
“เที่ยวและมูคู่กัน” ก็อปปี้-จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร เล่าเรื่องตอนที่ 20 “พี่จุก” กุมารเทพวัดสวนหลวง ค้าขายดี ร่ำรวย เสริมโชคลาภ


อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 397 วันที่ 15-21 กันยายน 2566
หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน
เรื่อง/ภาพ : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร
ตอนที่ 20 “พี่จุก” กุมารเทพวัดสวนหลวง
ค้าขายดี ร่ำรวย เสริมโชคลาภ
ต้องบอกว่า “จังหวัดสมุทรสงคราม” ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก มีเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสายมูให้เราต้องกลับมาเยือนอยู่บ่อยครั้ง ครั้งนี้เช่นกัน ผมมาทำงานที่จังหวัดสมุทรสงครามโดยบังเอิญ (บังเอิญอีกล่ะ) แต่ครั้งนี้มาทำงานจริง ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจที่จะไปเที่ยววัดหรือสถานที่มูเตลูแต่อย่างใด
ถึงกระนั้นไม่พลาดเสียอีกจนได้ น้องช่างภาพทีมงานของเราเอ่ยขึ้นมาว่า มาที่นี่รู้จัก พี่จุก ไหม ผมเลยบอกไม่นะ ไม่เคยมีเพื่อนชื่อนี้อยู่ที่สมุทรสงคราม น้องบอก ไม่ใช่ๆ หมายถึง “พี่จุก” ที่โด่งดังเป็น “กุมารเทพ”แห่ง อัมพวา สมุทรสงครามเลยนะ เอาล่ะสิ ชักสนใจเสียแล้ว ปรากฏว่าเร่งทำงานให้เสร็จไว ๆ เพื่อจะได้ไปไหว้ พี่จุก เวลาเย็นย่ำตกสักราวประมาณ สี่โมงกว่า ๆ แล้ว จึงเดินทางไปถึงวิหารพี่จุก ซึ่งปิดห้าโมงเย็น ทั้งนี้ผมไม่ทราบหรอกนะ เขาปิดกี่โมงคือไปถึงแล้วก็ใช้เวลาให้เต็มที่ “พี่จุก” กุมารเทพ อยู่ที่วัดสวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งอยู่ริมน้ำจึงทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีด้วย
เอาล่ะถึงแล้วไม่พูดพร่ำทำเพลง บูชาดอกไม้และธูป 9 ดอก จัดเต็มตามที่เขาแจ้งไหว้ อ้อ! ก่อนจะไหว้ พี่จุก กุมารเทพ ต้องไหว้พระพุทธรูปก่อนนะครับ ไม่รีรอ ตัดภาพมาที่พี่จุก เริ่มจุดธุปพร้อม คุกเข่า สวดคำกล่าวเสียงดัง เริ่มด้วย “นะโม 3 จบ และ ตามด้วย กายะพุทโธ นามะพุทโธ นิมิตพุทโธ สุญยะพุทโธ อะระหังพุทโธ ภะคะวาติ”
“ฉันไม่ใช่หนูจุก ฉันอายุเยอะแล้ว ให้เรียกฉันว่าพี่จุก” ซึ่งองค์จริงก็มีอายุกว่า 200 ปี จึงเป็นไปได้ว่าพี่จุกมีอายุเยอะ จนที่จะเรียกได้เกินกว่าคำว่าพี่…” พี่จุกอยู่คู่กับวันสวนหลวงมานาน นับเป็นร้อย ๆ ปี สืบเนื่องมาว่า เมื่อประมาณ 200 ปีเศษที่ผ่านมา วัดสวนหลวง เป็นวัดที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำแม่กลอง การเดินทางสัญจรในสมัยก่อนจะสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยทางเรือ
การมาวัดสวนหลวงเช่นเดียวกัน หน้าวัดสวนหลวงเป็นช่วงของโค้งน้ำของลำน้ำแม่กลอง ทางธรรมชาติแล้วกระแสน้ำที่ไหลมาถึงโค้งน้ำจะมีการกัดเซาะตลิ่งทำให้ตลิ่งพังทลาย และด้วยกันนี้ตลิ่งอีกฝั่งของแม่น้ำเกิดการรวมตัวกันของดินที่พังทลายมาจากอีกฝั่งจากกระแสน้ำวนบริเวณที่เป็นวิหารพี่จุกในปัจจุบัน จึงทำให้เกิดดินงอก กระแสน้ำนี้เองจึงทำให้ไม้แกะสลักรูปเด็กเปลือยกายผมจุก เนื้อไม้ทำจากไม้ตะเคียนสีดำมัน สูงประมาณ 3 ฟุต มือขวาหงายฝ่ามือ ส่วนมือซ้ายคว่ำฝ่ามือ มีสายประคำสังวาลย์ห้อยคอเพียงเส้นเดียว ลอยมาติดอยู่ที่หน้าวัด
โดยแม่ค้าขายของคนหนึ่งพายเรือผ่านมาหน้าวัดได้พบเห็นไม้แกะสลักดังกล่าว ลอยน้ำมาติดอยู่ที่หน้าวัด แม่ค้าคนดังกล่าวจึงอุ้มมาให้สมภารที่วัด จากวันนั้นมาไม้แกะสลักรูปเด็กผมจุกก็ได้ตั้งอยู่กลางศาลาของวัดสวนหลวงโดยมีการโยกย้ายไปมาหลายที่กาลเวลาผ่านไป 200 ปีเศษ
ในสมัยพระครูสมุทรวิริยาภรณ์หรือหลวงพ่อปึก เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ได้ย้ายไม้แกะสลักรูปเด็กผมจุกขึ้นมาไว้บนกุฏิของหลวงพ่อปึก เนื่องจากศาลาหลังเก่าโดนรื้อถอนออกไป กุฏิหลังนี้ก็เป็นกุฏิเก่าแก่ อายุนับร้อยปี ซึ่งมีร่องรอยภาพเขียนโบราณบนเพดานกุฏิ ไม้แกะสลักรูปเด็กผมจุกคนในวัดสวนหลวงได้เรียกกันติดปากว่า เจ้าจุก
“พี่จุก” เป็นเทพ ไม่ใช่พวกมนต์ดำแบบกุมารทองทั่วไป เวลาบูชาไว้ที่บ้านไม่ต้องจุดธูปขออนุญาตเจ้าที่ พี่จุกเข้าไปได้ทุกที่ กินก็กินพร้อมเรา ฉะนั้นแล้วอย่าได้กังวลว่าจะทำอะไรไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ได้มีขั้นตอนอะไรมากมายครับ!
ข้อมูลบางส่วน : เฟซบุ๊ก : วัดสวนหลวง อัมพวา สมุทรสงคราม, https://th.tripadvisor.com/
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 397 วันที่ 15-21 กันยายน 2566
หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน
เรื่อง/ภาพ : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร
ตอนที่ 20 “พี่จุก” กุมารเทพวัดสวนหลวง
ค้าขายดี ร่ำรวย เสริมโชคลาภ
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๓๙๗ วันที่ ๑๕-๒๑ กันยายน ๒๕๖๖
https://book.bangkok-today.com/books/rknm/
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)