
เปิดตัวกลุ่ม ‘ก้าวกรีน’ เดินหน้าบทบาทฝ่ายค้านเชิงรุก เคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม


‘ก้าวกรีน’ เป็นชื่อกลุ่ม สส.พรรคก้าวไกล ที่ติดตามและขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม ผลักดันวาระต่างๆ ผ่านกลไกทั้งในและนอกสภาฯ โดยกลุ่ม สส. เชิงประเด็นในพรรคก้าวไกล มีทั้งหมด 15 กลุ่ม แบ่งตามด้านต่างๆ เช่น ก้าวGeek ด้านดิจิทัล, ก้าวLearn ด้านการศึกษา เป็นต้น
.
เมื่อค่ำวานนี้ (22 ตุลาคม) พรรคก้าวไกลมีการจัดกิจกรรม ‘ก้าวกรีน DAY’ หัวข้อ PM2.5 ณ ลานจรัญ ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นการเปิดตัวกลุ่มก้าวกรีนอย่างเป็นทางการ

[ ‘ภัทรพงษ์’ สส.เชียงใหม่ เสนอแก้กฎหมายจัดการวิกฤติฝุ่น PM2.5 ทั้งระบบ ]
.
ในช่วงหนึ่งของกิจกรรม มีการเสวนาหัวข้อ ‘แนวทางการแก้ปัญหา PM2.5’ โดย เดชรัต สุขกำเนิด ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลและผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center), ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคก้าวไกล และ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนา
.
ภัทรพงษ์ กล่าวว่า แม้การมีสิ่งแวดล้อมที่ดี จะเริ่มได้ที่ตัวเรา แต่สุดท้ายการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง จำเป็นต้องไปจบที่สภาฯ สส. พรรคก้าวไกลโดยเฉพาะกลุ่มก้าวกรีน จะผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สภาฯ พิจารณา เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ระบบ
.
พร้อมกันนี้ ภัทรพงษ์ เปรียบการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เหมือนการสร้างตึก การพิจารณาร่างกฎหมายเปรียบเหมือนฐานรากของตึก ซึ่งจำเป็นต้องมีเสาเข็ม 3 ชุด ได้แก่


(1) ร่าง พ.ร.บ. ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ผู้ใดก่อให้เกิดฝุ่นพิษ ทำให้ผลกระทบกลับมายังประเทศ ผู้นั้นต้องมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา
– ผู้ประกอบการต้องมีการทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
– ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของกิจการข้าวโพดอาหารสัตว์ ต้องทำรายงานว่ารับข้าวโพดมาจากไหนและแหล่งที่มานั้นจัดการกับเศษวัสดุทางการเกษตรอย่างไร รายงานครอบคลุมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการแปรรูปและการขนส่ง
– รวมถึงต้องมีระบบแจ้งเตือนประชาชนเมื่อมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน เป็นเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง
.
(2) ร่าง พ.ร.บ.รายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการปล่อยมลพิษ และ (3) ร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ เพื่อปลดล็อกท้องถิ่นทั้งด้านอำนาจและงบประมาณ
.

.

.
ด้านเดชรัต กล่าวว่า ในช่วงนี้ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลับมาสร้างผลกระทบต่อประชาชนอีกครั้ง คนทำงานการเมืองมีความรับผิดชอบต่อลมหายใจของพี่น้องประชาชน ตนอยากเห็นการพูดคุยว่าแต่ละพรรคการเมืองจะผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร เหมือนกับช่วงก่อนเลือกตั้งที่ผ่านมา ขณะที่ วรรณสิงห์ กล่าวว่า การเข้าถึงอากาศที่ดีหรือน้ำสะอาด เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน หลังจากนี้ตนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรพูดคุยถึงเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

