
เลือก(ไป)ตั้ง…เลือก (อย่าเอาไป)ตั้ง จะพังกันทั้งประเทศ (เรื่องจากปกอีบุ๊กวันที่ 12-18 พ.ค.66)

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับนี้ (12-18 พฤษภาคม 2566) คาบเกี่ยวอยู่ในช่วงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พอดี และคงจะทราบผลกันแล้วว่า ใครเป็น ส.ส. กันบ้าง และพรรคไหนได้เสียงข้างมาก เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
บางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 379 วันที่ 12-18 พฤษภาคม 2566
https://book.bangkok-today.com/books/tqht/
ความหมายที่ถูกละเลย
หลายคนรู้จัก “การเลือกตั้ง” แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายของคำ ๆ นี้ได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะไปกระบอกเสียงแทนประชาชน นั่งเก้าอี้เป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” (ส.ส.) หากท่านไหนโชคดีก็ได้เก้าอี้เป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปบริหารประเทศ ให้เกิดการพัฒนาหรือล่มจม และเกิดความสงบสุขร่มเย็นอยู่ดีกินดีหรือจราจลวุ่นวาย อดอยากปากแห้ง ทั้งนี้ขอหยิบยกความหมาย “การเลือกตั้ง” มากล่าวดังนี้
การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความหมายไว้คือ การที่ราษฎรใช้สิทธิของตนเองลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทน เพื่อทําหน้าที่แทนตนในการ ปกครองแต่ละระดับของประเทศ เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด เป็นต้น การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องเป็นการเลือกตั้งโดยเสรี กล่าวคือต้องเปิดกว้างให้อิสระในการ ตัดสินใจทั้งในแง่ของผู้สมัครและผู้ออกเสียงทั้งนี้ต้องเป็นไปโดยบริสุทธิ์และยุติธรรมไม่มีการชี้นําหรือบังคับให้เลือก
การเลือกตั้ง (election) ในวิกีพีเดียให้ความหมายไว้คือ เป็นกระบวนการวินิจฉัยสั่งการอย่างเป็นทางการซึ่งประชาชนเลือกปัจเจกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง การเลือกตั้งเป็นกลไกปกติที่ใช้ในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 การเลือกตั้งอาจเพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารและตุลาการ และสำหรับรัฐบาลภูมิภาคและท้องถิ่น กระบวนการนี้ยังใช้ในองค์การเอกชนและธุรกิจ ตลอดจนสโมสรจนถึงสมาคมและบรรษัท
สำหรับปัจจุบัน การเลือกตั้งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการหล่อหลอมเจตจำนงและความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้เกิดความชอบธรรมแก่ผู้ปกครอง และเป็นเครื่องมือในการใช้ควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ถือเป็นการแสดงเจตจำนงแห่งรัฐ ซึ่งการเลือกตั้งระดับรัฐมีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ หลักการเลือกตั้ง 1. โดยทั่วไป 2. โดยเสมอภาค 3. โดยตรง 4. โดยลับ 5.โดยเสรี
เลือก(เอาไป) ตั้งเป็นตุ๊กตา(ผี)/หุ่นเชิด/หุ่นยนต์
