Digiqole ad

เที่ยวและมูคู่กัน EP:41 จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร เล่าเรื่อง “ศาลขวัญ-เรียม” อนุสรณ์สถาน ตำนานคู่รักแห่งคลองแสนแสบ (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับที่ 418 วันที่ 9-15 ก.พ.67)

 เที่ยวและมูคู่กัน EP:41 จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร เล่าเรื่อง “ศาลขวัญ-เรียม” อนุสรณ์สถาน ตำนานคู่รักแห่งคลองแสนแสบ (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับที่ 418 วันที่ 9-15 ก.พ.67)
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับที่ 418 วันที่ 9-15 กุมภาพันธ์ 2567

หน้า 31 คอลัมน์เที่ยวและมูคู่กัน EP:41/จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร

       “ศาลขวัญ-เรียม” อนุสรณ์สถาน

         ตำนานคู่รักแห่งคลองแสนแสบ

ที่เขียนถึงเรื่อง “ศาลขวัญ-เรียม” ในฉบับนี้เพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลวันแห่งความรัก “14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์” ศาลขวัญเรียม คืออนุสรณ์สถานตำนานแห่งความรักระหว่างฝ่ายชาย “ขวัญ” กับ ฝ่ายหญิง “เรียม” หนุ่มสาวแห่งคลองแสนแสบ โดยได้มีการนำเรื่องราวของ “แผลเก่า” (ตัวเอกของเรื่องคือ ขวัญ-เรียม) ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ “ไม้ เมืองเดิม” (ตีพิมพ์เมื่อ ปี 2479) มาถ่ายทอดทั้งในรูปแบบภาพยนตร์ (ครั้งแรก ปี 2483) และละคร (ครั้งแรก ปี 2507 ทางช่อง 4 บางขุมพรหม) ในชื่อเดียวกับบทประพันธ์มาแล้วหลายเวอร์ชั่น กวาดรางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติมามากมาย

ก่อนที่จะคุยเรื่องศาลขวัญ-เรียม ผมขอเล่าเรื่องราวของขวัญ-เรียมว่า ขวัญเป็นลูกชายนายเขียน ผู้ใหญ่บ้านบางกะปิ เรียมเป็นลูกสาวตาเรือง อยู่คลองแสนแสบ เรียมมีพี่ชายชื่อ เริญ น้องชายชื่อ รอด ตาเรืองแพ้คดีรุกที่นาที่ผู้ใหญ่เขียนฟ้องร้อง จึงเป็นอริกับผู้ใหญ่เขียนเสมอมา แต่ขวัญกับเรียมรักกัน และแอบไปมาหาสู่เพื่อแสดงความรักกันตลอดมา ขวัญสาบานต่อเจ้าพ่อไทรว่า จะรักและซื่อตรงต่อเรียมตลอดไป ขณะนั้น ครอบครัวเรียมตามมาพบ จึงจับเรียมกลับไป ล่ามเรียมไว้ไม่ให้ไปพบกับขวัญอีก ขวัญซึ่งคิดถึงเรียมก็ลักลอบมาหา ได้พบและทำร้ายจ้อย นักเลงซึ่งสนิทกับครอบครัวเรียมและหลงรักเรียมอยู่ ตาเรืองเห็นว่า จะห้ามปรามขวัญกับเรียมไม่ได้ จึงขายเรียมให้ไปเป็นคนใช้คุณนายทองคำ เศรษฐินีม่ายในบางกอก ด้วยราคาหนึ่งร้อยบาท

คุณนายทองคำเห็นเรียมหน้าตาน่ารักและละม้ายโฉมยง บุตรสาวที่เพิ่งตาย จึงเอ็นดูและเลี้ยงเรียมเหมือนลูก เรียมจึงมีชีวิตเหมือนผู้ดีอยู่ในบางกอก เรียมยังได้พบสมชาย ลูกของพี่ชายคุณนายทองคำ ซึ่งเป็นคนรักของโฉมยง สมชายก็เหมือนคุณนายทองคำที่เมื่อเห็นเรียมก็รักใคร่ คุณนายเห็นทั้งสองสมน้ำสมเนื้อกันก็ส่งเสริม แต่เรียมยังคงรักขวัญอยู่

สามปีผ่านไป ขวัญซึ่งไร้เรียมใช้ชีวิตเหมือนรอวันตายไปวัน ๆ เข้าใจว่า เรียมไปได้ดีในบางกอกจนลืมคนเคยรักคนนี้เสียแล้ว เวลานั้น นางรวย แม่ของเรียมป่วย เรียมจึงขออนุญาตคุณนายกลับบ้านเดิมเพื่อมาเยี่ยมไข้ นางรวยเมื่อลูกสาวมาหาได้ไม่นานก็สิ้นใจ เมื่อกลับมาแล้ว เรียมได้พบกับขวัญ และแสดงให้เขาเข้าใจว่า ยังรักกันไม่เสื่อมคลาย