[ ปัญหาสิ่งแวดล้อม-ปัญหาปากท้อง ต้องแก้ไปพร้อมกัน ]
.
จากนั้น ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล บรรยายพิเศษ หัวข้อ ‘ขับเคลื่อนฝ่ายค้านเชิงรุก ปักธงสิ่งแวดล้อมก้าวหน้า’ ความตอนหนึ่งระบุว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย ไม่ใช่เรื่องของคนที่มีฐานะ ตนและฝ่ายนโยบายของพรรคก้าวไกลยืนยันว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อม กระทบคนจนมากกว่าคนรวย และปัญหาสิ่งแวดล้อมกับปัญหาปากท้อง ต้องถูกแก้ไขไปพร้อมกัน
.
การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือ (1) การกระจายอำนาจ (2) กระจายโอกาส และ (3) การแก้ปัญหาที่ต้นตอ
.
ในส่วนการกระจายอำนาจ แม้ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องมองในระดับโลก แต่ก็มีวิธีและรูปแบบการแก้ปัญหาในระดับไมโครหรือระดับท้องถิ่นด้วย ซึ่งจะทำไม่ได้หากไม่มีการกระจายอำนาจ ยกตัวอย่างการดับไฟป่าในระดับตำบล ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้ามีนโยบายให้ท้องถิ่นจัดการไฟป่าได้เอง จึงโอนอำนาจไปยังท้องถิ่น แต่กลับไม่โอนงบประมาณไปด้วย เพราะฉะนั้น ตนมองว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ต้องกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ และทรัพยากรบุคคลให้ท้องถิ่นไปพร้อมกัน
.
ต่อมาคือการกระจายโอกาส หมายถึงการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนแต่ละคนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น การลดการเผา สามารถสร้างแรงจูงใจให้มีการรับซื้อถ่านจากซังข้าวโพด หรือการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่อาจสร้างเศรษฐกิจและโอกาสใหม่ๆ และประการสุดท้ายคือการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เช่น การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก (cap and trade) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการลดการปล่อยก๊าซระหว่างภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลไทยต้องจริงจังเรื่องนี้มากขึ้น

[ พรรคก้าวไกลในฐานะแพลตฟอร์มออกแบบนโยบายสาธารณะ ]
.
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า สำหรับบทบาทของพรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุก นอกจากนี้หน้าที่หลักของ สส. ในการพิจารณาและออกกฎหมาย ตนอยากเห็นพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการออกแบบและผลักดันนโยบายสาธารณะ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงนำเสนอนโยบายในช่วงการเลือกตั้งเท่านั้น
.
โดยแพลตฟอร์มนี้ต้องการเพิ่มช่องทางให้พี่น้องประชาชนได้แสดงศักยภาพ มีอำนาจและบทบาทในการคิดและแก้ปัญหาร่วมกับพรรคก้าวไกล สามารถติดตามและวัดผลได้ เช่น ประชาชนชาวเชียงใหม่ ต้องสามารถติดตามความคืบหน้าของการทำงานที่ สส.เชียงใหม่พรรคก้าวไกล ร่วมกันทำ เป้าหมายปลายทางเพื่อให้พรรคก้าวไกล แม้เป็นฝ่ายค้าน สามารถผลิตนโยบายสาธารณะและมีรายละเอียดถึงระดับปฏิบัติการได้
.
ชัยธวัช ยังย้ำอีกว่า การทำงานเป็นฝ่ายค้านเชิงรุกที่พรรคก้าวไกลพยายามเสนอนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อล้มรัฐบาล แต่เพื่อเตรียมความพร้อมของพรรคสู่การเป็นรัฐบาลในอนาคต เราจะทำงานโดยยึดนโยบายเป็นตัวตั้ง ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล และผลักดันวาระก้าวหน้าผ่านกลไกสภาฯ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พรรคมีทีมทำนโยบายที่แข็งแกร่งตั้งแต่ระดับพื้นที่ เมื่อถึงวันที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้เราเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลจะมีนโยบายและความพร้อมในการบริหารประเทศ
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล













Facebook Comments