Digiqole ad

เพื่อไทยอภิปรายญัตติการตั้ง กมธ.ศึกษานิรโทษกรรม เพื่อให้ตัวแทนพรรคการเมืองและภาคประชาชนมีส่วนร่วมศึกษาถึงกฏหมายนิรโทษกรรม หาฉันทามติสังคม ปลดโซ่ตรวนขัดแย้งของสังคมไทย

 เพื่อไทยอภิปรายญัตติการตั้ง กมธ.ศึกษานิรโทษกรรม เพื่อให้ตัวแทนพรรคการเมืองและภาคประชาชนมีส่วนร่วมศึกษาถึงกฏหมายนิรโทษกรรม หาฉันทามติสังคม ปลดโซ่ตรวนขัดแย้งของสังคมไทย
Social sharing

Digiqole ad
สส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรค นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อและกรรมการบริหารพรรค และนางสาวชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ดและรองโฆษกพรรค ร่วมอภิปรายในญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ต่อสภาผู้แทนราษฏรว่าประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จมอยู่กับความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงและซึมลึกมายาวนาน จนผ่านเหตุการณ์ทั้งรัฐประหาร การสลายการชุมนุม จนมีพี่น้องประชาชนตกเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง หรือนักโทษทางการเมือง และหลายคนต้องลี้ภัยทางการเมืองไป และแม้หลายครั้งจะมีความพยายามในการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมไทยได้เดินหน้า แต่กลับกลายเป็นชนวนพาผู้คนในชาติทะเลาะเบาะแว้งและเห็นต่างขึ้นรอบใหม่ จึงเห็นสมควรที่ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายตัวแทนพรรคการเมืองและบุคคลภายนอก นักวิชาการ และภาคประชาชน ควรได้มีส่วนร่วมคิดศึกษาถึงกฏหมายนิรโทษกรรมนี้อย่างละเอียดในทุกมิติอย่างระมัดระวัง เพื่อนำไปสู่ฉันทามติที่ทุกฝ่ายที่เห็นต่างจะพร้อมยอมรับเพื่อปลดโซ่ตรวนขัดแย้งของสังคมไทยในที่สุด
.
[ปลดโซ่ตรวนสังคมไทย คลี่คลายความขัดแย้ง]
.
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล กล่าวว่าสังคมไทยผ่านช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วอย่างรุนแรงและซึมลึกอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ตั้งแต่
.
สงครามเสื้อสี
การรัฐประหาร 19 กันยา 49
การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.
การรัฐประหาร 22 พฤษภา 57
มาจนถึง การชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อปี 63 – 64
.
ในช่วงเวลาของความขัดแย้งหลายระลอก มีประชาชนจำนวนมากได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองเพื่อแสดงความคิดเห็น ในขณะที่มีประชาชนอีกจำนวนมากเช่นกันได้ออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนน โดยมีเหตุผลและแรงจูงใจทางการเมือง แต่เขาเหล่านั้นกลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกคุกคาม เพื่อปิดปากและจำกัดสิทธิเสรีภาพ ด้วยกฎหมายของรัฐ ซึ่งนักวิชาการเรียกสภาวะแบบนี้ว่า “นิติสงคราม”
.
ภายใต้นิติสงครามที่รัฐไทยดำเนินกับประชาชนคนไทยต่อเนื่องมายาวนานเกือบ 20 ปี ส่งผลให้ในปัจจุบัน มีประชาชนจำนวนมากที่ถูกรัฐทำให้กลายเป็น “ผู้ต้องหาทางการเมือง” เป็น “นักโทษทางการเมือง” เป็น “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง”
.
คำถามคือ สังคมไทยจะเดินหน้าอย่างมั่นคงและมีเอกภาพได้อย่างไร หากเราหันกลับไปมองข้างหลังแล้วยังเห็นคนไทยร่วมชาติถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนทางกฎหมายและถูกขังให้อยู่ในเรือนจำอีกจำนวนมาก
คำถามคือ เราจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร เมื่อเราหันกลับไปเห็นภาพของเยาวชนจำนวนมาก คนที่เป็นอนาคตของชาติ ต้องเดินขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีอีกหลายปี ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอีกหลายปี ต้องลี้ภัยออกไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองอีกหลายปี แทนที่พวกเขาจะได้เติบโตและใช้ศักยภาพที่มีมาร่วมกันพัฒนาประเทศของเรา
