
เลขเด็ด! 29+1 นายกฯไทย (สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 380 วันที่ 19-25 พ.ค.66)

สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดยฺ์ ฉบับที่ 380 วันที่ 19-25 พฤษภาคม 2566
ขอเกาะกระแสการเลือกตั้ง ปี 2566 ในขณะที่คนไทยทั้งประเทศกำลังลุ้นอย่างใจจอใจจ่อว่าใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ซึ่งมีแนวโน้มว่า “คุณทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล วัย 42 ปี เป็นแต้มต่อเหนือกว่าคนอื่นที่จะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เนื่องได้เสียงข้างมากในบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ
ก่อนที่จะทราบว่าใครจะได้รับการเสนอชื่อและได้เป็นนายกรัฐมนตรีในท้ายที่สุด เรามาเปิดทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่มาอยู่ 29 คน รวมถึงว่านายกฯ คนใหม่อีก 1 คน ว่า มีความเหมือนและแตกต่างกันที่น่าสนใจกันอย่างไรบ้าง
สกู๊ปปกอีบุ๊กบางกอกทูเดยฺ์ “เลขเด็ด! 29+1 นายกฯไทย” ฉบับที่ 380วันที่ 19-25 พฤษภาคม 2566
https://book.bangkok-today.com/books/zjha/
“5 เม.ย.” วันเกิด 3 นายกฯ
นับว่าเป็นเรื่องแปลกแต่จริง เมื่อที่ “5 เมษายน” เป็น วันเกิดของนายกรัฐมนตรีถึง 3 คนด้วยกัน
เริ่มจาก 1. นายกฯ คนที่ 12 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดวันที่ 5 เมษายน 2450 2. นายกฯ คนที่ 14 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดวันที่ 5 เมษายน 2470 นายกฯ คนที่ 17 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดวันที่ 5 เมษายน 2463
ตามหลักเลขศาสตร์ได้ให้ความหมายของ “เลข 5” ดังนี้ “เลข 5 คือ ดาวพฤหัสบดี ตัวเลขแห่งปัญญาความรู้ และเมตตาอารี และยังหมายถึงศิลปะการพูดที่บริสุทธิ์ พูดเพื่อให้ เพื่อช่วย ดาวพฤหัสบดี อยู่ถัดจากดาวอังคาร เป็นดาวนพเคราะห์ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ และมีดวงจันทร์เป็นบริวารมากมาย ด้วยว่าพื้นที่กว้างจึงเปรียบเสมือนสติปัญญาและความสามารถ เป็นแหล่งรวมของข่าวสารและแหล่งความรู้ต่างๆ เป็นผู้สร้างความรู้ และสะสมความคิด จึงทำให้เป็นแหล่งของครูอาจารย์ นักปรัชญา หรือนักวิชาการ และบุคคลคงแก่เรียนนั่นเอง มีอิทธิพลเพื่อส่งเสริมคนให้มีความรู้ความสามารถ และชี้นำ ชี้แนะด้วยความบริสุทธิ์ใจ”(ที่มา:https://berthongsuk.in.th)
“5-17-21” เลขวันเกิดยอดนิยม
นอกจากเลข “5” จะเป็นวันเกิดที่ทั้งตรงวันและตรงเดือนของ 3 นายกฯ ไปแล้ว ยังมีเลข “17” กับเลข “21” เป็นวันเกิดของนายกฯ วันตรงกัน 3 คน แต่คนละเดือนกัน
เริ่มจากวันที่ 17 เป็นวันเกิดของนายกฯ คนที่ 4 พันตรีควง อภัยวงศ์ เกิดวันที่ 17 พฤษภาคม 2445 นายกฯ คนที่ 6 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เกิดวันที่ 17 กันยายน 2448 และ นายกฯ คนที่ 15 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เกิดวันที่ 17 ธันวาคม 2460
สำหรับวันที่ 21 เป็นวันเกิดของนายกฯ คนที่ 8 พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) เกิดวันที่ 21 พฤศจิกายน 2444 นายกฯ คนที่ 28 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกิดวันที่ 21 มิถุนายน 2510 และ นายกฯ คนที่ 29 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดวันที่ 21 มีนาคม 2497
