
อาสา จับตา เลือกตั้ง’66

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดไว้ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้รับการประเมินจากบรรดาคอการเมืองทั้งหลายว่าจะเป็นการแข่งขันทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ เข้มข้น ทุ่มเท และทุ่มทุนกันค่อนข้างหนัก(แต่คงไม่หมดหน้าตัก) เพราะฝ่ายที่เคยยึดอำนาจและครองอำนาจมายาวนานก็ยังหวังจะได้ยึดครองต่อไป ด้วยเชื่อว่าได้วางฐานการเมืองไว้เยอะและสะสมทุนไว้แยะ ส่วนฝ่ายที่เคยถูกกระชากอำนาจไปจากมือก็เชื่อว่าประชาชนเริ่มเบื่อหน่าย อยากเปลี่ยนแปลง และเรียกหาคนที่เคยบริหารคนที่เคยสร้างผลงาน
ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เคยครองอำนาจมาก่อนก็เชื่อในกระแสคนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ยึดติดอำนาจเดิม ต้องการประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์และพาประเทศเดินต่อไปข้างหน้า หรือโอกาสในการเป็นตัวแทนเป็นปากเสียงของกลุ่มคน กลุ่มอาชีพ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในสภา
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้จึงเป็นการตัดสินทางการเมืองของประชาชนที่ต้องการการบริหารจัดการอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยมีองค์กรกลางอย่าง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต. ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีภาคประชาชนเข้ามาเป็นตาสัปปะรดร่วมติดตามตรวจสอบ
หนึ่งในนั้นก็คือ “น้องมายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ที่เปิดเผยว่า วันนี้นอกจากเธอจะจัดรายการทางการเมืองในสื่อออนไลน์ และวิ่งลงสนามตามสัมภาษณ์นักการเมืองโดยไม่เลือกข้างเลือกฝ่ายแล้ว เธอยังเข้าร่วมในโครงการ Protect Our Vote อาสา จับตา เลือกตั้ง’66 อีกด้วย
นักการเมืองเปิดหน้าเปิดตากันหมดแล้ว มองโดยรวมแล้วการแข่งขันครั้งนี้จะเข้มข้นแค่ไหน
เมื่อเห็นกันชัดเจนแล้วว่าใครเข้าพรรคไหน ใครวางตำแหน่งตัวเองตรงไหน พรรคการเมืองก็เริ่มเปิดจุดยืนของตัวเองทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ สิ่งที่น่าสนใจมากๆคือการฟาดฟันกันระหว่างขั้วการเมืองเก่ากับขั้วการเมืองใหม่ กับการทำงานแบบเก่ากับการทำงานแบบใหม่ ที่เป็นการยึดถือตัวบุคคลกับตัวพรรค กับการชูนโยบายให้ประชาชนตัดสินใจ
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เวลาลงสนามรายงานแบบไลฟ์สด คนที่ติดตามชมแล้วคอมเม้นท์สดเข้ามานั้นจะมีเสียงสะท้อนกับการพูดของนักการเมืองเมื่อพูดเรื่องนโยบายมากขึ้น เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าคนปัจจุบันจะตัดสินใจด้วยเรื่องนโยบายเป็นหลัก ดังเช่นฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะสนใจพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกลรวมทั้งตัวบุคคล แต่ก็ยังต้องการฟังนโยบายที่ชัดเจน ฟังแล้วจะมีการชั่งน้ำหนัก หรืออยากรู้ความชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยประกาศแลนด์สไลด์หมายความว่าจะไม่ร่วมมือกับใครเลยหรือ และถ้าไม่แลนด์สไลด์จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เป็นต้น
คนเริ่มจับผิดมากขึ้นในเวทีดีเบทหรือการเสวนาที่มีพรรคการเมืองเข้าร่วม เริ่มมีเสียงสะท้อนว่านักการเมืองพูดไปแล้วเขาไม่ได้อะไร เสียดายเวลาฟัง คนเริ่มวิเคราะห์การเมืองที่ไม่ใช่แบบเดิมอีกแล้ว เขาต้องการข้อเท็จจริงก่อนไปเลือกตั้ง ต้องการให้แสดงจุดยืนออกมาตรงๆ ไม่เอาอ้อมๆ เขาไม่ต้องการการตีความเอง
