
“เที่ยวและมูคู่กัน” จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร เล่าเรื่อง “กราบขอพรพระพุทธชินราช พระคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก”(อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 395 วันที่ 1-7 ก.ย.66)


อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 395 วันที่ 1-7 กันยายน 2566
หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน
เรื่อง : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร
ภาพ : FB วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ พิษณุโลก
ตอนที่ 18 : กราบขอพรพระพุทธชินราช
พระคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก
ในตอนนี้ถือเว่าป็นหนึ่งสถานที่ที่ผมเองนั้นอยากจะมาเป็นอย่างมาก นั่นคือ “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร” หรือที่คนไทยรู้จักกันว่า “วัดพระพุทธชินราช” หรือ “วัดใหญ่” แห่งจังหวัดพิษณุโลก ผมมีโอกาสมาที่นี่ด้วยความบังเอิญ โดยไม่ได้นัดหมายหรืออยู่ในตารางสำหรับการท่องเที่ยว
จังหวัดพิษณุโลกเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ชื่อว่าถ้าไม่มีการตั้งโปรแกรมการท่องเที่ยวเอาไว้ล่วงหน้าหลายคนก็อาจจะมองข้ามไป แต่กระนั้นแล้ว พิษณุโลกถือเป็นจังหวัดที่สำคัญและมีความน่าสนใจจังหวัดหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องด้วยจังหวัดนั้นมีสนามบินรองรับการเดินทาง เพราะด้วยว่านักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปได้หลายจังหวัดในบริเวณใกล้เคียง ถ้าพูดถึงจังหวัดพิษณุโลกผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องไปไหว้ขอพรจาก “พระพุทธชินราช” และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
ผมขอพาทุกท่านไปรู้จักกับประวัติของพระพุทธชินราช ที่คู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกมายาวนาน “พระพุทธชินราช” ปัจจุบันสิริรวมอายุ 665 ปี ชาวเมืองพิษณุโลกนิยมเรียก “หลวงพ่อใหญ่” ตามชื่อวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่นั่นเอง วัดนี้ตั้งอยู่ ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก
ตามประวัติ “พระพุทธชินราช” ด้วยพุทธลักษณะอันงดงามโดดเด่นเหล่านี้ สมควรอย่างยิ่งแล้ว ที่พระพุทธชินราชได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประติมากรรมพุทธศิลป์อันสูงสุดของไทย ที่สักครั้งหนึ่งในชีวิตของคุณ ไม่ควรพลาดมากราบไหว้ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ใช้ช่างจากเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองหริภุญชัย หล่อทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก สร้างขึ้นมาพร้อมการสร้างเมือง และสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ใน พ.ศ. 1900 จากพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงสุโขทัยในสมัยนั้น
ความงดงามของ “พระพุทธชินราช” ที่มีความวิจิตรงดงามตามศิลปะสุโขทัย คือ เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ พระพักตร์เอิบอิ่ม ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง มีลักษณะพิเศษเรียกว่าทีฆงคุลี คือ ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่นิ้วยาวเสมอกัน ซุ้มเรือนแก้วสร้างจากไม้แกะสลักในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นตัวมกร ลักษณะลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง อยู่ตรงปลายซุ้ม และมีลำตัวเหรา (คล้ายจระเข้) กลางซุ้ม และมีท้าวเวสสุวรรณ และอาฬวกยักษ์ เทพอสุราปกป้องพระองค์อยู่
สิ่งที่ผู้คนนิยมขอพรอจากพระพุทธชินราชคือ ให้ช่วยเสริมสร้างสิริมงคล ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองให้พ้นภัยอันตรายทุกประการ และช่วยสร้างความมีสง่าราศีของผู้กราบไหว้บูชา ทั้งนี้คนยังนิยมขอพร ขอโชคลาภ จากพระพุทธชินราช ขอเรื่องโรคภัยไข้เจ็บให้ท่านช่วยปัดเป่าให้ห่างไกลโรค แล้วถ้าหากป่วยเป็นโรคอะไรอยู่ก็ขอให้รักษาหายในเร็ววัน พร้อมทั้งมีความเชื่อว่า หากเกิดภัยขึ้นความเชื่อความศรัทธาและการกราบไหว้บูชาพระพุทธชินราชจะช่วยให้ภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากหนักจะกลายเป็นเบา ซึ่งเมื่อช่วงวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2566 (7 วัน 7 คืน) ได้มีการจัดงานสมโภชพระพุทธชินราช ประจำปี 2566 อย่างยิ่งใหญ่
ผมรู้สึกว่าการท่องเที่ยวถ้าเราเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เราก็จะท่องเที่ยวได้อย่างสนุกสนาน และเข้าใจถึงเรื่องราวที่แท้จริง ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้จักอดีตว่าอดีตเป็นมาอย่างไรถึงทำให้มีวันนี้ ผมอยากให้ผู้อ่านทุกคนติดตามคอลัมน์นี้ไปเรื่อย ๆผมจะไม่ไปเพียงแต่แค่วัด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่มู สถานที่แห่งบุญบารมีผมจะนำมาฝากกับผู้อ่านทุกคน ส่วนในตอนนี้ขอตัวไปก่อนนะครับ อยากกินกล้วยตากล่ะครับ ของดีเมืองพิษณุโลก ไปหากล้วยตากก่อนนะครับ ขอให้ทุกท่านจงโชคดีครับ!!
บทสวดบูชาพระพุทธชินราช
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ (3 จบ)
อิเมหิ นานา สักกาเรหิ อภิปูชิเตหิ ทีกายุโก โหมิ อะโรโค สุขิโต สิทธิกัจจัง สิทธิกัมมัง ปิยัง มะมะ ประสิทธิลาโภ ชะโย โหตุ สัพพัททา พุทธชินะราชา อภิปะเลตุ มัง นะโมพุทธายะ
ส่วนผู้ที่มีพระพุทธชินราชจำลองไว้กราบไหว้บูชาในบ้าน ใช้คาถาบูชาพระพุทธชินราชดังนี้
กาเยนะ วาจายะวะ เจตะสาวา ชินะราชาพุทธรูปัง สิริธัมมะติปิ ตะกะราเชนะ กะตัง นะมามีหัง พุทธธังอาราชธนานัง ธัมมังอาราชธนานัง สังฆังอาราชธนานัง ชินะราชาพุทธธะรูปัง อาราชธนานัง พุทธธังลาภมานะชาลีติ ธัมมังลาภมานะชาลีติ สังฆังลาภมานะชาลีติ อุอะมะนะโมพุทธธายะ พามานะอุกะ สะนะถุประสิทธิเม
ของไหว้บูชาพระพุทธชินราช
สำหรับเครื่องสักการะที่ต้องเตรียมเพื่อบูชาพระพุทธชินราช เป็นของที่จัดเตรียมได้ง่ายไม่ยุ่งยาก มีดังนี้
1.ดอกไม้ / พวงมาลัย 2.ธูป 5 ดอก 3.น้ำเปล่า
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 395 วันที่ 1-7 กันยายน 2566
หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน
เรื่อง : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร
ภาพ : FB วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ พิษณุโลก
ตอนที่ 18 : กราบขอพรพระพุทธชินราช
พระคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก
https://book.bangkok-today.com/books/lsnl/#p=31
(พลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)