ส่วนวันที่ตรงกัน 2 คน คือ วันที่ “11” วันที่ “15” และ วันที่ “28” โดยวันที่ 11 เป็นวันเกิดของนายกฯ คนที่ 7 นายปรีดี พนมยงค์ เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 กับนายกฯ คนที่ 10 จอมพลถนอม กิตติขจร เกิดวันที่ 11 สิงหาคม 2454
วันที่ 15 เป็นวันเกิดของนายกฯ คนที่ 1 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เกิดวันที่ 15 กรกฎาคม 2427 และนายกฯ คนที่ 22 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เกิดวันที่ 15 พฤษภาคม 2475
สำหรับวันที่ 28 คือ นายกฯ ลำดับที่ 20 นายชวน หลีกภัย เกิดวันที่ 28 กรกฎาคม 2481 และ นายกฯ คนที่ 24 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เกิดวันที่ 28 สิงหาคม 2486
7 นายกฯ เกิดวันที่ 3 ในสัปดาห์ “วันอังคาร”
ถ้านับวันในสัปดาห์จะมีนายกฯ เกิดประจำวันต่าง ๆ ดังนี้ 1. วันอาทิตย์ 5 คน 2. วันจันทร์ 3 คน 3. วันอังคาร 7 คน 4. วันพุธ 2 คน 5. วันพฤหัสบดี 5 คน 6. วันศุกร์ 5 คน และ 7. วันเสาร์ 3 คน
แชมป์คือ “วันอังคาร” มี 7 นายกฯ คือ นายกฯ คนที่ 1 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกฯ คนที่ 2 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกฯ คนที่ 11 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกฯ คนที่ 14 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกฯ คนที่ 16 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ คนที่ 18 นายอานันท์ ปันยารชุน และ นายกฯ คนที่ 23 ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ตามตำราโหราศาสตร์ทำนายผู้ที่เกิดวันอังคารไว้ว่า “คนเกิดวันอังคาร จึงมีลักษณะนิสัยเหมือนกระบือ เป็นผู้มีกำลังกล้าแข็ง กล้าหาญ มุมานะ อารมณ์รุนแรงฉุนเฉียว ขยันขันแข็ง เป็นนักสู้ ความคิดอ่านว่องไว เป็นคนเจรจาอ่อนหวานมีเล่ห์เหลี่ยม รู้จักการเข้าหาผู้ใหญ่ ญาติมักนำความทุกข์มาให้ ชีวิตต้องผ่านอุปสรรคสี่ครั้ง แล้วจึงจะเป็นสุข”
เดือน 8 เดือนเกิด 8 ผู้นำประเทศ
ถ้าพิจารณาจากเดือนเกิดพบว่า “สิงหาคม” เป็นเดือนที่นายกฯ เกิดมากที่สุดถึง 8 คนด้วยกัน ส่วนเดือนรองลงมา คือ “เมษายน” มี 4 คน โดยเกิดเดือนนี้ติดกันถึง 3 คนคือ นายกฯ คนที่ 12 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดวันที่ 5 เมษายน 2450 นายกฯ คนที่ 13 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดวันที่ 20 เมษายน 2454 และ นายกฯ คนที่ 14 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดวันที่ 5 เมษายน 2470
โดย “กรกฎาคม” มีถึง 4 คน ทางด้าน “มีนาคม” “พฤษภาคม” และ “มิถุนายน” มีเดือนละ 3 คน ต่อมาคือ “กันยายน” และ “พฤศจิกายน” มีเดือนละ 2 คน “ธันวาคม” มีเ 1 คน ส่วนเดือนที่ไม่มีนายกฯ เกิดเลยคือ “มกราคม” “กุมภาพันธ์ และ “ตุลาคม”
สำหรับ 8 นายกฯ ที่เกิดในเดือนสิงหาคมได้แก่ นายกฯ คนที่ 10 จอมพลถนอม กิตติขจร
เกิดวันที่ 11 สิงหาคม 2454 นายกฯ คนที่ 16 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดวันที่ 24 ส.ค.2463 นายกฯ คนที่18 นายอานันท์ ปันยารชุน เกิดวันที่ 9 สิงหาคม 2475 นายกฯคนที่ 19 พลเอกสุจินดา คราประยูร เกิดวันที่
