
เชื้อเกลียดชังยังไม่ตาย ก่อการร้ายไม่มีวันจบ


ถ้ากล่าวถึง “การก่อการร้าย” ที่หมายถึงการกระทำที่ใช้ความรุนแรง มีการใช้อาวุธหรือเครื่องมือที่มุ่งหวังให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินโดยทั่วไปแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในรอบ 17 ปีที่ผ่านมาสามารถระบุพื้นที่เป้าหมายของการก่อการร้ายได้ว่าจำกัดวงในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
แม้ระยะหลังจะลดความถี่และความรุนแรงลง แต่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ยังคงฝังตัวอยู่ ล่าสุดคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวออกไปอีก 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 19 ธันวาคม 2564
อย่างไรก็ตามใช่ว่านอกเขต 3 จังหวัดชายแดนใต้จะไม่เคยตกเป็นเป้าก่อการร้ายเลย ดังเช่นเหตุวางระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ใจกลางกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บ 130 คน โดยมีชาวอุยกูร์ 2 คน ตกเป็นผู้ต้องหา
หรือเหตุวางระเบิดและวางเพลิงหลายจุดพร้อมกันใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ภูเก็ต ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 37 คน ซึ่งการสืบสวนพบพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปที่ “ผู้ก่อเหตุ” จากจังหวัดชายแดนใต้
เมื่อมองภาพรวมแล้วการก่อการร้ายในไทยแม้จะเป็นปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ แต่ก็มีความเกี่ยวพันกับประเทศชายแดนเพื่อนบ้าน และระยะหลังมีส่วนเชื่อมโยงกับการขยายอิทธิพลของกลุ่มคลั่งศาสนาที่นิยมความรุนแรงซึ่งรัฐบาลไม่อาจนิ่งนอนใจได้
ครบรอบ 20 ปี วินาศกรรม 9/11
เหตุการณ์โลกสะพรึงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ผู้ก่อการร้ายที่ปฏิบัติการพลีชีพยึดเครื่องบิน 4 ลำพุ่งชนเป้าหมายที่เป็นสัญญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดย 2 ลำ ชนอาคารแฝด เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ก ความสูง 110 ชั้นพังทลายกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่โลกไม่มีวันลืม
ลำที่ 3 เข้าชนอาคารเพนตากอน ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่เมืองอาร์ลิงตัน ชานกรุงวอชิงตัน ลำที่ 4 ตกก่อนจะเข้าชนอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,996 คน ประกอบด้วยโจรจี้เครื่องบิน 19 คน ผู้โดยสารบนเครื่องบิน 246 คน ผู้เสียชีวิตที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 2,606 คน และผู้เสียชีวิตที่อาคารเพนตากอน 125 คน
ติดหล่มจมปลักในอัฟกานิสถาน
ความสูญเสียในเหตุการณ์ 9/11 มีผลให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเปิดฉากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยการส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานเพื่อตามล่า “โอซามา บินลาเดน” และกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่อ้างตัวเป็นเจ้าของผลงานตะลึงโลก
กองทัพสหรัฐฯต้องใช้เวลาถึง 20 ปี และงบประมาณกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ชีวิตทหารอเมริกันเสียชีวิตกว่า 2,400 นาย และชีวิตพลเรือนชาวอัฟกันอีก 1.5 แสนคน ในการกู้คืนศักดิ์ศรีพญาอินทรีว่ายังเป็น 1 ของโลก และเพื่อแลกกับการเด็ดชีพ “บินลาเดน”เพียงคนเดียว
ก่อนหน้านี้ 31 สิงหาคม 254 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่กองทัพสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรทำการ “ปิดจ็อบ”อันยืดเยื้อยาวนาน 2 ทศวรรษ ถอนกองทัพออกจากอัฟกานิสถาน มีการอพยพทหารและการลี้ภัยของชาวอัฟกันอย่างชุลมุนวุ่นวายที่สนามบินคาบูล มีการแจ้งข่าวก่อนล่วงหน้าว่าอาจจะมีการ “ก่อการร้าย”
แล้วในวันที่ 26 สิงหาคม ก็เกิดเหตุระเบิดพลีชีพและการกราดยิงโดยกลุ่มมือปืน ด้านนอกสนามบินคาบูล มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 ราย ประกอบไปด้วยทหารอเมริกัน 13 นาย และบาดเจ็บอีกกว่า 100 คน
สถานทูตญี่ปุ่นเตือน “ระเบิดพลีชีพ”
การถอนทหารจากอัฟกานิสถานอย่างทุลักทุเลพร้อมศพสุดท้ายของทหารอเมริกันเสมือนเป็นการกรีดแผลเก่าของสหรัฐอเมริกาว่ายังไงก็ไม่อาจเอาชนะศัตรูที่มองไม่เห็นอย่าง “กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม” หรือไอเอส ในอัฟกานิสถาน ที่ได้ประกาศว่า “ถึงเวลาแห่งสงคราม”
นั่นคือที่มาของการที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทยได้ส่งอีเมล์ ออกประกาศแจ้งเตือนพลเมืองชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย ให้ระวัง “ระเบิดพลีชีพ”โจมตี จากผู้ก่อการร้ายไม่ทราบสัญชาติ ให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากรวมตัวกันเช่น ร้านอาหาร โรงแรม ขนส่งสาธารณะ ตลาด สถานที่ท่องเที่ยว ศาสนสถานต่างๆนั้น แม้กระทรวงการต่างประเทศของไทยจะออกมาชี้แจงว่าทางญี่ปุ่นออกคำเตือนไปทั่วอาเซียน ไม่ได้เจาะจงเฉพาะไทย
