
“เครื่องจักสาน” ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ขาดการสืบทอด (อีบุ๊กวันที่ 26 พ.ค.-1 มิ.ย.66)

อีบุ๊กวันที่ 26 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 (ฉบับที่ 381)
“เครื่องจักสาน”
ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ขาดการสืบทอด
อุตสาหกรรมงานจักสานเป็นงานหัตถกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สำคัญประเภทหนึ่งในสังคมไทย ที่เริ่มทำขึ้นเพื่อใช้เองในครัวเรือน จนกลายเป็นอุตสาหกรรมส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก และมีความต้องการสูงขึ้นในปัจจุบัน แต่ในเวลานี้กลับเริ่มนับถอยหลังซึ่งไม่ใช่เพราะความต้องการลดลง แต่เป็นเพราะขาดการสืบทอดภูมิปัญญาในด้านการผลิต แม้จะมีความต้องการมากขึ้น ทำให้ความต้องการและกำลังการผลิตสวนทางกัน ประกอบกับวัตถุดิบในการผลิตเริ่มหายากและมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ
วัตถุดิบในการผลิตงานหัตถกรรมจักสานมีหลายชนิด เช่น ไม้ไผ่ หวาย แหย่ง กก กระจูด เชือกปอ ป่าน ผักตบชวา ใบลาน ก้านมะพร้าว ก้านจาก เป็นต้น นำมาสาน ถัก ขัด ซึ่งมีคุณสมบัติการใช้งาน ความคงทน ความสวยงาม รูปแบบ และราคาแตกต่างกันไป งานจักสานส่วนใหญ่เป็นงานทำมือ (Handmade) ดังนั้นจะต้องใช้เวลา ทักษะ ความชำนาญ ความปราณีต ความสามารถเฉพาะตัว และประสบการณ์ในการทำค่อนข้างสูง ทำให้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น จึงไม่แปลกใจหากราคาผลิตภัณฑ์จักสานแต่ละชิ้นจะมีราคาค่อนข้างสูง
นางจันทร์ฉาย กันทะเสนา เจ้าของ ร้านจันทร์ฉายจักสาน ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดกิจการขายเครื่องจักสานมากว่า 45 ปี ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า หากเทียบกับแต่ก่อนตอนเปิดร้านในยุคแรก ๆ ปริมาณสินค้ามีค่อนข้างเยอะ และหลากหลาย ราคาไม่แพง จึงทำให้กำลังซื้อมีมากทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะลูกค้าที่รับไปขายต่อ แต่ในปัจจุบันสินค้าหายากและต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งมีหลายปัจจัย ทั้งวัตถุดิบหลายอย่างเริ่มหายากและมีราคาสูง
จึงทำให้สินค้าแต่ละชิ้นมีราคาแพง ผู้ซื้อจึงตัดสินใจยากและนานขึ้นเมื่อเทียบกับราคาและการใช้งาน ประกอบกับมีวัตถุดิบทดแทน เช่นพลาสติกและหวายเทียม นำมาใช้ทดแทนหวายแท้ที่มีราคาแพง
นอกจากวัตถุดิบแล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ ผู้ผลิตที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ นับวันเริ่มมีน้อยลงเรื่อยๆ และคนรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสนใจ และรับการสืบทอดภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมจักสานนี้ ประกอบกับลูกหลานไม่ต้องการให้พ่อแม่ที่มีอายุมากทำงานแล้ว บางครั้งสินค้าประเภทนั้นก็สูญหายไปเพราะไม่มีคนทำและสืบทอด อีกทั้งผู้ผลิตส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก หากเป็นฤดูกาลทำนาหรือช่วงเก็บลำใย ผู้ผลิตจะต้องให้หมดงานหลักก่อนหรือใช้เวลาว่างจากการทำนา ผลิตภัณฑ์จักสานเป็นงานทำมือทุกชิ้น จึงใช้ระยะเวลาในการทำ เมื่อมีออเดอร์เข้ามาครั้งละเยอะๆ ต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าก่อนหากสินค้าในสต๊อกมีไม่เพียงพอ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ที่ชอบและหลงไหลงานจักสานจะเข้าใจจุดนี้
การทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาหนึ่งชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านกระบวนการทำหลายขั้นตอน ตั้งแต่ไม้ไผ่ที่เป็นลำต้นต้องนำมาทำให้เป็นปล้องๆ จากนั้นนำมาผ่าออกให้เป็นซีก แล้วนำมาแปรรูปให้เป็นเส้นบางๆ เรียกว่าตอก ตากแดดให้แห้งเพื่อไม่ให้ตอกมีความชื้น จากนั้นนำมาสานขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ เช่นการทำชะลอม ขนาดประมาณ 3-5 นิ้ว ต้องใช้ไม้ไผ่ประมาณ 2 ปล้องจึงจะทำออกมาได้ 1 ชิ้น และสินค้าบางประเภทต้องทำสี เคลือบสีเพิ่มเติมเพื่อความสวยงามด้วย