6 สิงหาคม 2476 นายกฯ คนที่ 21นายบรรหาร ศิลปอาชา เกิดวันที่ 19 สิงหาคม 2475 นายกฯ คนที่ 24 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เกิดวันที่ 28 สิงหาคม 2486 นายกฯ คนที่ 26 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เกิดวันที่ 31 สิงหาคม 2490 และ นายกฯ คนที่ 27 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกิดวันที่ 3 สิงหาคม 2507
โหร ณุ ทำนายลักษณะนิสัยของผู้ที่เกิดในเดือนสิงหาคมไว้ว่า “เป็นคนมีอำนาจวาสนา หัวดื้อ ชอบเอาชนะ มีเหตุผลในการเจรจา เจ้าระเบียบทำอะไรทำได้ดีเด่น วัยเด็กมักลำบากยากแค้น วัยกลางคนไปจะดีมีผู้อุปถัมภ์ค้ำชู มีหัวคิดริเริ่มดี เจรจาโผงผาง โกรธง่ายหายเร็ว เจ้าอารมณ์พอประมาณ หากไม่ทำอะไรตามใจตนให้มากไปสักหน่อย จะเด่นดีมีเกียรติยศ เจ้าอารมณ์มากทีเดียว ชอบเอาชนะคนทั่วไปนิสัยนักเลง แต่ไม่สู้ชอบทางมิจฉาชีพ เป็นคนที่มีความสร้างสรรค์และโรแมนติก เขาเป็นคนที่แสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ได้ดี กล้าแสดงออก ชอบความสนุกสนาน และชอบพบปะผู้คน เขามีความสามารถในการดึงดูดผู้คนให้หันมาสนใจในตัวเขาได้ เพราะเขามีความโดดเด่นและเป็นผู้นำ”
นักษัตรที่ 9 “วอก” คว้าแชมป์นายกฯ เกิดมากที่สุด
เมื่อแยกตามปีนักษัตรที่บรรดานายกฯไทยทั้งหลายเกิด ปรากฏว่า ปีนักษัตรที่ 9 “วอก” คว้าแชมป์ไปครอง เนื่องจากมีผู้นำประเทศเกิดตรงมากที่สุดเป็นจำนวน 8 คน รองลงมาปีนักษัตรที่ 12 “กุน” มี 5 คน จากนั้น ปีนักษัตรที่ 5 “มะโรง” ปีนักษัตรที่ 6 “มะเส็ง” และนักษัตรที่ 8 “มะแม” มีปีละ 3 คน ต่อมา ปีนักษัตรที่ 2 “ฉลู” ปีนักษัตรที่ 3 “ขาล” ปีนักษัตรที่ 10 “ระกา” มีปีละ 2 คน นักษัตรที่ 1 “ชวด” กับ นักษัตรที่ 4 “เถาะ” มีปีละ 1 คน และ นักษัตรที่ 7 “มะเมีย” และนักษัตรที่ 10 “จอ” ไม่มีนายกฯ คนไหนเกิดเลย
ทางด้านนายกฯ ที่เกิดปีวอก นำโดยนายกฯ คนที่ 1 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกฯ คนที่ 11 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกฯ คนที่ 16 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ คนที่ 17 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกฯ คนที่ 18 นายอานันท์ ปันยารชุน นายกฯ คนที่ 21 นายบรรหาร ศิลปะอาชา นายกฯ คนที่ 22 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และ ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ซึ่งตามตำราโหราศาสตร์ทำนายผู้ที่เกิด “ปีวอก” คือ “คนเกิดปีวอกมักมีความว่องไวเหมือนลิงซึ่งเป็นสัตว์ประจำปีเกิด คิดเร็วตัดสินใจเร็ว เป็นคนร่าเริงรักความสนุกสนาน ขี้เล่น ช่างพูดช่างเจรจา ฉลาดไหวพริบดีแก้ปัญหาเก่ง แถมยังฉลาดแกมโกง มีอารมณ์ขัน เป็นคนไม่ค่อยมีความอดทนนัก มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความรับผิดชอบและทะเยอทะยานสูง”
ราศียอดนิยมนายกฯ “กรกฎ”