คนเริ่มวิเคราะห์การเมืองด้วยการไม่เชื่อใจพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่เคยทำให้เราได้อีกแล้ว ไม่ใช่ว่าเขาเคยมีผลงานแล้วเราจะเชื่อใจเขา ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งนี้คนต้องการข้อเท็จจริงที่เขาจะสามารถมั่นอกมั่นใจได้มากกว่า
กกต.กับความโปร่งใสในการบริหารจัดการการเลือกตั้ง
ผลของการเลือกตั้งจะถูกจัดการอย่างไม่โปร่งใสก็เพราะการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.)ซึ่งมีงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้มากกว่า 5,900 ล้านบาท แต่กกต.ออกมาพูดได้อย่างไรว่า ไม่มีความสามารถมากพอในการรายงานผลคะแนนแบบ Real Time ซึ่งเว็บไซต์นั้นเดี่ยวนี้ทำง่ายมาก สะท้อนว่าเขาไม่ต้องการให้ความร่วมมือกับประชาชนในการแสดงผลแบบเรียลไทม์ เลยเกิดเป็นช่องว่างหรือข้อสงสัยว่าคะแนนในครั้งนี้จะถูกจัดการอีกหรือไม่
เมื่อ 4 ปีก่อนมีปัญหาคะแนนกระโดดในตอนสามทุ่ม ตอนตี 3 ตอน 9 โมงเช้า ที่คะแนนกระโดดมาจากไหนไม่รู้ ซึ่งไม่ใช่ความปกติของการนับคะแนนเลือกตั้งที่ควรจะต้องไหลลื่น
อีกอันที่น่าสนใจคือ ไอลอว์เคยสอบถามกับ กกต.ว่า อยู่ๆคะแนนมีการแปรเปลี่ยนลบลงมากซึ่งเป็นไปไม่ได้ คะแนนหายไปไหน กกต.ท่านหนึ่งออกมายอมรับว่าคงมีการจัดการคะแนนจริง ทั้งๆ ที่ควรเป็นหน้าที่ของ กกต.ในการจัดการให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ให้เกิดการแทรกแซง แล้วการเลือกตั้งปี 2566 เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไร
อย่างไรก็ตามเขากกต. ก็ยังเปิดโอกาสให้โครงการการจับตาเลือกตั้ง ทั้งไอลอว์ และ วีวอช เข้าไปหารือด้วย อย่างน้อยๆมีการพูดคุยกันแล้วและกกต.รับปากว่า เมื่อมีประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้งหน้าหน่วย กกต.จะไม่กีดกัน จะอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้ช่วยกันจับตาการเลือกตั้งจริงๆ
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า เมื่อกกต. เปิดรับสมัครอาสาจับตาเลือกตั้งของกกต. เอง โดยมีเบี้ยเลี้ยงให้ 700 บาท แต่เต็มไวมากอย่างน่าตกใจทั้งๆที่ประกาศรับสมัครทางออนไลน์ในช่วง 2 สัปดาห์ แต่คนนอกสมัครไม่ทัน ผู้ที่ได้เป็นส่วนใหญ่มาจากผู้ใหญ่บ้านและครูในโรงเรียน ปัญหาคือกกต.ไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์โครงการนี้อย่างทั่วถึงมากพอทั้งๆที่มีงบมากถึง 5,900 ล้านบาท น่าจัดงบนิดหนึ่งมาทำการประชาสัมพันธ์ก็ได้ ไม่รู้ว่าเองงบไปทุ่มกับกล่องหีบเลือกตั้งหรือเปล่า
การสัมภาษณ์พรรคการเมือง เพื่อเปรียบเทียบนโยบาย
ปกติทำรายการมองมุมมายด์ แต่ในช่วงของการเลือกตั้งคิดว่าควรมีรายการสดที่สัมภาษณ์พรรคการเมืองเพื่อเปรียบเทียบนโยบายของแต่ละพรรค ด้วยชุดคำถามเดียวกันคือ 1. มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ 2. จะมีนโยบายนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองหรือไม่ หากเป็นรัฐบาลจะมีแนวทางให้เกิดขึ้นไหม การฟ้องด้วยมาตรา 112 ถือว่าเป็นคดีทางการเมืองไหม 3.เนื่องจากการรัฐประหารเป็นการหยุดประเทศในทุกๆครั้งรวมถึงเศรษฐกิจด้วย คุณมีกลไกลอย่างไรในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก 4.มีความคิดเห็นอย่างไรกับการจับมือล่วงหน้าระหว่างพรรคการเมืองก่อนถึงวันเลือกตั้ง