แต่สถานทูตไทยในกรุงโตเกียวได้ตรวจสอบเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้รับคำชี้แจงว่า จริงๆ แล้วเป็นข่าวที่กรมการกงสุลของญี่ปุ่นแจ้งต่อชุมชนชาวญี่ปุ่นในหลายประเทศ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เนื่องจากได้รับ “ข่าวกรอง”มาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการก่อการร้ายขึ้น
ฝันร้ายของชาวญี่ปุ่น
เหตุที่รัฐบาลญี่ปุ่นค่อนข้างตื่นตัวกับ “การก่อการร้าย”ก็เพราะชาวญี่ปุ่นเคยเจอฝันร้ายจากกลุ่มไอเอสเมื่อต้นปี2558 สมัยที่นายชินโซะ อาเบะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นนายฮารูนะ ยูกาวา นักธุรกิจหนุ่มวัย 42 ปีถูกกลุ่มไอเอสจับตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 หลังจากเดินทางไปซีเรีย เพื่อเปิดบริษัทด้านความมั่นคง ส่วนนายเคนจิ โกโตะ วัย 47 ปีเป็นนักข่าวอิสระเดินทางไปซีเรียช่วงปลายเดือนตุลาคมเพื่อติดตามข่าวนายยูกาวา
เดือนมกราคม 2558 กลุ่มไอเอสได้สังหารนายยูกาวาก่อนโดยการตัดศรีษะ หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ยอมจ่ายเงินค่าไถ่ 200 ล้านดอลลาร์ จากนั้นได้ขู่จะสังหารนายโกโตะโดยไอเอสยื่นข้อเรียกร้องใหม่ให้ปล่อยตัว นางซาจิดา อัลริชาวี หญิงอิรักซึ่งไอเอสเรียกว่าเป็น “น้องสาวของพวกเขา” ที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในจอร์แดน ฐานมีส่วนร่วมในเหตุลอบวางระเบิดหลายครั้งในกรุงอัมมานเมื่อปี 2548 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 60 ราย
หลังการเจรจามาถึงทางตันในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ไอเอสได้ลงมือสังหารนายโกโตะ โดยกล่าวโทษรัฐบาลญี่ปุ่นที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับสงครามที่ไม่มีวันได้รับชัยชนะ พร้อมทั้งขู่ว่าจะสังหารชาวญี่ปุ่นทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
ภาพการสังหารตัวประกันทั้งสองอย่างโหดเหี้ยมและถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ยังเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนชาวญี่ปุ่นมาถึงปัจจุบัน
“อาเซียน”เสี่ยงก่อการร้าย
นักวิชาการด้านโลกมุสลิมท่านหนึ่งเคยให้ความเห็นว่าภูมิภาคอาเซียน มีความสุ่มเสี่ยงที่กลุ่มไอเอสจะแผ่อิทธิพลเข้ามา เพราะเคยมีพลเมืองของหลายประเทศเช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์เข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธไอซิสในอิรักและซีเรีย โดยกลุ่มก่อการร้ายในอาเซียนมีการเคลื่อนไหวไปมาหาสู่กันไม่ว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะเป็นอย่างไรก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการสร้าง “มหารัฐอิสลาม” (Mega Islamic State) ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชุมพรของไทย ลงไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย โดยมีการวางกรอบเวลาว่าจะดำเนนการได้ภายใน 50 ปี
ฝ่ายไทยนิ่งแต่มาเลย์จริงจัง
นักวิชาการด้านความมั่นคงให้ความเห็นว่าการเตือนของญี่ปุ่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว ยิ่งในห้วงรำลึกเหตุการณ์ 9/11 ประกอบกับเหตุการณ์ในอัฟกานิสถานจึงทำให้นานาชาติตื่นตัวด้านการก่อการร้ายมิใช่เฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น
หรือดูอย่างเพื่อนบ้านมาเลเซียมีข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศของเขา “ใส่ใจจริงจังกับเรื่องนี้” และได้มีการประสานกับหน่วยงานความมั่นคงและแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว
ส่วนไทยเรานั้นเท่าที่ปรากฏมีเพียงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ออกมาแถลงข่าวว่าการแจ้งเตือนของทางญี่ปุ่น “เป็นการแจ้งเตือนตามวงรอบตามปกติ” แต่ได้รับการยืนยันจากฝ่ายความมั่นคงและกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ว่ายังไม่มีสิ่งบ่งเหตุใดว่าจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดลักษณะของการก่อการร้ายขึ้นมา พร้อมบอกประชาชนว่า “อย่ากังวลขอให้ใช้ชีวิตตามปกติ”
ตามประสาหน่วยงานไทยหากภัยยังมาไม่ถึงตัว ไฟยังไม่ลนก้นก็ยังไม่ลุกมาดับ ขนาดไฟใต้เผาไหม้มา 17 ปียังลั้นลาสนุกสนานเฮฮา แต่ขอเตือนว่าในยุค 5G นั้นภัยก่อการร้ายอาจจะมาในรูปแบบที่คาดไม่ถึงหรือรวดเร็วจนรับมือไม่ทันหากตั้งตนอยู่บนความประมาท
จึงขอฝากพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เสนาธิการทหาร ที่จะขึ้นรับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนใหม่ให้ใส่ใจเสียงเตือนครั้งนี้ด้วย