Digiqole ad

 ‘แบงก์ชาติ’ เพื่อ(คน)ไทย เมื่อเส้นแบ่งถูกล้ำเส้น

  ‘แบงก์ชาติ’ เพื่อ(คน)ไทย เมื่อเส้นแบ่งถูกล้ำเส้น
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๑ ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๗

หน้า 2-3 สกู๊ปปก

 ‘แบงก์ชาติ’

เพื่อ(คน)ไทย

แบงก์ชาตินี้ใครครอง

เมื่อเส้นแบ่งถูกล้ำเส้น

               “…ซึ่งหาก 10 เดือนที่แล้ว พรรคเพื่อไทยไม่เลือกที่จะเป็นแกนนำรัฐบาลผสม คงยากที่จะแก้ไขปัญหาหมักหมมได้ กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนเกือบจะพิการด้วยหนี้ที่สูงขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานนี้ได้…

นี่คือประโยคคำพูดที่เปรียบเสมือนระเบิดลูกใหญ่ของ “อุ๊งอิ๊ง-นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ที่มี “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” เป็นผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน  ในงาน 10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์สุดร้อนฉ่ายิ่งกว่าอากาศเมืองไทยในขณะนี้ กลายเป็น 2 ทีมระหว่าง ทีมพรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กับ ทีมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปธ.) หรือแบงก์ชาติ ไม่ว่า นักการเงินการธนาคาร นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อสารมวลชน นลฯ ต่างออกโรงมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้กันอย่างถึงพริกถึงขิง

นายกฯ แก้ต่างหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดบนเวที “งาน 10 เดือนที่ไม่รอทำต่อให้เต็ม 10” ที่ได้มีการกล่าวในช่วงหนึ่ง ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นเศรษฐกิจว่า ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า เรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ เป็นรายจ่ายที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นการที่ นางสาวแพทองธาร ออกมาพูดจึงเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า ซึ่งส่วนตัวเข้าใจในความอิสระของแบงก์ชาติ และมั่นใจว่าสามารถทำงานร่วมกัน และให้เกียรติมาโดยตลอด แต่เมื่อมีข้อเรียกร้อง จึงได้ออกมาเรียกร้องพูดคุยกับเรื่องดอกเบี้ยที่เห็นว่าควรต้องปรับลดลง แต่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ก็มีเหตุผลที่จะไม่ปรับลด โดยหลังจากนี้รัฐบาลจึงต้องเดินหน้าพูดคุยกับ 4 ธนาคารใหญ่ เพื่อให้ลดดอกเบี้ยลง

ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านมองว่า เวทีของพรรคเพื่อไทยเป็นการบีบแบงก์ชาติให้เห็นด้วยกับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่เคยบีบใคร เป็นแค่การสะท้อนความต้องการของประชาชน อีกทั้งที่มีความกังวลว่าเมื่อมีความคิดเห็นลักษณะนี้ออกมา จะทำให้การทำงานของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ยิ่งออกห่างกันไปหรือไม่นั้น นายเศรษฐา ยอมรับว่า ส่วนตัวมีความกังวลกับทุกเรื่อง รวมถึงผลกระทบจากความคิดเห็นที่เกิดขึ้น เพราะไม่อยากให้มีความขัดแย้ง จึงพยายามแก้ไขปัญหาในส่วนที่สามารถทำได้

“เหมือนคำแนะนำที่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ระบุว่า การประสานระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาล ควรดำเนินการผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สคล.) หรือหน่วยงานของกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันต่อไป เพราะมีความเห็นแตกต่างกันชัดเจนเรื่องดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยแค่ 1 สลึง หรือ 50 สตางค์ ก็มีส่วนช่วย และยืนยันว่ารัฐบาลให้เกียรติทุกองค์กร” (ที่มา : PPTV)

            มุมมองสองขุนคลัง

            นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตนเองมองว่า เป็นเรื่องปกติ ในฐานะที่ตนมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่จะต้องทำงานร่วมกับ ธปท. เพื่อที่จะผลักดันให้เครื่องจักรในเครื่องจักร 2 เครื่อง ทางนโยบายการคลังและการเงินจะต้องสอดคล้องและเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก่อนจะเดินทางร่วมกันได้จะต้องมีการตกผลึก และทำความเข้าใจก่อนว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องเข้าไปพูดคุยกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งเชื่อมั่นว่าผู้ว่าฯ ธปท. ก็ดูงานด้วยข้อเท็จจริงและมีเหตุผล โดยในอดีตตนเคยทำงานร่วมกันบ้าง ดังนั้นเชื่อว่าจะพูดคุยกันได้ และมีแนวทางที่ใกล้เคียงกัน ด้วยเหตุและผล