ในด้านต้นทุนการผลิต นางจันทร์ฉาย ยังกล่าวต่อว่า สูงขึ้นเท่าตัวและหายากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่ หวาย และไม่สามารถหาได้ตามท้องถิ่นเหมือนแต่ก่อน ซึ่งก่อนนั้นผู้ผลิตสามารถหาได้ง่ายในพื้นที่ของตนเองหรือพื้นที่ใกล้เคียง แต่ปัจจุบันไม้ไผ่ต้องรับมาจากที่อื่น บางครั้งต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และต้องซื้อครั้งละเต็มคันรถให้คุ้มค่ากับการขนส่ง เหตุนี้ทำให้ผู้ผลิตไม่มีทุนมากพอในการซื้อวัตถุดิบมาเพื่อผลิตสินค้า ซึ่งทางร้านต้องหาทางออกด้วยการเป็นผู้ออกค่าวัตถุดิบให้กับชาวบ้านก่อน ถือว่าเราลงทุนเรื่องวัตถุดิบ และให้ชาวบ้านลงทุนเรื่องงานฝีมือ ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีของเข้าร้านและส่งให้ลูกค้าตามเวลา จึงใช้หลักการเราช่วยเขา เขาช่วยเรา ทำให้เขามีรายได้ในครอบครัวด้วย และพยายามสร้างความหลากหลายของสินค้าให้มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้านำไปใช้งาน
ปัจจุบันลูกค้าของร้านมีหลายประเภท ทั้งคนในท้องถิ่น นักท่องเที่ยวทั่วไป หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร องค์กรต่างๆ และลูกค้าต่างประเทศ กรณีการส่งต่างประเทศ ลูกค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบเองด้วยการติดต่อบริษัทขนส่งมารับของที่หน้าร้าน ยิ่งปัจจุบันการสื่อสารง่ายขึ้น บางครั้งลูกค้าสั่งออนไลน์ผ่านทางเพจของร้าน เราก็สามารถจัดส่งให้ทั่วประเทศ ซึ่งทางร้านจะอัพเดตสินค้าใหม่ๆ เป็นประจำอยู่แล้ว บางทีมีการสั่งขนาดที่พิเศษต่างไปจากที่มีหน้าร้าน สินค้าบางประเภทสามารถทำให้ได้ แต่บางอย่างก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มักจะทำในสิ่งที่เคยชินเป็นประจำ และมีแม่พิมพ์อยู่แล้วจึงไม่ต้องการทำสิ่งที่นอกเหนือแบบเดิมมากนัก
นางจันทร์ฉาย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันลูกค้าหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จักสานกันมากขึ้น แต่ปัญหาการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาให้กับคนรุ่นใหม่มีน้อยลงถือเป็นปัญหาหลัก ผู้ผลิตมีอยู่จำกัด วัตถุดิบหายากขึ้น ยิ่งช่วงเทศกาลของไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า เพราะการผลิตเป็นการทำมือของผู้สูงอายุ ไม่ใช่ผลิตจากเครื่องจักร ทำให้เมื่อมีการผลิตเป็นจำนวนมากในเวลาที่จำกัด ฝีมือในการผลิตอาจจะลดลง มาตรฐานของสินค้าก็ลดลงด้วย หากในชุมชนได้รับการส่งเสริมด้านการผลิต ปรับแนวคิดด้านทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่องานจักสาน รวมถึงส่งเสริมด้านวัตถุดิบให้เพียงพอต่อการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจักสานก็น่าจะดีขึ้น
คุณค่าของหัตถกรรมจักสานไทยเป็นคุณค่าที่แสดงถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความละเอียดอ่อนของผู้ผลิต เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีคุณค่าในตัวเอง เป็นงานที่ยากกว่าหัตถกรรมอื่น ยิ่งทำให้เพิ่มคุณค่าด้านจิตใจของผู้ใช้และผู้รับ หากมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่ หัตถกรรมของไทยจะยังคงอยู่ให้เราได้ชื่นชมต่อไป และเป็นความภูมิใจของคนไทยที่ได้นำหัตถกรรมจักสานออกสู่ตลาดต่างประเทศ
ภาพ : https://www.facebook.com/chanchayshop/
อีบุ๊กวันที่ 26 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 (ฉบับที่ 381)
“เครื่องจักสาน”
ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ขาดการสืบทอด
https://book.bangkok-today.com/books/fvnr/#p=35