มาดูที่ราศีนายกฯ กัน ว่าราศีไหนนายกฯ เกิดกันมากที่สุด ได้แก่ “ราศีกรกฎ” ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-16 สิงหาคม มี 7 คน (นายกฯ คนที่1,10,18,19,20,23,27) ตามมาด้วย “ราศีมีน” ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 14 มีนาคม – 12 เมษายน มี 6 คน (นายกฯ คนที่ 2,9,12,14,17,29) กับรองลงมาคือ “ราศีสิงห์” 5 คน (นายกฯคนที่ 16,21,24,26,ว่าที่นายกฯ คนที่ 30) ตามมาด้วย “ราศีพฤษก” (นายกฯคนที่ 4,22,25) กับ “ราศีเมถุน” (นายกฯคนที่ 3,11,28) มีราศีละ 3 คน ส่วน “ราศีเมษ” (นายกฯคนที่ 7 กับ 13) กับ “ราศีพิจิก” (นายกฯคนที่ 5,8) มีอย่างละ 2 คน ปิดท้ายที่ “ราศีกันย์” (นายกฯคนที่ 6) กับ “ราศีธนู” (นายกฯคนที่ 15) มีราศีละ 1 คน ส่วนราศีที่ไม่มีนายกฯ คนไหนเกิดเลยคือ “ราศีมังกร” “ราศีกุมภ์” และ “ราศีตุลย์”
สำหรับคำทำนายตามหลักโหราศาสตร์ คนเกิด “ราศีกรกฎ” เป็นเหมือนแม่น้ำที่กว้างใหญ่ที่ให้ความชุ่มชื่นแก่ผู้คน ในขณะเดียวกันก็ให้ความวิปโยคแก่คนทั้งหลายได้เช่นเดียวกัน ความเป็นคนอ่อนไหว ดราม่าง่าย จุกจิกเกินไป ใจน้อยเกินพอดี อาจทำให้ชาวราศีกรกฎต้องพบกับเรื่องเสียใจและตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย มาคิดได้ก็เมื่อสายไป มักมีปัญหากับเพื่อนกับพี่น้องในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ในชีวิตครอบครัวมักถูกกดดันหรือได้รับการข่มเหงจิตใจตั้งแต่อายุยังน้อย บางรายต้องออกจากอ้อมอกของครอบครัวไปก็มี หน้าที่การงานมักสู้ชีวิต เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยก็เคยพบเห็นมามาก อาจต้องแต่งงานในขณะที่ยังไม่พร้อมจึงมีปัญหาตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ดีสิ่งที่เด่นชัดในดวงชะตาของชาวราศีกรกฎส่วนมากก็จะเป็นการสร้างฐานะให้กับตนเอง สร้างความร่ำรวยมั่นคงได้ ทำกิจการส่วนตัวมักสำเร็จ ให้เช่าบ้านก็ถูกโฉลก
ทางด้านคนเกิด “ราศีมีน” คือ ชาวราศีมีนเป็นธาตุน้ำในเรือนวินาศของดวงโลก จึงทำให้ท่านชอบค้นคว้าวิจัย ชอบเก็บตัว ชอบทำงานเบื้องหลัง และยังชอบเรื่องลึกลับ เช่น เรื่องผี เรื่องราวด้านจิตศาสตร์ คนมีนมักมีนิสัยสู้ชีวิต สู้เงียบ ๆ สู้ลำพัง มักมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ทว่าส่วนใหญ่เป็นไปเพื่ออนาคต เช่น เป็นหนี้เรื่องบ้าน เรื่องการเรียนการศึกษา หนี้เรื่องธุรกิจการงาน เป็นต้น เรื่องของความรักชาวราศีมีนหลีกเลี่ยงเรื่องชู้สาวได้ยาก หลายคนแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย อาจพบรักกับคนอายุมากกว่า ถ้าไม่ระวังอาจมีเรื่องอื้อฉาว บางรายมีครอบครัวในระหว่างเรียน ความรักค่อนข้างผันผวนแปรปรวน กับคนรักคนแรกมักเลิกราหย่าร้าง คู่ครองคนที่สามที่สี่จึงจะดีและมั่นคง บุตรหลานบริวารพึ่งได้ สามารถปกครองบริวารได้โดยใช้พระคุณมากกว่าพระเดช การโอนอ่อนผ่อนตามคนรอบข้างจะทำให้ท่านเอาชนะใจคนได้(ที่มา : https://www.dharmniti.co.th)
“2475” พ.ศ. เกิด 4 นายกฯ
เมื่อไล่เรียง พ.ศ. เกิดนายกฯ แล้วพบว่า พ.ศ. ที่นายกฯ เกิดมาที่สุดคือ “พ.ศ. 2475” มีจำนวน 4 คน ได้แก่ นายกฯ คนที่ 18 นายอานันท์ ปันยารชุน (9 สิงหาคม) นายกฯ คนที่ 21 นายบรรหาร ศิลปะอาชา (19 สิงหาคม) นายกฯ คนที่ 22 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (25 พฤศจิกายน) และ นายกฯ คนที่ 25 นายสมัคร สุนทรเวช (13 มิถุนายน)
