Digiqole ad

เที่ยวและมูคู่กัน จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร เล่า (ตอนที่ 17) “ตามรอยวิจิตรเส้นทางสายศรัทธา” ลุ่มน้ำเจ้าพระยา…แม่น้ำของแผ่นดิน

 เที่ยวและมูคู่กัน จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร เล่า (ตอนที่ 17) “ตามรอยวิจิตรเส้นทางสายศรัทธา” ลุ่มน้ำเจ้าพระยา…แม่น้ำของแผ่นดิน
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 394 วันที่ 25-31 สิงหาคม 2566

หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน

เรื่อง : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร

ภาพ : ท่องเที่ยว กทม.

(ตอนที่ 17) “ตามรอยวิจิตรเส้นทางสายศรัทธา”

                  ลุ่มน้ำเจ้าพระยา…แม่น้ำของแผ่นดิน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพมหานคร นำโดย “นายชาญยุทธ เศวตสุวรรณ” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) นำโดย “นายกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์” นายกสมาคม สธทท. และ “อ.ชวิศ ชื่นเจริญ” หรือที่รู้จักกันในนาม “อ.มุ่ย หูทิพย์”  หมอดูหูทิพย์ โหราจารย์ชื่อดังร่วมกันจัดทริป “ตามรอยวิจิตรเส้นทางสายศรัทธา” ณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทริปพิเศษบนแม่น้ำของแผ่นดิน บนเรือไวท์ออคิด ริเวอร์ครูซ โดยมีนักท่องเที่ยว ผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ร่วมเดินทางสายบุญด้วย โดยมี บริษัท ซิลเวอร์สโตนทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการในการพาเดินทางท่องเที่ยว

คณะสายบุญเริ่มเดินทางสู่วัดแรกคือ  “วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เพื่อกราบสักการะ “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” (หลวงพ่อทองคำ) อันศักดิ์สิทธิ์ ที่ประดิษฐานอยู่ ณ มณฑปภายในวัดไตรมิตรวิทยาราม  องค์พระพุทธรูปสร้างด้วยทองคำแท้ทั้งองค์ หนักถึง 5.5 ตัน ถือเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่และหนักที่สุดในโลก ซึ่งได้รับการบันทึกในกินเนสส์บุ๊ก เพื่อเสริมความมั่นคงทางการเงิน ทำให้มีความร่ำรวย มีโชคลาภเงินทองใช้ตลอดปี และกราบสักการะ “พระพุทธทศพลญาณ” (หลวงพ่อโต วัดสามจีน) พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล มีการงานที่มั่นคง

จากนั้นเดินทางสู่ “วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” เพื่อร่วมห่มผ้าพระเจดีย์พระบรมบรรพต ตามด้วยการกราบสักการะขอพร “พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” เป็นพระพุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุด ในกรุงเทพฯ มีความสูงถึง 5 วา 1 ศอก 10 นิ้ว เพื่อให้มีกินมีใช้ไม่ขาดมือ

ช่วงบ่ายเดินทางสู่ “วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร”  เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยกรุงธนบุรี กราบสักการะอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช และกราบสักการะเทพต่าง ๆ ในวิหาร 5 แม่ทัพสวรรค์ที่อยู่ข้าง ๆ ภายในวิหารยังมีองค์เทพเจ้า “กวนอู” (ตั่วเหลาเอี๊ย) ขอพรในเรื่องของตำแหน่งหน้าที่ การงาน ค้าขาย บริวาร “พระแม่พระโพธิสัตว์พันมือ” ขอพรในเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก มีลูกหลานมาขอพรเรื่องสุขภาพและประสบความสำเร็จในเรื่องของสุขภาพ  “องค์เจ้าพ่อเห้งเจีย” ขอพรเรื่องสติปัญญา มีช่องทางทำมาหากิน และ “องค์ไฉ่ซิงเอี๊ย 5 พระองค์” หรือเทพเจ้าโชคลาภและเงินตรา ขอพรในเรื่องโชคลาภ และในวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีการข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ เผื่อลูกหลานคนไหนมีสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นมงคลติดตัวมา เมื่อเดินข้ามสะพานสิ่งที่ไม่ดีก็จะถูกปัดเป่าออกไปให้หมด พบแต่สิ่งดีๆ เข้ามา จากนั้นกราบสักการะ “พระแสนเมืองเชียงแตง” พระพุทธรูปสำริด เนื้อปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ พร้อมพรมน้ำพระพุทธมนต์จากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งชัยชนะหน้าพลับพลาที่มีพระบรมรูปหล่อ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เพื่อความเป็นสิริมงคล มีชีวิตที่รุ่งเรือง ค้าขายเจริญรุ่งเรือง มีโชคมีชัย ศัตรูหมู่มารพ่ายแพ้ แคล้วคลาดปลอดภัย

เดินทางกันต่อไปที่ “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” เพื่อห่มผ้าพระปรางค์วัดอรุณ ฯ เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วย ต่อด้วยการกราบสักการะ “พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก”พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสำริด ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์

ตามด้วยงานมหามงคลร่วมพิธีบวงสรวงบนเรือไวท์ออคิด ริเวอร์ครูซ บนลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำของแผ่นดิน โดยมี “พราหมณ์ภีระเมศร์ ประสิทธิเมธี” และ “อ.มุ่ย หูทิพย์” เป็นผู้ทำพิธีบวงสรวง หลังเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวงก็ร่วมกันจุดเทียนชัยถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กลางลำน้ำเจ้าพระยา เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ปิดท้ายด้วยล่องเรือไวท์ออคิด ริเวอร์ครูซ-ยามเย็น ดินเนอร์กับอาหารเลิศรส ชมความวิจิตรสวยงาม แสงสี ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างอิ่มบุญ มีความสุข

“ไหว้พระถูกที่ ทำพิธีถูกทาง สำเร็จผลทันใจปรารถนา”

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 394 วันที่ 25-31 สิงหาคม 2566

หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน

เรื่อง : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร

ภาพ : ท่องเที่ยว กทม.

(ตอนที่ 17) “ตามรอยวิจิตรเส้นทางสายศรัทธา”

                  ลุ่มน้ำเจ้าพระยา…แม่น้ำของแผ่นดิน

https://bangkok-today.com/TMmeBZe

(สามารถใช้นิ้วพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post