ส่วนกระแสข่าวที่จะมีการแก้ไขกฎหมายลดความเป็นอิสระของ ธปท. นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมาดูกันอีกครั้งว่า ใช่ปัญหาหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวต่อต้านว่า ธปท. จะต้องมีความเป็นอิสระ ซึ่งก็เป็นความเห็นต่าง แต่หากมีการพูดคุยกันจนตกผลึกแล้ว เชื่อว่าความเห็นต่างจะค่อย ๆ แคบลง และจะนำมาซึ่งข้อสรุปที่ดี สำหรับตนแล้วมองว่า เรื่องนี้ ธปท. มีอิสระอยู่แล้วในเรื่องนโยบายการเงิน เพียงแต่ว่าความอิสระนั้นมีมาโดยตลอด สามารถที่จะกำหนดและตัดสินด้วยวิจารณญาณคนที่เข้ามาร่วมตัดสิน แต่การตัดสินนโยบายทั้งหมดนั้น จะ เป็นแนวทางที่จะต้องสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ส่วนจะมีโครงการใหม่ ๆ มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในช่วงนี้หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า นโยบายหลายอย่างต้องทำควบคู่กันไป โดยมีประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมมือเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ทั้งนี้ นายพิชัย ไม่ขอตอบว่าปัญหาความขัดแย้งทางความคิดระหว่างนายกรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับผู้ว่าฯ ธปท. จะหมดไปหรือไม่  โดยขอหารือก่อน  ส่วนจะมีโปรเจกต์อะไรใหม่ในการช่วยเหลือประชาชน  กำลังหาเพื่อทำคู่ขนานไปกับปัญหาเดิม  จะต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เพื่อให้มีแรงช่วยกันขับเคลื่อน จะเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด (ที่มา : infoquest/PPTV)

ทางด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องนี้โดยแบ่งเป็นข้อ ๆ ว่า 1. คุณแพทองธาร ตั้งคำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสิทธิ เมื่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงินที่เกิดจากความอิสระนั้นเป็นที่กังขา 2. ความอิสระของ ธปท. มาพร้อมกับกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ตามข้อตกลงกับคลัง ซึ่งปัจจุบันหลุดกรอบและไม่เป็นไปตามข้อตกลงใช่ไหม เหตุจากระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ (เงินเฟ้อปี 67 คาดจะอยู่ 0.6-0.  3. การที่ธนาคารกลางไม่สามารถรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป็นระยะเวลายาวนาน คาดหลุดกรอบถึงสิ้นปี 67 สะท้อนถึงประสิทธิภาพของธนาคารกลางนั้นหรือไม่ 4. กระทรวงการคลังต้องการให้ประเทศมีนโยบายการคลังกับนโยบายการเงินที่สอดประสานกัน มิฉะนั้นนโยบายอีกฝั่งต้องเร่งขึ้นเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศ 5. เมื่อนโยบายการคลังถูกวิจารณ์ (Digital Wallet) เรา ‘รับฟังและปรับปรุง’ นำสู่การปรับเงื่อนไข เราคาดหวังสิ่งเดียวกันจะเกิดขึ้นกับนโยบายการเงิน

แม่ทัพพาณิชย์-มหาดไทยออกโรง

ส่วนมุมมองของ 2 รัฐมนตรีกระทรวงใหญ่อย่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย นั้น เริ่มจาก

นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “แบงก์ชาติ”ไม่ใช่องค์กร  หรือสถาบันที่“ประชาชน”จะกล่าวถึงหรือ“วิพากษ์ วิจารณ์ ” หรือ“แตะต้อง” ไม่ได้ เจตจำนงพรรคเพื่อไทยที่หัวหน้าพรรค นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้สื่อสารกับสังคมถึงกรณีแบงก์ชาติในวันประชุมของพรรคที่ผ่านมา