เป็นสิ่งที่น่าเจ็บปวดใจของประชาชนซึ่งสะท้อนผ่านสื่อคือ ก่อนได้เป็น ส.ส. มาหาเสียงในนามของ “มนุษย์ที่มีหัวใจและจิตวิญญาณ” แต่ไฉนเมื่อได้เข้าสภาไปเป็น ส.ส. หรือ รัฐมนตรี แล้ว “กลายเป็นตุ๊กตาและหุ่นยนต์ที่ไร้หัวใจและจิตวิญญาณ”
จากที่ยกมือไหว้ประหลก ๆ ขอคะแนน พร้อมให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ นานา ตามนโยบายที่เลิศหรูดูดี๊ดี กลายเป็นผู้ที่เราจะต้องยกไหว้ขอความช่วยเหลือ บางครั้งถ้าโชคดีหน่อยกว่าจะได้รับการช่วยเหลือและเห็นใจจากบรรดาท่านทั้งหลาย เลือดตาประชาชนอย่างเราแทบกระเด็น
จากที่เคยขอจับไม้จับมือเรา เซลฟี่แบบแนบแก้ม ประชิดติดตัว กลายเป็นคนที่เข้าถึงยาก มีลิ่วล้อบอดี้การ์ด ทหาร ตำรวจ ล้อมหน้าล้อมหลัง (ช่วงหาเสียงมีไม่กี่คนเข้าถึงตัวชนิดกอดคอหอมแก้มกันได้โดยไม่มีทีท่าจะรังเกลียด) คอยกั้นไม่ได้พวกเราได้ถึงตัว ท่าน ๆ ก็เริ่ด ๆ เชิด ๆ (เชิด 9 เชิด 10) แค่มองด้วยหางตา ประหนึ่งว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 หากเข้าพบต้องทำเรื่องยิ่งกว่าฝ่าด่าน 18 อรหันต์
จากที่เคยเรียกว่า พ่อ แม่ พี่ ลุง ป้า น้า อา เสมือนวงศาคณาญาติสนิทแบบโคตร ๆ ก็กลายเป็นคนแปลกหน้า-คนหน้าแปลก ราวไม่เคยรู้จักกันมากัน แค่ทักทายก็ไม่อยากจะทำให้เสียเวลา
จากกัลยาณมิตรที่ดีแบบสุดประทับใจ กลายเป็นเหมือนศัตรูคู่อาฆาตมาแต่ชาติปาไงไหน
สรุปคือ บางท่านที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนถูกแปลงร่างเป็น ตุ๊กตา หุ่นยนต์ที่ถูกป้อนโปรแกรมห่วย ๆ เหมือนกันหมด เป็นหุ่นให้ตัวใหญ่นายทุนเชิดกันสุดฤทธิ์สุดเดชประเทศไทย ไร้ซึ่งหัวใจและจิตวิญญาณ
เลือก (เอาสัญญาไป) ตั้งบนโลกพระจันทร์
“…ไม่เคยสัญญิงสัญญาอะไรสักที รักกันแล้วดีก็ไปได้นาน ถ้าใจของเราต้องมาเปลี่ยนไปสักวัน
จะทนรักกันได้นานเท่าไร…” (เพลงใครสัญญิงสัญญา/แหวน ฐิติมา)
“…จากปากช่องมาเจ้าลืมสัญญาสองเรา เมื่อสายัณห์ ก่อนเคยรัก ใจพักไม่เปลี่ยนผัน
ทำไร่ใกล้กัน จนตะวันตกดิน…” (เพลงสัญญาเมื่อสายัณห์/ไท ธนาวุฒิ)
“…หากแผ่นดิน ไม่ฝังกาย จะสุขจะทุกข์เพียงใด น้อมกายยิ้มสู้ฟันฝ่า ร้อยรัดดวงใจ มั่นในคำสัญญา สร้างสรรค์เพื่อมวลประชา นี่คือสัญญาของเรา…” (เพลงคำสัญญา/อินโดจีน) จากตัวอย่างบทเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “คำสัญญา” ของศิลปินต่าง ๆ ที่ยกมาข้างต้น เราในฐานะประชาชนคนตา ๆ ดำ ช่วยกันระดมร้องให้คอแทบแตกเพียงใด ก็ไม่ได้สะเทือนใจท่าน ๆ บางคน เพราะสัญญาต่าง ๆ มากมายก่ายกองที่ให้ไว้ตอนช่วงหาเสียง เอาไปเก็บไว้ที่โลกพระจันทร์ หาจะดูว่ามีอะไรบ้างนั้นต้องนั่งเกวียนไปดู กว่าจะไปถึงกี่รัฐบาลกี่ชาตแล้วก็ไม่รู้ มีนางงามท่านหนึ่งตอบคำถามบนเวทีในรอบสัมภาษณ์ไว้ได้อย่างน่าสนใจคือ พรรคไหนไม่ทำตามนโยบายที่ได้ให้คำ “สัญญา” กับประชาชนเอาไว้ แต่ไม่ได้ทำครบทุกข้อจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม (โดยไม่มีข้อแก้ตัว) จะต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองแบบยกพรรค เป็นระยะเวลา 5 ปี 10 ปี ก็ว่าไป หรือถ้าสถานหนักหน่อยคือให้ “ยุบพรรค” ไปเลย
เลือก (เอาไป) ตั้งงบโกงกิน
