Digiqole ad

เพลงตลกคำเมืองคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่มากไปกว่าความขำขัน

 เพลงตลกคำเมืองคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่มากไปกว่าความขำขัน
Social sharing

Digiqole ad

                                                                        เพลงตลกคำเมืองคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่มากไปกว่าความขำขัน

รองศาสตราจารย์เอกธิดา เสริมทอง

อาจารย์ และกรรมการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต

คณะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต

31 พ.ค. 2567

 

การสื่อสารด้วย “บทเพลง” ถือเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรู้สึกโดยใช้เนื้อหา(Message) และท่วงทำนอง(Melody) เป็นสื่อ  สื่อสารไปยังผู้รับสารให้ได้รับแง่คิดรวมถึงรับความรู้สึกต่างๆ ที่ถูกถ่ายทอดจากผู้ประพันธ์ในฐานะผู้ส่งสาร (Sender) ผู้ประพันธ์เพลงมีบทบาทสำคัญในการเรียบเรียงเนื้อหา เรื่องราวจากจินตนาการ และแรงบันดาลใจ ถ่ายทอดความรู้สึก อารมณ์ ความคิด จากสภาพแวดล้อม และเหตุการณ์ที่ได้จากประสบการณ์ และการดำเนินชีวิตในสังคม เพลงจึงเปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนความคิดอ่าน ของผู้ประพันธ์รวมทั้งยังมีส่วนสะท้อนสภาพสังคมในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี

ในแง่ของคุณค่า “เพลง” ถือเป็นสื่อปรุงแต่งที่เคียงคู่กับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด จนเติบโตในแต่ละช่วงวัยจบจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ เพลงเป็นสื่อที่ดีดังนั้นจึงถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์หลายอย่างเช่น เพื่อการบำบัดรักษาโรคทางอารมณ์ ไม่เว้นแม้แต่ในการเรียนการสอน เพลงช่วยทำให้เด็กมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนการสอน เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เรียนรู้ได้อย่างมีความสุข ควบคู่กับการได้รับความรู้  จึงอาจกล่าวได้ว่าบทเพลงมิใช่มีคุณค่าเพียงด้านความบันเทิงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสิ่งช่วยปรุงแต่งชะโลมจิตใจของมนุษย์ และมีส่วนชี้นำกล่อมเกลาจิตใจมนุษย์ให้ดำเนินไปตามครรลองชีวิตอีกด้วย

ในประเทศไทย คนแต่ละภาคมีภาษาที่ใช้ในการสื่อสารเป็นการเฉพาะถิ่น เรียกว่า ภาษาไทยถิ่น หรือภาษาท้องถิ่นแบ่งเป็น ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาไทยถิ่นกลาง และภาษาไทยถิ่นใต้ นิยมเรียกสั้นๆ ว่า ภาษาเหนือ ภาษาอีสาน ภาษากลาง และภาษาใต้ ภาษาไทยถิ่นใช้ในการพูดเพื่อการสื่อสารมากกว่าการเขียนเพื่อการสื่อสาร ภาษาแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันด้านการออกเสียง การใช้คำ และความหมาย ด้วยภาษาถิ่น เป็นภาษาย่อยที่ใช้พูดจากันในท้องถิ่นจึงสื่อความหมาย และสร้างความเข้าใจกันระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ แตกต่างไปจากภาษามาตรฐาน หรือภาษากลางที่คนส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศใช้กัน ภาษาถิ่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงถึงเอกลักษณ์ ลักษณะความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นของแต่ละภาค มากไปกว่านั้นหากพื้นที่ของผู้ใช้ภาษานั้นกว้าง ก็จะมีภาษาถิ่นที่หลากหลาย แตกย่อยลงไปอีก เช่นภาษาถิ่นใต้ ก็มีภาษาสงฃลา ภาษานคร ภาษาตากใบ ภาษาสุราษฎร์ ส่วนภาษาถิ่นเหนือ หรือคำเมือง หรือ กำเมือง ราชการไทยเรียก ภาษาถิ่นพายัพ เป็นภาษาถิ่นของชาวไทยวนทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และพะเยา และยังมีการพูดและการผสมภาษากันในบางพื้นที่ของจังหวัดตาก  สุโขทัย และเพชรบูรณ์  คำเมืองยังสามารถแบ่งออกเป็นสำเนียงล้านนาตะวันตก ใช้ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน และสำเนียงล้านนาตะวันออก ใช้ในจังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันคือ สำเนียงล้านนาตะวันออกส่วนใหญ่จะไม่พบสระเอือะ เอือ แต่จะใช้สระเอียะ เอียแทน อย่างไรก็ดีภาษาถิ่นทุกภาษา มีความสำคัญในสังคมไทย เป็นภาษาที่บันทึกเรื่องราว ประสบการณ์ และวัฒนธรรมทุกแขนงของท้องถิ่น และถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย

การใช้ภาษาถิ่นในเพลงถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประพันธ์เพลงที่ผสมผสานความเป็นท้องถิ่น ถ่ายทอดเนื้อหาเพลงให้เกิดอัตลักษณ์ และสร้างเสน่ห์ให้เพลงมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร หลายๆเพลงกลายเป็นเพลงฮิตไม่เพียงแต่ในท้องถิ่น และกลับได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ฟังทั่วประเทศ สร้างชื่อเสียงให้ศิลปินผู้ขับร้องเพลง รวมไปถึงนักแต่งเพลงท้องถิ่น อาทิ เพลงภาษาถิ่นภาคเหนือทำให้ศิลปินจรัล มโนเพ็ชร ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง และนักแสดง เป็นที่จดจำ จากงานดนตรีที่มีเอกลักษณ์จากการสร้างสรรค์เพลงภาษาถิ่นเหนือในชุดโฟล์กซองคำเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จวบจนปัจจุบันที่แม้จรัล มโนเพ็ชร จะเสียชีวิตไปแล้วแต่บทเพลงของเขาก็ยังสร้างความประทับใจไม่เสื่อมคลาย ทั้งนี้รวมไปถึงคู่ขวัญที่มักร้องเพลงคู่กันอย่างสุนทรีเ วเชานนท์ และส่งต่อผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นเพลงภาษาถิ่นภาคเหนือมาสู่คนรุ่นลูกอย่างลานนา คัมมินส์ ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันเสียงต้อบรับเพลงภาษาถิ่นภาคเหนือในกลุ่มคนรักเสียงเพลงได้อย่างปฏิเสธไม่ได้

วิฑูรย์ ใจพรหม เป็นหนึ่งในศิลปินเพลงแห่งล้านนา ผู้เป็นเจ้าของผลงานประพันธ์เพลงคำเมืองล้านนาที่สอดแทรกเนื้อหาตลกขบขันจากสถานการณ์ต่างๆไว้ในบทเพลง ชณิชา ปริสัญญกุล (2556) กล่าวถึงวิฑูรย์ ใจพรหมว่าถือเป็นนักร้องเพลงตลกคำเมืองเต็มรูปแบบคนแรกของประเทศไทย ผลงานประพันธ์และขับร้องเพลงในสไตล์แบบวิฑูรย์มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในการให้ความบันเทิง ตลอดจนสร้างเสียงหัวเราะ ด้วยทั้งเนื้อหาเพลง และลีลาการขับร้องเพลงที่โดนเด่นไม่เหมือนใคร กว่า 46 ปีที่คร่ำวอดอยู่ในวงการเพลงภาษาถิ่นภาคเหนือด้วยผลงานกว่า 19 อัลบั้มรวมผลงานเพลงได้กว่า 400 เพลง มีส่วนช่วยให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าของภาษาท้องถิ่น และร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษาผ่านบทเพลงคำเมือง

ผลงานด้านการประพันธ์เพลงผลงานของวิฑูรย์ ใจพรหมสะท้อนคุณค่าทางวรรณศิลป์จากบทเพลงตลกคำเมือง 4 ด้านประกอบด้วย ด้านภาพพจน์ หมายถึงการใช้ถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเกิดภาพขึ้นในใจ ผู้ประพันธ์เพลงอาจใช้วิธีที่ทำให้เพื่อให้เกิดภาพพจน์ด้วยวิธีต่างๆ กัน เช่น

1) การอุปมา หมายถึงการใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่งเช่น เดินโซเซเหมือนปูเดินหลงในทุ่ง (จากเพลงน้ำเปลี่ยนนิสัย) ตกในก๋องไฟนอนในกองฟอน(จากเพลงนักเลงสามจังหวัด) เวลานั่งเมียยังเหมือนอึ่งอ่างยืน ท้องเธอลายเหมือนสักยันต์ (เพลงวางแผนเลิกเมีย)

2) อุปลักษณ์ หมายถึงการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่นเพลงชุมทางบันเทิงมีการใช้อุปลักษณ์แบบไม่ปรากฏคำ เปรียบเทียบดาวรุ่งหมายถึงนักร้องที่มีชื่อเสียง  เพลงเขียดจี่เปรียบเทียบดนตรีเป็นเพื่อน เป็นต้น

3) บุคลาธิษฐานหรือบุคคลวัต หมายถึงการสมมุติให้สิ่งไม่มีชีวิตทำกิริยาหรือมีความรู้สึกนึกคิดอย่างมนุษย์ เช่น ในเพลงชุมทางลูกทุ่ง วิฑูรย์ใช้คำว่า เสียงลื่นไหล ซึ่งหมายถึงการออกเสียงที่ไม่ติดขัด ฟังเสนาะหู เพลิดเพลินมาอธิบายเสียง เป็นต้น