หลังเสร็จงานศพนางรวย สมชายมาตามเรียมกลับบางกอก เพราะคุณนายทองคำล้มป่วยลงเช่นกัน เรียมสองจิตสองใจ ใจหนึ่งไม่อยากกลับเพราะรักขวัญ ใจหนึ่งก็คิดถึงอนาคตอันรุ่งโรจน์ที่บางกอก ขณะนั้น สมชายก็พร่ำพลอดรักเรียม ขวัญแอบมาได้ยินก็โกรธจนบ้าคลั่ง เข้าทำลายเรือที่คนทั้งนั้นจะใช้ไปบางกอก ผู้คนจึงออกติดตามจับขวัญ สมชายใช้ปืนยิงขวัญตาย เรียมจึงคว้ามีดของขวัญมาเชือดคอตัวเองตายตามขวัญไป

กลับมาเรื่องของ “ศาลขวัญ-เรียม” อยู่ใต้ต้นศาลไทรในตลาดขวัญ-เรียม จากข้อมูลที่สืบค้นมาระบุว่า เป็นศาลแห่งตำนานคู่รัก ของคลองแสนแสบ แห่งท้องทุ่งบางกะปิ และมีนบุรี มีหลายท่านมีความเชื่อกันว่าที่ ได้มาบนบานศาลกล่าว แล้วสมหวังดั่งที่ขอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก (สถานที่ติดอันดับผู้คนไปกราบไหว้ขอให้สมหวังความรัก)  ครอบครัว หน้าที่การงาน แม้กระทั่งโรคภัยไข้เจ็บ โดยของไหว้ศาลขวัญเรียมให้จุดธูป 3 ดอก นิยมถวายนํ้าแดง, ดอกไม้, ดอกบัว, พวงมาลัย, หุ่นรูปปั้นควาย และพอสมหวังจึงมาแก้บน ทั้งซื้อรูปปั้นควาย ชุดไทย ขลุ่ย น้ำแดง รวมไปถึง รำแก้บน ก็มากมาย

เนื่องจากศาลแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณตลาดน้ำขวัญ-เรียม ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทครอบครัวขนส่ง โดยเป็นตลาดน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณคลองแสนแสบ ตรง “วัดบำเพ็ญเหนือ” และ “วัดบางเพ็งใต้” ฝั่งที่มีศาลขวัญเรียมตั้งอยู่มีสะพานเชื่อมวัดทั้ง 2 วัด ที่อยู่คนละฝั่งกัน เมื่อไหว้ศาลขวัญเรียมเสร็จแล้วผู้คนจึงถือโอกาสเข้าไปทำบุญกันทั้ง 2 วัด ซึ่งใครจะทำบุญอะไร รูปแบบไหน มีให้เลือกทำได้หลากหลาย

สำหรับการเดินทางมาศาลขวัญ-เรียม หรือ ตลาดน้ำขวัญ-เรียมนั้น ถ้าหากทางรถยนต์สามารถเดินทางมาได้จากถนนเสรีไทย (วัดบำเพ็ญเหนือ) มีรถประจำทางสาย 27 และ ปอ.502 ส่วนอีกเส้นทางมาจากถนนรามคำแหง (วัดบางเพ็งใต้) มีรถประจำทางสาย 113 และ 58 ปอ.113 และ 514 ส่วนที่ตั้งคือ อยู่บริเวณคลองแสนแสบ ตรงวัดบำเพ็ญเหนือและวัดบางเพ็งใต้ สามารถเดินทางเข้าถึงทางรถยนต์จากซอยเสรีไทย 60 และ ซอยรามคำแหง 187 ตลาดเปิดทำการ : วันเสาร์ อาทิตย์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 18.00 น.

(ข้อมูลและภาพบางส่วน : วิกิพีเดีย,เพจ ตลาดขวัญ เรียม,  i am Em / Shutterstock.com ,อินเทอร์เน็ต)

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ฉบับที่ 418 วันที่ 9-15 กุมภาพันธ์ 2567

หน้า 31 คอลัมน์เที่ยวและมูคู่กัน EP:41/จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร

       “ศาลขวัญ-เรียม” อนุสรณ์สถาน

         ตำนานคู่รักแห่งคลองแสนแสบ

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๑๘ ระหว่างวันที่ ๙-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/wsyw/#p=31
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post