สำหรับผมคือการแสดงออกอย่างเปิดเผย จริงใจ และห่วงใยที่แบงก์ชาติยังยืนยันที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างเดิมโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ ซึ่งประชาชน (ที่เป็นลูกหนี้แบงก์และประชาชนทั่วๆไป) กำลังเผชิญชีวิต ดิ้นรนอยู่ภายใต้ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซ้ำเติมชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างแสนสาหัส

สื่อมวลชนเองก็รับรู้กระแสข่าวเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ความคิดของคนในสังคมต่อประเด็นนี้ก็มีความหลากหลาย และประเด็นการตัดสินใจของแบงก์ชาติก็เป็นกระแสความเห็นต่างกันอย่างกว้างขวางในสังคม

แต่แปลกใจว่าทำไมเมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยสะท้อนความคิดบ้าง จึงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ แบบมุ่งโจมตีด้วยอคติอย่างไร้เหตุผล

การแสดงความเห็นต่อกรณีแบงก์ชาติในวันประชุมของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกำลังทำหน้าที่สะท้อนความเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาต่อแบงก์ชาติ ในฐานะที่องค์กรนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาและดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ความเห็นดังกล่าวมีนัยยะที่สะท้อนถึงความห่วงใยต่อผลกระทบจากภาระทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งกำลังเดือดร้อน และแบกรับความยากลำบากอยู่

ท่าทีของการแสดงความคิดทางการเมืองของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจึงเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย และสำนึกความรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอในเวทีของพรรคการเมือง ประกอบด้วยกรรมการและสมาชิกพรรค ที่ต่างต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแสวงหาแนวทาง มาตรการ ทางเลือก เพื่อช่วยกันคิด และจัดการภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

จึงเป็นสิทธิที่สามารถพูดได้ ออกความเห็นได้ และเป็นเรื่องที่พึงกระทำได้ ไม่ว่าจะในฐานะพลเมือง หรือหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีความห่วงใยประชาชน ห่วงใยบ้านเมือง ผมเห็นว่าการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจในครั้งนี้จะเป็นการกระตุกให้สังคมและผู้เกี่ยวข้องได้ช่วยกันคิด ไตร่ตรองหาเหตุผลให้เห็นทางออกมากขึ้น

ความเป็นจริงแบงก์ชาติไม่ใช่สถาบันที่อยู่เหนือการเมือง ไม่ใช่องค์กรที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ตรงข้าม แบงก์ชาติคือกลไกของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ที่ประชาชนทุกฝ่ายเข้าถึง เสนอความคิดเห็นได้ แม้จะมีขอบเขตหน้าที่หลักทางเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้หมายความว่าแบงก์ชาติไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง และชีวิตของประชาชน

การที่ประชาชนทั่วไปหรือพรรคการเมืองกล่าวถึงแบงก์ชาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เสนอความเห็นต่อแบงก์ชาติ ก็ ไม่ใช่การแทรกแซง แต่เป็นการเสนอเพื่อให้มุมมองทางเลือกอื่นๆที่เหมาะสมมากกว่าในบริบทสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การที่สื่อบางบุคคล บางสำนักมีอคติต่อพรรคเพื่อไทย และนำความเห็นบางส่วนของหัวหน้าพรรคมาวิพากษ์อย่างรุนแรง และขยายความตามอคติของตนบวกด้วยการใส่สีตีข่าว เป็นการทำข่าวด้วยอคติมากกว่าข้อเท็จจริง

ผมเฝ้ามองคนข่าวหรือสำนักข่าวบางคนบางส่วน ที่ยังติดยึดอยู่กับอคติเดิมแล้วการใช้พื้นที่ข่าวของตนเป็นพื้นที่ละเลงอคติและขยายความขัดแย้งอยู่เนืองๆ ก่อและปั่นกระแสขัดแย้งในสังคม โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว

ผมขอยืนยันว่า กรณีแบงก์ชาติยังเป็นประเด็นที่สังคมยังสะท้อนความเห็นและสื่อสารกันได้ โดยใช้ความรู้และปัญญาที่รอบด้านมากกว่าการใช้จินตนาการที่มีแต่อคติ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

