Digiqole ad

“เอ็นไอเอ” ผนึกพลังพันธมิตรพลิกโฉมการเกษตรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ โชว์ผลงาน “AgTech Connext 2021 Demo Day” นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทย ลุยขยายผลในประเทศและอาเซียน

 “เอ็นไอเอ” ผนึกพลังพันธมิตรพลิกโฉมการเกษตรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ โชว์ผลงาน “AgTech Connext 2021 Demo Day” นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทย ลุยขยายผลในประเทศและอาเซียน
Social sharing
Digiqole ad

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดกิจกรรม AgTech Connext 2021 Demo Day ขึ้น เพื่อเป็นเวทีนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่จะไปแก้ปัญหาทางการเกษตรในด้านต่างๆ พร้อมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นศักยภาพในการปรับเปลี่ยนการเกษตรของไทยให้กลายเป็นเกษตรอัจฉริยะ โดยแพลตฟอร์ม AgTech Connext จะเป็นสะพานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ประกอบด้วยหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ หน่วยงานให้การสนับสนุนเงินทุนกับเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หน่วยงานพร้อมสนับสนุนเงินร่วมลงทุนให้กับสตาร์ทอัพอย่างบริษัท อินโนสเปรซ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งภาคเอกชนทั้งจากบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้มอบเครดิต AWS Cloud ให้แก่สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือก และกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้สนับสนุนเงินรางวัลรวมมูลค่า 300,000 บาท ให้กับสตาร์ทอัพที่นำเสนอผลงานการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรรมไปใช้งานจริงกับเกษตรกรได้ยอดเยี่ยม

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA เปิดเผยว่า “NIA มีนโยบายที่ชัดเจนในการเร่งสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยมุ่งแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ตลอดห่วงโซ่มูลค่าทางการเกษตร และวางบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมียุทธศาสตร์การดำเนินงานในระยะต่อไป คือ มุ่งเน้นการเป็นสะพานเชื่อมเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรให้มีโอกาสทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนผ่านกลไกและเครื่องมือ 4 แนวทาง ได้แก่ การเพิ่มปริมาณ การปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มความหลากหลาย และการสร้างความร่วมมือ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรของไทยให้มีคุณภาพ สามารถเป็นผู้นำการพลิกโฉมวงการเกษตร (Agriculture Transformation) ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืน”

 

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของโลกอันดับ 2 ซึ่งเมื่อมองวิเคราะห์ดูพบว่ามีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่มีมากกว่า 130 บริษัท หรือ ในประเทศจีนที่มีการใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตรอย่างเข้มข้น และมีการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรด้วยสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำได้ ดังนั้น NIA เร่งสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเติบโตของทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน โดยในโครงการ AgTech Connext ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะผลักดันและเร่งให้สตาร์ทอัพเข้าสู่สนามการทำงานจริง นั่นคือการร่วมทดสอบและลงในพื้นที่จริงของเกษตรกร แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ จึงทำให้เกิดความท้าทายกับสตาร์ทอัพในการปรับตัวและสร้างสรรค์กลยุทธ์การทำงานในรูปแบบใหม่เพื่อให้การทำงานดำเนินต่อไปได้ ซึ่งในแต่ละทีมก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นความเฉพาะพิเศษของสตาร์ทอัพ ซึ่งในวันนี้จะได้มีโอกาสแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมพลิกโฉมเกษตรไทยให้ก้าวต่อไป”

ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า “14 สตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการนี้เป็นสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีพร้อมใช้งาน โดยจะได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อปิดจุดอ่อนสำคัญของสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จในการขยายการเติบโตของธุรกิจและตอบโจทย์ตรงใจกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากนั้นจึงมีการนำผลิตภัณฑ์และบริการไปใช้จริงกับเกษตรกรและผู้ใช้งาน เพื่อเป็นพื้นที่ทดสอบและเป็นต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Smart Agriculture รวมถึงการสร้างสังคมแห่งโอกาสและก้าวไปสู่การสร้างสรรค์สังคมเกษตรด้วยนวัตกรรม โดยมีผลการดำเนินงานที่น่าสนใจประกอบด้วย

1) การนำไอโอทีแก้ปัญหาการเกษตรสามารถควบคุมได้ทุกขั้นตอนและตรวจสอบย้อนกลับได้ ได้แก่ เดอะบริคเก็ต: ระบบบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ด้วยการควบคุมไอโอทีอย่างแม่นยำ ฟาร์มไทยแลนด์: ระบบควบคุม ดูเเลและจัดการแปลงเกษตร ด้วยเทคโนโลยีไอโอทีผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่มีผลการทดสอบการใช้งานในพื้นที่ให้เป็นประสิทธิภาพของการผลิตด้านการเกษตร ลดการใช้แรงงาน และประหยัดต้นทุนด้วย

2) วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ที่สนับสนุนการทำเกษตรและมีรูปแบบธุรกิจใหม่รองรับ ได้แก่ โนวี่ โดรน พัฒนาโดรนให้เหมาะกับประเทศไทย ร่วมกับ เก้าไร่ ที่มีแพลตฟอร์มเชื่อมต่อเกษตรกรที่ต้องการใช้โดรน และนักขับโดรน เพื่อให้เกิดการบริการแบบคุ้มค่าประหยัดเวลา หรือ โกรว์เด่ ฟาร์มมิ่ง ออกแบบโรงเรือนปลูกพืชคุณภาพสูงด้วยราคาเข้าถึงได้ พร้อมรับซื้อผลผลิตที่ตอนนี้โฟกัสไปในกลุ่มกัญชงกัญชา

3) นวัตกรรรมแก้ปัญหาการเก็บรักษาสินค้าเกษตร ได้แก่ อีเด็น อะกริเทค สารเคลือบยืดอายุผัก ผลไม้ และผลไม้ตกแต่งที่แก้ปัญหาส่งออกมะม่วงทางอากาศไม่ได้จากการหยุดบินในช่วงล็อคดาวน์ โดยเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์แล้วสามารถยืดอายุทำให้ใช้เรือในการขนส่งแทนได้ ช่วยลดค่าขนส่งเป็นอย่างมาก

4) การสร้างตลาดออนไลน์ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน และสร้างแบรนด์ร่วมกัน ได้แก่ แคสปี้ จะร่วมสร้างแบรนด์สินค้าให้กลุ่มเกษตรกรได้เข้าถึงตลาดออนไลน์ อควาบิซ มีการแปรรูปอาหารกลุ่มสัตว์น้ำให้มีมูลค่าสูงขึ้นและขายผ่านออนไลน์ครบวงจร เฮิร์ป สตาร์ทเตอร์ พัฒนาการสร้างตลาดสินค้าชุมชนสู่ออนไลน์ เริ่มดำเนินงานร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง น่าน ตาก นครปฐม นครนายก และมหาสารคาม ฟาร์มโตะ ระบบเจ้าของร่วมผลิตที่เชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากันผ่านการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ตลาดออนไลน์ และ รีคัลท์ ที่นำข้อมูลขนาดใหญ่ของภาพถ่ายดาวเทียมมาพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ จนมีเกษตรกรในแพลตฟอร์มมากกว่า 5 แสนราย พร้อมต่อยอดรับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้ ที่ได้รับรอง GAP เพื่อทำเป็นตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ 7 วัน 7 ฟาร์ม ที่ทุกแพลตฟอร์มได้อนิสงค์จากการเติบโตของตลาดออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากโควิด ทำให้เกษตรกรและชุมชนได้รับการตอบรับเพิ่มมากขึ้น นับได้ว่าการสร้างการเติบโตของธุรกิจชุมชนร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างสตาร์ทอัพ

5) การเปลี่ยนภาคเกษตรให้เป็นเกษตรแม่นยำ ได้แก่ น้ำเชื้อว่องไว นำเทคโนโลยีชีวภาพมาสร้างความแม่นยำในการเกิดลูกวัวได้เพศตามต้องการสำหรับวัวเนื้อและวัวนม พร้อมมีแนวทางการส่งสินค้าทั่วประเทศและสร้างเครือข่ายกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา ไบโอ แมทลิ้งค์ ระบบบริหารจัดการและดูแลการปลูกมันสำปะหลังที่สามารถควบคุมการผลิตได้ทุกขั้นตอน ได้นำร่องกับกลุ่มปลูกมันที่จังหวัดกาญจนบุรี ให้เพิ่มผลผลิตสูงขึ้นพร้อมมีคุณภาพมีปริมาณแป้งสูงขึ้น จะทำให้ขายให้กับกลุ่มโรงงานได้ราคาดีขึ้น ในอีกกลุ่มของกลุ่มประมง อัลจีบา พัฒนาเครื่องนับลูกสัตว์น้ำ ช่วยให้การนับลูกสัตว์น้ำ ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยการทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น สามารถตอบโจทย์กับหน่วยงานวิจัยและผู้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ พร้อมขยายผลสู่ระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น

ดร.ชยกฤต เจริญศิริวัฒน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (เอฟไอที) เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “กลุ่มธุรกิจเอฟไอที มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์และส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรและคู่ค้าผ่านโซลูชั่นที่มีนวัตกรรมและสร้างความยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตของอุตสาหกรรมการเกษตรและห่วงโซ่อุปทานการเกษตรให้มีความปลอดภัย รับผิดชอบ และตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยโครงการ AgTech Connext เป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างเอฟไอทีและภาครัฐที่จะส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพด้านเกษตรให้กับประเทศ นอกจากนี้ เอฟไอที ยังมีเป้าหมายสอดคล้องกับนโยบายรัฐ ด้าน BCG (Bio-Circular-Green) Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากธุรกิจของเอฟไอทีเองให้เป็นศูนย์ และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเซนของกลุ่มธุรกิจให้ลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งหลังจากงานในครั้งนี้ ทางกลุ่มธุรกิจฯ ยังเปิดโอกาสให้ AgTech startup ที่สนใจจะเป็นพาร์ทเนอร์หรือร่วมงานกับทางเอฟไอที เพื่อเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับกลุ่มเกษตรกร หรือคู่ค้าของเอฟไอที ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย”

สำหรับการผลการตัดสินในวันนี้ สตาร์ทอัพเกษตรผู้ชนะ (ตัดสินจากคณะกรรมการ) ที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ ทีม SPERM SPEED : น้ำเชื้อว่องไว ผลิตภัณฑ์พลาสเตอร์ฮอร์โมนเหนี่ยวนำการเป็นสัดสำหรับวัวเนื้อและวัวนม ระบบผสมเทียมโคแบบกำหนดเวลาและน้ำเชื้อโคกระบือคัดเพศ รับเงินรางวัล 150,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ EDEN AGRITECH : อีเด็น อะกริเทค สารเคลือบยืดอายุผัก ผลไม้ และผลไม้ตกแต่ง รับเงินรางวัล 100,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม ALGAEBA : อัลจิบ้า เครื่องนับลูกสัตว์น้ำ รวดเร็ว แม่นยำ และมีหลักฐานการนับ รับเงินรางวัล 50,000 บาท นอกจากนี้ ทางโครงการจัดให้มีรางวัล The Popular AgTech Connext 2021 Award (ตัดสินจากผลการโหวตของผู้เข้าร่วมงาน) ได้แก่ ทีม EDEN AGRITECH : อีเด็น อะกริเทค รับเงินรางวัล 20,000 บาท

Facebook Comments

Related post