สำหรับ “พ.ศ. 2475” นับเป็นการเปลี่ยนการเมืองและการปกครองครั้งประวัติศาสตร์ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หรือบ้างก็เรียก การอภิวัฒน์สยาม หรือ การปฏิวัติสยามครั้งที่สอง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งมีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่ประกอบกัน เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” โดยเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก (ที่มา : วิกิพีเดีย)
3 นายกฯ เกิดตรงวันพระ-วันสำคัญทางพุทธศานา
จาการเก็บรวบรวมข้อมูลปรากฏว่ามีนายกฯ เพียง 3 คนเท่านั้นที่เกิดตรงกับวันพระและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันพระคือ นายกฯ คนที่ 1 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เกิดวันที่ 15 กรกฎาคม 2427 และ นายกฯ คนที่ 19 พลเอกสุจินดา คราประยูร เกิดวันที่ 6 สิงหาคม 2476
ส่วนคนที่เกิดตรงกับวันเข้าพรรษาคือ นายกฯ คนที่ 3 จอมพล ป.พิบูลสงคราม เกิดวันที่ 14 กรกฎาคม 2440
“40” อายุน้อยที่สุด กับ “73” อายุมากที่สุดของนายกฯ
เมื่อสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอายุของนายกฯ พบว่า ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในขณะนั้น ๆ ที่มาอายุน้อยที่สุดคือ นายกฯ คนที่ 6 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2448 ดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2488 เท่ากับมีอายุเพียง 40 ปี เท่านั้น
ส่วนที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในขณะที่อายุมากที่สุดคือ นายกฯ คนที่ 25 นายสมัคร สุนทรเวช
เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2478 ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ในวันที่ 29 มกราคม 2551 ขณะที่มีอายุ 73 ปี
ทั้งนี้อายุของนายกฯ คนอื่น ๆ ในขณะเข้ารับตำแหน่งนายกฯ คนที่ 1 อายุ 48 ปี คนที่ 2 อายุ 46 ปี คนที่ 3 อายุ 41 ปี คนที่ 4 อายุ 42 ปี คนที่ 5 อายุ 41 ปี คนที่ 6 อายุ 40 ปี (อายุน้อยที่สุด) คนที่ 7 อายุ 46 ปี คนที่ 8 อายุ 45 ปี คนที่ 9 อายุ 52 ปี คนที่ 10 อายุ 47 ปี คนที่ 11 อายุ 51 ปี คนที่ 12 อายุ 66 ปี คนที่ 13 อายุ 64 ปี คนที่ 14 อายุ 49 ปี คนที่ 15 อายุ 60 ปี คนที่ 16 อายุ 68 ปี คนที่ 17 อายุ 68 ปี คนที่ 18 อายุ 59 ปี คนที่ 19 อายุ 59 ปี คนที่ 20 อายุ 54 ปี คนที่ 21 อายุ 63 ปี คนที่ 22 อายุ 64 ปี คนที่ 23 อายุ 52 ปี คนที่ 24 อายุ 63 ปี คนที่ 25 อายุ 73 ปี (อายุมากที่สุด) คนที่ 27 อายุ 44 ปี คนที่ 28 อายุ 44 ปี คนที่ 29 อายุ 60 ปี และว่าที่นายกฯ คนที่ 30 อายุ 42 ปี
สรุปช่วงอายุระหว่าง 40 – 49 มี 13 คน อายุระหว่าง 50 – 59 มี 6 คน อายุระหว่าง 60-69 ปี 10 คน และ อายุ 70 – 79 ปี มี 1 คน โดยมีอายุ 41,44,46,52,59,60,63,64 และ 68 ปี อย่างละ 2 คน
ระยะเวลาและสมัยบริหารประเทศ
จากนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 29 คน เป็นพลเรือน 16 คน (ถ้ารวมว่าที่นายกฯ คนที่ 30 รวม 17 คน) เป็นทหาร 13 นาย มาดูกันที่ระยะเวลาการบริหารบ้านเมือง ใครได้บริหารเป็นระยะเวลายาวนานมากสุดและน้อยที่สุดของประเทศไทย