คำว่า “โกง” หากเอาไปใช้ในทางการเมืองมักนิยมเรียกกันว่า “คอรัปชั่น” (Corruption) จากคำพูดของบางคนในพรรคการเมืองที่ว่า “ช่วงเลือกตั้งทุ่มเงินไปเยอะ เข้าสภาได้เมื่อไหร่ต้องถอนทุนคืน” ลงทุน เช่น การซื้อขายเสียงและการให้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆในการเลือกตั้ง มีการให้เงิน สิ่งของ แก่หัวคะแนนเสียง เมื่อเป็นดังนั้นแล้วจึงเกิดการคอรัปชั่นขึ้นมา
“คอรัปชั่น หมายถึง ความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันได้แก่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ, ความผิดที่เกี่ยวกับความยุติธรรม และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการบุติธรรม ซึ่งกล่าวง่ายๆ คือ การกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรชอบได้ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น”
แต่เดิมนอกจากถอนทุนคืน เพราะเหตุผลอย่างเดียวคือ ลงทุนไปกับการเลือกตั้งเยอะแล้ว พอได้เป็น “หนูตกข้าวสาร” แล้วก็มีเหตุหรือแรงจูงใจในการคอรัปชั่นเพิ่มขึ้นมาอีก อาทิ
- คนในสังคมส่วนใหญ่ นับถือความร่ำรวย ย่อมเป็นแรงจูงใจในการแสวงหาเงินทอง 2. ค่านิยมแบบนิยมพวกพ้องและเครือญาติ ความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ 3. ระบบอุปถัมภ์หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับลูกน้อง สร้างลูกน้องไว้ช่วยเหลือตนในเรื่องต่าง ๆ 4. ระบบการควบคุมและตรวจสอบที่ขาดประสิทธิภาพ และ 5. สภาพทางการเมืองที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น เพื่อช่วงชิงตำแหน่งทางการเมืองและผลประโยชน์
สำหรับรูปแบบการคอรัปชั่นเมื่อเข้าสู่สภาไปนั่งเก้าอี้ดูแลงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบ ที่นิยมกัน ได้แก่การทุจริตในการซื้อจัดจ้าง การทุจริตในเรื่องเหล่านี้มีตั้งแต่การเรียกรับเงินสินบน ค่านายหน้า หรือการตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ในการอนุมัติคำร้องเพื่อดำเนินกิจการต่าง ๆ การทุจริตโดยการยักยอกทรัพย์ ของทางราชการหรือการทุจริตในการเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล และค่าเช่าบ้าน เช่น การใช้พาหนะของราชการ โดยเบิกค่าพาหนะ หรือการเบิกเบี้ยเลี้ยงเกินวันเวลาที่ปฏิบัติจริง หรือ การเบิกค่าเช่าบ้าน แต่ไม่ได้เช่าบ้านจริต การทุจริตโดยการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นในการแต่งตั้งข้าราชการ ในการเลื่อนตำแหน่งหรือการโยกย้ายไปในพื้นที่ ที่อยากไป โดยการให้ค่าตอบแทน หรือเรียกว่าการซื้อ
ข้อคิดเมื่อเลือก (เอาไป) ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน
“ตั้งเอ๋ยตั้งไข่
จะตั้งไยไข่กลมก็ล้มสิ้น
ถึงว่าไข่ล้มจะต้มกิน
ถ้าตกดินเสียก็อดหมดฝีมือ
ตั้งใจเรานี้จะดีกว่า
อุตส่าห์อ่านเขียนเรียนหนังสือ
ทั้งวิชาสารพัดเพียรหัดปรือ
อย่าดึงดื้อตั้งไข่ร่ำไรเอย”
จากบทดอกสร้อยหรือบทอาขยาน “ตั้งไข่ล้ม ต้มไข่กิน” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) โดย กิเลน ประลองเชิง คอลัมนิสต์ชื่อดังในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ไทยรัฐได้แสดงทัศนะเอาไว้ว่า
“…2 บาทที่ว่า ถึงว่าไข่ล้มจะต้มกิน ถ้าตกดินเสียก็อดหมดฝีมือ พยายามทำความเข้าใจว่า แม้การเล่นตั้งไข่ จะไม่เป็นผล คือ ตั้งไข่ไม่ได้ แต่ยังต้มกินได้ ระวังอย่าให้ไข่ตกดินก็แล้วกัน เพราะ เป็นการเสียทั้งของ (ไข่) เสียทั้งฝีมือ
บทดอกสร้อยบทนี้ ผู้ใหญ่ตั้งใจสอนเด็ก เอาเวลาไปเรียนหนังสือดีกว่า อย่าพยายามทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ตัวอย่าง การเอา ส.ส.ร้อยพ่อพันแม่จากหลาย ๆ พรรคมาร่วมตั้งรัฐบาล จะมั่นใจว่า ส.ส. ทุกคน จะอยู่ในแถวในแนว เหมือนหัดทหาร ทุกปาก ปากหัวหน้า พรรค ปาก ส.ส. กระทั่งปากผู้นำ พูดประโยคเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชน แต่เอาเข้าจริง ประชาชนมีความต้องการต่าง ๆ กันข้อเรียกร้อง ความต้องการ จึงเพิ่มเติมได้ทุกเวลา…”
ส่วนในเว็บ Dek-D ก็ได้ให้ข้อคิดไปอย่างคมกริบว่า เราเริ่มต้นจากความไม่รู้ เราจึงต้องเรียนรู้
เราเริ่มต้นจากความไม่มี เราจึงต้องทำให้มี เรารู้ว่าเรามีปัญหา เราก็ต้องแก้ปัญหาด้วยปัญญา “ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน ถ้าไข่ตกดินอดกินไข่เอย”
ข้อคิดจากบทอาขยานเตือนให้เราต้องก้าวเดินด้วยความระมัดระวัง เมื่อเราล้มและลุกช่วยทำให้เราเดินคล่อง การเรียนรู้ถูกผิด learning by doing ก็ทำให้เราแกร่งขึ้น
ถ้า ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่อยู่ในเล้า เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้เพื่อเติบใหญ่ เราจึงมั่นใจว่าการเริ่มต้นที่ดี ก็จะทำให้ทุกอย่างดีตามไปด้วย ก้าวแรกจึงสำคัญที่สุด เราจึงต้องคิด คิด และคิด เราทำ ทำ และทำ เพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้น
เลือกตั้งเพื่อ “ส่งเสริมคนดีได้ปกครองบ้านเมือง”
และนี้คือบทสรุปสำคัญของสกู๊ปนี้คือ เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 สำนักพระราชวังออกประกาศสำนักพระราชวังความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เลขาธิการพระราชวังอัญเชิญพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2532 ความตอนหนึ่งว่า
“ขอให้ทราบถึงสิ่งสำคัญในการปกครองไว้ว่า ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
ทั้งนี้ ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนในชาติ ตลอดจนข้าราชการทุกหมู่เหล่า ทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร และตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงของประเทศชาติและบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ได้ทบทวนและตระหนักถึงพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานไว้ ด้วยทรงมีความห่วงใยในความมั่นคงของประเทศชาติ ความรู้สึกและความสุขของประชาชน จึงได้พระราชทานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และเป็นการเตือนสติ ให้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความสมัครสมานสามัคคี ความมั่นคงของชาติบ้านเมือง และความสุขของประชาชน เป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงรักและทรงห่วงใยในชาติบ้านเมือง และประชาชนมาโดยตลอด”