.
เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ หนึ่งในวาระหลักที่ได้ประกาศไว้กับพี่น้องประชาชน คือ การคลี่คลายความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและเป็นโซ่ตรวนที่พันธนาการสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
.
ซึ่งหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดโซ่ตรวนดังกล่าวได้ คือ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อลบล้างความผิดให้กับประชาชนทุกฝ่ายที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวด้วยแรงจูงใจทางการเมือง แต่กลับถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายต่างๆ
.
“การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพาสังคมไทยเดินต่อไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่า เราทุกคนสามารถทะเลาะ เห็นต่าง ขัดแย้ง ภายในกรอบของกติกาได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกคุกคามหรือปิดปากด้วยกฎหมายอีกต่อไป” นางสาวขัตติยา กล่าว
.
[ไม่ปลุกเร้าความเห็นต่าง]
.
นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ กล่าวว่าการนิรโทษกรรมในวันนี้ จึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่จะเป็นทางออกสำหรับความขัดแย้งในการเมืองไทยที่ฝังรากลึกมานับทศวรรษ นี่คือเวลาที่เหมาะสมของสังคมการเมืองไทย ที่จะจดจำ เรียนรู้ และก้าวผ่านจากความขัดแย้งเดิม สู่ความปรองดองสมานฉันท์
.
พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการนิรโทษกรรมควรเป็นนิมิตหมายของการสร้างความปรองดองของคนในชาติ ไม่ควรเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ เราคิดว่าคณะกรรมาธิการ ควรประกอบด้วยผู้แทนพรรคการเมือง และบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม เพื่อให้ได้รับฟังความเห็นอย่างทั่วถึง
.
ดังนั้น จึงต้องขอย้ำเจตนารมณ์ของ สส. พรรคเพื่อไทยว่าต้องการให้มีการศึกษาโดยละเอียดรอบคอบ ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างกฎหมาย ให้เป็นไปเพื่อจัดการปัญหาทางการเมืองโดยเฉพาะเจาะจง และที่สำคัญ ไม่ใช่เพื่อปลุกเร้าความเห็นต่าง และก่อชนวนความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ จึงจำเป็นต้องกราบเรียนไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรนี้เพื่อขอสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตรากฎหมายนี้
.
[ร่วมแก้ไขปัญหา ภายใต้กติกาที่ชอบธรรม]
.
นางสาวชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด กล่าวว่าในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา มีประชาชนออกไปต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมือง ผ่านไปหลายปีก็ยังต่อสู้กับคดีทางการเมืองนี้อยู่ ถ้าเราไม่คิดหาทางคลี่คลายแก้ไข นั่นหมายความว่า สังคมนี้ยังมีคนยุคหนึ่ง ที่จะอยู่กับการขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกจองจำกักขัง แบบนี้ไปอีกนานหลายสิบปี ซึ่งไม่น่าใช่สัญญาณบวก และจะเป็นบาดแผลทางความคิดกันต่อไปอีก
.
การหาทางคลี่คลายแก้ไขร่วมกันตั้งแต่วันนี้ และสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง กลายเป็นเรื่องของความเผชิญหน้า หรือเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง เรามาช่วยกันนำพาประเทศกลับไปยืนอยู่จุดที่ตั้งต้นกันใหม่ มีทิศทาง ทางการเมืองที่ใครมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ เห็นแย้งกันได้ แต่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ภายใต้กติกาที่ชอบธรรม
ที่มา : เพจพรรคเพื่อไทย
Facebook Comments


Social sharing

Related post