Digiqole ad

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงการคลัง พบปะกับภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย

 “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงการคลัง พบปะกับภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย
Social sharing
Digiqole ad
วันที่ 21 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ณ โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบปะกับภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ 1) นายยาเซอร์ บิน อุสมาน อัล-รูมัยยาน (Yasir bin Othman Al-Rumayyan) ประธานกรรมการกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Governor of the Public Investment Fund: PIF) 2) นายอามิน ฮัซซาน อาลี นัซเซอร์ (Amin Hassan Ali Nasser) ประธานกรรมการและ CEO รัฐวิสาหกิจ Saudi Arabian Oil Company (Saudi ARAMCO) ของซาอุดีอาระเบีย และ 3) นายอับดุลราห์มัน อัล-ฟากีห์ (Abdulrahman Al-Fageeh) ประธานบริหารและสมาชิกคณะกรรมการบริหาร Saudi Arabia Basic Industries Corporation (SABIC) โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้
.
1.นายกรัฐมนตรีและภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย ทั้ง 3 บริษัท เห็นพ้องถึงการให้ความสำคัญต่อการกระชับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของไทยและซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งสองประเทศต่างมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และยินดีขยายส่งเสริมการค้าและการลงทุนซึ่งกันและกัน รวมถึงยินดีอำนวยความสะดวกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและสนใจร่วมกัน เช่น การบริการและการท่องเที่ยว พลังงานสะอาด อาหารและการเกษตร ปิโตรเลียม และปุ๋ย
.
2.นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความพร้อมของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการลงทุนพลังงาน พร้อมเน้นย้ำศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย และสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงในภูมิภาคให้กับซาอุดีอาระเบียได้ พร้อมเชิญชวนภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย เยือนไทยเพื่อศึกษาและหารือ เกี่ยวกับศักยภาพและความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอโครงการ Landbridge ของไทย โดย PIF เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีศักยภาพ และแสดงความสนใจในโครงการฯ ด้วย
.
3. ภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย พร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตเศรษฐกิจควบคู่กับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนของซาอุดีฯ หวังว่า ไทยและซาอุดีอาระเบีย จะส่งเสริมและมีความร่วมมือด้านการลงทุนมากขึ้นในอนาคต
.
4.ทั้งนี้ กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Governor of the Public Investment Fund: PIF) นับเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลซาอุดีฯ เพื่อลงทุนในโครงการที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับเศรษฐกิจของประเทศ และปฏิบัติภารกิจตามนโยบายวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030 ที่มีวัตถุประสงค์ในการกระจายการลงทุน และทำให้กองทุนฯ สามารถลงทุนในบริษัทต่างประเทศได้
.
5. บริษัท SABIC มีประสงค์เพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับไทย ในด้านปิโตรเคมี ซึ่ง SABIC เป็นบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ของซาอุดีฯ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 เพื่อนำผลพลอยได้จากน้ำมันดิบมาผลิตสินค้าปิโตรเคมี โพลีเมอร์ ปุ๋ย ฯลฯ ปัจจุบัน SABIC เป็นหนึ่งในบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีบริษัท Aramco เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยทำธุรกิจในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
.
6.บริษัท ARAMCO ยินดีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของไทย กับบริษัท ARAMCO ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านพลังงานเมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมหวังว่าจะสามารถยกระดับความร่วมมือด้านพลังงานได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
.
7. บริษัท Saudi ARAMCO เป็นบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่มีรัฐบาลซาอุดีฯ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นแหล่งสำรองน้ำมันดิบที่ใหญ่ และผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของในโลก โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมา ปตท. และ Saudi ARAMCO ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านพลังงานทั้งระบบ รวมถึงความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า
.
Facebook Comments

Related post