Digiqole ad

“เที่ยวและมูคู่กัน” EP:32 จิรัฏวัฒน์ ศิริบุตร เล่าเรื่อง สักการะ “เจ้าพ่อพะวอ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแม่สอด (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 409 วันที่ 8-14 ธ.ค.66)

 “เที่ยวและมูคู่กัน” EP:32 จิรัฏวัฒน์ ศิริบุตร เล่าเรื่อง สักการะ “เจ้าพ่อพะวอ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแม่สอด (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 409 วันที่ 8-14 ธ.ค.66)
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 409 วันที่ 8-14 ธันวาคม 2566

หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน/จิรัฏวัฒน์ ศิริบุตร

ตอนที่ 32 : สักการะ “เจ้าพ่อพะวอ”

 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแม่สอด

ถือเป็นการเดินทางมาเยือนครั้งแรกของผมที่ “อำเภอสอด จังหวัดตาก” ตามสโลแกนว่า “สุดปัจจิมที่ริมเมย” เนื่องจากแม่สอดเป็นอำเภอชายแดนที่ติดกับ “เมียวดี” หรือที่ชาวพื้นเมืองเรียก “บะล้ำบะตี๋” ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงของประเทศเมียนมา โดยมีแม่น้ำเมยกั้นกลาง และมีสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เชื่อมอยู่ด้วย

แต่เนื่องด้วยมีระยะเวลาจำกัด เพราะผมมีธุระด่วนที่ขับรถมาส่งเพื่อนสนิทมาทำผธุรกรรมเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ “อำเภอแม่ระมาด” ห่างจากอำเภอแม่สอดไป 30 กว่ากิโลเมตร แล้วต้องรีบกลับทันทีเพื่อมารับงานสำคัญที่กรุงเทพนครในเช้าของอีวันหนึ่ง  คือออกมาจากจากกรุงเทพฯ ประมาณ 5 ทุ่มกว่า แวะจุดพักรถที่แม่สอดก่อนที่จะมุ่งตรงไปยังแม่ระมาด ระยะทางกรุงเทพฯ-แม่สอด 512 กิโลเมตร และ แม่สอด-แม่ระมาด อีก 33 กิโลเมตร เบ็ดเสร็จจาก กรุงเทพฯ ถึงแม่ระมาด 545 กิโลเมตร ใช้เวลาในเดินทางแบบขับขี่ปลอดภัยทั้งสิ้นประมาณ 8 ชั่วโมง

โดยเส้นทางจากตัวเมืองตากเข้ามาสู่แม่สอด เขาว่ากันว่าเป็นเส้นทางปราบเซียน เพราะด้านหนึ่งก็เหว ส่วนอีกด้านก็ภูเขาหิน แต่ด้วยการเดินทางไปในช่วงค่ำคืน ซึ่งมองไม่เห็นทัศนียภาพสองข้างทาง แต่ผมก็ระวังเป็นอย่างมาก แต่โชคดีที่เพิ่งจะมีการขยายไหล่ทางเสร็จเรียบร้อยไปเมื่อไม่นาน พอขากลับในบ่ายแก่ ๆ เพิ่งจะได้เห็นวิวทิวทัศน์ 2 ข้างทางสวยงามมาก ๆ

แน่นอนว่า ด้วยระยะเวลาที่จำกัดจำเขี่ยมาก ๆ ผมจึงไม่พลาดที่จะหาสถานที่มูเพื่อนำมาเรื่องราวเล่าให้กับท่านผู้อ่านในคอลัมน์ “เที่ยวและมูคู่กัน” ของอีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปาดห์ในฉบับนี้ ผมทราบว่าแม่สอดเป็นบ้านเกิดของพี่ชาย “ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ” บรรณาธิการข่าวบางกอกทูเดย์ นั่นเอง ซึ่งบังเอิญพี่บ๊อบกลับมาเยี่ยมบ้านพอดีด้วย จากการสอบถามสถานที่มูของชาวแม่สอดหรือเทศบาลนครแม่สอดที่ให้ความเคารพแลศรัทธาเป็นอย่างมาหลายยุคหลานสมัย ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองคือ “เจ้าพ่อพะวอ”  ที่มีศาลใหญ่ตั้งอยู่เทือกเขาถนนธงชัยบนเนินดินเชิงเขาพะวอ บนถนนสายตาก-แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ 62-63 (ก่อนถึงแม่สอดประมาณ 17 กิโลเมตร) ในศาลรูปจำลองของท่านขนาดเท่าองค์จริงด้วยทองสำริด

