
“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2023)


วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือ APEC 2023 พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีแคนาดาโดยทั้งสองฝ่ายสนับสนุนความตกลงจัดทำ FTA ระหว่าง ASEAN-Canada รวมทั้งหารือนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย พร้อมตอบรับเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ในเดือนมีนาคม 2567 ด้วย

1. นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) โดยมีนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ให้การต้อนรับผู้นำและผู้แทน 21 เขตเศรษฐกิจ APEC ที่เข้าร่วมพิธีเปิด โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นและมีการถ่ายภาพหมู่ของผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดทักทายกับผู้นำเขตเศรษฐกิจและประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน และหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC กับแขกพิเศษของประธาน ในหัวข้อ ‘Sustainability, Climate, and Just Energy Transition’ จากนั้นในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF Summit และในตอนค่ำก็ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพในโอกาสนี้
.
2. ก่อนหน้านี้ ในเวลา 10.30 น. นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับนายจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าการมาประชุมครั้งนี้ เพื่อประกาศให้ทราบว่าประเทศไทยเปิดแล้ว และพร้อมรับการลงทุนโดยที่ผ่านมาก็มีภาคเอกชนชั้นนำต่างประเทศเข้ามาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมากขึ้น และในการมาในครั้งนี้ ก็มีโอกาสได้พบหารือกับภาคเอกชนชั้นนำหลายราย ที่กำลังพิจารณา และพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยไทยมีสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคเอกชนจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ

3. ด้านนายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวว่าพร้อมพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลของไทย ทั้งในระดับทวิภาคี และภูมิภาค เพื่อสานต่อพลวัตความสัมพันธ์ และความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ทั้งนี้ แคนาดามียุทธศาตร์อินโดแปซิฟิก ที่หวังจะร่วมมือกับไทยให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพราะไทยถือเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของแคนาดา อย่างไรก็ดี ไทยและแคนาดายังไม่มี FTA ระหว่างกัน ทั้งนี้ ทั้งสองเห็นพ้องหากดำเนินการได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไทยและแคนาดามาก โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ความตกลง FTA ระหว่าง ASEAN-Canada ซึ่งกำลังเจรจากันอยู่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จาก FTA ดังกล่าว
.
4. เวลา 11.35 น. นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับ นายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลียในปีหน้า พร้อมจะพาภาคเอกชนร่วมคณะไปด้วย โดยไทยและออสเตรเลียมี FTA ที่มีความก้าวหน้ามาก มีการแลกเปลี่ยนและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่ใกล้ชิด การท่องเที่ยวเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และเป็นส่วนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยคนออสเตรเลียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวนมาก ในขณะที่คนไทยก็นิยมท่องเที่ยวออสเตรเลีย เนื่องจากมีความปลอดภัย ทั้งนี้ มีบริษัทชั้นนำย้ายฐานการผลิตมาไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ ด้านรถยนต์ไฟฟ้า การตั้งศูนย์ Data Center เป็นต้น รวมถึงจะมาลงทุนในไทยด้วย

5. นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียแสดงความยินดี และเชื่อมั่นในการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ทั้งสองประเทศถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และไทยถือเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของออสเตรเลีย ทั้งทวิภาคี และในกรอบอาเซียน ยินดีที่ไทยตอบรับเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ในเดือนมีนาคม 2567 โดยออสเตรเลียมีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมากในภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคธุรกิจ และอาหาร เป็นต้น รวมถึงมีความร่วมมือสถาบันการศึกษาระหว่างกันอย่างดี อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อสูงมากเนื่องจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ จึงทำให้สินค้าในประเทศราคาสูงขึ้น และประชาชนได้รับผลกระทบ
Facebook Comments