Digiqole ad

แก้หนี้นอกระบบ’ วาระแห่งชาติ ฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวังคนไทย

 แก้หนี้นอกระบบ’ วาระแห่งชาติ ฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวังคนไทย
Social sharing

Digiqole ad
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้คนไทย โดยให้รัฐเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อทำงานตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน และฝ่ายตำรวจที่ช่วยกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมาย
.
นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลก็จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก
.
[ หนี้นอกระบบ คือ ‘การค้าทาสยุคใหม่’ ที่พรากอิสรภาพจากประชาชน และส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน ]
.
ปัญหาหนี้นอกระบบกัดกร่อนสังคมไทยมายาวนานและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมหลายประการ รัฐบาลประเมินว่าจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบว่ามีถึงประมาณ 23.5 ล้านครัวเรือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้อาจประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ ปัญหาจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านั้น
.
คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจสงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ ‘ต่อทุกคน’ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สินที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด พวกเขาไม่สามารถทำตามความฝันได้ ปิดโอกาสการต่อยอดและไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ ส่งผลกระทบเป็นสืบเนื่องไปในทุกภาคส่วนของสังคม
.
สำหรับนายกรัฐมนตรี หนี้นอกระบบถือเป็น ‘การค้าทาสในยุคใหม่’ (modern world slavery) ที่พรากอิสรภาพ ความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้
.
[ รัฐต้องเข้ามาจัดการ โดยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด ]
.
ปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ได้โดยไม่มีรัฐเป็นตัวกลาง รัฐบาลจะต้องบูรณาการหลายภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ‘พร้อมกัน’ ทั้งหมด โดยจะดูแลเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงการปิดหนี้ อาทิ การทำสัญญาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม การทวงหนี้รุนแรง โดยแนวทางการทำงาน มีดังนี้
.
1) ฝ่ายปกครองและตำรวจ ทำงานร่วมกันเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
.
นายกรัฐมนตรีเผยว่าได้สั่งการให้ทั้ง 2 หน่วยงานทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่เคยแยกกันทำ
.
– การแก้หนี้จะต้องทำตั้งแต่ต้นจนจบ (End-to-end) และมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าสู่วงจรหนี้อีกครั้ง หน่วยงานต่าง ๆ มีขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ ‘ร่วมกัน’ และไม่ซ้ำซ้อนกัน
– รัฐบาลจะทำฐานข้อมูลกลางและนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใส
– ประชาชนจะต้องมีเลขตรวจสอบ (Tracking ID) ที่ติดตามผลได้ และมีวิธีการเข้าสู่กระบวนการได้หลายรูปแบบ
– มีการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน เพราะบางกรณีเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
.
นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกภาคส่วนทำงานตรงไปตรงมา มีเป้าหมายและการวัดผล (KPI) รวมถึงกรอบเวลาที่ชัดเจน และจะติดตามผลอย่างใกล้ชิด
.
2) ขั้นตอนที่ปรับโครงสร้างหนี้โดยกระทรวงการคลัง
.
กระทรวงการคลังในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงินจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยจะระมัดระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม (moral hazard)
.
[ เศรษฐกิจดีขึ้น รายได้ที่มากขึ้นของประชาชน ไม่กลับเป็นหนี้อีก ]
.
แนวทางการแก้ไขหนี้วันนี้คงจะไม่ใช่ยาปาฏิหารย์ที่ทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้มากขึ้นจนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีก และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้มากขึ้น
.
นอกจากหนี้นอกระบบแล้ว วันที่ 12 ธันวาคม 2566 นี้จะมีการแถลงภาพรวมแนวทางการแก้ไขหนี้ครบวงจร ซึ่งครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบอีกครั้ง
.
นายกรัฐมนตรียืนยันจะทำให้โครงการนี้ปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลังใจ แรงใจที่จะทำตามความฝัน นับจากนี้ไป
.
[ มาตรการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ]
.
นายกรัฐมนตรีได้แถลงเรื่องการแก้หนี้นอกระบบร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และพลตำรวจเอก ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
.
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เผยว่า กลไกการทำงานในแต่ละพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ใกล้ชิดกับประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ถึงผู้ใหญ่บ้าน โดยประชาชนที่ประสบปัญหาหรือต้องการเปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นในระบบ เพื่อจะได้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลง สามารถลงทะเบียนที่ ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางและที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทุกแห่ง
.
พลตำรวจเอกธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบังคับใช้กฎหมายในการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำความคิดผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ และได้กำหนดแผนปฏิบัติตั้งแต่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อค้นหาเป้าหมาย โดยสั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 เอกซเรย์พื้นที่และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ อีกทั้ง ยังได้ตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยมี สายด่วน 1599 เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุ
.
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากการปรับโครงสร้างและไกล่เกลี่ย มีมาตรการต่าง ๆ รองรับเพิ่มเติม ได้แก่ 1) ธนาคารออมสิน มีโครงการให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี และโครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระรายย่อย เพื่อการส่งเสริมอาชีพ ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย 2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีโครงการรองรับที่ดินติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบ โดยมีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท 3) สำหรับผู้ประกอบการให้กู้ยืมเงินที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย รัฐบาลมีช่องทางให้ดำเนินการขออนุญาตเรื่องของพิโกไฟแนนซ์ โดยต้องมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทเท่านั้น
ที่มา : เพจพรรคเพื่อไทย
Facebook Comments


Social sharing

Related post