นายกฯ คนที่บริหารประเทศได้ระยะยาวนานที่สุดในประเทศ 3 ลำดับแรก คือนายกฯ คนที่ 3 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นเวลา 4,625 วัน (15 ปี 24 วัน) รวม 8 สมัย โดยมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศไทยด้วย “รัฐนิยม” ที่ตนริเริ่มขึ้น และเป็นผู้ที่เปลี่ยนชื่อประเทศ จาก “ประเทศสยาม” ให้เป็น “ประเทศไทย” และเป็นผู้ที่เปลี่ยนเพลงชาติไทยให้เป็นเพลงที่ใช้กันจนถึงปัจจุบันนี้ รองลงมาคือนายกฯ คนที่ 10 จอมพลถนอม กิตติขจร (จอมพลคนสุดท้าย) ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นเวลา 3,889 วัน (10 ปี 6 เดือนเศษ) ดำรงตำแหน่งไปถึง 2 สมัย และทำการปฏิวัติเองอีก 1 ครั้ง ก่อนออกจากตำแหน่งด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ทหารใช้อาวุธสงครามปราบปรามนักศึกษา จนโยงไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และนายกฯ คนที่ 16 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นเวลา 3,076 วัน (8 ปี 5 เดือนเศษ) และนั่งเก้าอี้นายกฯ ไปถึง 3 สมัย (ที่มา : https://www.gqthailand.com/culture/article/thai-pm-longest)
สำหรับนายกฯ 3 ลำดับแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ได้แก่ นายกฯ คนที่ 5 นายทวี บุณยเกตุ ที่ดำรงตำแหน่งเพียง 17 วัน แล้วจึงลาออกเพื่อเปิดทางให้ผู้ที่เหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ คนใหม่ นายกฯ คนที่ 19 พล.อ.สุจินดา คราประยูร บริหารประเทศได้ 47 วัน จำเป็นที่จะต้องลาออกเนื่องจากประชาชนออกมาต่อต้านจนเกิดการนองเลือด และ นายกฯ คนที่ 26 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อยู่ตำแหน่งเป็นเวลา 75 วัน เข้ารับตำแหน่งหลังจากเกิดการล็อบบี้เนื่องจาก นายกฯ คนที่ 25 นายสมัคร สุนทรเวช ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ที่มา : https://www.matichon.co.th/columnists/news_115140)
รายชื่อนายกรัฐมตรีไทย
1.พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)
2.พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
3.จอมพล ป.พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)
4.พันตรีควง อภัยวงศ์
5.นายทวี บุณยเกตุ
6.ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
7.นายปรีดี พนมยงค์
8.พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)
9.นายพจน์ สารสิน
10.จอมพลถนอม กิตติขจร
11.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
12.นายสัญญา ธรรมศักดิ์
13.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
14.นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
15.พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
16.พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
17.พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
18.นายอานันท์ ปันยารชุน
19.พลเอกสุจินดา คราประยูร
20.นายชวน หลีกภัย
21.นายบรรหาร ศิลปอาชา
22.พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
23.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
24.พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
25.นายสมัคร สุนทรเวช
26.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
27.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
28.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
29.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา