Digiqole ad

เหนือ-อีสานน้ำท่วมหนัก! ผู้แทนราษฎรก้าวไกล แท็กทีม ลงพื้นที่-แก้ปัญหา-เสนอทางออก

 เหนือ-อีสานน้ำท่วมหนัก! ผู้แทนราษฎรก้าวไกล แท็กทีม ลงพื้นที่-แก้ปัญหา-เสนอทางออก
Social sharing
Digiqole ad
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลในภาคเหนือได้พยายามทำเต็มที่ในการประสานความช่วยเหลือให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ถูกกระทบอย่างหนักหน่วงจากสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วม จนนำไปสู่ความเสียหายต่อทั้งบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร รวมไปถึงอุบัติเหตุในหลายจุดทั้งรถไฟตกขบวนที่แพร่ และสะพานถล่มที่เชียงใหม่-ลำพูน
.
นอกจากในภาคเหนือ ตัวแทนพรรคประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังได้รายงานผลกระทบจากน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี-มูน มาอย่างต่อเนื่องประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี
ทั้งนี้ ในระยะสัปดาห์หน้า (1-9 ตุลาคม) หลายพื้นที่ทั่วประเทศจะยังมีฝนตกต่อเนื่องจากการเคลื่อนตัวของร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่เคลื่อนตัวมายังตอนกลางและตอนล่างของประเทศ และผลกระทบที่อาจจะเกิดจากพายุหมุนเขตร้อน “โคอินุ” ในช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้หลายพื้นที่อาจประสบปัญหาอุทกภัยขึ้นได้
การเตรียมความพร้อมล่วงหน้าและระบบการเตือนภัยจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 10 อ่างที่มีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับความจุกักเก็บ และเกณฑ์การระบายแล้ว และยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 151 แห่งทั่วประเทศที่มีน้ำเต็มความจุแล้ว และอีก 100 แห่งที่ใกล้เคียงกับความจุ (เกิน 80% ของความจุ) การเตือนภัยและการเตรียมความพร้อมของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ จึงควรได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน
.
แม้นายกฯ ได้มีการมอบหมายให้รัฐมนตรีและบุคลากรที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหา แต่จากการสำรวจปัญหาในพื้นที่ ผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลต่อทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการป้องกันปัญหาในอนาคต
1. การประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติ
.
– แก้ปัญหาเฉพาะหน้า : ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติให้ครบทุกพื้นที่ที่ถูกกระทบโดยเร็ว เพื่อระดมการช่วยเหลือจากรัฐอย่างเร่งด่วน
.
– ป้องกันปัญหาในอนาคต : ปลดล็อกให้ท้องถิ่นประกาศเขตภัยพิบัติเองได้ เพื่อให้ อปท. มีอำนาจและงบประมาณ ในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที
.
2. การเตือนภัยพิบัติ
.
– แก้ปัญหาเฉพาะหน้า : เร่งรัดการเตือนภัยและสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงถึงระดับน้ำและมวลน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ศูนย์เตือนภัยยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ
.
– ป้องกันปัญหาในอนาคต : พัฒนาระบบเตือนภัยที่แม่นยำและครอบคลุมทุกท้องถิ่น โดยต้องอาศัยการที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ และสร้างระบบสื่อสารภัยพิบัติของแต่ละท้องถิ่นที่ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที เช่น ระบบ cell broadcast เป็นต้น
3. การชดเชย-เยียวยา
.
– แก้ปัญหาเฉพาะหน้า : เตรียมการสำหรับการเยียวยา-ชดเชยให้มีความเป็นธรรม ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทั้งบ้านเรือน และพืชผลทางการเกษตร อย่างเร่งด่วน รวมถึงการยกเว้นภาระหนี้สินสำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้
.
– ป้องกันปัญหาในอนาคต : วางระบบการประกันภัยพืชผล และ/หรือ ระบบประกันสินเชื่อจากความเสียหายทางภัยพิบัติ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมซ้ำซาก
4. การบูรณาการการทำงานในพื้นที่
.
– แก้ปัญหาเฉพาะหน้า : วางแนวทางการทำงานในพื้นที่ให้ชัด เพื่อลดปัญหาการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
.
– ป้องกันปัญหาในอนาคต : กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และตัดความทับซ้อนของอำนาจ ระหว่างราชการส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นที่ยึดโยงกับประชาชน เป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาในพื้นที่
5. แผนการบริหารจัดการน้ำ
.
– แก้ปัญหาเฉพาะหน้า : ฟื้นฟูผลกระทบในพื้นที่ ผ่านการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้ท้องถิ่น และการปลดล็อกความล่าช้าในอนุมัติโครงการจัดการน้ำของท้องถิ่น โดยกระจาย/มอบภารกิจให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ/จังหวัด เป็นผู้พิจารณาความเชื่อมโยงในภาพรวม
.
– ป้องกันปัญหาในอนาคต : ทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดรายลุ่มน้ำเพื่อลดน้ำท่วม/ภัยแล้ง ในแต่ละลุ่มน้ำ รวมถึงศึกษามาตรการรับมือรายพื้นที่ (เช่น การฟื้นฟูต้นน้ำ การกระจายแหล่งน้ำในไร่นา การใช้แนวทางธรรมชาติในการแก้ไขปัญหาหรือ natural-based solutions การทำแนวกั้นน้ำในพื้นที่ชุมชนที่เหมาะสมทางระบบนิเวศและวัฒนธรรม)
พรรคก้าวไกลหวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ไม่ใช่แค่สำหรับการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเฉพาะหน้า แต่สำหรับการใช้โอกาสนี้ศึกษาหาทางป้องกันปัญหาดังกล่าวในระยะยาว โดยหากแนวทางของรัฐบาลยังไม่ชัดเจนหรือสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลอาจพิจารณาเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาในสัปดาห์ที่จะมาถึง เพื่อใช้เวทีสภาฯ ในการหารือและนำเสนอข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
.
อย่างไรก็ตาม ภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ภาวะการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ต้นปี 2567 ผ่อนคลายลง เพราะปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในฤดูฝนปี 2566 นี้ (จนถึง 30 กันยายน) ยังมีเพียง 21,582 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียงประมาณ 60% ของปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในฤดูฝนตามปีปกติ (หรือค่าเฉลี่ย 35,492 ล้านลูกบาศก์เมตร) เพราะฉะนั้น การบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญจึงยังคงมีความสำคัญต่อไปด้วย
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
.
Facebook Comments

Related post