
อำนาจประชาชน


การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ขณะนี้ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน พากันยื่นไปยังประธานสภาแล้ว
สุดท้าย เชื่อว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็คงเลือกอนุมัติในสิ่งที่ขั้วรัฐบาลต้องการ
ไม่ต่างจากทุกๆครั้ง เช่นครั้งล่าสุด ที่มีมติอนุมัติพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท
ก่อหนี้เพิ่มได้อย่างสบาย ตราบเท่าที่มีมือที่มากกว่าในขั้วรัฐบาล
ดังนั้น แม้แต่ร่างฉบับประชาชน ที่มีการขอให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อนั้น สุดท้ายก็ยากที่จไปถึงฝั่งฝัน
เพราะไม่ว่าอย่างไร สุดท้ายก็ต้องได้เสียงจาก ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 84 เสียง เข้ามาร่วมสนับสนุน
ถามว่าจะมี ส.ว.สีกที่คนที่จะเห็นด้วยกับประชาชน แล้วยอมตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ในการร่วมโหวตกฎหมายที่ตนเองได้อำนาจอยู่
จึงต้องย้ำอีกครั้งว่า ตราบใดที่ผลประโยชน์ทางการเมืองยังลงตัว คำครหาเรื่องเผด็จการรัฐสภา คำครหาเรื่องการตระบัดสัตย์ ย่อมใช้ไม่ได้ในยุครัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย”
ถือเป็นผลงานตราบาปทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างชัดเจน
เชื่อว่าแม้แต่นายมีชัยเอง ก็คงรับรู้แล้วว่า ผลจากการเขียนเพื่อให้มีการสืบทอดอำนาจได้อย่างสะดวกและราบรื่น รวมทั้งปิดหนทางในการที่จะขัดขวางการสืบทอดอำนาจเอาไว้อย่างรัดกุมนั้น ได้สร้างผลกระทบกับประเทศชาติอย่างไรบ้าง
ที่เคยเอ่ยอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงนั้น วันนี้ชัดเจนแล้วว่า ไม่เพียงแต่จะปราบโกงไม่ได้ แต่ยังทำให้กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการยุติธรรม และการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ ขาดความน่าเชื่อถือ
เป็นอิสระแค่เพียงแต่ชื่อเท่านั้น เพราะไม่เคยกล้าแตะบุคคลรอบข้างผู้มีอำนาจเลย ไม่ว่าจะสีดำหรือสีเทาเพียงใด
พล.อ.ประยุทธ์ ศูนย์กลางของการสืบทอดอำนาจครั้งสำคัญ ยืนยันแล้วว่า จะอยู่ต่อไป ไม่สนใจแรงกดดันหรือเสียงเรียกร้อง เสียงขับไล่ใดๆทั้งสิ้น
และยังพูดกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขอให้เลือกกันดีๆก็แล้วกัน
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในความได้เปรียบทางการเมือง จนมองค่าประชาชนเป็นเพียงแค่คนที่ต้องลงคะแนนให้เท่านั้นเอง
ก็ได้แต่หวังว่า เมื่อถึงวันนั้นประชาชนจะรู้ทันอำนาจเผด็จการการเมืองเสียที
ภูวนารถ ณ สงขลา