Digiqole ad

“เที่ยวและมูคู่กัน” จิรัฏวัฒน์ ศิริบุตร EP34 : ไหว้สาพระมหามุนี “วัดไทยวัฒนาราม” ความงดงามแห่งดินแดนสุดปัจจิม”แม่สอด”(อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 410 วันที่ 15-21 ธ.ค.66)

 “เที่ยวและมูคู่กัน” จิรัฏวัฒน์ ศิริบุตร  EP34 : ไหว้สาพระมหามุนี “วัดไทยวัฒนาราม” ความงดงามแห่งดินแดนสุดปัจจิม”แม่สอด”(อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 410 วันที่ 15-21 ธ.ค.66)
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 410 วันที่ 15-21 ธันวาคม 2566

หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน/จิรัฏวัฒน์ ศิริบุตร

ตอนที่ 34 : ไหว้สาพระมหามุนี “วัดไทยวัฒนาราม”

                ความงดงามแห่งดินแดนสุดปัจจิม แม่สอด”

            ไปเยือน อ.แม่สอด จ.ตาก (สุดปัจจิมหรือตะวันตกสุด) กันอีกสัก 1 ตอน หลังจากคราวที่แล้วไปสักการะ “เจ้าพ่อพะวอ” ทั้งศาลใหญ่ และศาลเล็ก ใกล้ตลาดบ้านเหนือ ซึ่งความเดิมตอนที่แล้วผมขับรถยนต์ไปส่งเพื่อนจากกรุงเทพฯไปทำธุระด่วนที่อำเภอแม่ระมาด ผ่านอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ “ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ” บรรณาธิการข่าวสำนักข่าว “บางกอกทูเดย์” ซึ่งเป็นจังหวะที่พี่เขาอยู่ที่บ้านพอดี

ก่อนจะรีบกลับกรุงเทพฯ จึงแวะไปเยี่ยมพี่บ๊อบ ๆ ถามว่า ไหน ๆ ก็มาแล้วจะพาไปเที่ยวสถานที่มูสัก 1 แห่ง โดยไม่ไกลจากบ้านขับรถยนต์ไปปประมาณไม่ถึง 10 นาที นั่นคือ “วัดไทยวัฒนาราม” ที่เจ้าของถิ่นการันตีว่า “ตื่นตา..อลังการงานสร้าง” ที่แขกผู้มาเยือนจะต้องแวะมา

เพียงแค่ขับรถผ่านเข้ามาในประตูวัด แม่เจ้า! เหมือนเข้ามาในเมือง ๆ หนึ่งของเมียนมา (เพราะเป็นวัดที่ชาวเมียนมาและไทยใหญ่ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแม่สอดนิยมมากัน แล้วเกิดความศรัทธาช่วยกันทำนุบำรุงกระทั่งคนที่นี่บอกว่า เป็นวัดของชาวเมียนมาและไทยใหญ่ไปแล้ว) เหมือนวัดของเมียนมาได้ดูในภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท” เป็นอาณาจักรสีทองเหลืองอร่าม เนื่องจากศาสนสถานของวัดแห่งนี้ทำด้วยโลหะทองเหลือง เมื่อแสงสะท้อนแล้วจะวูบวาบแวววาว  ผมจึงได้สืบค้นประวัติและสิ่งที่น่าสนใจในวัดแห่งนี้มา ดังนี้ครับ

            “วัดไทยวัฒนาราม” สร้างตามแบบศิลปะของวัดในประเทศพม่าหรือเมียนมาในปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ภายในวัดจะถูกออกแบบและก่อสร้างเป็นสีเหลืองทองสวยวิจิตรงดงาม เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี วัดห่างจากตัวอำเภอแม่สอดไปประมาณ 5 กิโลเมตร แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดแม่ตาวเงี้ยว” หรือ “วัดไทยใหญ่” ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2400 (ถึงปี 2566 มีอายุ 166 ปี) โดย “นายมุ้ง” ชาวเมียนมาจากรัฐฉานที่เดินทางอพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่ในอำเภอแม่สอด และเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านแม่ตาว ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า “หมื่นอาจคำแหงหาญ” และในปี พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้วัดแห่งนี้ เป็นวัดพระพุทธศาสนา สังกัดกรมศาสนาอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ประกอบด้วย

วิหารสีทอง : เป็นพระวิหารที่โดดเด่น ด้วยศิลปะแบบพม่า มีลวดลายแกะสลักสีทองลงบนพื้นผนังสีแดง  ล้อมด้วยกำแพงสีแดงและรูปปั้นลายหงส์สีทอง บริเวณทางเดินมีรูปปั้นสีทองเป็นโลหะสีทองขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้า

