
“เที่ยวเมืองรองต้องไปมู” จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร เล่าเรื่องตอนที่ 11 : วัดเชียงทอง “อัญมณีของศิลปะล้านช้าง” สถาปัตยกรรมล้านช้างที่ยังสมบูรณ์


อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 388 วันที่ 14-20 กรกฏาคม 2566
หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวเมืองรองต้องไปมู
เรื่อง/ภาพ : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร
ตอนที่ 11 : วัดเชียงทอง “อัญมณีของศิลปะล้านช้าง”
สถาปัตยกรรมล้านช้างที่ยังสมบูรณ์
ฉบับนี้และฉบับหน้าขอนอกประเทศกันสักหน่อย เพราะอยากอยากแบ่งปันความประทับใจและเรื่องราวมูดีมาฝากท่านผู้อ่านกันครับ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนแขวงหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว เมืองมรดกโลก ที่เป็นที่รู้จักของหลายๆคนรวมถึงผมด้วยเช่นกัน หลวงพระบางจุดหมายปลายทางที่ใครหลายคนมีเป้าหมายที่จะได้เดินทางไปเยือนสักครั้ง ด้วยเป็นเมืองที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้ได้ศึกษาที่มาที่ไปและที่สำคัญ หลวงพระบางก็ยังเป็นเมืองหลวง ของ “อาณาจักล้านช้างหลวงพระบาง” ในอดีต อีกด้วย
เวลาที่ผมได้เดินทางไปยัง “วัดเชียงทอง” (ວັດຊຽງທອງ) เป็นข่วงเวลายามเย็นที่แสงแดดเริ่มลดความรุนแรงลง ปรับเปลี่ยนเป็นลมเย็นๆพัดผ่าน พร้อมกับเสียงระฆังที่ดังขึ้นในช่วงเวลายามเย็นเพื่อเป็นสัญญาณให้พระสงฆ์เตรียมลงทำวัตรเย็นที่ สิม (พระอุโบสถ) ก่อนที่จะเป็นช่วงเวลากิจของสงฆ์ สิ่งที่อยู่ตรงหน้าผม คือ “สิม” หรือ “พระอุโบสถ” ที่ทำไมช่างงดงามยิ่งนัก มีเสน่ห์ดึงดูด อย่างบอกไม่ถูก
“วัดเชียงทอง” เป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ล้านช้าง ราชวงศ์หลวงพระบาง และราชวงศ์ลาว ตั้งอยู่ในนครหลวงพระบาง ประเทศลาว สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2103 โดยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโขง เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างตอนเหนือที่งดงามมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “อัญมณีของศิลปะล้านช้าง”
“สิม” รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมล้านนา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้นำช่างหลวงไปจากเชียงใหม่ และได้ต้นแบบการสร้างมาจากวิหารวัดโลกโมฬีเชียงใหม่ราชอาณาจักรล้านนา สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน โดยสิ่งที่โดดเด่นคือหลังคาซ้อน 3 ตับ ซึ่งดัดอ่อนโค้งและลาดต่ำลงมามาก บนกลางสันหลังคามีการทำช่อฟ้าหรือ สัตตะบูริพัน อันเป็นการจำลองจักรวาลตามคติพุทธศาสนา หน้าบันแกะสลักเป็นรูปลายดอกตาเว็นหรือลายดวงอาทิตย์ สิมแห่งนี้ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2471 บนผนังทั้งด้านนอกและด้านในประดับด้วยลายรดน้ำปิดทองบนพื้นสีดำ เรียกว่า “ลายฟอกคำ” ส่วนด้านหลังของสิมประดับด้วยภาพประดับกระจกสีเป็นภาพต้นทอง
เข้าไปด้านในสิมพบกับแท่นประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่อยู่ตรงหน้า ร่วมกับพระพุทธรูปในหลาย ๆ ขนาดอยู่ร่วมกัน เป็นพระพุทธรูปลักษณะปางมารวิชัยคล้ายในสมัยกรุงศรีอยุธยาของไทย ผนังภายในสิมเป็นการตกแต่งด้วยลายฟอกคำ เหมือนลักษณะเดียวกันกับด้านนอก แต่ภายในนี้จะเป็นเรื่องราวการเล่าเรื่องพุทธประวัติ ชาดก และเรื่องราวของหลวงพระบาง ที่ถูกซ่อมแซมจากช่างสมัยใหม่ในช่วงเวลาถัดมา ความเก่าแก่ทำให้ผมเองเกิดความรู้สึกแปลกๆ ความรู้สึกสงบ ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ มาพร้อมๆกัน หลังจากที่ผมไหว้เสร็จ มีโอกาสได้นั่งอยู่ใน สิม สักพักเพื่อฟังเรื่องราวพร้อมกับนั่งหลับตา เชื่อไหมท่านผู้อ่านผมเองเหมือนได้ตกเข้าไปอยู่ในช่วงเวลานั้น ที่อาณาจักรหลวงพระบาง ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หลายคนที่เดินทางมาที่นี่ก็ต่างขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกันไป
เรื่องของหลวงพระบาง ยังไม่จบแต่เพียงในตอนที่ 11 นี้ ยังมีเรื่องราวอีกหลายอย่างนำเสนอให้กับผู้อ่าน รอติดตาม วัดเชียงของ อัญมณีของอาณาจักรล้านช้าง ได้ในตอนต่อไป
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 388 ระหว่างวันที่ 14-20 กรกฎาคม 2566
หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวเมืองรองต้องไปมู
เรื่อง/ภาพ : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร
ตอนที่ 11 : วัดเชียงทอง “อัญมณีของศิลปะล้านช้าง”
สถาปัตยกรรมล้านช้างที่ยังสมบูรณ์
https://book.bangkok-today.com/books/zvpy/#p=31 (สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)