพ’

สู่จักรวาลข้าวไทย

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๒ ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗

https://book.bangkok-today.com/books/bgix/#p=1

(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post