
“เที่ยงเมืองรองต้องไปมู” จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร เล่าเรื่อง ตอนที่ 10 “พระยาศรีสัตนาคราช-พระธาตุพนม บารมีและมงคลชีวิตแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 387 วันที่ 7-13 ก.ค.66)


อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 387 วันที่ 7-13 กรกฎาคม 2566
หน้า 31 เที่ยงเมืองรองต้องไปมู
เรื่อง : เรื่อง : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร
ตอนที่ 10 : พระยาศรีสัตนาคราช-พระธาตุพนม
บารมีและมงคลชีวิตแห่งลุ่มแม่น้ำโขง
หากเราเดินทางไป “จังหวัดนครพนม” อยู่ทางภาคอีสานของประเทศไทย ในตอนนี้สามารถเดินทางได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งรถยนต์ รถทัวร์ เครื่องบิน นครพนม เป็นเมืองแห่งชีวิตสโลว์ไลฟ์ประชาชนที่นี่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สงบ มีประชากรไม่มาก สภาพภูมิอากาศถือได้ว่าดีมากๆเลยที่เดียว ผมเองเคยคิดว่า วันนึงจะต้องเดินทางไปจังหวัดนครพนมให้ได้
ด้วยเหตุการณ์อะไรก็ตามแต่ ผมเชื่อว่าการอธิษฐานของผมต้องเป็นจริงในสักวัน และแล้ววันนั้นก็มาถึงไม่เชื่อก็ต้องเชื่อผมมีโปรแกรมในการเดินทางไปจังหวัดนครพนมโดยบังเอิญ แต่ความบังเอิญนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ผมประทับใจและเก็บไว้ในความทรงจำตลอดมา นครพนม ที่ผมฝันไว้มันเป็นจริงเมื่อผมเดินทางถึงจังหวัดนครพนมผมสัมผัสได้ถึงเมืองที่สงบสุขอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง มองไปสองข้างทางถนนชาวบ้านต่างใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแลดูมีความสุขยิ่งนัก
ไม่นานสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของผมนั่นคือ “พระยาศรีสัตนาคราช” (ติดอันดับต้น ๆ ของแหล่งท่องเที่ยวยอมนิยมของจังหวัดนครพนม) แลนด์มาร์คแห่งความศรัทธาที่สูงเด่นเป็นสง่ามีน้ำพ่นออกมาจากองค์พญานาคทำให้ดูน่าเกรงขามยิ่งนัก รูปลักษณะเป็นองค์พญานาค 7 เศียร ประทับพักอิริยาบทสงบนิ่งขดลำตัว 3 ชั้น บ่งบอกถึงความสงบสุขของจังหวัดนครพนมที่พญานาคเลือกเป็นที่ประทับ รูปทรง 7 เศียร เมื่อรวมกันแล้ว รูปทรงจะคล้ายดอกบัวซึ่งในตำนานพญานาคจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หน้าหรือลำตัวพญานาคจะอวบอ้วน เยือกเย็นเสมือนผู้ใหญ่ใจดีที่สลัดสิ้นซึ่งกิเลส ตัณหา ราคะ เปี่ยมด้วยคุณธรรม ผู้มาขอพรจากท่านจะได้รับความสมประสงค์ สมปรารถนาทุกคน โดยมีประชาชนทั้งที่มากราบไหว้บูชาขอพรขอบารมี ทั้งที่ปมาทำการแก้บนด้วยบายศรี ดอกไม้ต่าง ๆ ตามแต่ที่ได้สัญญากันไว้ ทั้งหมดนั่นเป็นเพียงน้ำจิ้มที่ผมเล่าสู่กันฟังไว้จะมาขยายความในตอนถัดไป
สำหรับในตอนนี้ผมขอออกเดินทางไปอีกนิดที่อำเภอธาตุพนม ที่นี่แหละครับที่ผมอยากให้ทุกท่านได้ติดตาม สถานที่สำคัญคือ “องค์พระธาตุพนม” หนึ่งในคำขวัญประจังหวัดนครพนมที่กล่าวว่า “พระธาตุพนมค่าล้ำ วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง“ อีกทั้งยังเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด โดยหมายถึง จังหวัดนครพนมมีพระธาตุพนมซึ่งเป็นพระธาตุเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์ ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุ เป็นที่สักการะ ศูนย์รวมจิตใจ ความศรัทธาของชาวจังหวัดนครพนม ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครพนมมาแต่โบราณกาลกว่า 2,500 ปี โดยจากการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของจังหวัดก็คือ “พระธาตุพนม” นั่นเอง
ซึ่งพลังขององค์พระธาตุพนม ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าผมนั้นช่างมีความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ สงบอย่างบอกไม่ถูก ก้าวเท้าเข้าไปยังบริเวณรอบองค์พระธาตุ ผมบอกกับตัวเองว่า วันนี้เราเดินทางมาถึงที่นี่ด้วยบารมีขององค์พระธาตุพนม ผมเชื่ออย่างนั้น สองมือยกประนมพร้อมดอกบัวบูชา หลับตาอธิษฐานตั้งจิตสงบ นึกถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ เอ่ยวาจาแผ่วเบาต่อหน้าองค์พระธาตุพนมว่า ในวันนี้ลูกเดินทางมาถึงที่นี่ด้วยบุญบารมีใดๆก็ตาม ขอบุญบารมีที่สั่งสมมาดลบันดาลให้เกิดความสงบสุขในชีวิต สุขภาพร่างกายแข็งแรง และสำคัญที่สุดผมเดินทางไปในช่วงงานพระธาตุพนม และได้ร่วมขบวนแห่ “พระอุปคุต” ขึ้นจากน้ำถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ได้รับบารมีมากมายเสียเหลือเกิน ซึ่งในตำนานกล่าวว่าพระอุปคุตเป็นพระอรหันต์ที่ปฏิบัติธรรมอยู่ใต้บาดาล โดยจะประกอบพิธีที่ริมแม่น้ำโขง บริเวณท่าเทียบเรือข้ามฟากไทย-ลาว
ก่อนผมจะเดินทางกลับ ผมเข้าไปรอบบริเวณองค์พระธาตุอีกครั้ง แล้วเอ่ยวาจาว่า “หากบุญบารมีเพียงพอลูกขอให้ได้กลับมาที่นี่อีกครั้ง” และแล้วผมก็ได้กลับไปที่นครพนม จริงๆในเวลาที่ใกล้กัน ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนั้น ผมเป็นคนที่เกิดวันอาทิตย์ และพระธาตุพนม ก็เป็นพระธาตุประจำคนเกิดวันอาทิตย์ นั่นเอง บารมีไม่เจอไม่รู้บอกกล่าวไม่เข้าใจถ้าไม่ได้สัมผัสด้วยตัวเอง
คาถาบูชาพระธาตุพนมของคนเกิดวันอาทิตย์ คือ “อะ วิช สุ นุต สา นุส ติ” พบกันใหม่ตอนหน้าครับ!
ภาพบางส่วน : ททท., roijang.com,จังหวัดนครพนม
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 387 วันที่ 7-13 กรกฎาคม 2566 (ใช้นิ้วพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)
หน้า 31 เที่ยงเมืองรองต้องไปมู
เรื่อง : เรื่อง : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร
ตอนที่ 10 : พระยาศรีสัตนาคราช-พระธาตุพนม บารมีและมงคลชีวิตแห่งลุ่มแม่น้ำโขง
https://book.bangkok-today.com/books/cohp/