ตอนนี้ได้สัมภาษณ์ไปแล้ว 3 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคก้าวไกล โดยไม่ใช่การนัดสัมภาษณ์พิเศษ แต่เป็นการลงพื้นที่ตามกำหนดการเพื่อดักสัมภาษณ์ในระหว่างการหาเสียงของแต่ละพรรค หรือหมายข่าวของพรรคซึ่งต้องช่วงชิงโอกาสกับสื่อมวลชนต่างๆ การสัมภาษณ์สดในพื้นที่เป็นการยิงคำถามโดยไม่ทันให้ตั้งตัว ทำให้ได้คำตอบที่ไม่ได้เตรียมตัว ซึ่งอาจจะแตกต่างกับการได้เตรียมตำตอบไว้ล่วงหน้า
พรรคเพื่อไทยได้ถาม นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว และนายเศรษฐา ทวีสิน พรรคพลังประชารัฐ ได้สัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคก้าวไกลได้สัมภาษณ์คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยถามคำถามในชุดเดียวกัน ยังตั้งใจจะถามพรรคการเมืองหลักอื่นๆทั้ง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า ฯลฯ รวมทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ไม่รู้ว่าสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าถึงตัวได้หรือเปล่า
อาสา จับตา เลือกตั้ง’66
การเลือกตั้งครั้งนี้มีจุดที่น่าติดตามจับตามากขึ้นเช่น การลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขต ทางไอลอว์ต้องเป็นกระบอกเสียงหลักในการกระจายข่าวเลือกนี้เพราะกกต.ไม่ประชาสัมภาษณ์มากพอ ขณะที่มีข้อน่าสับสนในการเลือกตั้ง จากการแบ่งเขตใหม่ บัตรเลือกตั้งสองใบที่ผู้ใช้สิทธิต้องเตรียมความพร้อมก่อนเข้าคูหา การทำสื่อออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ประชาชน
การกระจายอาสาสมัครยังมีอุปสรรคที่ตอนนี้เรามีอยู่น้อยมากแค่ 4,000 คน จากเป้าหมาย 100,000 คน ขณะที่เหลือเวลาก่อนการเลือกตั้งเพียง 1 เดือน แต่เรายังมีเครือข่ายแบบออฟไลน์ และออนไลน์ทั่วทุกภาค แต่ละภาคจะมีกลุ่มที่เข้าร่วมอบรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่อยู่แล้ว เช่นเรื่อง ทรัพยากร บ้าน เหมือง เขื่อน น้ำ และบางพื้นที่เราก็ลงไปคุยเช่นภาคใต้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งได้รับการต้อนรับดีมากๆ เห็นด้วยกับการมาร่วมจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้
แต่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา และอำเภอหาดใหญ่ เรายังมีปัญหาในการหาอาสาสมัครในวันเลือกตั้ง เพราะบรรยากาศในการแข่งขันของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ประกอบกับพี่น้องประชาชนมองว่าคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้เป็นพวกล้มเจ้า จึงไม่เปิดใจรับในเรื่องนี้เลย
ตอนนี้เราได้เริ่มแคมเปญ Student Protect People Vote เราเชิญชวนนักเรียนมาเป็นกำลังในการจับตาการเลือกตั้ง ทางภาคใต้ตอนบนมีกลุ่มนักเรียนที่แอกทีฟมากและรับที่จะไปเป็นส่วนหนึ่งในเยาวชนจับตาการเลือกตั้ง เรามีการจัดเวิร์คช็อปให้แก่นักเรียนทั่วทุกภูมิภาค ภาคอีสานและภาคใต้ดำเนินการไปแล้ว เท่ากับว่านอกจากนักกิจกรรม เรายังมีนักเรียนเข้ามาร่วมด้วย
เรื่องที่คิดไม่ถึงมาก่อนคือ โทรศัพท์ของบางคนไม่เอื้อต่อการส่งข้อมูล ก่อนหน้านี้เราไปเน้นกับอาสาสมัครให้เข้าใจกระบวนการการเลือกตั้ง เน้นเรื่องการถ่ายรูปในจุดสำคัญส่งเข้าศูนย์ข้อมูล แต่พอไปเห็นโทรศัพท์มือถือของแต่ละคนที่แตกต่างกัน หลายเครื่องไม่รองรับการส่งข้อมูลเข้าเครือข่าย ซึ่งต้องแก้ไขให้ได้ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดการรายงานผล
ปลายซอย 17 – ขุนพลกอเตย