ทางด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกระแสวิจารณ์การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ทุกหน่วยงานต้องมีอิสระในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ หรือ หน่วยงานใดก็ตาม เราก็ต้องทำตามสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมือง และทำตามนโยบายของรัฐบาล ตราบใดที่นโยบายนั้นเป็นนโยบายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชน ซึ่งหลักการมีเพียงเท่านี้  ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ย้ำว่า นโยบายของรัฐบาล อย่างเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น หากเป็นนโยบายและอยู่ในสมุดปกขาว ก็ถือเป็นนโยบายรัฐบาล คือ การที่จะทำนโยบายนี้เกิดผลสัมฤทธิ์แน่นอนว่าจะต้องถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าหลักสำคัญเรื่องนี้ถูกพิสูจน์ได้ เช่นได้รับคำยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล หรือ จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สิ่งเหล่านี้ ก็ต้องถือว่าพรรคร่วม ก็ต้องสนับสนุน

“ทั้งนี้ ผมไม่ใช่นักกฎหมาย เราต้องให้คนที่มีความชำนาญด้านกฎหมายเป็นผู้ชี้แจงต่อรัฐบาลและประชาชน ในกรณีนี้รัฐบาลทุกรัฐบาล เรามีสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นที่ปรึกษากฎหมายแห่งรัฐ เราต้องฟังความเห็น”

            ทัศนะจากรอบข้าง

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องแก้กฎหมายเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าจับตา ที่ไม่ใช่แค่จากประชาชน แต่รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ ที่จะมองเข้ามาว่า แบงก์ชาติจะคงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอยู่หรือไม่ วิธีการที่จะกดดันแบงก์ชาตินั้นมีหลายวิธี ที่ไม่ต้องสื่อสารต่อสาธารณะก็สามารถทำได้ หรือถ้าต้องการให้เป็นทางการที่สุด คือการให้มีการทบทวน ‘เป้าหมายเงินเฟ้อ’ ของแบงก์ชาติ ให้มีกรอบที่แคบลง และพยายามกำชับให้แบงก์ชาติปฏิบัติตามกรอบอย่างเคร่งครัดมากขึ้น แต่การออกมาพูดเพียงแค่สั้นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสปีช ก็ค่อนข้างจะส่งผลกระทบต่อวงกว้าง อย่างที่เราเห็นว่า สื่อต่างชาติเริ่มนำเสนอข่าวเรื่องนี้แล้ว


“เป้าหมายของแบงก์ชาติหรือธนาคารกลางทั่วโลก กับเป้าหมายของรัฐบาล ไม่มีวันเหมือนกันอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลก็มุ่งหวังให้เศรษฐกิจในระยะสั้น เติบโตไปในทิศทางที่ดีและเร็ว แต่สำหรับแบงก์ชาติเขามองในระยะยาวกว่านั้น ดังนั้นแบงก์ชาติไม่ได้สนใจว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตเท่าไหร่อย่างไร แต่จะให้ความสำคัญกับความมั่นคง และเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะกลาง เป็นต้น ดังนั้น คุณจะทำให้นโยบายการเงินของแบงก์ชาติ สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารกลางก็มีด้วยเหตุผลว่า ป้องกันไม่ให้แบงก์ชาติถูกครอบงำหรือถูกแทรกแซง เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายระยะสั้นของรัฐบาล ดังนั้นจะมองว่า ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ เป็นอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายขาดดุล ก็เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว หากคุณต้องการกระตุ้นในระยะสั้น คุณต้องใช้นโยบายการคลังอยู่แล้ว” (ที่มา : เพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการข่าว)

นายศรัณยู อึ๊งภากรณ์ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ กล่าวกับ AMARINTV ว่า ไม่เห็นด้วยต่อทัศนคติอันแปลกประหลาดหากย้อนกลับไปพิจารณา ตามพันธกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยจะพบว่ามีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงการรักษาเสถียรภาพด้านราคา การป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจมีความผันผวนมากเกินไป พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้งอาจเกิดความขัดแย้งกับเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ เพราะในบางกรณี รัฐบาลอาจมีเป้าหมายที่ต้องการเห็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที ซึ่งอาจขัดแย้งกับเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพของธนาคารกลางได้ เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ขยายตัวมากเกินไปนั้น อาจมีผลดีต่อการแก้ไขปัญหาการว่างงานและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ แต่อาจล้มเหลวต่อการสภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวเนื่องจากอาจสร้างสภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ดังนั้น คำถามสำคัญที่ควรกลับไปถามตัวเองคือ ทุกวันนี้ ท่านได้ฟังเสียงแจ้งเตือนขององค์กรอิสระหรือไม่ พร้อมทั้งหาวิธีประสานงานให้เกิดความราบรื่นต่อการบริหารประเทศมากกว่าที่จะทำการตัดพ้อต่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอุปสรรคการดำเนินนโยบายของตนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ การแก้ไขปัญหาระยะยาวไม่ควรจบลงที่การจะเข้าไปก้าวก่ายองค์กรอิสระแต่ควรเป็นการหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตในปัจจุบัน”

“ประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้ว เชื่อได้ว่า “สงครามเย็น” ระหว่างคนในรัฐบาลเพื่อไทยกับเศรษฐพุฒิ-ผู้ว่าฯ ธปท. คงมีให้เห็นต่อจากนี้เรื่อย ๆ ตราบใดที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยังคงมีท่าทีไม่ตอบรับสัญญาณที่ฝ่ายการเมืองส่งออกมา โดยเฉพาะการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงผ่อนคลายเรื่องเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ เชื่อได้ว่า หาก ธปท.-กนง.ไม่ทำตามธงที่ฝ่ายการเมืองส่งมา สงครามเย็นระหว่างฝ่ายการเมืองVSธปท. ย่อมมีต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วรัฐบาลเพื่อไทย โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ก็เคยมีปัญหาเรื่องแนวคิด-นโยบาย ไม่ตรงกับผู้บริหาร ธปท.มาให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง…” (ไทยโพสต์)

            ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เป็นกันอย่างไร!?!

            “ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” เป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยตำแหน่งผู้ว่าการยังดำรงตำแหน่งอื่นเป็น รองประธานคณะกรรมการธปท., ประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน, ประธานคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และ ประธานคณะกรรมการระบบการชำระเงิน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกินสองวาระ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้สรรหาและเสนอชื่อไปยังคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองจึงจะทูลเกล้าฯไปยังพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป

            ผู้มีสิทธิ์ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องมีสัญชาติไทย สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี มีความรู้ความสามารถในด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและสถาบันการเงิน มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายและบริหารธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงินของประเทศ แม้โดยตำแหน่งจะต่ำกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ก็มีความสำคัญมาก ดังข้อความเรื่อง “ศาสตร์และศิลป์แห่งการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง” ของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ว่า

“…ตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารชาตินี้ในทำเนียบราชการไทยเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่ารัฐมนตรี และเราจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับรัฐมนตรีอยู่เฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายเป็นผู้กำกับการงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ว่าการเท่านั้น ผู้ใหญ่คนอื่นในธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้น การติดต่อกับรัฐมนตรีเพื่อที่จะเกลี้ยกล่อมรัฐมนตรีให้ดำเนินนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ธนาคารเห็นสมควรก็ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้านโยบายต่างๆไม่ประสานกัน การดำเนินราชการแผ่นดินก็จะเป็นไปโดยราบรื่นมิได้

เช่น ถ้างบประมาณแผ่นดินตั้งรายจ่ายไว้เกินกำลัง จะทำให้เงินเฟ้อ ถ้าแก้ไขไม่ได้และต้องการจะรักษาเสถียรภาพไว้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็จำเป็นต้องจำกัดทางด้านการเงินด้านอื่น หมายความว่าเงินที่ปล่อยให้ชาวไร่ชาวนากับพ่อค้าอุตสาหกรที่จะต้องน้อยลงไป จะต้องไปหดเครดิตทางธนาคารพาณิชย์ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็อาจจะเสียหาย นี่เป็นเรื่องที่เราต้องพูดกับรัฐมนตรีแทบทุกปี

ถ้าเราไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมท่านได้ หน้าที่ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะด้อยลงไป ความรับผิดชอบและประโยชน์ที่เราจะทำให้ก็จะเสียหายไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในการที่จะติดต่อกับรัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีความเชื่อถือให้รัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาลเชื่อ ถือว่าเราไม่ได้เห็นประโยชน์ของส่วนตัว ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เห็นแก่ประโยชน์ของแผ่นดิน…”

            ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนปัจจุบัน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ลำดับที่ 24 และดำรงตำแหน่งกรรมการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ดร.เศรษฐพุฒิ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นโยบายสาธารณะ และตลาดการเงิน ดร. เศรษฐพุฒิ เคยดำรงตำแหน่งในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการขององค์กรชั้นนำของประเทศหลายแห่ง เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงคณะกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการนโยบายการเงินด้วย

ก่อนทำงานที่ประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ ได้ทำงานที่ธนาคารโลก (World Bank) ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี และบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี ที่นิวยอร์ก หลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากวิทยาลัยสวาร์ธมอร์ และในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล (ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย)

            เปิดใจผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง “ธปท. บนเวทีโลก ในสายตา เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” โดยขอนำบางส่วนมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

กับคำถามที่ว่า บนเวทีโลก ธปท. ได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหนในแง่ของ “ความเป็นมืออาชีพ” ? โดย ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ผมมองว่าค่อนข้างมาก เพราะกลับมาที่หลักการของเราว่า การทำงานระหว่างประเทศของ ธปท. ไม่ใช่เรื่องของการเข้าไปในที่ประชุมแล้วกดไมค์พูดทุกเรื่อง หรือต้องพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษสวยหรู สิ่งที่สำคัญกว่า คือความเข้าใจในหัวข้อนั้นอย่างแท้จริง มีหลักการและสื่อสารออกมาได้ เราจึงเน้นการพูดแชร์ในเรื่องที่เรารู้จริง มีข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะมีสิ่งเหล่านี้ได้ต้องเกิดจากประสบการณ์จริง และเรามีตัวอย่างในเรื่องเหล่านี้อยู่พอสมควร

“ผมกล้าพูดว่า ธปท. เป็นผู้นำทางความคิดในการผลักดันวาระสำคัญด้านนโยบายที่เหมาะกับบริบทของเรา ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีสากลหลายเวที ซึ่งเราเป็นทั้งผู้นำทางความคิดและในทางปฏิบัติจริงด้วย เช่น กรอบความคิดเรื่องนโยบายการเงินแบบผสมผสานเครื่องมือ (Integrated Policy Framework: IPF) ซึ่งให้ความสำคัญกับการดูภาพรวม ไม่ได้แยกดูเฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ย แต่คำนึงถึงการใช้เครื่องมืออื่นๆ ควบคู่กันไปด้วยตามความเหมาะสม ทั้งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายเงินทุนเคลื่อนย้าย และนโยบายดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential)”

ผู้ว่าแบงก์ชาติ กล่าวด้วยว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำ IPF ไปปฏิบัติจริง คือเรามีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้อย่างสอดประสานกัน เพราะใช้เครื่องมือเดียวไม่เพียงพอ เช่น ถ้าเป็นห่วงเรื่องเงินเฟ้อแล้วใช้ดอกเบี้ยมาดูแล บางทีอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยน ฉะนั้น ก็ต้องมีเครื่องมืออื่นที่มาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนด้วย หรือการที่ ธปท. ประกาศขึ้นดอกเบี้ย อาจทำให้ลูกหนี้มีปัญหา ธปท. ก็ต้องมีมาตรการอื่นมารองรับผลกระทบจากนโยบายด้านดอกเบี้ยด้วย แนวทางนี้ ไม่ใช่ ธปท. ทำเพียงแห่งเดียว แต่เรายังร่วมผลักดันกับหลายประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) โดยเฉพาะในอาเซียน จนเป็นที่ยอมรับในสายตาขององค์กรระหว่างประเทศ จากเดิมที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศมักจะยึดหลักการของกลไกตลาด จึงไม่ค่อยยอมรับการเข้าไปแทรกแซงตลาด โดยเฉพาะการเข้าไปบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน

“แต่สิ่งที่เราพยายามอธิบายคือ เศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิดนั้นได้รับผลกระทบจากการไหลเวียนของเงินทุน และความผันผวนของค่าเงินมาก ซึ่งเราไม่มีศักยภาพในการรับมือความผันผวนแบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จึงต้องมีเครื่องมืออื่นมาเสริม จนในปัจจุบันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ยอมรับ IPF แล้ว และ ธปท. มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันเรื่องนี้”