รูปปั้นหงส์คู่สีทอง : หงส์ตัวบนเป็นหงส์ตัวเมียส่วนตัวล่างเป็นตัวผู้เพราะเรื่องนี้มีตำนานว่าเมืองที่จารึกไว้เป็นภาษามอญว่า “เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงยังดินแดนแห่งนี้ได้ทอดพระเนตรเห็นหงส์ทอง 2 ตัวเล่นน้ำอยู่ จึงได้ทำนายว่าในภายภาคหน้าเมืองนี้จะกลายเป็นมหานครขึ้น ชื่อว่า”เมืองหงสาวดี” หลังจากนั้นดินแดนที่มีหงส์ทอง 2ตัวลงเล่นน้ำก็ได้กลายเป็นมหานครและเป็นราชธานีในเวลาต่อมา และได้มีการแต่งเติมเรื่องราวเกี่ยวกับหงส์ทอง 2 ตัวเพิ่มขึ้นโดยเล่าว่าหงส์ที่บินมาเกาะอยู่เหนือพื้นดินผืนเล็กๆในทะเล ผืนดินแผ่นนี้เล็กจนกระทั่งตัวเมียไม่มีที่เกาะ และต้องมาเกาะอยู่บนหลังของหงส์ตัวผู้

วิหารพระมหามุนี : หลังคาเป็นทรงสี่เหลี่ยมหลายชั้น แต่ละชั้นประดับลวดลายต่าง ๆ ตามศิลปะพม่า ฐานของหลังคาวิหารประดับด้วยเจดีย์องค์เล็ก ๆ โดยรอบ ภายในวิหารพระมหามุนี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามุนี พระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่ององค์ใหญ่ ซึ่งจำลองมาจากพระพุทธมหามุนีองค์จริง ที่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวมัณฑะเลย์ของประเทศพม่า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดตากศรัทธาเลื่อมใสกันมาก  นอกจากพระมหามุนีแล้ว ภายในพระวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปลักษณะต่าง ๆ ตามอิทธิพลของศิลปะวัฒนธรรมแบบไทยใหญ่ให้สักการะ

พระเจดีย์โกนาวิน : ได้จัดสร้างเมื่อ พ.ศ.2511 เป็นเจดีย์เก้ายอด อยู่ใกล้กับพระวิหารมหามุนี เป็นเจดีย์ทรงมอญสีทองสุกปลั่งทรงเครื่อง สวมฉัตร มีระฆังรอบฉัตร และเสาหงส์เป็นลักษณะของศิลปะมอญ เจดีย์องค์รอบ 8 ยอด องค์กลางใหญ่ 1 ยอด รวมเป็น 9 ยอด

พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา : ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวจัดแสดงความเป็นมาของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเผยแผ่ไปยังประเทศต่างๆ โดยจำลองเป็นแผนที่ทวีปต่างๆ  อีกทั้งยังมีหุ่นจำลองพระพุทธเจ้าที่เคลื่อนไหวได้ ซึ่งแสดงเหตุการณ์ในช่วงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากโปรดพระมารดา และภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปหินอ่อนศิลปะแบบพม่าทั้งแบบทรงเครื่องและไม่ได้ทรงเครื่องจำนวนมาก

พระพุทธไสยาสน์ : พระนอนองค์ใหญ่ ความยาวตลอดทั้งองค์พระนอนประมาณ 40 เมตร ประดิษฐานอยู่ในวิหารเปิดโล่งด้านหลังของวัดและมีเทพทันใจและสิ่งศักดิสิทธิ์ต่างๆตั้งอยู่ภายในศาลาด้านหน้า

นี่เป็นเพียงแค่จุดหลัก ๆ เท่านั้นยังมีสถานที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกมากมาย ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเพียบ ผมไม่สามารถเอามานำเสนอได้หมด จึงอยากให้ทุกท่านได้ลองมาสัมผัสประสบการณ์ความศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า  “ใครใคร่ไหว้…ไหว้  ใครใครมู…มู” รับรองได้ว่า “สุดอเมซิ่ง” อย่างแน่นอนครับ!

ก่อนเดินทางกลับพี่บ๊อบได้มอบชุดไท (ชุดชนเผ่าพื้นเมืองทางเหนือ) สีฟ้าอ่อนสวยงามมาก ให้ 1 ชุด เพื่อเป็นของระลึก ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูล : https://noomsaotours.co.th/

ภาพบางส่วน : เพจวัดไทยวัฒนาราม พระมหามุนี

ไก๊ด์และช่างภาพกิตติมศักดิ์ : ดร.จุมพล โพธิสุวรรณ

 

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 410 วันที่ 15-21 ธันวาคม 2566

หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน/จิรัฏวัฒน์ ศิริบุตร

ตอนที่ 34 : ไหว้สาพระมหามุนี “วัดไทยวัฒนาราม”

                ความงดงามแห่งดินแดนสุดปัจจิม แม่สอด”

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๑๐ ระหว่างวันที่ ๑๕-๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๖
https://book.bangkok-today.com/books/gzjs/#p=31

สามารถเปิดอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ

 

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post