ที่ด้วยการเดินทางในช่วงกลางคืนจึงไม่ได้สะดวกที่จะแวะเข้าไปสักการะบูชา เพื่อนสนิท (คนแม่ระมาด) ที่นั่งมาด้วยกันให้บีบแตร 3 ครั้ง แทนการเคารพต่อเจ้าพ่อพะวอ ผมจึงตั้งใจว่าขากลับในช่วงบ่าย ๆ จะแวะไปสักการะท่าน

ผมได้สืบค้นข้อมูลของเจ้าพะวอจากบันทึกประวัติศาสตร์-เล่าเรื่องถิ่นเหนือ มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก (http://historicallanna01.blogspot.com) สำหรับศาลเจ้าพ่อพะวอเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้น ด้วยความเคารพศรัทธาปสาทะอย่างแรงกล้า ต่อวีรบุรุษชาตินักรบชาวกะเหรี่ยงปกากะญอ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอันเป็นที่เคารพอย่างสูงสุด ของชาวอำเภอชายแดนซีกตะวันตกสุดของจังหวัดตาก ดินแดนประจิมของไทยโดยเฉพาะ 5 อำเภอชายแดนตะวันตกสุดของจังหวัดตาก ผู้คนทั่วไปส่วนมากเคารพนับถือ ท่านเจ้าพ่อพะวอ และ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสมือนหนึ่งเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนทั่วไป ที่เคารพเทิดทูน ในดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านเจ้าพ่อ พะวอ และดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงพระวีรกรรมอันห้าวหาญและความเสียสละของท่านอย่างทรงพลัง ที่สมควรแก่การยกย่องเทิดทูนบูชา เมื่อสมัยเกือบร้อยปีมาแล้วมีการสร้างศาลเล็ก ๆ แล้วอัญเชิญดวงวิญญาณของท่านเจ้าพ่อพะวอสิงสถิต ณ เชิงเขาซึ่งอยู่ฟากฝั่งของขุนเขาซึ่งเป็นเส้นทางเดินทัพสมัยโบราณกาล

เจ้าพ่อพะวอเป็นชายชาตินักรบชาวกะเหรี่ยง ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงแต่งตั้งให้มีศักดิ์ฐานะเป็นนายด่านแม่ละเมา เมืองหน้าด่านของไทย ในรัชสมัยของพระองค์ท่าน คอยดูแลรักษาหาข่าวแจ้งเหตุ เมื่อมีเหตุหรือข้าศึกศัตรูรุกล้ำแดนมาลุถึง..ปีมะแมสัปตศกพุทธศักราช 2318 (31 ตุลาคม) กองทัพข้าศึกเคลื่อนทัพมายังไทยเพื่อเข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ท่านเจ้าพ่อพะวอนำกำลังไพร่พลที่มีเพียงหยิบมือเดียว เข้าหาญปะทะกับข้าศึกศัตรูอย่างกล้าหาญ และเด็ดเดี่ยว ทุกท่านได้ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูจนถึงแก่ชีวิต ทุกคน ณ ยุทธภูมิด่านแม่ละเมา กลายเป็นตำนานเล่าขานถึงวีรกรรม ความเสียสละชีพเพื่อปกป้องอธิปไตยของไทย และปกปักรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้อย่างหวงแหน วิญญาณของท่านได้วนเวียนสถิต เป็นเทพยดารักษาเมืองมาตราบเท่าทุกวันนี้

ความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจบารมีของท่าน ผู้คนจากทุกสารทิศต่างหลั่งไหล แวะเวียนมากราบไหว้บูชามิได้ขาด กล่าวกันว่าท่านเจ้าพ่อพะวอ สามารถดลบันดาลความสุข ความสำเร็จ ความนิรันตรายทั้งปวงได้อย่างปาฏิหาริย์ และอัศจรรย์ที่สุด มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยที่บ้านเมืองยังไม่พัฒนาและเจริญเหมือนทุกวันนี้ หากมีเหตุอันตราย หรือ มีภัยพิบัติกับราษฎรแถบถิ่นนี้ มักจะได้ยินเสียงแผดคำรามของ อาม๊อก หรือที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็น ปืนหิน ที่อยู่บนชะง่อนผาขุนเขาผาวอเป็นอัศจรรย์ ทำนองเดียวกันของวันนั้นในยามค่ำคืน จะได้ยินเสียงฝีเท้าม้าวิ่งรอบ ๆ ตัวเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ผสานกับเสียงพรวนที่ผูกติดด้วย

          “พะวอ” เป็นชื่อของชนชาติกะเหรี่ยง คำนำหน้าว่า “พะ” ก็คือ นาย คำว่า “วอ” อาจจะแผลงมาจาก “วา” แปลว่า ขาว หรือ นายขาว พะวา อาจจะเพี้ยนเสียงมาเป็น พะวอ มาเป็นขุนเขาที่มีรูโหว่เป็นโพลง รูปจำลองของท่านเจ้าพ่อพะวอ บ่งบอกถึงลักษณะของชายชาตินักรบ ชุดแต่งกายที่สมเกียรติศักดิ์ศรี จากบุคลิกภาพของท่าน แสดงถึงเอกลักษณ์ของนักรบโบราณ ใบหน้าเครียดขึงขังดุดัน เรือนกายกำยำสูงใหญ่ ถือง้าวเป็นอาวุธคู่กาย แต่แววตาแฝงด้วยความเมตตาปรานี ด้วยเหตุที่ท่านเป็นนักรบโบราณ จึงชอบเสียงปืนและประทัดมาก จึงมีผู้ยิงปืนและจุดประทัดถวายทุกครั้ง หรือไม่ก็จะบีบแตร แสดงความคารวะเมื่อสัญจรผ่านไปมา แม้จะล่วงลับไปนานกว่าสองร้อยปี แต่วีรกรรมอันห้าวหาญของท่าน เป็นการประกาศศักดิ์ศรี ให้อนุชนทั่วไปได้รับรู้ และจะเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อไปยังอนุชนรุ่นหลัง ให้ยึดถือเป็นแบบอย่าง สักขีพยานที่บ่งบอกถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้า ของอนุชนทั่วไป ก็คือ ความเคารพศรัทธาอย่างแนบแน่น ที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย ซึ่งในทุกวันที่ 31 ตุลาคม เป็นวันเกิดท่าน ชาวแม่สอดจากจะมีพิธีบวงสรวงใหญ่ที่ศาลใหญ่ โดยในปีนี้ปี 2566 ท่านมีอายุครบ 248 ปีครับ

           คำบูชาเจ้าพ่อพะวอตั้งนะโม 3 จบ เจ้าพ่อพะวอ มหาวีโร ชะยะตุภะวัง มหิทธิกา จะ มหา เทวานัง สัพพะทุกขะ สะเมตารัง สันติทัง สุขะทัง สะทาติ สัพพะศัตรู วินาสสันติ

(หมายเหตุ : ผมนัดเจอพี่บ๊อบที่ศาลพะวอเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ตลาดบ้านเหนือของแม่สอดครับ)

ภาพบางส่วน : อินเทอร์เน็ต

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 409 วันที่ 8-14 ธันวาคม 2566

หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน/จิรัฏวัฒน์ ศิริบุตร

ตอนที่ 32 : สักการะ “เจ้าพ่อพะวอ”

 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแม่สอด

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 409 ระหว่างวัยที่ 8-14 ธันวาคม 2566

https://book.bangkok-today.com/books/nlnh/index.html#p=31
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

 

 

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post