ส่วนในแง่ธรรมาภิบาลนั้นในต่างประเทศมอง ธปท. นั้น ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า  ธปท. ได้รับเกียรติให้ไปอยู่ใน Central Bank Governance Group ของ BIS ซึ่งเป็นเวทีที่พูดเรื่องธรรมาภิบาลกันโดยเฉพาะ ซึ่งหลังจากไปร่วมหารือมาแล้วหลายครั้ง สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า ธรรมาภิบาลของ ธปท. ไม่ได้ด้อยกว่าต่างประเทศเลย มีหลายประเด็นที่เราไปแชร์กับต่างประเทศและเป็นแนวปฏิบัติที่เขาสนใจ แลกเปลี่ยน เรียนรู้กันว่า ของใครมีข้อดีข้อเสียอย่างไร แม้โมเดลของแต่ละประเทศจะมีหลายอย่างต่างกัน แต่แก่นธรรมาภิบาลของธนาคารกลางคือ ความเป็นอิสระ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดด้วยว่า คุณมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

“สำหรับ ธปท. การออกแบบการกำกับดูแลถือว่าทำได้ค่อนข้างดี คณะกรรมการหลัก ทั้ง 4 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการ ธปท. ที่กำกับดูแลกิจการทั่วไป คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ถูกออกแบบให้เป็นอิสระต่อกัน แต่ก็ทำงานร่วมกันได้ดีการออกแบบคณะกรรมการ ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีกรรมการทั้งหมด 7 คน ก็เป็นคนใน ธปท. 3 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน ขณะที่โมเดลของต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นคนในมากกว่าคนนอกเสียอีก สะท้อนให้เห็นว่า เราค่อนข้างเปิดกว้างและรับฟังมากเลยทีเดียว และในแง่ของกระบวนการสรรหานั้น เราก็คัดเลือกกันค่อนข้างเข้มข้น ยากมากที่จะมีใครเข้ามาแทรกแซง ตรงนี้ก็ช่วยรับประกันความเป็นอิสระของ ธปท. ได้”

            ทบทวนเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนที่แล้ว นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เมษายน 2567 เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 เมษายน 2567  โดยธปท.มีความห่วงใยและตั้งข้อสังเกตในโครงการ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.ความจำเป็นในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาล : ควรทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น (targeted) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณ 150,000 ล้านบาท เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น และมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า นอกจากนี้ควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย ทั้งนี้ ความจำเป็นที่จะกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวได้ที่ 7.1%เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553 – 2565 ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ 3% ต่อปี

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของวิสัยทัศน์เป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการ และร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่ม Baa 1 ไว้ว่าไม่ควรเกิน 11%

ทั้งนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี 2568 ซึ่งหากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม

การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูงทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการเพิ่มวงเงินกู้งบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อน ๆ ที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น

รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาทไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่

  • โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้วงเงิน เฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) จะสามารถสร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง
  • โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี
  • โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 10 สาย
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย เป็นต้น

  1. แหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต : ธปท.มองว่า ตามที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเสนอวงเงินดำเนินโครงการรวม 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาจากงบประมาณรายจ่ายต่างปีและต่างประเภท และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การใช้เงินงบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ จะต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

การใช้จ่ายภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นจะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงกร โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถ fully earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการ ด้วยเหตุใด ๆ เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ ก็จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา ซึ่งเป็นความผิด ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501

นอกจากนี้การให้ ธ.ก.ส.ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความขัดเจนทางกฎหมายว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ จะต้องกำหนดกลไกการเติมเงินให้เกษตรกรแยกส่วนจากการเติมเงินให้ประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งอาจต้องจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณผิดประเภท

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องและรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ดังเช่นที่ได้เคยหารือในประเด็นกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารออมสิน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ ธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 แล้ว

นอกจากนี้ ธปท. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลความเสี่ยงและฐานะของสถาบันการเงิน เฉพาะกิจ มีข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินการตามพันธกิจ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน จึงควรมีแนวทางชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้แก่ ธ.ก.ส. พร้อมทั้งรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ก่อนด้วย

  1. ผู้พัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต : ธปท.มองว่า ระบบสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากจึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ธปท. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงินของ ประเทศ มีข้อห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ ดังนี้

โดยควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลตต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ รวมทั้งการที่ระบบจะมีลักษณะเป็นระบบเปิด (Open-loop) ที่ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่หลากหลาย จึงควรต้องกำหนดโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ อันจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ

ทั้งนี้ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล ความต่อเนื่องของการให้บริการ การจัดการการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม และการป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด รวมทั้งมีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของประขาชนและผู้ประกอบการ ที่ได้มาตรฐานตามระดับความสี่ยงของภาคการเงินด้วย

ขณะที่ในส่วนของผู้พัฒนาระบบ (Developer) ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบที่เป็น Open-Loop เพื่อให้ระบบสอดคล้องกับมาตรฐานข้างต้นและดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่จำกัด

ทั้งนี้ ตัวอย่างที่ผ่านมา ทีมงานของธนาคารพาณิชย์ต้องใข้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินเป็นจำนวนมากและใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 ปีผู้ดำเนินการระบบ (Operator) ต้องสามารถดูแลระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และสามารถดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายของประชาชนมีความติดขัด หรือเกิดการใข้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการยกเลิกธุรกรรมและเรียกคืนสิทธิจากประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และในกรณีที่มีการโจมตีทางไซเบอร์หรือมีการรั่วไหลของข้อมูลธุรกรรมหรือข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องสามารถหยุดยั้งและแก้ไขเหตุได้อย่างทันท่วงที

4.การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต : ธปท.แนะนำว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น

(1) แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด

(2) การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม

(3) การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับ เงื่อนไขการใช้จ่าย

(4) ประเภทสินค้าต้องห้ามและมาตรการป้องกันในการห้ามไมให้มีการซื้อสินค้าดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพ

(5) การตรวจสอบว่ามีการซื้อขายสินค้าจริง และป้องกันไม่ให้มีการขายลดสิทธิ์ (discount) เป็นต้น

ด้วยเหตุผลและข้อสังเกตข้างต้น ธปท. จึงมีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นโครงการที่มีรายละเอียดการดำเนินการซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระการคลังของประเทศในระยะยาว และมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง (Due Care) และมีกระบวนการที่ถูกต้องรัดกุม (Due Process) อย่างเต็มที่

ดังนั้น เพื่อให้การให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีความรอบคอบครบถ้วน จึงเสนอให้ ครม.ทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต่อไป

ความในใจผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

            บนโลกโซเซียลแวดวงการเมืองได้มีการแชร์กระหึ่ม เนื้อหาคำพูดบางส่วนบางตอนของ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงความรู้สึกในระหว่างพิธีรับมอบทองคำแท่งเข้าคลังแผ่นดิน เมื่อวันที่ 30 เมายน 2567 ณ สวนแสงธรรม พุทธมณฑลสาย 3 กรุงเทพฯ ผ่านช่อง Thai PBS  หลังจากที่ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แสดงวิสัยทัศน์และความคืบหน้านโยบายต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย หลังจากจัดตั้งรัฐบาลเข้าสู่เดือนที่ 9 พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคต

โดย ดร.เศรษฐาพุฒิ กล่าวตอนหนึ่งว่า ผมมารับตำแหน่งในช่วง 3 ปีครึ่ง ผมและเพื่อนร่วมงานใน ธปท. ทำงานหนักหน่วงมาพอสมควร และสิ่งหนึ่งที่ช่วยเราได้มากที่สุด คือ กำลังใจที่มหาศาล ไม่เคยคิดว่ามีบุญขนาดนี้ที่ได้รับกำลังใจจากทุกคน และจะไม่ลืมมัน ซึ่งตนคิดว่าไม่ได้ช่วยแค่ตนเท่านั้น แต่ยังช่วยไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการเตือนสติเราด้วยในการทำหน้าที่ ว่าหน้าที่ของเรานั้นศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ

           “จริงๆ แล้ว ถ้าว่าไปแล้ว รัฐบาลมาแล้วไป ผู้ว่าฯ ก็มาแล้วก็ไป แต่สถาบัน องค์กรธนาคารแห่งประเทศไทยต้องอยู่ และต้องอยู่อย่างเข้มแข็ง” นายเศรษฐาพุฒิ กล่าวทั้งนี้ เมื่อนายเศรษฐาพุฒิ กล่าวอยู่ได้เรียกเสียงปรบมือให้แก่ผู้ร่วมพิธีอย่างกึกก้อง

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post