4) สัทพจน์ หมายถึงคำเลียนเสียงธรรมชาติ ฝน ฟ้า ลม เช่นเพลงผัวเมียอลเวง ใช้สัทพจน์ ตุ๊บตั๊บ เลียนเสียงตบตีทะเลาะกันลงไม้ลงมือกัน และเพลงน้ำเปลี่ยนนิสัย ใช้เสียง แหะ แหะ แหะ เป็นสัทพจน์เลียนเสียงหัวเราะ เป็นต้น

นอกจากนี้คุณค่าทางวรรณศิลป์ด้านการใช้คำถามเชิงวรรณศิลป์ ในเพลงชีวิตน้องก้อย วิฑูรย์ใช้คำถามเชิงวรรณศิลป์ในบทเพลงว่า จะไดเสียงเธอนั้นแก่  เพลงนักเลงสามจังหวัดใช้คำถามเชิงวรรณศิลป์ว่า ทำตัวอวดเก่งอยากเป๋นนักเลงใช่ไหม และเพลงเมียสามออ ใช้คำถามเชิงวรรณศิลป์ว่า จะผ่อตี้ไหน / เมียบ่างามไปได้ไหนมา เป็นต้น

คุณค่าทางวรรณศิลป์ด้านการเล่นคำ หมายถึงการนำถ้อยคำมาเล่นพลิกแพลงให้เกิดความหมายพิเศษ เกิดภาพ เกิดเสียงไพเราะ ตัวอย่างเช่น เพลงหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล ใช้การพ้องเสียง ไวน์-วาย  และมีการใช้คำหลากความหมายเช่น เพลงเมียสามออ ใช้คำว่า ตั๋ว เป็นคำเมืองหมายถึงร่างกาย และ ตั๋ว เป็นคำเมืองหมายถึงตัวเอง และคำว่า เต้า หมายถึงเท่า และ เต้า หมายถึงบะเต้า (เป็นคำเมืองใช้เรียกผลไม้แตงโม) นอกจากนี้วิฑูรย์ยังนิยมใช้การซ้ำคำ ทั้งที่ใช้เครื่องหมายไม้ยมก(ๆ) เช่น แต๊ๆ และไม่ใช้ไม้ยมก (ๆ)

ท้ายสุดคุณค่าทางวรรณศิลป์ด้านการเล่นเสียง หมายถึงการนำเสียงสัมผัสพยัญชนะ สัมผัสสระ และเสียงวรรณยุกต์มาเล่นเพื่อให้เกิดความไพเราะ เช่น เพลงสามขุนพลขี้เมาใช้สัมผัสพยัญชนะในวรรค ได้แก่ พอลุงเริ่มแก่ตั๋วเข้าบ่าเดี่ยวกิ๋นเหล้าแต่เจ๊าจดเย็น และ น้องกิ่งเอาเหล้ามาสองตองหนังปองนึ่งถุง และเพลงชีวิตน้องก้อย มีการใช้สัมผัสสระนอกวรรค เช่น เมื่อตะวันซืน   ผมไปยืนตี้ป้ายรถเมล์ และ ผมนี้ตกไจ๋   ก้มลงไปเพราะความไข้ฮู้  เพลงเมาไม่ขับมีการเล่นเสียงวรรณยุกต์  เรา-เหล้า ในวรรค เอาเครื่องให้เราเป่ากลิ่นเหล้าโชยมา และเพลงเห็ดถอบมีการเล่นเสียงวรรณยุกต์ หนุ่ม-นุ่ม ในวรรค ถ้าหากมันหนุ่มผิวมันนุ่มขาวจั๊วกิ๋นลำ

อย่างไรก็ดี ในผลงานเพลงตลกคำเมืองของวิฑูรย์ ใจพรหม ยังมีการใช้คำอุทานมาเป็นส่วนหนึ่งในลีลาการประพันธ์บทเพลง โดยปรากฏในแทบทุกบทเพลง เช่นคำว่า เอ้า เอ่า เอ้ย อื้ย เอาะ โอ้ย อุ้ย โห โหย เห้ย ห๊า และโห๊ะ ยกตัวอย่างเช่น เพลงเพลงผัวเมียอลเวง ในท่อนพูด “จ้วยน้อย จ้วยน้อยเตอะ โอ้ย ปู่ทองซ้อมข้า” เป็นต้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการใช้คำอุทานช่วยสร้างอรรถรสความบันเทิง ให้ความเป็นธรรมชาติของภาษาพูดคำเมือง และช่วยให้บทเพลงตลกคำเมืองของวิฑูรย์ ใจพรหม “ม่วนแต๊ ม่วนว่า เป๋นดีไข่หัว” อีกด้วย

หมายเหตุ  บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์การประพันธ์เพลงตลกคำเมืองของวิฑูรย์ ใจพรหม”

โดยเอกธิดา เสริมทอง (2566) งานวิจัยคณะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต.

 

ข้อมูลอ้างอิง

ชณิชา ปริสัญญกุล. (2556). การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบและเนื้อหาเพลงคำเมืองของวิฑูรย์ ใจพรหม

และเหินฟ้า หน้าเลื่อม. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่.

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post