
อินทรีตีกินมังกร


โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาประกาศตั้งแต่ต้นที่เข้ารับตำแหน่งว่า ภารกิจหนึ่งของเขาคือการสกัดยับยั้งการขยายอิทธิพลของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” โดยอาศัยความร่วมมือของพันธมิตร แล้ววันนี้สถานการณ์ใน “เมียนมา” ก็เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงฝีมือในภารกิจดังกล่าว
นอกจากนโยบายและมาตรการในการสกัดยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เล่นงานชาวอเมริกันและเศรษฐกิจของอเมริกาจนงอมพระราม ไบเดนไม่รีรอที่จะกระโจนใส่กรณีเมียนมาเพราะมีธงให้เล่นทั้งเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ถล่มจีน และชิงการนำในภูมิภาคอาเซียน เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง
นับตั้งแต่วันแรกที่กองทัพเมียนมาทำการรัฐประหารรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี รัฐบาลวอชิงตันจึงรีบชิงออกหน้ามาแสดงบทบาทผู้พิทักษ์ประชาธิปไตยโลก ทั้งประณามกองทัพเมียนมา ทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจีกับพรรคพวก
ถึงวันนี้อเมริกาได้ระดมสมัครพรรคพวกทั้งสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ออกมารุมกินโต๊ะกองทัพเมียนมา แต่เป้าหมายอันแท้จริงคือ “รัฐบาลปักกิ่ง” ซึ่งกำลังตกเป็นจำเลยร่วมว่าแอบให้ท้ายกองทัพเมียนมา เป็นเผด็จการที่หนุนเผด็จการ เพราะในเวทีสหประชาชาติจีนไม่ยอมแสดงจุดยืนร่วมประณามการทำรัฐประหารในเมียนมา อีกทั้งยังสุมหัวกับรัสเซียคัดค้านการคว่ำบาตรเมียนมาทางเศรษฐกิจด้วย
พันธมิตรตะวันตกไม่มีหลักฐานจะเล่นงานจีนในเรื่องเมียนมา แต่ได้งัดเรื่องเก่าๆคือการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้งว่า ก็เหมือนกับที่กองทัพเมียนมากำลังปราบปรามผู้ประท้วงการรัฐประหารนี่แหละ โดยได้ประกาศขึ้นบัญชีดำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนและองค์กรจีนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการระงับวีซ่า พร้อมมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ เช่น อายัดทรัพย์สิน ห้ามทำธุรกรรมกับบุคคลและองค์กร
ลึกๆ แล้ววันนี้อเมริกามองจีนด้วยความหวาดกลัว กลัวว่าจะแซงหน้าตนเองแล้วก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกในปี 2050 ซึ่งอาจจะเร็วกว่าที่จีนเคยประกาศไว้หากอเมริกาไม่ทำอะไรเลย
อเมริกามองว่าจีนเปลี่ยนไปมากมีความดุดันมากขึ้น จีนเป็นภัยทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความมั่นคงในศตวรรษที่ 21
เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวเคยกล่าวว่า “ขณะนี้จีนท้าทายความมั่นคง ความมั่งคั่งและคุณค่าของสหรัฐอเมริกาจนอเมริกาต้องใช้แนวทางใหม่กับจีน”
ในเมียนมามีความพยายามแพร่ข่าวลืมโจมตีจีน สร้างความเกลียดชังจีน แยกจีนออกจากเมียนมา
ระยะแรกของการประท้วงมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ปล่อยข่าวมากมายเกี่ยวกับจีนที่เข้ามาสนับสนุนกองทัพ เช่นเครื่องบินจีนขนอุปกรณ์ไฮเทคและช่างเทคนิคเข้ามาตัดระบบสื่อสาร ในการประท้วงก็มีป้ายไม่เอาสี จิ้นผิง มีการขู่จะเผาโรงงานจีน รณรงค์งดใช้สินค้าจีน จนถึงเรียกร้องให้ขับไล่ชาวจีนและสถานทูตจีนออกจากเมียนมา
มีการตั้งข้อสังเกตุว่ากระแสต่อต้านจีนนี้อาจมีขบวนการจัดตั้งอยู่เบื้องหลัง และนี่อาจจะเป็น “งานถนัด” ปั่นกระแสของสายอินทรีที่ตั้งเป้าเด็ดปีกมังกรไว้อยู่แล้ว
การเผาโรงงานจีนพร้อมกันหลายสิบแห่งยังเป็นปริศนาว่าฝีมือผู้ประท้วงหรือใครแน่ เสียงเรียกร้องไม่เอาจีนจากผู้ประท้วงไม่กี่คนแต่ถูกขยายโดยสื่อตะวันตก อย่างไรก็ตามคงยากที่จะกดดันให้จีนเปลี่ยนท่าทีต่อกองทัพเมียนมา เพราะ “ผลประโยชน์ของจีนย่อมมิใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก”
ผู้นำปักกิ่งเคยเตือนอเมริกาและพันธมิตรว่า อย่าใช้เมียนมาเป็น “หมาก” ในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะนอกจากจะไม่ส่งผลดีต่อเมียนมาแล้ว ยังจะลากให้สถานการณ์ดิ่งลึกลงไปอีก